Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ครูเจี๊ยบ” หรือ  ครูวรัทยา จันทรัตน์ ครูอาสาสอนเด็กเร่ร่อน ในสังกัดหน่วยงานเทศบาลนครนครราชสีมา  หนึ่งในครูอาสาสอนเด็กเร่ร่อน ของหน่วยงานเทศบาล  ที่ให้การช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน  มีประสบการณ์กว่า 5 ปี  ในฐานะครูอาสาสอนเด็กเร่ร่อน  ทำให้มีโอกาสได้ช่วยเหลือเด็กในรูปแบบต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการให้การศึกษาเพียงอย่างเดียว  หากแต่หลายครั้งก็ช่วยให้เด็กได้หลุดพ้นจากสถานการณ์ที่เสี่ยงภัย  อย่างเช่นขบวนการค้ามนุษย์  แก๊งขอทาน และไม่ให้ก้าวพลาดไปกับการเสพและค้ายาเสพติด  

ก่อนหน้านี้ “ครูเจี๊ยบ”ทำงานด้านวิชาการแล้วลาออกมาเรียนต่อปริญญาโท  แต่พอได้ฟังจากวิทยุว่าเทศบาลรับสมัครครูอาสาสอนเด็กเร่ร่อน จึงสนใจและสมัคร

ครูเจี๊ยบเล่าถึงสาเหตุที่ผันตัวมาเป็นครูอาสาว่า “เพราะอยากช่วยเหลือให้เด็กเหล่านี้มีการศึกษา  จะได้มีงานทำ หาเลี้ยงชีพได้  ไม่เป็นภาระของสังคม ซึ่งนอกจากจะสอนหนังสือให้เด็กอ่านออกเขียนได้แล้ว ยัง สอนทักษะชีวิต เช่น ความเป็นผู้นำ มีความรับผิดชอบ ไม่ทอดทิ้งครอบครัว  และสอนเรื่องการดูแลสุขภาพอนามัยส่วนตัวให้เด็กด้วย เพราะเด็กเหล่านี้จะไม่ค่อยดูแลตนเอง  จึงดูมอมแมม  เล็บยาว ผมยาว เสื้อผ้าสกปรก  ทำให้ไม่กล้าเข้าใกล้”   

เธอยังเล่าอีกว่า ที่สำคัญที่สุดคือการสอนเรื่องทักษะการเอาตัวรอด  เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยง ทั้งในเรื่องยาเสพติด  แก๊งขอทาน แก๊งค้ามนุษย์  ก็สอนให้รู้เท่าทันและห่างไกลจากสิ่งที่ไม่ดี  นอกจากนี้แล้ว ยังสนับสนุน ผลักดันให้เด็ก มีโอกาสเข้าไปเรียนในโรงเรียนเหมือนกับเด็กอื่นๆ  ส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้นำไปประกอบวิชาชีพในอนาคต

เมื่อเด็กเร่ร่อนได้รับโอกาสเข้าไปศึกษาในโรงเรียน เด็กเหล่านี้จะตั้งใจเรียนมาก แม้บางคนต้องทำงานไปด้วย  บางคนแม่ให้ไปขอทานเพื่อเลี้ยงครอบครัว ทำให้ต้องขาดเรียนบ้าง แต่ก็หาทางช่วยเหลือ ให้ได้ทำงานและเรียนไปด้วย เพื่อให้เด็กได้เรียน  

สิ่งที่ภูมิใจในตัวเด็กคือ  ได้เห็นเด็กของเราเป็นคนดี รู้จักเสียสละ ช่วยเหลือกัน รู้จักแบ่งปันผู้อื่น  ที่นอกจากเขาจะช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว  เขายังรู้จักช่วยเหลือผู้อื่น  ไม่มองว่าตัวเองไร้ค่า  เราอยากให้เขามีความภาคภูมิใจในตัวเอง

ครูเจี๊ยบเล่าต่อว่า การทำงานของครูอาสาสอนเด็กเร่ร่อน นอกจากจะสอนหนังสือแล้ว ยังช่วยประสานทางราชการช่วยเหลือให้เด็กมีสถานะบุคคล  เพราะเด็กส่วนใหญ่ไม่มีใบเกิด  ก็ต้องสืบค้น ถ้าเด็กพอจะรู้บ้างว่ามีญาติที่ไหนบ้าง ก็จะค้นข้อมูล สืบหา  บางคนสืบค้นไปจนพบกับครอบครัว เด็กก็สามารถคืนสู่ครอบครัวได้ 

“การที่เด็กมีใบเกิดหรือมีบัตรประชาชนเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการมีเลข 13 หลัก จะทำให้เขาเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ได้ ทั้งการศึกษา ทั้งในเรื่องของการรักษาพยาบาลเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย แม้ว่าขั้นตอนการทำงาน การสืบค้นข้อมูลจะเป็นไปด้วยความยากลำบากและใช้เวลานาน  แต่เมื่อได้เห็นเด็กได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเหมือนคนอื่น  หรือบางคนเขาได้พบญาติพี่น้อง กลับคืนสู่ครอบครัว ไม่ต้องเร่ร่อนอีกต่อไป”ครูอาสาสอนเด็กเร่รอนกล่าว 

อย่างไรก็ตามการทำงานของครูเจี๊ยบ และครูอาสาสอนเด็กเร่ร่อนคนอื่นๆ  มักประสบปัญหาจากความไม่เข้าใจของคนในสังคม  

“โรงเรียนบางแห่งเมื่อนำเด็กไปเข้าโรงเรียน จะถูกมองว่า ครูอาสาสอนนำปัญหาไปให้  เพราะยังมองว่าเด็กเหล่านี้เป็นเด็กไม่ดี  บางคนมองเด็กด้วยความรังเกียจ  ซึ่งเป็นเรื่องของความไม่เข้าใจ จึงอยากให้สังคมให้โอกาสเด็กเร่ร่อนเหล่านี้ เพราะหากพวกเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาสังคมลงได้ส่วนหนึ่ง” ครูเจี๊ยบกล่าวและว่า หากเป็นไปได้ อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เช่น สนับสนุนครูอาสาฯ ให้มีศูนย์เรียนรู้ของเด็กเร่ร่อนในทุกแห่ง  เพื่อให้เด็กเร่รอนได้มีโอกาสมาเรียนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ควรสนับสนุนด้านงบประมาณ  เนื่องจากปัจจุบันเทศบาลแต่ละแห่ง ตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้น้อยมาก ทั้งๆ ที่งานเหล่านี้มีส่วนช่วยในการลดปัญหาของสังคม ทำให้กลุ่มคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นคนที่มีคุณภาพขึ้น จึงควรให้ความสำคัญ .

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net