Skip to main content
sharethis

วานนี้ (18 ม.ค.52) ที่กระทรวงยุติธรรม ตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ในเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) จ.พัทลุงและ จ.ตรัง 8 ราย ซึ่งถูกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ฟ้องร้องทางแพ่งเรียกร้องค่าเสียหาย ฐานบุกรุกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เข้าพบ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นางชูจิรา กองแก้ว อธิบดีกรมบังคับคดี และนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อเรียกร้องให้มีการยุติการบังคับคดีกับชาวบ้าน

ตัวแทนชาวบ้านกล่าวยืนยันว่า ที่ดินที่ทำให้ถูกฟ้องคดีเป็นที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ตายาย ซึ่งมีอาชีพปลูกยางพารามาตั้งแต่ก่อนปี 2525 ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์จะประกาศเป็นเขตอุทยานทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน และการถูกฟ้องคดีข้อหาทำลายป่าและทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ต้องถูกขับไล่ออกจากที่ดินทำกิน และแบกรับภาระหนี้สินอีกจำนวนมาก

นายบุญ แซ่จุง ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดกล่าวว่า การพูดคุยเพื่อหารือแนวทางยุติการคับคดีในวันนี้มีการคุยกันทั้งในส่วนของคดีอาญาและแพ่งซึ่งมีการเรียกร้องค่าเสียหายทำให้โลกร้อนกับชาวบ้านกว่า 32 ล้านบาท ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 97 ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน ทั้งที่กฎหมายดังกล่าวน่าบังคับใช้กับภาคอุตสาหกรรมที่เป็นตัวการก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน

นายบุญกล่าวด้วยว่า กฎหมายป่าไม้ที่มีการบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน และขัดกับหลักการสิทธิชุมชนตาม มาตรา 66 ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้ชุมชนมีสิทธิในการส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งในเรื่องนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ดังนั้นคดีความต่างๆ ของชาวบ้านน่าจะให้มีการชะลอไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีการวินิจฉัยตามจริง

“เราไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรม สู้ไปก็มีแต่แพ้ กฎหมายมันต้องมีการแก้ไข ต้องยึดตามรัฐธรรมนูญ” นายบุญกล่าว

ในส่วนการแก้ปัญหาในทางนโยบาย นายบุญให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน จนกระทั่งมีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และการประชุม เมื่อวันที่ 11 มี.ค.52 ได้มีมติผ่อนผันให้ราษฎรได้อยู่อาศัย และทำกินในที่ดินดังกล่าวตามวิถีชีวิตปกติไปพลางก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ในระหว่างดำเนินการแก้ปัญหา และได้แจ้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้ง แต่ในพื้นที่ต่างๆ ยังคงมีการฟ้องร้องคดีชาวบ้านเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เจ้าหน้าที่รัฐยังมีการใช้อำนาจตามกฎหมายมาทำลายทรัพย์สินของชาวบ้านอยู่ ซึ่งในส่วนนี้ทำให้เกิดคำถามต่ออำนาจในการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาของรัฐบาล

ด้าน พ.ต.อ.ทวี กล่าวหลังรับเรื่องว่า ชาวบ้านที่ถูกฟ้องทั้งแพ่งและอาญา เนื่องจากรับสารภาพในชั้นสอบสวนว่าบุกรุกป่า จึงทำให้ศาลตัดสินให้มีความผิดอาญาและถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ทั้งนี้กระทรวงยุติธรรมจำเป็นต้องเข้ามาดูแลชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน เพราะไม่รู้ข้อกฎหมายและยากจน ทำให้ไม่มีเงินสำหรับต่อสู้คดี ในเบื้องต้นกรมบังคับคดีแนะนำให้ชาวบ้านร้องขอให้ศาลชะลอการบังคับคดี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดีเรื่องสิทธิชุมชน ส่วนกรมคุ้มครองสิทธิฯ จะช่วยเหลือด้านกองทุนยุติธรรม เพื่อให้ชาวบ้านมีทุนทรัพย์ในการต่อสู้คดี

ทั้งนี้ จากการสรุปข้อมูลของเครือข่ายปฎิรูปที่ดินฯ เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2552 ระบุว่า จำนวนสมาชิกเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ในจ.พัทลุงและ จ.ตรัง ที่ถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา รวมทั้วได้รับผลกระทบในรูปแบบอื่นๆ อาทิ ปักป้ายยึดพื้นที่, เผาบ้าน, ทำลายอาสิน, มีหนังสือทำลายอาสิน, ลิดรอนสิทธิในกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) รวมทั้งหมด 60 ราย ในคดีแพ่งถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 32.068 ล้านบาท โดยการคำนวณค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการบุกรุกทำลายป่า มีการคิดค่าเสียหายในการทำให้โลกร้อน อากาศร้อนขึ้น ฝนตกน้อยลง ดินและแร่ธาตุสูญหาย เป็นต้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net