โหมโรงมหกรรมสันติภาพ สัมภาษณ์ ‘กริยา มูซอ’ : ไฟใต้ดับได้ด้วยน้ำมือเรา

เด็กๆ จาก 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหนึ่งที่พ่อถูกจับกุมหรือถูกควบคุมตัวในคดีความมั่นคงในชายแดนใต้เข้าร่วมงานวันเด็กที่จัดขึ้นโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ที่โรงเรียนจริยศาสตร์อิสลาม ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

 

เริ่มต้นปี 2553 ไม่กี่วัน จะมีความเคลื่อนไหวใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของกลุ่มนักศึกษาในพื้นที่ คือสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สนน.จชต. ที่ก่อตั้งขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในช่วงปี 2550 ที่ผ่าน พร้อมกับคำถามที่เกิดขึ้นมากมายกับนักศึกษากลุ่มก่อตั้ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นายกริยา มูซอ เลขาธิการ สนน.จชต.คนปัจจุบัน ที่อีกฐานะหนึ่งคือ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

งานใหญ่ที่ว่า คือ มหกรรมสันติภาพชายแดนใต้“PEACE SOUTHEN FESTIVEL”ระหว่างวันที่ 16-17 มกราคม 2553ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษา จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.)ชมรม STP สันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ร่วมกับองค์การบริหาร องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (อ่านกำหนดการด้านล่าง)
 
ประสบการณ์เสี่ยงในชายแดนใต้ และบทเรียนที่เป็นมุมมองต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ของนักศึกษากลุ่มนี้ น่าจะพอจะสะท้อนพลังปัญญาชนได้บ้าง อ่านบทสัมภาษณ์นายกริยา มูซอ ได้ บวกกับการโหมโรงมหกรรมสันติภาพชายแดนใต้ที่ใครก็อยากให้เกิดขึ้นจริงเสียที
 
0 0 0
 
การจัดงานมหกรรมสันติภาพชายแดนใต้
การได้มาของโครงการนี้ เริ่มต้นจากการทำกิจกรรมของนักศึกษาตลอดช่วงที่ผ่านมา พยายามตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ทั้งการทำค่ายการเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้าน การให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนต่างๆ เราเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาในระดับยุทธวิธี
 
เราจึงถอดบทเรียนจากการทำกิจกรรมทั้งหมดในระยะ 1 ปี 9 เดือน หลังการก่อตั้ง สนน.จชต. เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2550 โดยเราเรียกทุกสถาบันทางสังคมที่จำเป็นต่อการสร้างสันติภาพมามีส่วนร่วมในโครงการนี้ โดยเน้นให้ชาวบ้านรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต
 
อย่างประเด็นเรื่อง ‘ออโตโนมี’ หรือเขตปกครองตนเอง ซึ่งประชาชนรู้หรือไม่ เพราะฉะนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่ในการสร้างสันติภาพ นักศึกษาอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมมากที่สุด อย่าคิดแต่ว่า เมื่อใครเป็นตัวแทนของประชาชนแล้วก็พูดไป โดยไม่รู้ว่าตรงกับที่ประชาชน 2 ล้านกว่าคนในพื้นที่ต้องการหรือไม่
 
สนน.จชต.ได้ถอดบทเรียนในช่วงปลายปีที่แล้ว เห็นว่า เราควรทำโครงการทิ้งทวน 6 ปีไฟใต้ พอหรือยังกับการสูญเสียที่เกิดขึ้น เพราะเราทำกิจกรรมมา 1 ปี 9 เดือน เรารู้สึกว่าไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ เหมือนกับการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ปัญหาก็ยังเกิดทุกพื้นที่ เราไม่รู้จะพูดอย่างไรให้คนฟัง
 
ที่ประชุมจึงสรุปว่าเราจะจัดมหกรรมสันติภาพชายแดนใต้ขึ้น เพื่อที่จะสร้างพื้นที่ ปัญหาคือวันนี้ภาครัฐไม่สร้างพื้นที่ให้กับประชาชนในการบ่งบอกถึงปัญหาของตัวเอง
 
ปัญหาวันนี้ไม่ใช่ของคน 3 จังหวัดทั้งหมด แต่มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ภาครัฐพยายามจะแก้ปัญหาแบบ กูทำเอง มึงอยู่นิ่งๆ คือไม่เคยถาม ไม่สร้างการมีส่วนร่วม จริงๆ แล้วรัฐบอกว่า ปัญหาแก้ยาก ต้องเทงบประมาณลงไปเยอะๆ แต่ประชาชนบอกว่าแก้ง่าย ถ้ารัฐบาลจริงใจ
 
เราถอดบทเรียนว่า ในโครงการต้องมีอะไรบ้าง ดังนั้น 40% เป็นการเสวนาและการแสดงทางวัฒนธรรม ส่วนอีก 40% เป็นการจัดนิทรรศการ ซึ่งขอเน้นย้ำว่า เราทำข้อมูลแบบตรงไปตรงมา ในรูปแบบเขาวงกต มี 8 ประเด็นอยู่ในซุ้มนิทรรศการ เช่น พัฒนาการต่อสู้ทางการเมืองของคนในพื้นที่ ตั้งแต่ตนกูมาไฮยิดดีน จนถึงทนายสมชาย นีละไพจิตร อีกประเด็นคือเรื่องประวัติศาสตร์ ซึ่งเราต้องการนำเสนอบนความเข้าใจในเรื่องความเป็นมลายูมุสลิม
 
 
คาดหวังกับงานนี้อย่างไร
นักศึกษาลงไปในพื้นที่ เจอคนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ เราเห็นประชาชนร้องให้น้ำตาเป็นเลือด เราค่อนข้างเข้าใจว่า วันนี้ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาทัศนคติของประชาชนต่อภาครัฐได้ การผลักให้เกิดสงครามประชาชนค่อนข้างเป็นไปได้สูง สงครามความรู้สึกจะทวีคูณไปเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่เรากลัว
 
ไม่ใช่ว่าเราไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของหน่วยงานความมั่นของรัฐว่า ไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้ แต่เราไม่มั่นใจ เราเชื่อใจ แต่เราไม่มั่นใจว่ารัฐจะเข้าใจเรื่องนี้ จึงมีทฤษฎีหนึ่งว่า ใครจะเป็นเติร์ทปาร์ตี หรือบุคคลที่สามมาช่วยแก้ปัญหา แต่ไม่ได้บอกว่านักศึกษาอยากเป็น
 
เรารู้ว่าเราคงไม่มีความสามารถที่จะสนับสนุนให้เกิดการเจรจาอย่างจริงใจได้ เพราะตอนนี้ถ้าถามว่าใครเป็นคนจุดไฟใต้ แต่นอน คือ กลุ่มก่อความไม่สงบที่ชาวบ้านเรียนว่า เปอร์ยูแว เราไม่คาดหวังถึงขนาดนั้น
 
วันนี้รัฐต้องมอง แล้วเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหญ่ในการแก้ปัญหาอย่างจริงใจ คือต้องแสดงความจริงใจ แคมเปญใหญ่สำหรับงานที่เราจะจัดนี้ ก็คือ สติเคลื่อนสันติภาพ เพราะวันนี้ทั้งประชาชนส่วนใหญ่ กลุ่มเปอร์ยูแว และภาครัฐ ไม่มีสติในการแก้ปัญหา
 
ฉะนั้นเราขอเป็นคนที่อยู่นิ่งภายใต้สันติวิธี แล้วสะกิดทุกคนว่า คุณต้องมีสติ ถ้าขาดสติ การแก้ปัญหาในสภาวะที่หมักหมมมานาน มันค่อนข้างนำไปสู่ความรุนแรงได้เร็วมากที่สุด
 
ในมิติโครงสร้างทางสังคมหลายอย่าง เช่น การนับถือศาสนาอิสลาม เป็นปัญหาหรือไม่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญก็บอกว่าไม่มีปัญหา แต่จริงๆ แล้วการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐมันสร้างปัญหา การบังคับขืนใจมันไม่ใช่สันติวิธี
 
การมีสติ เป็นการเริ่มต้นในการสร้างสันภาพได้ นี่คือสิ่งที่นักศึกษาอยากให้มอง ก่อนที่คุณจะบอกว่า จะพัฒนาหรือจะใช้การเมืองนำการทหาร เราต้องกลับมาตั้งคำถาม เหมือนเด็ก ป.6 ที่ถามว่า ทำไมต้องยิงพ่อหนู ทำไมต้องห้ำหั่นฆ่ากัน
 
ผมมองในฐานะผู้สูญเสีย ซึ่งผมเห็นใจเขา อีกด้านหนึ่งก็มองว่า ยังมีคนส่วนใหญ่ถูกกดขี่ ดังนั้นก็ต้องฆ่ากัน นั่นคืออีกมุมหนึ่งซึ่งผมไม่ขอแสดงความคิดเห็น เพราะในพื้นที่มีมุมมองที่หลากหลาย
 
วันนี้เรามาสร้างสติกันง่ายๆ ว่าเราจะอธิบายบริบทของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยให้คำนิยามแบบง่ายๆ มีหรือไม่ มีคนคิดจะทำหนังสือการ์ตูนเพื่ออธิบายการแก้ปัญหาแบบง่ายๆ มีหรือไม่ เพื่อจะให้น้องๆ เริ่มมีทัศนคติเรื่องความรุนแรงอย่างมีความหมาย
 
วันนี้เราห้ามผู้ใหญ่ไม่ได้ นักศึกษาก็พยายามที่จะเอาคนที่อายุ 25 ปีลงมา มาทำความเข้าใจว่า คนรุ่นใหม่อย่างเราที่จะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า จะไปเป็นผู้กำหนดชะตากรรมและอัตลักษณ์ของตัวเอง จะใช้ชีวิตอย่างไรภายใต้ความรุนแรง นั่นคือสิ่งที่เขาต้องรู้เท่าทัน
 
เพราะฉะนั้นนักศึกษาจึงพยายามสร้างขบวนการนักศึกษาให้เข้มแข็ง บนความคาดหวังง่ายๆ คือ สันติภาพจะเกิดขึ้นเร็วหรือไม่ อยู่ที่ทุกคน เราอยากให้มีบรรยากาศเหมือน 7 ปีก่อน ที่ทุกอย่างมีความราบรื่น
 
สิ่งที่เราต้องการคือ เป็นไปได้หรือไม่ว่า ผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดคือรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลไหน เราอยากให้มีห้องเรียนหนึ่งที่ให้คุณมาทำความเข้าใจ มีหลีกสูตรหนึ่งที่อยากให้คุณดูว่า นี่คือปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีรัฐบาลใหม่ก็มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการแก้ปัญหา
 
เพราะฉะนั้นให้เราเขียนหลักสูตรให้เอาไหม แล้วคุณมาเรียนกับเรา ไม่ใช่ยึดความคิดเห็นของตัวเองเป็นใหญ่ นี่คือในฐานะที่เราทำได้ เราก็จะทำให้มากที่สุด ผมก็อยากเห็นการเปลี่ยนผ่านในสิ่งที่ดี เป็นไปได้หรือไม่ที่ทุกฝ่ายต้องหันหน้ามาคุยกัน
 
 
ในช่วง 1 ปี 9 เดือนของ สนน.จชต.ได้ประสบการและบทเรียนอย่างไรบ้าง
ได้ประสบการณ์เยอะมาก ตอนผมเรียน ม.6 เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ผมไม่เคยสนใจ รู้แต่ว่า วันนั้นต้องเอนทรานส์ให้ติดคณะวิศวกรรมเครื่องกล มีความฝันว่า เรียนจบแล้วไปทำงานที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน 5 ปี เก็บเงิน สร้างบ้าน ซื้อรถ อยู่กับเมีย แต่ทุกอย่างพังทลายลงตอนที่เพื่อนๆ ชวนไปลงพื้นที่ คือกรณีการเสียชีวิตของโต๊ะอิหม่าม ยะผา กาเซ็ง
 
นั่นเป็นเหตุการณ์แรก และเหตุการณ์เดียวที่อัลลอฮ (พระเจ้าที่ชาวมุสลิมนับถือศรัทธา) เปลี่ยนชีวิตผมจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เป็นเด็กคนหนึ่งที่อยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ทุนนิยมเสรี ผมก็เปลี่ยนตัวเองไปเป็นนักกิจกรรมเพื่อประชาชน
 
แค่เหตุการณ์โต๊ะอิหม่ามยะผา กาเซ็ง มีหลายคำถามมากว่า คนรุ่นพ่อขนาดนั้น ทำไมต้องตกชะตากรรมเสียชีวิตในค่ายทหารจากการถูกซ้อมทรมาน แล้วก็การโกหกของ พ.อ.อัคร ทิพย์โรจน์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมันคงภายในภาค 4 ตอนนั้น ทำให้ผมรับไม่ได้ นี่คือการพูดแบบตรงไปตรงมา การพูดว่าเป็นลมบ้าหมูตาย ผมรับไม่ได้จริงๆ ภาพที่ผมเห็นศพของท่านตอนฝัง ผมรับไม่ได้จริงๆ
 
นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เพื่อนๆ 5 คนในยุคก่อตัวลงไปในพื้นที่ แต่สามารถประโคมข่าว ดึงนักข่าวฝรั่งเศสและแคนาดาลงมาได้ เราก็รู้แล้วว่า เราต้องทำอะไร หลังจากนั้นลงพื้นที่ต่อ แล้วกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองถึงเหตุรุนแรงที่เราเห็นกับตา เราเห็นว่าวันนี้นักศึกษาอยู่ดีๆ ไม่ได้แล้ว
 
หลังจากนั้นมีการเชื่อมต่อกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ลงมาหนุนเสริมการทำกิจกรรมกับประชาชน พยายามสร้างความเข้มแข็ง การจัดองค์กรที่ทำงานกับประชาชนอย่างไร จากนั้นขยายฐานนักศึกษาเพื่อสร้างจิตสำนึกการทำงานกับประชาชน เรามีวิธีการทำงานมากขึ้น ทำความเข้าใจกับน้องๆ ถึงบทบาทและหน้าที่ของปัญญาชน
 
โรงเรียนการเมืองที่เราตั้งขึ้นมานั้น เพื่อให้น้องๆ รู้เท่านั้น โลกโลกาภิวัตน์ การทำงานเป็นขบวนจึงค่อนข้างเป็นเอกภาพมากกับสมาชิกที่เรามีพันกว่าคน ในพื้นที่ 4 จังหวัดคือ ปัตตานี สงขลา ยะลาและนราธิวาส มีพัฒนาการที่ค้อนข่างเร็วมาก เพราะเราได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลาง และจากนักกิจกรรมรุ่นพ่อ เช่น สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) เป็นต้น
 
เราถอดบทเรียนจนเกิดเป็นโครงการนี้ คือการแก้ปัญหาภายใต้สันติวิธี อยากเรียกร้องภาครัฐให้มองเห็นว่า วันนี้ถ้าคุณยังมีการแก้ปัญหาที่ผิดๆ นักศึกษาที่ศึกษาความหมายของความรุนแรงก็จะมากขึ้นไปเรื่อยๆ และเราต้องคุยกันว่าจะเคลื่อนกันไปถึงไหน เราถึงจะหยุดประเด็นปัญหาภาคใต้
 
เราคุยกันว่า เสมอภาพ ยุติธรรม คือ วิสัยทัศน์ที่เรานำเสนอกับน้องกว่าพันคน ว่าสามารถจะทำได้หรือไม่ เสมอภาค สันติ ยุติธรรม นี่คือสิ่งที่เราจะให้ทั้งนักศึกษาและประชาชน
 
 
ตั้งแต่ตั้ง สนน.จชต. ขึ้นมามีการลงพื้นที่บ่อยแค่ไหน ลักษณะการทำงานเป็นอย่างไร
บ่อยมาก ช่วงที่ลงพื้นที่ เราตั้งผู้ประสานงานระหว่างนักศึกษากับประชาชน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน บางช่วงเราลงพื้นที่หนึ่ง มีหมู่บ้านอีกอำเภอหนึ่งถูกปิดล้อม ลูกชายเขาถูกจับ เราก็ลง วันนี้ผู้หญิงถูกจับเราก็ลงพื้นที่ เราลงพื้นที่บ่อยมาก ซึ่งเราเน้นเรื่องงานเยียวยา ซึ่งก็ต้องเยียวยาต่อ
 
ช่วงหลังๆ เราเป็นผู้ประสานระหว่างศูนย์ทนายความมุสลิม คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เพราะเราได้ข้อมูลลักษณะนี้ พวกคุณต้องช่วยหน่อย
 
มีหลายกรณีที่เราผลักดันจนเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมากได้ เช่นกรณีของอิหม่ามยะผาเอง เราไปจัดตั้งกลุ่มพลังมวลชนขึ้นมา เพื่อยื่นข้อเสนอกับอัยการที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อให้มีการดำเนินคดี
 
เราจะไม่เล่นประเด็นเรื่องความรุนแรงกับสิทธิมนุษยชนเท่านั้น ประเด็นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติเราก็เล่น เช่น เรื่องเขื่อนสายบุรี เรื่องท่อก๊าซจะนะ เราจะรวมคนที่เคยเจ็บกับความไม่ยุติธรรมจากภาครัฐเป็นสหภาพของประชาชน เพราะเขามีชะตากรรมเดียวกัน
 
ภาพงานของ สนน.จชต. เราทำงานสองด้าน มีรองเลขาธิการฝ่ายประชาชน กับรองเลขาธิการฝ่ายนักศึกษา เรื่องประชาชน เราก็ทำเรื่องประเด็นปัญหา มีเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่องทรัพยากร เรื่องปากท้อง การศึกษา เยาวชน ส่วนนักศึกษาก็จะเป็นเรื่องงานรักษาสิทธินักศึกษา งานพัฒนาความคิดนักศึกษา งานหนุนเสริม งานผลักดันยุทธศาสตร์ทางความคิดของนักศึกษา เรื่องโรงเรียนการเมือง
 
ที่เราต้องการในอีก 10 ปีข้างหน้ากับ สนน.จชต. คือมีการขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็ง เพื่อความเปลี่ยนแปลง วันนี้ก็ต้องพูดถึงการยกระดับ ผลักดันการเปลี่ยนแปลงของประชาชน
 
ตอนนี้ถ้าให้ประเมิน ผมพอใจในระดับของนักศึกษา ที่เรามีองค์กรฐานจากเดิมมี 11 องค์กร ปัจจุบันเพิ่มเป็น 32 องค์กร และอีก 6 องค์กรเป็นองค์กรภาคี คือองค์กรนอกพื้นที่ ไม่ว่าองค์กรนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หรือที่กรุงเทพเองก็อยากจะมาร่วมทำกิจกรรมในพื้นที่ ซึ่งผมเปิดกว้างให้มีทั้งไทยพุทธและมุสลิม
 
ตอนนี้น่าสนใจที่ว่า สำหรับนักศึกษา เราต้องแบ่งสาระเป็น 8 สาระ มีสาระด้านมาตุภมิและมวลชน สาระด้านศิลปวัฒนธรรม สาระด้านศาสนา สาระด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สาระด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและสาธารณสุข
 
ยุทธศาสตร์หลังจากนี้ หลังจากมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ขององค์กรนักศึกษา ซึ่งต้องมีการขับเคลื่อนในองค์กร เช่น ไฟใต้จะดับให้เร็วที่สุดด้วยน้ำมือเราได้ไหม เราพูดแบบขำๆ ในกลุ่มนักศึกษา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ
 
สิ่งที่เพื่อนๆ เสนอเช่น เราน่าจะมีการประท้วง 3 เดือน เราก็พูดแบบขำๆ จะทำอย่างไรให้ทั่วโลกเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องการให้คนที่มีส่วนเอี่ยวกับไฟใต้ได้ออกมาคุยกันได้แล้ว เรารอไม่ไหวแล้ว
 
สำหรับกิจกรรมนอกพื้นที่ก็มี เช่น เราไปเรียนรู้ชีวิตชาวปกากญอ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เรียนรู้เรื่องกลุ่มคนชายขอบ ดึง สนนท.มาทำค่ายเรียนรู้ปัญหาประมงชายฝั่ง มีการทำกิจกรรมเชื่อมโยงกันไปมา
 
ตอนนี้เราเป็นองค์กรฐานของอาซา (ASA) คือ Associations student activist Asean Pacific เป็นสมาคมนักศึกษาอาเซียนและแปซิฟิก เพราะฉะนั้นงานของภาคนักศึกษา จะมีกรรมการบริหารฝ่ายต่างประเทศไปประชุมด้วย
 
ลงพื้นที่ส่วนใหญ่วันเสาร์อาทิตย์ สมัครใจลง หลังๆ จะจัดเด็กลงพื้นที่ โดยจะให้เข้าโรงเรียนการเมืองก่อน โดยตอนนี้เรากำลังจะร่างหลักสูตรเพื่อนักศึกษา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเมื่อก่อนเราใช้หลักสูตรของเอ็นจีโอ(องค์กรพัฒนาเอกชน) ในพื้นที่
 
คือปัญหาใหญ่ของนักศึกษาทั่วประเทศตอนนี้ คือการไม่มีส่วนร่วมและการไม่กล้าแสดงออก เช่น น้องคนหนึ่งในม.อ.หาดใหญ่ ถ้าสวมฮิญาบ (ผ้าคลุมศีรษะ) จะเข้าเรียนในห้องแล็บไม่ได้ เราก็เคลื่อนไหว เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของนักศึกษามุสลิม คือบางทีสังคมใหญ่ก็ต้องเข้าใจข้อจำกัด ซึ่งเขาไม่รู้ เราก็ต้องเคลื่อนไหวเพื่อให้เขารู้
 
 
ตอนนี้การเคลื่อนไหวของนักศึกษาโดยรวมถูกวิจารณ์ว่าอ่อนมาก จะใช้โอกาสนี้สร้างพลังของนักศึกษาให้เข้มแข็งขึ้นมาหรือไม่
ในช่วงการต่อสู้สมัย 14 ตุลา 16 มีอยู่อย่างหนึ่งที่เหมือนกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ความรุนแรง ความไม่ยุติธรรมที่สามารถเห็นได้ง่าย ถ้าไม่มีความรุนแรงก็ไม่มีผม ถ้าไม่มีความรุนแรง ก็ไม่มีองค์กรฐาน 32 องค์กรที่สมัครเข้ามาเพื่อจะสร้างเอกภาพการทำงานให้มากขึ้น
 
ผมรู้ว่าระบบการศึกษาไม่ดี แต่ผมไม่มีอำนาจที่จะไปเปลี่ยนแปลงได้ ตอนนี้ไม่ใช่เพราะผู้ใหญ่ในช่วง 14 ตุลาฯ กับพฤษภาทมิฬหรือที่กำลังควบคุมระบบการศึกษา
 
ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เราจำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหว ตอนแรกเราก็ไม่อยากทำ แต่ 32 องค์กรมารวมกันเป็นการเคลื่อนไหวในแนวราบไปแล้ว ถ้าทำอะไรได้มากที่สุด เราก็ทำ ถ้าไปเปรียบเทียบพลังกับสมัย 14 ตุลาฯ คงจะไม่ถึง ตอนนี้เราเพิ่งเดิน แต่เรากลัวมากที่สุด คือการแทรกแซงจากภาครัฐ
 
 
ที่ผ่านมามีไหม
บอกตรงๆ ว่ามี ช่วงแรกๆ มีเยอะ แต่ช่วงหลังๆ นี้เขารู้ว่า ถ้ายิ่งห้ามก็เหมือนกับเรามีพลังยกกำลังสองไปเรื่อยๆ เขาก็เริ่มถอยๆ ไป ปัญหาบ้านเราก็คือ ภาครัฐต้องไปปราบเปอร์ยูแว ก็คงไม่ว่างพอที่จะมาปราบนักศึกษา แต่อยากวิ่งวอนว่า เราเคลื่อนไหวทางด้านสันติวิธี ขอพื้นที่ทางการเมืองให้นักศึกษาได้พูดแล้วได้มีส่วนร่วมในฐานะที่เราต้องเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า
 
 
การเคลื่อนไหวหลักๆ อยู่ในกรอบใหญ่ๆ คือความเป็นมลายูมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตรงนี้เราได้ทำอะไรไปบ้างเพื่อนำเสนอถึงความเป็นตัวตนของเรา
เรามีการสานเสวนาด้วยภาษาท้องถิ่น เราเชิญ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม และนายอุดม ปัตนวงศ์ จากมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้มาพูดคุย เล่าขานว่าจริงๆ แล้วเราคือใคร น้องๆ หลายคนก็ยอมรับ เพราะขนาดอดีตนายตำรวจก็พูดอย่างนี้ได้ น้องๆ รู้สึกว่า ทำไมต้องปิดความเป็นตัวตนของเขา ทำไมเราไม่ยอมเปิดเผยความเป็นตัวตนออกมา แม้วันนี้น้องๆ อาจยังพูดภาษามลายูไม่ได้ แต่ก็รู้ว่าตัวเองเป็นมลายูมุสลิม
 
กิจกรรมที่เราทำ มีการนำเสนอข้อมูลด้านวัฒนธรรมมากขึ้นในมหาวิทยาลัยต่างๆ ว่า นี่คือภาษาของเรา นี่คือการแต่งกายของเรา นี่คือชาติพันธุ์ของเรา ซึ่งอาจก่อความขัดแย้งขึ้นมาบ้างกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย แต่เราก็อยากให้คนอื่นเข้าใจว่าเราเป็นอย่างนี้
 
ประเด็นเรื่องความเป็นมลายูมุสลิม เราคำนึงมากในการทำกิจกรรมทุกสาระ ทั้ง 8 สาระทางการเมืองที่ตั้งขึ้น เราพยายามที่จะให้ทุกคนขับเคลื่อนภายใต้ความเป็นมลายูมุสลิมมากที่สุด
 
ผมจะให้องค์กรฐานทำกิจกรรมได้โดยห้ามละเมิดโครงสร้างทางสังคมของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะโครงสร้างทางสังคมที่นั่น ไม่เหมือนกับที่ศูนย์รวมอำนาจรัฐไทย คือ มีวิถีประชา คือศาสนานำ นี่คือกรอบ
 
ถ้าในเรื่องเศรษฐกิจ ก็เป็นเศรษฐกิจแบบมุสลิม ศิลปวัฒนธรรมก็มุสลิม มีหลายๆ อย่างรวมกัน การเมืองก็ต้องการเมืองแบบมุสลิม แต่วันนี้อาจไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ไม่เป็นไร แต่นี่คือโครงสร้างหลักของคนในพื้นที่
 
วิถีประชาของเขาเป็นอย่างไร น้องๆ เวลาจะลงพื้นที่ อย่าอวดเก่ง อย่าเอาความเป็นเสรีแบบโลกาภิวัฒน์ไปทำลาย เพราะความอ่อนไหวแบบอนุรักษ์นิยมของคนมลายูในพื้นที่ นั่นคือการต่อสู้อีกทางหนึ่ง
 
นี่คือกรอบใหญ่ๆ ที่เราอยากให้ทุกคนเข้าใจว่า เวลาคุณลงไปในพื้นที่ คุณต้องรู้ว่า คนในพื้นที่คือใคร แล้วทำไมต้องอ่อนไหวในเรื่องความเป็นมลายูมาก
 
 
เมื่อเคลื่อนไหวอย่างนี้ บางคนอาจตั้งคำถามว่า เป็นการช่วยเหลือฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบหรือไม่ เป็นพวกเดียวกันหรือเปล่า
ผมไม่แปลกใจเลยที่จะเกิดคำถามแบบนี้ขึ้น เพราะตอนที่เราเริ่มเคลื่อนไหวเราโดนประชาชนด่าว่า พอเราลงพื้นที่ คุณคือคนของรัฐ พอเราออกจากพื้นที่ คุณคือคนของขบวนการ แต่หลังๆ มานี้ ประชาชนในพื้นที่ที่เราลงไปบ่อยๆ ให้เขาเชื่อใจ เราพิชิตได้ แต่ทัศนคติของรัฐส่วนใหญ่ ยังพูดถึง สนน.จชต.ว่า เป็นคนของขบวนการหรือไม่ มีถึงขนาดที่ว่า เป็นบีอาร์เอ็น รุ่นที่สอง เราตกใจว่ามันขนาดนั้นเลยหรือ
 
พอเรามามองในภาพความเป็นจริง ถ้าเราเปรียบเทียบกับ พคท.(พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) แล้ว เราก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไรในพื้นที่ ผมยอมรับว่า เปอร์ยูแวมีจริง แต่วันนี้ในสิ่งที่ผมเคลื่อนไหว คือความยุติธรรม ซึ่งเปอร์ยูแว ก็ต้องการความยุติธรรม แต่เปอร์ยูแวออกมาพูดไม่ได้
 
ผมทำในหน้าที่พื้นฐานของปัญญาชน แน่นอนเราเห็นความอธรรมอย่างนั้นไม่ได้ แต่พอเราเคลื่อน มันก็ไปเข้าทางเปอร์ยูแว ถามว่าเราตั้งใจให้เข้าทางหรือไม่ เราไม่ได้ตั้งใจ แต่พอเราทำ คำตอบที่ออกมาคือ มึงไปช่วยเปอร์ยูแวทำไม คือคำถามจากภาครัฐ จะให้ผมทำอย่างไร
 
ถามว่าวันนี้จะลดเงื่อนไขได้หรือไม่ องค์กรนักศึกษาก็หยุดเคลื่อนไหวสิ เพื่อจะได้ไม่ต้องเข้าทางของเปอร์ยูแว แต่ผมเคลื่อนไหวเพื่อประชาชน ผมว่า ถ้าเปอร์ยูแวจริงใจ เขาต้องออกมาพูด ผมก็รอ ผมสามารถดึงเปอร์ยูแวออกมาพูด เป็นไปไม่ได้ เพราะผมก็ไม่รู้ว่าโครงสร้างของเปอร์ยูแว ว่ามีกี่กลุ่ม เป็นอย่างไร
 
วันนี้ถ้ามัวแต่กลัววาทกรรมของรัฐ อุดมการณ์เพื่อประชาชนของนักศึกษา วันนี้ก็คงล้ม ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ปล่อยให้ปัญหาเละเทะอยู่อย่างนี้ ฉะนั้นจึงมีหลายมิติที่เราต้องเดินก้าวผ่านให้ได้
 
วันนี้ถ้าภาครัฐยังไม่หลุดพ้นคำว่า นักศึกษาคือคนของขบวนการ ก็คงไม่พ้นทัศนคติของผู้ที่แก้ปัญหาที่ดีได้ นักศึกษาไม่ได้โทษภาครัฐ ถามว่ากำลังกี่หมื่นคนที่ลงมาในพื้นที่ ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ผมว่าโครงสร้างของหน่วยความมั่นคงต้องแก้กันยกใหญ่
 
ผมว่ากลุ่มเปอร์ยูแว เขารู้จักรัฐไทยดี ผมว่าเขาน่ากลัว จากที่ผมลงพื้นที่ในพื้นที่สีแดง ทำไมประชาชนถึงให้ความร่วมมือกับเปอร์ยูแว น่าสนใจ ทำไมประชาชนไม่ร่วมมือกับรัฐ
 
นี่คือทัศนคติส่วนตัว คือเรามองง่ายๆ คือ ใครคือคู่กรณี ใครคือมุมแดง ใครคือมุมน้ำเงิน แล้วใครจะเป็นกรรมการห้ามบนเวที ก็ยังไม่เห็น อินชาอัลลอฮ คิดว่าต้องมี
 
 
อยากเห็นอนาคตชายแดนใต้เป็นอย่างไร
อยากเห็นการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าสันติภาพยังไม่เกิดขึ้นก่อน การพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่เคยมีมาก่อน คือการพัฒนาตัวบุคคล สิ่งที่นักศึกษาอยากให้เกิดคือการพัฒนาบุคคลมากกว่าวัตถุก่อน ไม่อย่างนั้นการพัฒนาจะไม่เกิดขึ้นเลยหรือเกิดน้อย ถ้าสันติภาพยังไม่เกิดขึ้น
 
วันนี้เราต้องทำสักพื้นที่หนึ่ง เป็นฟรีโซน คือพื้นที่สันติภาพ ที่อื่นจะรบก็รบไป ลองดูก่อน นี่คือความคาดหวังในอนาคต การเกิดสันติภาพ เกิดจากประชาชนในพื้นที่
 
วันนี้คนในหมู่บ้าน เราต้องลงไปพูดว่า อามันดามัย (สมานฉันท์) คืออะไร เป็นงานที่นักศึกษาอย่างเดียวทำไม่ไหว การใช้องค์กรภาคประชาชนที่มีอยู่แล้ว หรือภาครัฐเข้ามาแก้ปัญหาได้ ก็ต้องทำประมาณนี้
 
รัฐต้องเข้าใจว่า เขาคือคนมลายูและต้องจริงใจ ซึ่งการกระทำสามารถพิสูจน์ความจริงใจได้ ถึงทำดี 5 วัน แต่กลับกลอกอีกวัน มันก็ไม่จริงใจ ที่ผ่านมาเราเจออย่างนั้น เราก็เลยพูด
 
อยากฝากหลายส่วนคือ นักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมที่เป็นส่วนน้อยมาก แต่จริงๆ แล้วในการสร้างสันติภาพ เราต้องเข้าใจว่าประชาชนเขาโดนอะไร ถามว่า คน 60 ล้านคน คงไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดน หรือเขตปกครองพิเศษ แต่อย่าลืมว่า คนส่วนน้อยในพื้นที่ล้านกว่าคน เป็นคนที่ได้รับผลกระทบ บาดเจ็บล้มตายมาเยอะ นั่นคือสิ่งที่คนในสังคมส่วนใหญ่ต้องเข้าใจ
 
วันนี้การหลุดพ้นจากคำว่า ชาตินิยมไทย เป็นสิ่งจำเป็นมาก ถ้าเคารพในสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ด้วยกัน มันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ฉะนั้นนักศึกษาเป็นองค์กรเดียวที่อาจลงไปเจอกับอะไรจริงๆ จังๆ หลายพื้นที่มาก จนเรารู้แล้วว่า เราอายุไม่ถึง 25 ปี และเป็นกลุ่มน้อยๆ แต่เราไม่อาจสร้างสันติภาพทั้งหมดได้
 
ถ้าจะให้เราสร้าง เราก็ต้องเป็นผีเสื้อกลางคืนตัวน้อยๆ ที่กระพือปีกแล้วต้องเกิดเป็นพายุทอร์นาโด เป็นทฤษฎีเดียวที่เกิดขึ้นยาก โอกาสเกิดขึ้นแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นอยากวิงวอนภาคส่วนต่างๆ ที่มีผลได้ผลเสียกับในพื้นที่ ต้องทำความเข้าใจและเริ่มมีสติเพื่อที่จะสร้างสันติภาพ
 
 
 
 
 
 

 
กำหนดการโครงการ
“มหกรรมสันติภาพชายแดนใต้”
 
 
 
วันเสาร์ที่  16 เดือน มกราคม พ.ศ. 2553
 
ภาคกลางวัน
09.00น.                         การแสดงวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาคเวที
                                                การแสดงปันจสีลัต (pencak silat ) จากเยาวชนชายแดนภาคใต้
09.15น.                         กล่าวรายงานโครงการ
นายอับดุลเราะมัน  มอลอ 
นายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขต ปัตตานี
09.30น.                         เปิดพิธี
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
10.00น.                         การแสดง ซิลัต รายุง (Silat rayung) จากเยาวชนอำเภอรามัน
10.15น.                         เสวนา หัวข้อ “ไฟใต้กับกระบวนการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน”
1. ดร.ธเนศวร์ อาภรณ์สุวรรณ        
คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2. รศ.ดร.จรัญ มะลูลีม      
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                                    3. ดร.มารค ตามไท
อาจารย์สถาบันเพื่อการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยพายัพ    
ดำเนินรายการโดย
นายอาเต็ฟ โซ๊ะโกะ
อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
            12.00น.             พักกลางวัน
13.00น.             ชมการแสดง
                                    เอินดัง (Endang) โดย...ชุมนุมวัฒนธรรมและภาษามลายู
                                    อ่านบทกวี (Sajak)  โดย...นักเรียนโรงเรียนตาดีกา รางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง
13.30น.            เสวนา  “ปอเนาะ ตาดีกากับวาทกรรมแหล่งซ่องสุมโจรแบ่งแยกดินแดน”
1. นายอับดุลการิม นาคนาวา
ผู้อำนวยการโรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์
                                    2. นายอิบรอเฮม ยานยา   
รองประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้
                        3. อาจารย์ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ  
กรรมการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
ดำเนินรายการโดย
นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ
อดีตรองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
รองเลขาธิการฝ่ายประชาชน
15.30 น.-17.30น             การแสดงรำกริซ Raya Hijau โดย...เยาวชนอำเภอรามัน
การแสดงของนักเรียนตาดีกาจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
                                    (Pertandingan Tadika pringkat 5 wilayah sempadan thai )
                                                ปาฐกถา   Syarahan
                                                อ่านบทกวีนิพนธ์   Bahah pantun
                                                - การแสดงมายากลคณะกาลอ Sahir
                                                - การแสดงละครสั้นวัฒนธรรมตะวันออก โดย ... นักศึกษาเอกภาษาจีน
                                                - การแสดงจาก...ชมรมนาฎศิลป์และดนตรีไทย
 
 
ภาคกลางคืน
            19.00น.                        การแสดงดีเกฮูลู โดย...วงคณะมลายูภาคใต้
20.00น.                        การขับร้องอานาชีด โดย...สามพี่น้องโต๊ะบานา
            20.30 น. -24.00 น          ชมการแสดง อานาซีด
                                              โดย วง U-SADS-ST จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                                               วง Warisan        จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตย์
                                               การแสดง รองแง็ง จากโรงเรียน เดชะปัตตนยานุกูล
 
วัน อาทิตย์ที่  17 เดือน มกราคม พ.ศ. 2553
ภาคกลางวัน
09.15น.              กล่าวต้อนรับโดย...รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี
                                     การขับร้องอานาชีด โดย นักเรียนโรงเรียนตาดีกาสามจังหวัดชายแดนใต้
09.30น.              เสวนา หัวข้อ “สิทธิเสรีภาพภายใต้กฎหมายพิเศษ”
                         1. นายอาดีลัน อาลีอิสเหาะ
                                     ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดยะลา
                                     2. พล.ท.กสิกร คีรีศรี
                                     ผู้บัญชาการกองกำลังผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.)
                                     3.นายกมลศักดิ์ ดิวามุ
                                     ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดนราธิวาส
                                     ดำเนินรายการโดย...นายสุไลมาน มะหะแซ
                                     ประธานเครือข่ายอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความมุสลิม
            11.30น.             อ่านข่าวตลก (Baca berita nakal)
            11.40น.             ชมการแสดง ศิลปะป้องกันตัว
                                    โดย...ชมรมศิลปะป้องกันตัว องค์การนักศึกษา
                                    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
            12.00น.             พักกลางวัน และการออกร้าน
13.00น.             การแสดงดิเกฮูลู โดย...คณะอาเนาะปูยู
13.30น.             เสวนา หัวข้อ “การรักษาอัตลักษณ์มลายู: อัตลักษณ์ไทยเสียไปหรือไม่”
1. อาจารย์อะห์มัดสมบูรณ์ บัวหลวง
คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์
                                    2. นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน
                                    บรรณาธิการดีพเซ้าท์ บุกกาซีน       
                                   3.นายอุดม ปัตนวงศ์
                                    รองประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้
ดำเนินรายการโดย...นายตูแวดานียา ตูแวแมแง
ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์วัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
            15.00น.-17.30น  การแข่งขันของนักเรียนตาดีกาจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
                        (Pertandingan Tadika pringkat 5 wilayah sempadan thai )
                        อ่านบทกวี (Sajak)
                                    ชมการแสดงอานาซีด
                                    โดย...วง Fiklis จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
                                              วง Keragan PSU จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
ภาคกลางคืน
19.00น.             ชมการแสดงวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ภาคเวที
การขับร้องอานาชีด โดย...วง Intifadah
20.00น.             เสวนา หัวข้อ “เยาวชนหนุ่มสาวกับความหวังของสังคม...”
1.นายรอมซี ดอฆอ
                        อดีตเลขาธิการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
2.นายกริยา มูซอ
เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
                       3.นายอนุธีร์ เดชเทวพร
                        เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
ดำเนินรายการโดย...นายอับดุลเราะมาน มอลอ 
                       นายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี
            21.30น.             ชมการแสดง อานาซีด
                                    โดย...วง Warisan จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตย์
                                              วง Fiklis จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
                                    การแสดงดิเกฮูลู วงแหลมทราย
            23.00น.             ชมกิจกรรมการประมวลภาพ ทั้งภาคกลางวัน และกลางคืน
            23.30น.-24.00น  ปิดโครงการ
                                    โดย...นายชารีฟ สะอิ อุปนายกกิจการภายนอก
                                    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
           
 
หมายเหตุ : กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท