'ซีป้า' วิตกเสรีสื่อไทย หลังกองทัพห้ามสื่อทำข่าวไล่ชาวม้ง

สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ออกรายงานแสดงความวิตกกังวลสถานภาพสื่อไทย หลังทหารไทยห้ามสื่อทำข่าวการขับไล่ผู้อพยพชาวม้ง 4,000 รายกลับลาว ร้องละเมิดเสรีภาพสื่อและกีดกันชนกลุ่มน้อย

 

สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA-ซีป้า) ออกรายงานแสดงความวิตกกังวลอย่างหนักต่อกรณีที่กองทัพไทยปิดกั้นการรายงานข่าวการส่งตัวผู้อพยพชาวม้งจำนวน 4,000 คน จากค่ายผู้อพยพในจังหวัดเพชรบูรณ์กลับประเทศ เมื่อเดือนธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา

รายงานดังกล่าวระบุว่า กองทัพได้กันนักข่าวทั้งไทยและเทศไม่ให้เข้าไปในค่ายผู้อพยพชาวม้งที่บ้านห้วยน้ำขาว จ.เพชรบูรณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้นักข่าวรายงานข่าวการปฏิบัติการขนย้ายผู้อพยพของกองทัพ ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ทางกองทัพได้จัดแถลงข่าวขึ้นที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งอยู่ห่างจากค่ายอพยพที่บ้านห้วยน้ำขาวราว 100 กม.
 
บรรดานักข่าวถูกบีบให้ปักหลักอยู่บริเวณทางเข้าที่พัก เพื่อหาโอกาสถ่ายภาพหรือคลิปวีดิโอชาวม้ง ทั้งชาย หญิง และเด็ก ที่ถูกขนย้ายออกจากค่ายอพยพด้วยรถบรรทุกและรถบัสของกองทัพ มุ่งหน้าสู่ประเทศลาว
 
“การที่กองทัพห้ามการรายงานข่าวการส่งตัวผู้อพยพชาวม้งกลับประเทศจากบริเวณค่ายฯ ไม่เพียงเป็นการละเมิดเสรีภาพของสื่อมวลชนและสาธารณชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับรองไว้ แต่ยังเป็นการลิดรอนสิทธิของชาวม้ง ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อ่อนแอ ในการรับรู้ข่าวสารสถานการณ์ของตนจากสื่อที่มีน้อยอยู่แล้ว ให้ได้รับฟังแต่เฉพาะข่าวสารที่ทางการกำหนดให้เท่านั้น” ซีป้ากล่าว
 
อันที่จริง สื่อไทยไม่ค่อยมีการรายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เลวร้ายของชาวม้งที่ลี้ภัยอยู่แล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของกองทัพในการควบคุมทิศทางการรายงานข่าวการส่งตัวผู้อพยพชาวม้งกลับประเทศที่จะปรากฏในสื่อ
 
ชาวม้งที่ถูกส่งตัวกลับเป็นกลุ่มที่หนีออกจากประเทศลาวด้วยความกลัวการเข่นฆ่าสังหาร ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ชุมชนชาวม้งในอดีตเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 70  ชาวม้งให้ความช่วยเหลือแก่อเมริกาใน “สงครามลับ” ของอเมริกา ในการต่อต้านแนวร่วมปลดปล่อยแห่งขบวนการคอมมิวนิสต์ลาว
 
ต่อมาภายหลัง ชาวม้งบางส่วนได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อการตั้งถิ่นฐานใหม่ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)  ในขณะที่ส่วนที่เหลือเลือกที่จะเสาะหาที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย โดยอยู่ในค่ายผู้อพยพที่อยู่ในความควบคุมของกองทัพ 
 
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อตกลงระหว่างสองประเทศที่ลงนามโดยรัฐบาลไทยและลาวในปี 2550 ถือว่าชาวม้งกลุ่มนี้เป็นผู้อพยพที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และนำไปสู่การส่งตัวกลับประเทศภายใต้กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองของไทย
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท