Skip to main content
sharethis

สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) ร่อนผลศึกษาและข้อเสนอต่อสิทธิในหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐ /ไร้สัญชาติ ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ย้ำหลักต้องครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มโดยไม่แบ่งแยกจึงจะมีผลในเชิงประสิทธิภาพ ดัน สปสช. เสนอ ครม. คุ้มครองสิทธิในสุขภาพให้กับคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ เช่นเดียวกับที่ส่งเสริมสิทธิในทางการศึกษา แนะ สปสช. ร่วมมือกับภาคประชาสังคมที่ก่อตั้ง “กองทุนหลักประกันสุขภาพทางเลือก”

12 มกราคม 2553   สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) ได้ส่งจดหมายพร้อมกับข้อค้นพบและข้อเสนอแนะต่อสิทธิในหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐ /ไร้สัญชาติ ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2) ปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3) เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 4) เลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ 5) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 6) ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจถึงการส่งเสริมประสิทธิภาพในการเข้าถึงสิทธิในหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติในประเทศไทย และสื่อสารสาธารณะกับสังคมไทยต่อไป  
 
โดยเนื้อหาของข้อเสนอแนะ ประกอบไปด้วยข้อค้นพบจากงานวิจัย คือโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติในประเทศไทยที่ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ ดำเนินงานร่วมกับคณะนักวิจัย ในนามของ Health 4 Stateless โดยข้อเสนอแนะประกอบด้วย
 
1.ขณะที่สังคมไทยตระหนักว่า ระบบบริการสุขภาพซึ่งเป็นระบบบริการที่จำเป็นนั้น โดยหลักการแล้วควรต้องครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม กล่าวคือต้องให้บริการทั้งชุมชนโดยไม่แบ่งแยกหรือข้ามเว้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงจะมีผลในเชิงประสิทธิภาพของงานบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะงานบริการด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 
ภาพรวมของการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ จึงควรต้องถูกพัฒนาขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติย่อมขึ้นอยู่กับจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงตามข้อเท็จจริงของแต่ละคน ที่มีอยู่จริงกับสังคมไทย อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิม คนไทยตามข้อเท็จจริงที่อยู่ระหว่างการแสดงตนและพิสูจน์ตน, กลุ่มคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวร, กลุ่มคนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว ผสมกลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว และประเทศไทยมีนโยบายให้คนกลุ่มนี้สามารถพัฒนาสถานะบุคคลต่อไปได้ ฯลฯ นอกจากนี้คนกลุ่มนี้ยังมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจต่อสังคมไทย ผ่านการจ่ายภาษีทางอ้อม และแน่นอนว่า ย่อมไม่ได้หมายความว่า จะต้องร่วมจ่ายในอัตราสามสิบ (30 บาท) หรือศูนย์ (0) บาท ณ จุดรับบริการ (Co-Payment) เสมอไป
 
2. สนับสนุนให้ สปสช. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอมติคณะรัฐมนตรีในการกำหนดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อคุ้มครองสิทธิในสุขภาพให้กับคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ เฉกเช่นเดียวกับที่รัฐไทยเคยดำเนินการเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิในทางการศึกษาของเด็กไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ โดยมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2548 เพื่อรับรองสิทธิทางการศึกษาของเด็กไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ จนต่อมาได้นำไปสู่การออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. 2548
 
3. ส่วนประเด็นผู้ทรงสิทธิตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ หากสปสช. ต้องการให้เกิดความชัดเจนในหลักการ อาจส่งเรื่องหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยส่งไปยังคณะกรรมการ คณะที่เกี่ยวข้อง 
 
4. ขอเสนอแนะให้ สปสช. เข้าร่วมมือกับภาคประชาสังคมที่ก่อตั้ง “กองทุนหลักประกันสุขภาพทางเลือก” สำหรับคนต่างด้าวที่ยังไม่มีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงกับประเทศไทยเพื่อสร้างประสิทธิภาพในการเข้าถึงสิทธิในหลักประกันสุขภาพแก่บุคคลดังกล่าว 
 
5. เพื่อการกำหนดทิศทางกฎหมายไทยในอนาคต เสนอให้ทุกฝ่ายร่วมแสวงหาองค์ความรู้ ตรวจสอบสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาพเพื่อความชัดเจนว่ายังมีกลุ่มบุคคลใดที่ยังไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ โดยอาจเริ่มต้นจากการตรวจสอบสิทธิในสุขภาพในสถานการณ์ต่างๆ อาทิ ภายใต้กฎหมายประกันสังคม กฎหมายประกันชีวิตฯลฯ 
 
ทั้งนี้ สถาบันจะนำเสนอข้อค้นพบและข้อเสนอแนะดังกล่าว ในเวทีสัมมนาวิชาการ สามพราน 2 “ความเท่าเทียมในการเจ็บป่วยกับสิทธิที่ไม่เท่าเทียม: กรณีคนไร้รัฐ/คนไร้สัญชาติ”วันที่ 15-16 มกราคม 2553 จัดโดยศูนย์ประสานงานเครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (ศ.คศน.)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net