Skip to main content
sharethis
15 ม.ค. 53 - ตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค. 52 ที่ผ่านมา สหภาพคนทำงานต่างประเทศ (เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ) ออกจดหมายเปิดผนึกวอนพี่น้องแรงงาน และประชาชนทั่วไปร่วมลงชื่อกดดันเพื่อให้นายกรัฐมนตรี มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และการทำงานของ สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ และสำนักงานตรวจและคุ้มครองแรงงาน ในเรื่องความโปร่งใสของกระบวนการจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศ โดยมีรายละเอียดดังนี้

 
เรื่อง      ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และการทำงานของ        สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ และสำนักงานตรวจและคุ้มครองแรงงาน
 
เรียน      ท่าน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ
 
            เอกสารประกอบ
1)    รายงานประกอบการประชุมของเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศ
2)    คำประกาศ สหภาพคนทำงานต่างประเทศ แห่งประเทศไทย
3)    เอกสารการประกอบความเสียหายของเกษตรกรไทยกว่า 400 คน ที่เดินทางไปสวีเดน
4)    เอกสารหนี้สินของคนงานที่หลงเชื่อการเชิญชวนให้ไปทำงานที่ประเทศสเปน
5)    รายชื่อองค์กรที่ร่วมสนับสนุนหนังสือร้องเรียนฉบับนี้
 
 
            เนื่องด้วยสหภาพคนทำงานต่างประเทศ แห่งประเทศไทย เป็นองค์กรที่กำเนิดขึ้นมาจากเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ และได้สนับสนุนการเรียกร้องสิทธิ์กับสมาชิกร่วม 500 คน ที่เดินทางกลับจากสวีเดน เมื่อเดือนตุลาคม 2552 ทั้งนี้ได้ทำหนังสือ ถึง ฯพณฯ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2552 เพื่อขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ดำเนินมาตรการอย่างเร่งด่วน ในสี่ประเด็นคือ 1)รัฐต้องแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยการยกเลิกหนี้สิน หรือให้หน่วยงานของรัฐหรือผู้ที่เกี่ยวข้องชดใช้หนี้สินให้แก้ผู้เดือดร้อน หรือดำเนินมาตรการพักชำระหนี้และรับแปลงหนี้นอกระบบมาสู่ธนาคารของรัฐ 2)จัดโครงการฟื้นฟูและสนับสนุนการสร้างอาชีพแก่ผู้เดือดร้อนและครอบครัว และการชดเชยค่าเสียโอกาสทางด้านรายได้ต่างๆ 3)เร่งรัดกระบวนการทางกฎหมายเอาผิดบริษัทจัดส่ง หน่วยงานของรัฐที่เข้าไปพัวพัน และผู้ที่เกี่ยวข้องในการหลอกลวงคนไทยไปเก็บผลไม้ที่สวีเดน และ 4) สร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศ เพื่อป้องกันกระบวนการหลอกลวงแรงงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 
            เครือข่ายฯ ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอีกครั้งในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 พร้อมกับตัวแทนระดับจังหวัดร่วม 30 คน (เข้าร่วมเจรจากับคุณพงศ์ศักดิ์ เปล่งแสง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ธกส. 2 ท่าน)
            แต่จนถึงบัดนี้ ชีวิตและครอบครัวของคนงานที่เดินทางไปสวีเดนก็ยังระส่ำระสาย ถูกติดตามทวงหนี้สิน และถูกนายหน้าเงินกู้กดดันให้พวกเขาปรับสัญญาเงินกู้แล้วเดินเรื่องแปลงเงินกู้นอกระบบสู่ระบบ ธกส แม้ว่ากระบวนการต่างๆ ยังไม่สิ้นสุด แต่ระบบเส้นสายใน ธกส ที่นายหน้าเงินกู้รายใหญ่เหล่านี้มี ก็สามารถนำเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยของเกษตรกรที่ไปเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนออกมาแล้ว ในขณะที่สมาชิกของเครือข่ายคนอื่นๆ ที่ดำเนินขั้นตอนตามกฎหมาย และคำประกาศของรัฐบาล ที่ไปยื่นเรื่องด้วยตัวเอง จะต้องอยู่ในกระบวนการ กว่าจะแล้วเสร็จก็ร่วมเดือนพฤษภาคม ซึ่งไม่สามารถตอบรับกับความเดือดร้อนของพวกเรา(ดูรายละเอียดบัญชีหนี้สิน)
            และในปัจจุบัน เครือข่ายฯ ยังดำเนินเรื่องช่วยเหลือสมาชิกที่กลับจากสวีเดนยังไม่จบ และได้รับการร้องเรียนจากสมาชิกที่เป็นเกษตรกรไทย 19 คน ที่ถูกชักนำให้เชื่อว่าถ้าจ่ายเงิน 580 000 บาท จะได้ไปทำงานที่สเปน เป็นเวลา 5 ปี ทั้งนี้บริษัทจัดหางานอำนวยความสะดวกให้คนกลุ่มนี้ ทั้งการพาไปกู้เงิน (จนดอกเบี้ยบานเป็นเงิน 700 000 บาท) พาไปทำเอกสารและส่งขึ้นเครื่อง และมีตัวแทนจากบริษัทจัดหางานที่อิสราเอล ไปรับที่สเปน แต่คนงานกลุ่มนี้กลับได้ทำงานเพียงปีเดียว และใช้ชีวิตสี่เดือนในสเปนอย่างหลบๆซ่อนๆ และอดยาก และกลับไทยพร้อมหนี้สินคนละหลายแสนบาท
            เครือข่ายฯ และคนงานที่กลับจากสเปน ได้นำเสนอปัญหาและยื่นคำร้องพร้อมทั้งส่งมอบเอกสารสำคัญเพื่อเป็นหลักฐานการจ่ายเงินให้กับบริษัทจัดหางาน 2 แห่งในประเทศไทย แต่ปรากฏว่ามีการนำข้อมูลของคนงานไปบอกบริษัทจัดหางาน ทำให้พวกเขาโดยเฉพาะคนที่มีหลักฐานการโอนเงินกว่า 500 000 บาท ไปให้บริษัท ถูกติดตาม เกลี่ยกล่อม และถูกนายทุนเงินกู้มาเร่งรัดหนี้สิน เพื่อบีบให้พวกเขารับเงิน 325 000 บาท (50% ของเงินที่เสียไป และทุกคนยังเป็นหนี้ (รวมดอกเบี้ย) อีกคนละประมาณ 500 000 บาท) ที่บริษัทเสนอให้ แต่ในขณะเดียวกันกองตรวจและคุ้มครองแรงงาน กลับเตะถ่วงกระบวนการเจรจา อ้างว่ายังพิจารณาเรื่องไม่เสร็จ หรือว่าเป็นการรอเวลาให้บริษัทจัดหางานเกลี่ยกล่อมให้ผู้ร้องทุกข์ทุกคนรับเงิน เพื่อจะได้ไม่มีการฟ้องร้องเอาผิดบริษัท
            ความล่าช้า ความไม่โปร่งใส และไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการจัดส่งแรงงานไปต่างประเทศ และมาตรการช่วยเหลือที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ (ในกรณีที่คนงานถูกหลอก ถูกลอยแพ หรือประสบปัญหาในทุกรูปแบบ) โดยที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เสียหาย ส่วนใหญ่ได้รับค่าชดเชยความเสียหายเพียง 10-50% ของค่านายหน้าที่จ่ายไป และต้องกลับมาแบกรับภาระหนี้กองโต (ดูรายการหนี้สินคนงานสเปน และสวีเดน)
            สหภาพคนทำงานต่างประเทศ จึงทำหนังสือมาถึง ฯพณฯ อีกครั้งพร้อมกับส่งมอบเอกสารต่างๆ ประกอบการพิจารณา เพื่อให้ ฯพณฯ เล็งเห็นความสำคัญของปัญหา และจำเป็นที่จะต้องลงมาตรวจสอบระบบการจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศทั้งระบบ  และพัฒนาระบบของประเทศไทยให้โปร่งใส ปลอดช่องทางคอรับชัน มุ่งเพื่อการสร้างโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับคนหางานและครอบครัวอย่างแท้จริง ไม่ใช่ระบบที่หล่อเลี้ยงบริษัทจัดหางาน สาย นายทุนเงินกุ้นอกระบบ หรือแม้แต่กระทั่งนักการเมืองบางคน หรือข้าราชการบางคน อย่างเช่นที่เป็นอยู่
 
            จึงเรียนมาเพื่อให้ท่านพิจารณาท่านให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเร่งรัดการแก้ปัญหาหนี้สิ้น รวมทั้งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ข้าราชการสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ และกองตรวจและคุ้มครองแรงงาน ทั้งนี้จะต้องมีตัวแทนของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีการรวมตัวกันในนามสหภาพคนทำงานต่างประเทศ เข้าร่วมพิจารณาและนำเสนอข้อเท็จจริง
 
ขอแสดงความนับถือ
 
จรรยา ยิ้มประเสริฐ
ประธาน สหภาพคนทำงานต่างประเทศ (เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ)
 
 
หมายเหตุ
วันที่ 14 ธันวาคม 2552 แกนนำและตัวแทนจังหวัดของเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น “สหภาพคนทำงานต่างประเทศ แห่งประเทศไทย” เพื่อเป็นองค์กรของเกษตรกรและคนทำงานในประเทศไทย ที่ได้เดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ ยังทำงานอยู่ที่ต่างประเทศ กลับมาจากต่างประเทศ กำลังจะไปทำงานต่างประเทศ รวมทั้งผู้ที่ถูกหลอกจากการค้าแรงงานไปต่างประเทศ แล้วไม่ได้ไป แม้ว่าจะเป็นสหภาพใหม่ที่ยังมีจำนวนสมาชิกไม่มากนัก แต่มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนสมาชิกอย่างรวดเร็ว และมีสมาชิกมาจาก 30 จังหวัดทั่วประเทศไทย ส่วนใหญ่จากจังหวัดในภาคอีสานและภาคเหนือ
 
ในความพยายามหลายปีเพื่อจะทำให้การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่อิสราเอล ปลอดการเก็บค่าหัวคิวเกินกว่ากฎหมายกำหนด เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2552 กระทรวงแรงงานกลับอนุญาตให้บริษัทจัดหางาน 48 บริษัท ในขณะที่บางบริษัทยังมีเรื่องร้องเรียนเรื่องการเก็บค่าหัวคิวคนงานไปสเปน 580 000 บาท และเรื่องยังอยู่ในระหว่างการร้องเรียน จัดส่งคนงานไปอิสราเอล และข้อมูลที่เครือข่ายได้รับจากพื้นที่ ไม่มีบริษัทใดเลยที่เรียกเก็บเงินค่าหัวคิวตามกฎหมาย ตัวเลขที่คนที่ประสงค์จะเดินทางไปอิสราเอลต้องจ่ายในปัจจุบันคือ 350 - 380000 บาท
 
 
 
โดยหากพี่น้องแรงงานและประชาชนทั่วไปท่านใดที่เห็นด้วยกับการให้การตรวจสอบครั้งนี้ สามารถส่งรายชื่อสนับสนุนไปได้ที่ tlc@thailabour.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net