เปิดศักราช 2553 คุยกับคนสร้างสื่อใหม่ ตอน 2 Voice TV

ความตื่นตัวของการมีส่วนร่วมทางสังคมผ่านโลกออนไลน์ที่เติบโตขึ้น ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารและการแสดงพลังทางสังคมของผู้คนทั้งในประเทศไทยและระดับสากลอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากจำนวนของ citizen journalist  หรือ cyber activist ที่คืบคลานเข้ามาสู่โลกแห่งการสื่อสารแบบใหม่นี้ ไม่ว่าคุณจะสนองตอบต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ด้วยความหวาดระแวงคลางแคลงใจ หรือชื่นชมยินดีก็ตาม มันก็เข้ามามีบทบาทในโลกจริงแล้วอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

การตรากฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นตัวอย่างชั้นดีของการตอบสนองจากรัฐต่อช่องทางการสื่อสารใหม่นี้ ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์หลักของประเทศต้องปรับกลยุทธ์แบ่งสรรเนื้อหาออนไลน์กับฉบับตีพิมพ์อย่างชัดเจน หลังยอดขายเริ่มส่งสัญญาณในทางลบ
ไม่เพียงการเปลี่ยนแปลงเรื่องผลตอบแทน หากแต่วัฒนธรรมใหม่ที่มาพร้อมอินเตอร์เน็ตคือ ไม่มีใครเป็นผู้ยึดกุมความถูกต้อง สิ่งนี้ท้าทายขนบธรรมเนียมการสื่อสารแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง ที่เชื่อว่าสื่อสามารถกำหนดวาระทางสังคม ปรากฏการณ์ข่าวเจาะจากเว็บพันทิปโดยผู้เล่นอินเตอร์เน็ต เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนว่า ผู้เล่นอินเตอร์เน็ตสามารถกำหนดวาระสื่อได้เช่นกัน
ประชาไทเปิดศักราชใหม่ด้วยการแลกเปลี่ยนมุมมองกับเหล่าคนทำสื่อในโลกไซเบอร์ ว่าเขานิยามการทำงานของตัวเองอย่างไร อะไรเป็นแรงผลักดันให้หันมาใช้สื่อใหม่เหล่านี้ เขามีข้อสังเกตอะไรบ้างต่อพื้นที่ออนไลน์ และมันช่วยเติมเต็มเสรีภาพในการสื่อสารได้จริงหรือไม่ เพียงใด
 
000
Voice TV: สถานีทีวีบนเน็ตช่องใหม่ กับฝันใหม่ๆ สำหรับคนรุ่นใหม่
 
 
ท่ามกลางกระแสความกระหายต่อข้อมูลข่าวสาร และปรากฎการณ์การเติบโตอย่างรวดเร็วของสื่ออินเทอร์เน็ต ตลาดข่าวสารบนโลกออนไลน์ดูจะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคสื่อมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในสื่อที่เป็นภาพเคลื่อนไหว นับแต่วีดิโอคลิปจากเว็บไซต์อย่าง YouTube ถึงการชมรายการโทรทัศน์จากอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกชมรายการที่ต้องการ ในเวลาที่ต้องการได้
 
www.voicetv.co.th สถานีโทรทัศน์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด เปิดตัวอย่างร้อนแรง ด้วยการประกาศก้าวขึ้นไปเป็น “อินเทอร์เน็ตทีวีหมายเลขหนึ่งของประเทศไทย” กับแนวทางสร้างสรรค์รายการความรู้ ความบันเทิง และสร้างแรงบันดาลใจกับคนรุ่นใหม่ ภายใต้แนวคิด “Voice of the new generation” นั่นคือความตื่นตาตื่นใจที่เกิดขึ้นในวงการสื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา (เปิดตัวเดือนพฤศจิกายน 2552)
 
ธุรกิจทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาทนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นทำสื่อใหม่ที่ใหม่ทั้งแนวคิดและรูปแบบเทคโนโลยี ด้วยระบบวิดีโอสตรีมมิ่ง (video streaming) คุณภาพความคมชัดสูงสำหรับการออกอากาศผ่านอินเทอร์เน็ต พร้อมสตูดิโอระดับมาตรฐานเพื่อรองรับการผลิตเนื้อหาของตัวเอง อีกทั้งยังมีช่องทางสื่อสารที่ครอบคลุมผู้รับสารปลายทางหลายระบบทั้งหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทีวีดาวเทียม และโทรศัพท์มือถือ นี่อาจหมายถึงการก้าวไปอีกขั้นของการสื่อสารในอนาคต
 
แต่ท่ามกลางสภาวะสังคมที่คลุกรุ่นกลิ่นไอความขัดแย้งจากการเมือง 2 ขั้ว พร้อมๆ กับการแย่งชิงพื้นที่ในการสื่อสารทางความคิด การถือกำเนิดขึ้นของว๊อยซ์ทีวี (Voice TV) ทำให้คนทำงานถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงถึงการเป็นสื่อใหม่ที่มีขึ้นเพื่อสนองต่อกลุ่มการเมือง ด้วยภาพคนตระกูลชินวัตรอย่างลูกชายและลูกสาวอดีตนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารประหนึ่งเป็นโลโก้ขององค์กร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากสถานีโทรทัศน์แห่งนี้จะถูกจับจ้องด้วยสายตาที่มีแต่วาระทางการเมือง และความขัดแย้งนี้อาจเป็นอุปสรรค์ที่ทำให้ย่างก้าวของ Voice TV เดินต่อไปได้ยากลำบากมากขึ้นกว่าการทำธุรกิจสื่อโดยทั่วไป
 
ทรงศักดิ์ เปรมสุข กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด ในฐานะผู้กำหนดทิศทางคนสำคัญของ Voice TV ทรงศักดิ์ ได้บอกเล่าถึงการถือกำเนิด มีอยู่ และทิศทางต่อไปของ Voice TV ไว้กับประชาไท
 
 
ในอดีต ทรงศักดิ์ คือ คนทำงานในสายงานโฆษณาและการตลาดที่ถูกยกย่องว่าเป็นหนึ่งในมือการตลาดที่สำคัญของกลุ่มชินคอร์ป ค่ายธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ ในแง่การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ เขาคือหนึ่งในกำลังสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิด TCDC(ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ)และ TK Park (อุทยานการเรียนรู้ต้นแบบ) ซึ่งขณะนี้ถูกขยายไปสู่ศูนย์การเรียนรู้โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดในทั่วประเทศ
 
นอกจากนั้น เขายังเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารที่เป็นความหวังในการพลิกโฉมหน้าไอทีวี สู่การเป็นทีวีที่ครองใจผู้ชมในระดับ mass ให้ผงาดขึ้นมาอยู่ในระนาบเดียวกับช่อง 7 และช่อง 3 แม้ขณะนี้ไอทีวีจะถูกเปลี่ยนแบรนด์ไปเป็นทีวีไทย ทีวีสาธารณะในปัจจุบัน แต่ชื่อของ “ไอทีวี ทีวีเสรี” ก็ยังอยู่ในความทรงจำของผู้ชมไม่มากก็น้อย
 
หลังจากหายหน้าจากแวดวงสื่อในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทรงศักดิ์ได้ไปทำงานร่วมกับมูลนิธิไทยคม ในตำแหน่งกรรมการมูลนิธิ โดยเขาบอกว่าเป็นการทำงานเพื่อร่วมผลักดันสังคมไทยไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ และวันนี้ควบคู่กันไป การทำงานใน Voice TV คือส่วนหนึ่งเพื่อต่อยอดในการสร้าง “สังคมแห่งการเรียนรู้” ด้วยการให้ความรู้และแรงบันดาลใจใหม่ๆ ต่อคนรุ่นใหม่ของสังคม ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายอยู่พอสมควร เพราะนั่นหมายถึงกลุ่มคนที่มีความสำคัญมากและผู้ใหญ่วันนี้มักพากันส่ายหน้ากับคุณภาพลูกหลานของพวกเขาเสมอ
 
 
00000
 
 
วันนี้ฐานของคนรุ่นใหม่ เราจะมีส่วนช่วยอย่างไรให้คนรุ่นใหม่
มีความรู้ใหม่ๆ มีแรงบันดาลใจใหม่ๆ
ใช้คำง่ายๆ 2 คำ คือความรู้ใหม่ๆ กับแรงบรรดาลใจใหม่ๆ
ดังนั้นเรามีหน้าที่ป้อนสิ่งเหล่านี้ให้เขา อันนี้เป็นความตั้งใจของการทำงานทั้ง 2 ที่
 ไม่ว่าจะที่มูลนิธิไทยคม หรือ Voice TV เองก็ตาม
 
 
ถาม: โครงสร้างองค์กรของ Voice TV ขึ้นอยู่กับมูลนิธิไทยคมหรือเปล่า
ทรงศักดิ์ เปรมสุข: ไม่เกี่ยวครับ ไทยคมก็เป็นมูลนิธิ คืออย่างนี้ เคยอ่านเจอในหนังสือเล่มหนึ่งแต่จำชื่อไม่ได้ เขาบอกว่า คนเราควรทำงาน 2 อย่าง อย่างหนึ่งคืองานที่ทำมาหากินทำให้ชีวิตมันอยู่ได้ อีกอย่างหนึ่งก็คืองานที่มันทำให้ชีวิตมีความสุข งานที่ไทยคมมันเป็นงานที่ทำให้ชีวิตมีความสุข
 
การทำงาน 2 อย่างนี้เอามาบูรณาการกันอย่างไร
ทรงศักดิ์: มันบูรณาการได้ อย่างแรกเลยคือเมื่อคุณมีความสุขในการทำงานคุณก็จะมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ส่วนการบูรณาการนั้นอย่างง่ายสุด คือ Voice TV เป็นสื่อ คุณก็ให้ Voice TV ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ แต่จริงๆ แล้วเรามองเรื่องคนรุนใหม่ วันนี้ฐานของคนรุ่นใหม่เราจะมีส่วนช่วยอย่างไร ให้คนรุ่นใหม่มีความรู้ใหม่ๆ มีแรงบรรดาลใจใหม่ๆ ใช้คำง่ายๆ 2 คำ คือความรู้ใหม่ๆ กับแรงบรรดาลใจใหม่ๆ ดังนั้นเรามีหน้าที่ป้อนสิ่งเหล่านี้ให้เขา อันนี้เป็นความตั้งใจของการทำงานทั้ง 2 ที่ ไม่ว่าจะที่มูลนิธิไทยคม หรือ Voice TV เองก็ตาม
 
นั่นเป็นที่มาของการกำหนดทิศทางข่าวของ Voice TV ด้วยหรือเปล่า
ทรงศักดิ์:Voice TV ตัวผมเองไม่ได้คิดเอง แต่มีแรงบันดาลใจมาจาก... มีวันหนึ่งเมื่อราว 3-4 ปีที่แล้ว ผมอ่านเจอคอลัมน์เล็กๆ ว่า อัลกอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศเปิด Current TV (เคอร์เรนท์ทีวี) ผมก็สงสัยว่ามันคืออะไร ผมก็เข้าไปดู ปรากฎว่าเคอร์เรนท์ทีวีก็คือ คนรุ่นใหม่ทำข่าวสาร และแนวคิดของมันคือให้คนทุกคนเป็นผู้สื่อข่าวได้ ซึ่งดูแล้วมันก็เกิดเป็นแรงบันดาลใจว่าเราอยากทำอะไรแบบนี้ ในโลกของสื่อยุคใหม่ ไม่ใช่ว่าเราพูดฝ่ายเดียว แต่การที่ทำให้มีการพูดหลายฝ่ายหลายทางมันจะทำให้ความรู้มันกระจาย ความจริงปัจจัยหลักก็คือเมื่อมีคนเข้ามาร่วมกันมากขึ้นความรู้มันจะกระจาย
 
ตอนแรกตั้งใจจะทำไอทีวี ตั้งแต่ยุคนั้นไอทีวีอยากจะมีสื่อใหม่คือสื่ออินเทอร์เน็ต แต่ก็น่าเสียดายที่ไม่ได้ทำ ส่วนตัวก็ยังชอบเคอร์เรนท์ทีวีอยู่ แล้วก็เห็นพัฒนาการของมัน อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นแรงบรรดาลใจ
 
 
ทำไมถึงอยากจะทำสื่อ เราถามอย่างนี้ก่อน
เรามองว่าสื่อมันเป็นแหล่งความรู้ ผมมองประเด็นนี้เป็นหลัก
แต่ว่าเราคงไม่ไปแข่งขันในสนามที่มีการแข่งขันมากมาย
เราก็เลยคิดว่าอินเทอร์เน็ตมันเป็นสนามที่กำลังมีอนาคต
 
 
 
แล้วจุดเริ่มต้นของการทำ Voice TV เป็นมาอย่างไร
ทรงศักดิ์: ต้องเรียนตามตรงนะครับ ก็คือได้มีการพูดคุยกับทางคุณพานทองแท้ (พานทองแท้ ชินวัตร ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด) ซึ่งความจริงแล้วเรามีประสบการณ์ในการทำงานอย่างนี้มาตั้งแต่แรก ตั้งแต่สมัยไอบีซี (IBC) จริงๆ แล้วต้องบอกว่าผมมีโอกาสทำ บริษัท MATCHBOX ย้อนไปเมื่อปี 2534 สินค้าตัวแรกที่ทำคือไอบีซีตอนนั้นอยากทำมาก โดยที่ไม่รู้จักไอบีซี รู้แต่ว่าเป็นเคเบิลทีวีรายแรกของประเทศไทยที่วันนั้นมีการนำซีเอ็นเอ็น (CNN) มาให้ดู เอาหนังฮอลลีวูดมาให้เราดู เอาแค่ซีเอ็นเอ็นอย่างเดียวก็เป็นประเด็นแล้ว คือวันนั้นประเทศไทยถูกเปิดโดยโลกทั้งโลกอยู่ที่ซีเอ็นเอ็น และซีเอ็นเอ็นกำลังบูมมากจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย ผมก็อยากทำผลิตภัณฑ์ตัวนี้มาก เพราะผมคิดว่ามันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ฉลาด แล้วก็มีความสุขในการทำโฆษณาให้ผลิตภัณฑ์ตัวนี้
 
ประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสในการทำแบบนี้มันไม่ได้อยู่ดีๆ เพิ่งเริ่ม เราทำไอบีซีมาตั้งแต่ราวปี 2534 มีการพัฒนามา โอเคเราหยุดทำไอบีซีแล้วในเชิงผู้บริหารเขาก็ขายหุ้นทิ้งไป และเราก็เข้ามาทำไอทีวี จริงๆ เราก็มีประสบการณ์ต่อเนื่อง
 
พอเราจะทำสื่อ เราคิดว่าทำไมถึงอยากจะทำสื่อ เราถามอย่างนี้ก่อน เรามองว่าสื่อมันเป็นแหล่งความรู้ ผมมองประเด็นนี้เป็นหลัก แต่ว่าเราคงไม่ไปแข่งขันในสนามที่มีการแข่งขันมากมาย เราก็เลยคิดว่าอินเทอร์เน็ตมันเป็นสนามที่กำลังมีอนาคต เราเห็นอินเทอร์เน็ตไม่ใช่เพราะว่าเราเป็นเอง เราก็ไปเรียนรู้จากชาวบ้าน จากโลก ว่ามันมีเว็บไซต์ดีๆ ที่ทำเรื่องนี้อีกมากมาย
 
ใครเป็นคนเสนอ คุณพานทองแท้หรือคุณทรงศักดิ์
ทรงศักดิ์: เป็นการพูดคุยร่วมกัน ถึงบอกว่าเราอยากทำธุรกิจอย่างจริงจังในอนาคตอีก 10 ข้างหน้า ธุรกิจสื่อเป็นอีกธุรกิจที่มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะธุรกิจในสื่ออินเทอร์เน็ต เรามองประเด็นกว้างๆ อย่างนี้ว่าเราจะทำธุรกิจอะไรบนอินเทอร์เน็ต เมื่อเรามีเครือข่าย มีความชำนาญเรื่องข่าวสารมาระดับหนึ่ง เราก็มองว่าตัว News Information Knowledge เป็นสิ่งที่เราสนใจ แล้วมันมีการลงทุนที่ไม่สูงจนเกินไป
 
การทำทีวีบนอินเทอร์เน็ต จุดคุ้มทุนมันจะอยู่ตรงไหน
ทรงศักดิ์: จุดคุ้มทุน... วันนี้เราวางตัวเองเป็น newmedia (งานผลิตสื่อ3-4 ปีที่แล้วมันอาจยังดูไม่ค่อยน่าตื่นเต้น แต่เวลานี้มันน่าตื่นเต้นด้วยเทคโนโลยี ด้วยทุกอย่างแล้ว อินเทอร์เน็ตกำลังจะกลายเป็นสื่อที่เร็ว แล้วก็มีประสิทธิภาพและคุณภาพสูง วันนี้ 3 เมก (Mbps) กลายเป็นเรื่องพื้นๆ แต่ถ้าเราคุย 3 เมก เมื่อ 2 ปีที่แล้ว คุยกันไม่รู้เรื่องเลยหลากหลายชนิด) เราก็คิดว่าเราหารายได้จากการโฆษณา บังเอิญผมอยู่ในวงการโฆษณา ผมมองว่าตลาดอินเทอร์เน็ตมีความเติบโตสูงโดยเฉพาะเวลานี้
 
เราก็เลยมองโอกาสว่า ถ้าทำตอนนี้เราก็ยังเป็นผู้บุกเบิกได้ แต่ถ้าเราไปทำอีก 3 ปีข้างหน้า หรืออีก 5 ปีข้างหน้า เราอาจจะตามชาวบ้านเขาไม่ทัน เราเริ่มทำตอนนี้ดีกว่า ตอนที่คนอื่นเขายังเพลิดเพลินอยู่กับสื่อหลัก เขายังไม่เห็นทิศทางตรงนี้
 
 
สิ่งที่เราเริ่มทำวันนี้ เราสั่งสมความรู้ก่อน เราสั่งสมวิธีการ
เราวางเป้าไว้ประมาณ 5 ปี ในการประสบความสำเร็จทางการตลาด
 
 
แสดงว่าตั้งต้นมาจากเรื่องธุรกิจ ไม่ได้เป็นพื้นที่ทางการเมือง
ทรงศักดิ์: ไม่ใช่ๆ กำลังบอกว่าเรามอง Voice TV ว่าเราจะทำอะไรอย่างชัดเจน และผมคิดว่าโอกาสในการทำ โอกาสในการเติบโต สื่อทางอินเทอร์เน็ตเติบโตสูงมาก ส่วนแบ่งทางการตลาดวันนี้อาจจะดูเล็ก ตลาดการโฆษณา 2-3 หมื่นล้าน จริงๆ ถ้าตอบตามตัวเลขอาจจะ 6-7 หมื่น นี่ผมปรับลดลงมาครึ่งหนึ่ง ตลาดอินเทอร์เน็ตตอนนี้อาจจะอยู่ประมาณพันล้าน ยังไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าเทรนด์ทั่วโลกตลาดอินเทอร์เน็ตจะขึ้นมา 30-40 เปอร์เซ็นต์ ภายในเวลาอันรวดเร็ว
 
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราเริ่มทำวันนี้ เราสั่งสมความรู้ก่อน เราสั่งสมวิธีการ เราวางเป้าไว้ประมาณ 5 ปี ในการประสบความสำเร็จทางการตลาด
 
 
 
โมเดลมันจะเป็นอย่างไร เท่าที่พอจะบอกได้
ทรงศักดิ์: โมเดลจริงๆ มันเป็น content (เนื้อหา) ที่นี้ถ้าพูดกันแบบเป็นวิชาการ พฤติกรรมผู้บริโภคของคนรุ่นใหม่มันชัดเจนว่าเขากำลังใช้ชีวิตอยู่กับสื่อนี้มากขึ้น เมื่อพฤติกรรมอยู่ตรงนี้มากขึ้นมันมีโอกาสที่เขาจะเห็นเรา ส่วนเนื้อหานั้นเราพยายามโฟกัสให้ชัดว่าเราคุยกับใคร นี่เป็นโมเดลที่สำคัญก่อน เราจะคุยกับคนอายุ 20-30 ปี คำถามคือว่าคนอายุ 20-30 เขาสนใจเรื่องอะไร อันนั้นคือสาเหตุที่เราจัดวางตำแหน่งลงไปชัดๆ เลยว่าเราคือสื่อของคนรุ่นใหม่ ทีนี้ก็กลับมาถามว่าเนื้อหาที่ตอบสนองคนรุ่นใหม่ในสื่อกระแสหลักทำไหม เรามองว่าเขาไม่ทำ โดยเฉพาะในสื่ออินเทอร์เน็ต แล้วก็เราก็พัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง อินเทอร์เน็ตเราไม่ได้เป็นแค่เรื่อง Text Based (ตัวหนังสือเป็นหลัก) เรากำลังจะกลายเป็น Visual Based (สื่อทางการมองเห็นเป็นหลัก) ซึ่งกระแสโลกกำลังมาทางนี้
 
โมเดลอีกอันนอกจากเนื้อหาแล้ว มันเป็น Video Based นี่คือโมเดล ส่วนเรื่องเนื้อหาที่มันแตกต่าง เรายังไม่ประสบความสำเร็จ แต่เราตั้งเป้าว่าทำยังไงให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้มีโอกาสเสพย์เนื้อหาที่เขาอยากเสพย์ อย่างที่สื่อกระแสหลักไม่มีให้เขาเสพย์
 
Voice TV มีจุดอ่อนในการบริการที่ต้องอาศัยเครือข่ายโอเปอเรเตอร์ต่างๆ เช่น ดาวเทียม หรือมือถือ เพราะวันนี้ Voice TV อาจมีปัญหาในเรื่องการเมืองหรือเปล่า
ทรงศักดิ์: ไม่มีครับ เพราะเราทำทุกอย่างเป็นธุรกิจ เปิดเผย โปร่งใส ผมคิดว่ามันอาจมีที่มาแค่ว่าครอบครัวชินวัตรมาทำสื่อ แต่ผมคิดว่าก็เป็นสิทธิ์ที่จะทำได้ เพราะความจริงที่มาที่ไปครอบครัวชินวัตรก็ทำสื่อมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ฉะนั้น วันนี้จริงๆ ผมเชื่อว่าบ้านเราก็มืออาชีพและโปร่งใสพอ สิ่งที่เราได้คือความร่วมมืออย่างดีในการที่จะมีเครือข่ายส่งต่อ อันนี้ไม่มีปัญหา วันนี้ก็โอเค มันก็มีประสิทธิภาพอยู่
 
 
 
แทนที่เราจะทำเป็น Content provider (ผู้ให้บริการด้านเนื้อหา)
แล้วขึ้นดาวเทียมก่อน เพื่อที่จะบอกว่าเราเป็นคนที่ 101
เราก็ไม่ทำแบบนั้น เราขึ้นบนอินเทอร์เน็ตก่อน เพื่อที่จะบอกว่าเราเป็นที่ 1
 
 
ตอนนี้ช่องทางที่ใช้ในการสื่อสารข้อมูลคือดาวเทียมเป็นหลักใช่หรือเปล่า
ทรงศักดิ์: ไม่ใช่ครับ ช่องทางตอนนี้เริ่มต้นด้วยอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ถ้ามองว่าทำไมเริ่มต้นด้วยอินเทอร์เน็ต สาเหตุคือเราต้องการจัดวางตัวเราให้ชัดว่าเราเป็นเว็บทีวี หรืออินเทอร์เน็ตทีวี และเราวางตัวเองชัดว่าเราเป็นอินเทอร์เน็ตทีวีสำหรับ Young Generations (คนรุ่นใหม่) อันนี้ชัดเจน คนรุ่นใหม่เขาอยู่บนอินเทอร์เน็ต วันนี้อินเทอร์เน็ตไม่ใช่แค่ Text Based แต่เป็น TV Based ได้แล้ว ทั้งเร็ว ทั้งประสิทธิภาพสูง ดูแล้วราบรื่นและชัดเจนอีก อันนี้คือฐานของเราที่ต้องการจะบอกตัวเองกับผู้ชม
 
พอมันเป็นอินเทอร์เน็ต เราบอกว่าในโลกปัจจุบันการสื่อสารมันไม่ใช่แค่อินเทอร์เน็ต เราเป็น Content provider (ผู้ให้บริการเนื้อหา) เราไปหาคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ใช้มือถือ ในอนาคตอันใกล้ 3G จะทำให้เขาเข้าถึง 3G จะเท่ากับอินเทอร์เน็ต เพราะฉะนั้นบอร์ดแบรนด์ในอนาคตอันใกล้เขาก็จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
 
เรามองว่า เมื่อเราเป็นผู้ให้บริการด้านเนื้อหาที่จะเดินไปใกล้ตัวเขา จริงๆ ถ้าจะอธิบายโดยหลักการ ทีวีมันต้องนั่งดูอยู่ที่บ้าน แต่พอเป็นคอมพิวเตอร์มันอยู่ที่ไหนก็ได้ ในรถก็ได้ ร้านกาแฟก็ได้ พอมันเป็นมือถือมันมาอยู่ในกระเป๋าเลย มันติดตัวตลอดเวลา เพราะฉะนั้นโอกาสในการติดต่อสื่อสารกับเขาจะเร็วมาก อันนี้เป็นสาเหตุที่เราโฟกัสเรื่องนี้
 
แต่พอถามว่าแล้วผ่านดาวเทียม เราไปไหม เราก็กำลังจะไป ดาวเทียมคือความพยายามของเรา พูดภาษาการตลาดก็คือเราพยายามจะอยู่ใกล้คุณทุกที่ให้ได้ นี่ก็เป็นพื้นฐานของการทำธุรกิจ
 
แต่แทนที่เราจะทำเป็นผู้ให้บริการด้านเนื้อหาแล้วขึ้นดาวเทียมก่อน เพื่อที่จะบอกว่าเราเป็นคนที่ 101 เราก็ไม่ทำแบบนั้น เราขึ้นบนอินเทอร์เน็ตก่อนเพื่อที่จะบอกว่าเราเป็นที่ 1 นี่คือที่มาที่ไปว่าทำไมเราขึ้นบนเว็บไซต์ก่อน
 
งบประมาณเยอะไหม
ทรงศักดิ์: งบพอสมควร ก็มีค่าใช้จ่ายเท่ากับสื่อหลักที่ทำ คุณต้องมีคนประมาณ 100 คน หากต้องการทำงานทีวีที่มีคุณภาพ
 
 
สื่อบ้านเรามีอยู่มากมายแล้ว ทำไมถึงอยากเป็น Content provider อยู่
ทรงศักดิ์: ผมมองว่าสื่อทีจะเน้นเรื่องความรู้และแรงบันดาลใจจริงๆ ยังมีน้อย เทียบกับเวลาเห็นสื่อต่างประเทศ ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ของการรายงานของ current issue (สถานการณ์ประจำวัน) อยู่เพราะมีความจำเป็น แต่อาจอยู่ประมาณแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยอยู่ที่ front page แต่อีก 90 เปอร์เซ็นต์ของเขามันคือความรู้ ซึ่งผมมองว่าเราจะบุกเบิกตรงนี้กันได้อย่างไร โดยผมจะไม่คุยกับคนรุ่นเก่า ผมคุยกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งคนรุ่นใหม่เขามีโอกาสสูงมากที่เขาไม่ได้ติดอยู่กับสื่อภายในประเทศไทยแต่เพียงที่เดียว วันนี้เด็กรุ่นใหม่เขาหาสื่อไปได้ทั่วโลก และเขาเห็นมากกว่าเราด้วยซ้ำไป คำถามคือว่าเราจะคุยกับเขาได้อย่างไร ถ้าเรายังทำตัวเชยอยู่เราก็คงจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง
 
วันนี้ในมุมกลับ ถ้าเราจะเป็นสื่อเราอาจจะต้องเป็นเทรนด์เซ็ตเตอร์ (Trend setter) ให้เขาด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นที่มาที่ไปคือ Voice TV พยายามจะมีคนทำงานรุ่นใหม่เยอะๆ ประเด็นคือคำว่า “Tribe message model” Tribe ที่หมายถึงกลุ่ม ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่เขามีกลุ่มของเขา กลุ่มที่สนใจเรื่องต่างๆ มากมาย บางกลุ่มอาจสนใจการเมือง บางกลุ่มอาจสนใจท่องเที่ยว บางกลุ่มอาจสนใจเรื่องศิลปะวัฒนธรรม บางกลุ่มอาจสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ เราจะคุยกับกลุ่มวัยรุ่นเหล่านี้ได้อย่างไร เราก็ต้องหาคนมาทำงานกับเราที่เป็นคนที่สนใจในกลุ่มเหล่านี้
 
เราก็ได้พนักงานที่สนใจ เช่น ในเรื่องที่เดิมเราเรียกว่าต่างประเทศ แต่เราเรียก “World Trend” เพราะมันน่าเบื่อแล้วที่จะดูข่าวต่างประเทศ เช่น ข่าวสงครามต่างๆ อิรักรบกัน ก็โอเคที่จะรู้ว่ามีการรบกัน แต่มันมีเรื่องอีกมหาศาลในโลก คือ “World Trend” โลกมันเคลื่อนไหวเต็มไปหมด แล้วคุณรู้อะไรบ้าง โอเค อาจจะมีเรื่องเพลงเกาหลี อาจจะมีแฟชั่นโชว์ล่าสุดที่เซียงไฮ อาจจะมีคลับเปิดใหม่ที่เลบานอล อาจจะมีนักวิทยาศาสตร์อยู่ที่ไอซ์แลน์ นี่ไม่ต้องพูดถึงยุโรป โตเกียว ลอนดอน มันมีเรื่องอีกตั้งเยอะที่ควรจะรับรู้
 
ถ้าคุณเข้าใจกลุ่มเหล่านี้ และคุณใกล้ชิดกับเขา แล้วคุณก็นำเสนอเรื่องที่มันตรงกับความต้องการเขา หรือมากกว่านั้นถ้าคุณทำได้คุณจะเป็น Trend setter คือคุณเป็นคนบอกเขาได้ด้วยว่าวันนี้มีอะไร น่าสนใจ หรือดียังไง
 
ผมคิดว่าหน้าที่ผู้สื่อข่าวต้องเป็นคนที่เห็นมาก แล้วดึงสิ่งเหล่านั้นมานำเสนอที่มากกกว่าเรา เพราะเขามีเวลา เขาต้องทำหน้าที่นั้นเขาก็มีเวลามากกว่าเรา เขาต้องมีหน้าที่ไปเอาความรู้เหล่านั้นมาให้เรา มาต่อยอดให้เรา เราอาจจะลงลึกไป เขาเอามานำเสนอแล้วมันเป็นไปได้ ฉะนั้นมันรวมกันระหว่าง Tribe (กลุ่มเฉพาะ) กับ Innovative content (เนื้อหาใหม่ๆ) 2 อย่างนี้ต่างหาก ที่สุดท้ายคือต่อยอดคำว่า Business model (โมเดลธุรกิจ) คนรุ่นใหม่
 
 
ทุกคนพยายามจะไปสู่ Mass แต่คำตอบว่า Mass มันไม่จำเป็นต้อง 60 ล้านคน
Mass มันก็ยังถูก Customized (แบ่งตามความต้องการของผู้ซื้อ) อยู่ดี
เราเชื่อว่าการเป็น Mass จะถูกเติบโตจากกลุ่มเล็กๆ นี่แหละ
แต่อยู่ที่เราว่าเราจะไปไกลขนาดไหน
 
 
ในโลกใบใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต คิดว่ามันทำเงินไหมสำหรับความแตกต่างหลากหลายที่ทั้งผู้ชม
และผู้ผลิตมีเยอะมาก มันคุ้มค่าในการแข่งขันทางธุรกิจไหม
ทรงศักดิ์: ในวันนี้นักโฆษณาหรือนักการตลาดเขามองสื่ออยู่ 2 ประเภทใหญ่ ประเภทหนึ่งก็คือสื่อที่เข้าถึงคนได้เยอะๆ ก็เป็น Mass (ระดับมวลชน) ซึ่ง king of media วันนี้คือทีวี แต่ผมกำลังบอกว่า king of media ในอนาคตจะเป็นอินเทอร์เน็ต แต่อินเทอร์เน็ตแตกต่างจากทีวี เพราะอินเทอร์เน็ตถูก customized แต่ทีวีไม่ถูก customized ฉะนั้น วันนี้ที่เราพยายามทำอยู่ คือ เราพยายาม customized ตัวเราเองให้มีกลุ่มคน ที่นี้ ถามว่าถ้ากลุ่มคนที่มาดู voice เป็นกลุ่มคนที่สมาร์ท มีกำลังซื้อ ผมเชื่อว่านักการตลาดจะสนใจเราในอนาคต
 
อันนี้คือการตอบคำถามว่าเรามองอย่างไรที่จะเดินไปข้างหน้า เราก็ต้องทำให้สื่อเราเป็นที่สนใจ คำว่าเป็นที่สนใจไม่จำเป็นต้องตอบโจทย์ Mass แต่ตอบโจทย์กลุ่มคนที่สมาร์ทพอและตรงกับความต้องการของนักการตลาด นี่ตอบแบบภาษาการตลาดนะ
 
ไม่ได้คิดเป็น Mass แล้วคิดว่าศักยภาพมันจะถึงขนาดเป็น Mass ได้ไหมในอนาคต
ทรงศักดิ์: ผมเชื่ออย่างนี้ครับว่าทุกคนพยายามจะไป Mass แต่คำตอบว่า Mass มันไม่จำเป็นต้อง 60 ล้านคน Mass มันก็ยังถูก customized อยู่ดี เราเชื่อว่าการเป็น Mass จะถูกเติบโตจากกลุ่มเล็กๆ นี่แหละ แต่อยู่ที่เราว่าเราจะไปไกลขนาดไหน ส่วนตัวเองอาจไม่ได้ชอบ Mass ขนาดนั้น ก็อาจจะเป็นค่อยๆ ขยายกลุ่ม ขยายความรู้ที่มันหลากหลายมากขึ้น
 
ผมไม่ได้สนใจเรื่องรถยนต์ ตัวผมเอง ผมสนใจเรื่องศิลปะและการท่องเที่ยว Mass ของผมขยับไป คือมีน้องที่สนใจเรื่องรถยนต์มาทำเรื่องรถยนต์ วันนี้ผมแทบจะไม่ได้ฟังเพลงแล้วแต่ Mass ของผม ผมมีน้องที่เขาสนใจเรื่องเพลงมากๆ เขามาทำเรื่องเพลง วันนี้ผมดูหนังน้อยมากแล้ว ก็จะมีน้องที่เขาสนใจเรื่องดูหนังมาทำเรื่องดูหนัง เพราะฉะนั้น Mass ในความหมายของผมก็คือว่า category (หมวดหมู่) ของความสนใจจะถูกขยายมากขึ้น กลุ่มต่างๆ จะมากขึ้น ในอนาคตเราอาจจะมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลากัดก็เป็นได้
 
 
 
คน 10-15 ล้านคนที่มีอินเทอร์เน็ต
ดูทีวีผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้แค่ 5 ล้านคน
วันนี้เราโฟกัสคนแค่ 5 ล้านคน
แต่ 5 ล้านคนเหล่านี้เป็น Trend setter ของสังคม
 
 
หมายความว่าไม่ได้มองเป็นสังคมแบบเดียวที่ทุกคนต้องสนใจเรื่องเดียวกันอีกแล้ว
ทรงศักดิ์: ใช่ ยกตัวอย่างเรื่องปลากัด ทุกอย่างเรา based on target (ขึ้นกับเป้าหมาย) ที่เราอยากจะคุย แต่ถ้าเราถามตัวเอง คนรุ่นใหม่วันนี้ที่เขาเพิ่งทำงาน เขาอยากมีชีวิตอย่างไร วันนี้เราคงต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่ที่เขากำลังสร้างเนื้อสร้างตัว เขามีพื้นที่ที่เขาอยู่ประมาณ 30-40 ตารางเมตร เขาอยากมีคอนโดขนาด 30 ตารางเมตร ใกล้รถไฟฟ้า เขาอยากเป็นเจ้าของ เขาอาจต้องเก็บเงินซื้อมัน แต่พื้นที่ของเขามีแค่ 30 ตารางเมตรนะ นั่นคือที่นอนและที่ทำงาน มีโต๊ะเล็กๆ และมีเตียง เตียงคงจะต้องดี เตียงต้องนุ่มๆ นอนหลับสบาย และมีโต๊ะเล็กๆ แต่ชีวิตของเขาในเนื้อที่ 30 ตารางเมตร เขาอาจจะมีต้นไม้ต้นหนึ่งที่เขารักมาก มีปลากัดตัวหนึ่ง มีสับปะรดสีสักต้นหนึ่ง แคคตัสต้นหนึ่ง มีชั้นหนังสือ ฉะนั้นก็คือคุณรู้รายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตของเขา คุณรู้รายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของเขา มันไม่ใช่แค่ที่นอนนะ
 
ถ้าเขาอยากจะมีเพื่อนเป็นปลากัด เราจะแนะนำเขาว่าเขาจะเลี้ยงปลากัดอย่างไร ถ้าเขาอยากมีเพื่อเป็นสับปะรดสีเราจะแนะนำเขาว่าไปซื้อสับปะรสสีที่ไหน และเขาจะดูแลสับปะรสสีไม่ให้ตายได้อย่างไร เขาอยากมีหนังสืออ่านดีๆ สักเล่มในเดือนนี้ เราจะแนะนำให้เขาอ่านใคร
 
จริงๆ ผมพูดขึ้นมาให้มันเป็นประเด็นเพื่อบอกว่า กลุ่มตรงนี้ ไม่ได้ทำเรื่องที่ไกลตัว เราเองกับทีมยังไงก็ต้องมานั่งคิดกันว่าการจะคุยกับคนรุ่นใหม่เขาสนใจเรื่องอะไรจริงๆ แล้วเรากำลังขยาย ถ้าวันนี้ดูเซ็กชั่นที่เรามีอยู่มันเหมือนกับจะทำข่าว แต่เซ็กชั่นเหล่านั้นยังไม่ลึก เรากำลังทดลองทำลึก 1 เรื่องคือเรื่องเพลง ต้นปีนี้เราจะเปิด เป็น voice music section คำว่าลึกหมายความว่าไม่ใช่แค่แนะนำ มีมิวสิกวีดีโอให้ดู ไม่ใช่ แต่จะเริ่มมีสัมภาษณ์นักดนตรี สัมภาษณ์คนแต่งเพลง มีเรื่องราวมากขึ้น
 
หากถามว่าทำไมเอาเพลงเป็นเรื่องแรก ก็เพราะเพลงเหมาะกับคนรุ่นใหม่ เพลงมันเป็นชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่สัมผัสได้ Mass ที่สุด คำว่า Mass ในที่นี้มันคือแบบนี้ Mass ไม่ได้หมายถึงจำนวนคน ที่บอกว่าเราอยากได้ผู้ชมเป็น 10 ล้านคน เรายังไม่หวังขนาดนั้น แต่เราเริ่มเนื้อหาที่มากขึ้น ใกล้ตัวเขามากขึ้น เขาอาจจะเข้ามาดู voice ด้วย voice music มากกว่าที่จะดูข่าว แต่หลังจากนั้นเขาอาจจะแวะเข้ามาดูข่าวเราอีก 3 ชิ้นก็เป็นได้
 
วิธีคิดและวิธีทำงานผม ผมพยายามจะทำตัวเราให้มีพื้นฐานระดับหนึ่งทำคุณภาพระดับหนึ่งที่จะทำให้คนเห็นเรา มากกว่าบอกว่าเราจะทำนู่นจะทำนี่ ทั้งนี้ ต้นปีใหม่เราจะขึ้นดาวเทียม เริ่มทดลอง เดิมเราขึ้นแต่เป็นแค่รายการ แต่ต้นปีเท่ากับเรามีสเตชั่น การมีสถานีมันใหญ่กว่าการมีแค่รายการ คือ ทำ 24 ชั่วโมง โอเค 24 ชั่วโมงนี่คือ Rerun แต่หัวใจคือคุณกำลังเป็นแบรนด์ที่ขึ้นเป็นสถานี คนยังติดอยู่กับการเป็นสถานีหรือไม่สถานี เป็นช่องหรือไม่เป็นช่อง ต้นปีเราจะเป็นช่องแล้ว การจะมี 1 ช่อง 2 ช่อง หรือจะเป็น 3 ช่องในอนาคตไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้
 
คนที่อยู่ในต่างจังหวัดที่ต้องการรับสื่อแบบนี้ จะเข้าถึงเขาได้อย่างไร
ทรงศักดิ์: อันนี้เป็นวิธีคิดที่เราถกเถียงกันมาตลอด อาจบอกว่าเราบริการคนชั้นกลางในเมืองเป็นหลักก่อน ถามว่าทำไม เราคิดว่าคนชั้นกลางในเมืองก็เป็นคนผลักดันสำคัญของสังคมจริงๆ ที่นี้อีกมุมหนึ่งก็คือว่าคนทำงานที่นี่ก็อาจเป็นคนที่ไม่มีความรู้เลยเรื่องเกษตร วงที่มันจะขยายออกไปมันต้องทำจากสิ่งที่รู้ก่อน ชำนาญก่อน คุยกับเพื่อนกลุ่มเล็กๆ ให้ได้ แค่นี้ให้ได้ก็ดีแล้ว ถ้าเราทำตรงนี้สำเร็จการจะขยายต่อไปในอนาคตก็ว่ากันไป
 
ถามว่าวันนี้ ถ้าคุยกันแบบภาษาตัวเลขก็คือเราไม่ได้ทำทีวีเกษตร เพราะเราไม่เก่ง เราไม่ถนัด แต่มีคนทำนะ กันตนาเขาทำฟาร์มชาแนลก็ชื่นชมเขาไป เราทำเรื่องคนเมืองเพราะคนเมืองเป็นกำลังสำคัญ แต่เราโฟกัสไปกว่านั้นอีก เราทำเรื่องคนเมืองที่มีอินเทอร์เน็ต และเราทำเรื่องคนเมืองที่มีอินเทอร์เน็ตที่ดูทีวีได้ยิ่งโฟกัสลงไป คน 10-15 ล้านคนที่มีอินเทอร์เน็ต ดูทีวีผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้แค่ 5 ล้านคน วันนี้เราโฟกัสแค่ 5 ล้านคน แต่ 5 ล้านคนเหล่านี้เป็น Trend setter ของสังคม            
 
เป้าที่ว่าทีวีบนอินเทอร์เน็ตอันดับหนึ่งของประเทศมันอยู่ตรงไหน
ทรงศักดิ์: เราโฟกัสที่เป็นเว็บไซต์ทีวี วันนี้ผมคิดว่าเว็บไซต์ทีวีที่มีประสิทธิภาพอย่างเรามีไม่เยอะ อาจจะพูดได้ว่าเราน่าจะเป็น Top 5 หรือ Top 3 ที่เป็นเว็บไซต์ทีวีที่มีประสิทธิภาพ คือดูเว็บไซต์ทีวีได้ลื่นไหล คุณภาพภาพดี แล้วก็มาดูว่าเนื้อหาของเราตอบสนองคนยังไง เราถึงบอกตอนต้นว่าเราไม่ได้เป็นทีวีดาวเทียมอันดับที่ 101 แต่เราเป็นเว็บไซต์ทีวีอันดับหนึ่ง นั่นก็คือเราพยายามวางตัวเองให้ชัดเจนว่าเราอยู่ตรงไหน คุยกับใคร เราไม่ได้เป็น Mass แต่เรากำลังคุยกับคนแค่ 5 ล้านคนเท่านั้น แต่กลุ่มคน 5 คนนี้เราเชื่อว่าเป็นคนที่มีศักยภาพ
 
 
 
เรื่องความคิดการเมืองที่มีความขัดแย้งกันรุนแรง
เราก็พยายามไม่เข้าไปยุ่ง ไม่ยุ่งเพราะไม่อยากไปเติมความขัดแย้ง
แต่เรามีความเชื่อบางเรื่อง
เราก็จะทำให้ความเชื่อบางเรื่องที่เราคิดว่าถูกนั้นมีการพูดคุย
ไม่จำเป็นต้องเรื่องการเมือง
 
 
 
เรื่องประเด็นทางการเมืองมีปัญหากับคนทำงาน หรือการทำงานของ Voice TV ไหม
ทรงศักดิ์: คือวิธีทำงานไม่มีปัญหา ผมไม่แน่ใจว่า เป็นสโลแกนของสถานี FOX news หรือเปล่า  FOX news มีจุดยืนว่า "we report, you decide" จริงๆ วิธีทำงานของข่าวสถานการณ์ประจำวัน คือรายงานให้รู้ว่ามันเกิดความเคลื่อนไหวอะไร จบ เรื่องความคิดการเมืองที่มีความขัดแย้งกันรุนแรงเราก็พยายามไม่เข้าไปยุ่ง ไม่ยุ่งเพราะไม่อยากไปเติมความขัดแย้ง แต่เรามีความเชื่อบางเรื่อง เราก็จะทำให้ความเชื่อบางเรื่องที่เราคิดว่าถูกนั้นมีการพูดคุย ไม่จำเป็นต้องเรื่องการเมือง เราอาจจะเป็นเวทีที่ทำให้มีการพูดคุยกว้างขวางในเรื่องความเชื่อของเรา
 
เราตั้ง Agenda (วาระ) ของเรา เช่น Voice TV สนใจเรื่อง Innovative learning (การเรียนรู้นวัตกรรม) แปลว่า Voice TV จะเข้าไปสนใจเรื่องการเรียนการสอนแบบนี้ สนใจเรื่องศูนย์การเรียนรู้ เรื่องห้องสมุด ไปทำสกู๊ปเรื่องห้องสมุด ติดตามเรื่องห้องสมุด ติดตามเรื่องเกี่ยวกับฐานความรู้ต่างๆ นี่คือเรื่องที่ Voice TV สนใจ เพราะเราเชื่อว่า เรื่องนี้จำเป็นสำหรับประเทศ
 
Voice TV สนใจเรื่องพลังงาน คุณถกเถียงกันเรื่องนิวเคลียร์ไม่นิวเคลียร์ พลังงานแสงแดด Voice สนใจว่าประเทศไทยจะปรับปรุงเรื่องพลังงานอย่างไร เพราะฉะนั้นสมมติว่า Voice เป็นเวทีให้คุณคุยเรื่องนิวเคลียร์ แปลว่า NGO อาจจะต่อต้านก็ได้ แต่เราคิดว่าในประเทศไทยควรจะคุยกันให้เยอะๆ คุณไม่ชอบนิวเคลียร์ ก็บอกว่าอันตรายอย่างไร คนที่ชอบนิวเคลียร์ก็บอกว่ามันดีอย่างไร แล้วคุณจะบาลานซ์มันอย่างไรในสังคมโลกยุคหน้า คุณไม่ชอบมาบตาพุด แต่กลับมีคนตกงานไม่รู้กี่แสนคนในมาบตาพุด จะบาลานซ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับการผลิตอย่างไร
 
Voice TV สนใจเรื่องประชาธิปไตย การเมืองเท่ากับประชาธิปไตย การเมืองไม่เท่ากับการทะเลาะกัน แต่ Voice อยากให้เห็นประชาธิปไตยเติบโตในสังคมไทย เพราะฉะนั้นเราจะพูดเรื่องการเมืองชัดมาก คือเราสนใจเรื่องประชาธิปไตย เศรษฐกิจ Voice สนใจเรื่องพลังงาน สนใจเรื่องการผลักดันฐานการส่งออก SMEs ไทยให้เติบโต จะทำอย่างไร นี่แค่ 4 เรื่องก็แย่แล้ว
 
สมมติ Voice มีวาระ 4 เรื่อง เรื่องประชาธิปไตย การส่งออก เรื่องพลังงาน เรื่องการศึกษา Voice สนใจมันจริง เราก็จะคุยกันตลอดเวลา
 
การระวังเรื่องการเมืองทำให้ต้องเซ็นเซอร์ไหม
ทรงศักดิ์: ก็ระมัดระวัง คำว่าเซ็นเซอร์ผมว่ามันเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเองตั้งแต่คนทำงานจนถึงคนรับผิดชอบ คำว่าเซ็นต์เซอร์คือว่าเราอย่ามาทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งเลย ผมคิดว่ากระบวนการของมันวันนี้ มันควรจะสร้างขบวนการของการแลกเปลี่ยนความคิดมากกว่ากระบวนการทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง การทะเลาะเบาะแว้งแปลว่าอะไร แปลว่าง่ายๆ สุดเลย คือเราไม่ใช้คำในการวิพากวิจารณ์โดยไม่สุภาพ ผมคิดว่าเราวิพากวิจารณ์กันได้ แต่เราไม่ควรวิพากวิจารณ์โดยไม่สุภาพ โดยไม่ให้เกียรติกันเด็ดขาด เพราะมันสร้างการทะเลาะวิวาท ไม่ต้องไปบอกว่าขัดแย้งทางความคิดกัน หากเห็นต่างแต่ถกเถียงกันอย่างสุภาพมันก็เก็บไปคิด
 
ยกตัวอย่าง การพยายามไม่ให้ใช้คำเล่น คำสั้น บนข่าว Voice TV คำเล่น เช่น เรียกชื่อเล่น ย่อชื่อ ตรงนี้เป็นเรื่องที่พยายามจะบอกคนรุ่นใหม่ว่าอันนี้เป็นวัฒนธรรมเรา คือเราจะให้เป็นวัฒนธรรมของมืออาชีพ
 
 
 
หนังสือพิมพ์วันนี้ไม่ใช่ข่าวการเมืองเท่านั้น สื่อวันนี้ต้องเท่ากับข่าวบวกความรู้
และผมอยากจะเพิ่ม อีกคำหนึ่ง ซึ่งนี่เป็นวิชั่นของเรา
ข่าว ความรู้ และแรงบรรดาลใจ ตรงนี้คือหัวใจเลย
 
 
คิดว่า voice TV ระวังเรื่องการเมืองเกินไปไหม
ทรงศักดิ์: ไม่ได้ระวังเรื่องการเมืองเกินไป แล้วเรื่องการเมืองเป็นเพียง 10เปอร์เซ็นต์ ของเรื่องราวในชีวิตที่คุณควรจะรับรู้ มันมีเรื่องอื่นอีกมากมาย สถานการณ์ประจำวันที่มันเกิดขึ้นวันต่อวันเป็นเรื่องที่ควรจะติดตาม แต่ความรู้อีกมากมายมหาศาลต่างหากเป็นเรื่องที่คุณควรจะติดตามมากกว่า ถูกไหม สื่อวันนี้ไม่ใช่เท่ากับข่าวการเมือง ผมกำลังตอบแบบนั้นนะ หนังสือพิมพ์วันนี้ไม่ใช่ข่าวการเมืองเท่านั้น สื่อวันนี้ต้องเท่ากับข่าวบวกความรู้ และผมอยากจะเพิ่ม อีกคำหนึ่ง ซึ่งนี่เป็นวิชั่นของเรา ข่าว ความรู้ และแรงบรรดาลใจ ตรงนี้คือหัวใจเลย
 
คือผมโตมาจาก หนังสือชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ จตุรัส ฯลฯ สิ่งที่อ่านพวกนี้มันไม่ใช่ข่าวแต่มันเป็นความรู้และมันเป็นแรงบรรดาลใจให้เราในการหาความรู้ต่อไป
 
ผมคิดว่าเราอยากเปลี่ยนโฉมหน้าสื่อให้เป็นอย่างนั้น เราอยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเจอสื่อแล้วเห็นมากกว่าความเคลื่อนไหววันต่อวัน ผมว่านี่คือหัวใจ แต่เห็นความรู้ที่มันหลากหลาย ถามว่าความรู้และแรงบรรดาลใจควรเอามาทำอะไร จริงๆ พื้นฐานง่ายๆ ความรู้และแรงบันดาลใจคุณเอามาปรับปรุงชีวิตคุณ ถ้าคุณปรับปรุงชีวิตตัวเอง คุณก็จะเริ่มปรับปรุงชีวิตเพื่อนคุณ คุณก็เริ่มปรับปรุงชีวิตกลุ่มของคุณ แล้วคุณก็จะไปปรับปรุงชีวิตสังคมของคุณ ประเทศของคุณ คือผมกำลังบอกว่า เราอยากเห็นภาพนี้ต่างหาก นี่คือการทำ Voice พูดไปคนไม่ค่อยเชื่อนะ ก็ต้องดูจากสิ่งที่เราทำ
 
วิจารณ์สื่อในปัจจุบันหน่อยไหม
ทรงศักดิ์: ผมขอไม่วิจารณ์ ... ผมคิดว่าหัวใจที่เราพยายามทำ คือเราพยายามทำให้เห็นว่าคุณอาจจะมองเราในแง่ลบก็ได้ แต่เข้ามาดูเถอะเข้ามาดูเรา เราพยายามทำเรื่องที่ดีๆ ให้กับสังคมไทย จบ อันนี้คือสิ่งที่เราอยากทำให้คุณเห็น แล้วจะแข่งขันได้หรือเปล่าในตลาดธุรกิจมันก็อีกเรื่องหนึ่ง
 
 
ความรู้สึกเป็นเจ้าของเขาอาจยังไม่รู้สึก แต่ผมคิดว่านั่นคือหัวใจ
เมื่อคุณทำงาน เมื่อคุณรักมันจริงๆ
ความเป็นเจ้าของคุณคือคุณรักงานชิ้นนั้น
แล้วคุณจะทุ่มเทให้มัน
 
 
 
วัฒนธรรมการทำงานแบบมืออาชีพของ Voice เป็นอย่างไร
ทรงศักดิ์: ผมเคยอ่านเจอในหนังสือเล่มหนึ่ง และจำมาใช้เป็นหลักในการทำงาน คือ 1.รักงาน ขยันทำงาน ยิ่งเด็กๆ ยิ่งทำงานหนักกว่าผู้ใหญ่ 2.ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ การทำงานทำงานหนักแต่มันต้องใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป 3.ต้องเปิดรับ open mind คือทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องทำงานเป็นทีมเวิร์ก อันสุดท้าย 4.คุณต้องเป็นเจ้าของ ต้องรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของงานที่คุณทำ และผมก็บอกว่านี้คือสิ่งที่เราคิดว่ามันจะเป็นวัฒนธรรมขององค์กร 4 ข้อใหญ่ๆ
 
แต่วันนี้เราก็ลองให้เขาเขียนกันเองอยู่ คือลองถามเขาว่า ถ้ามาทำงานที่นี่คุณคิดว่าอะไรสำคัญกับชีวิตคุณ และสำคัญกับงานของคุณ สำคัญกับชีวิตคุณ เช่น ปีละครั้งต้องลาพักร้อน 7 วัน นั่นคือวัฒนธรรมตัวคุณ คุณก็ต้องลาพักร้อน 7 วัน ไม่ลาถือว่าทำผิด นี่ยกตัวอย่าง
 
เราในฐานะเป็นผู้นำเราก็ต้องบอกบางอย่างให้เขา แต่ตอนนี้เราอยากจะให้เขาบอกกลับมาแล้วก็เขียนกัน ซึ่งได้มาแล้วระดับหนึ่ง คือเขาคิดว่าที่นี่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ เด็กๆ กำลังบอกว่าหัวใจไม่ใช่การทำงานหนัก แต่หัวใจคือต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ทำงานเป็นทีม ส่วนความรู้สึกเป็นเจ้าของเขาอาจยังไม่รู้สึก แต่ผมคิดว่านั่นคือหัวใจ เมื่อคุณทำงาน เมื่อคุณรักมัน จริงๆ ความเป็นเจ้าของคุณคือคุณรักงานชิ้นนั้น แล้วคุณจะทุ่มเทให้มัน โดยส่วนตัวคิดว่า 4 ข้อ ก็พอแล้วเป็นวัฒนธรรมขององค์กรเรา
 
ที่ผ่านมามีความพยายามสร้างฐานความรู้ พัฒนาความรู้ใหม่ๆ มากว่า 10 ปี แต่ยังไม่ปรากฎออกมาเลย ไม่มีการตอบรับจากรัฐหรือจากภาคธุรกิจส่วนใหญ่ รู้สึกเหนื่อยไหม
ทรงศักดิ์: ผมรู้สึกภูมิใจที่ผมมีส่วนร่วมใน TK Park ผมคิดว่าสังคมไทยต้องฉลาดพอที่จะลงทุนกับสิ่งเหล่านี้ ต้องใช้คำนี้ก่อน ไม่ต้องว่าอะไรใคร แต่มันเป็นหน้าที่ของคนรุ่นเรา ของรุ่นลูกเรา หรือใครก็ได้ ทำไมประเทศที่เขาฉลาดเขาถึงกล้าลงทุนกับสิ่งเหล่านี้อย่างมหาศาล ฉะนั้นนี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ที่สำคัญมันคือแรงบรรดาลใจ
 
ในสังคมเริ่มมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เรารูสึกดีกับการมีหอศิลป์กรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่โบกปูนยังไม่เรียบร้อย ซึ่งก็ไม่เป็นไร แต่คนที่จะมารับช่วงต่อบนหอศิลป์กรุงเทพฯ คุณต้องทำให้มันดีจริง เอางบของรัฐมาทำให้มันดีซะ เอางบของรัฐไปทำ TK Park ให้มันดี ไม่เป็นไรไม่มี เราก็ทำของเรา วันนี้ฟอร์รัมเพื่อสร้างฐานความรู้ทำไมไม่เห็นมีใครจัดเลย เราหน่วยเล็กๆ เราจัดฟอร์รัม “This is my Future” มาฟังปีละหน และวันนี้เราไปมากกว่านั้น ไม่ใช่คนฟังแค่ 100 คน แต่เราใส่ไว้ในเว็บไซต์ให้คุณดูเมื่อไหร่ก็ได้
 
การทำธุรกิจนี้ขาดทุนได้ไหม จะอยู่รอดได้ไหม ถ้ามันไม่จุดคุ้มทุนซักที
ทรงศักดิ์: ขาดทุนได้แต่มีจำกัด ผมว่ามันเหมือนธุรกิจทั่วไป ส่วนการอยู่รอดตรงนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเนื้อหาแบบนี้มันจะทำได้ไหม มันจะเสริมการตลาดได้ไหม แต่ความเชื่อของเราลึกๆ เราเชื่อว่าเนื้อหาที่สมาร์ทกับคนที่สมาร์ท มันจะมาหนุนกันและกัน เพราะเราเชื่อว่าสินค้าที่ประสบความสำเร็จในตลาดโดยส่วนใหญ่มันเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ไม่มีสินค้าที่ไม่มีคุณภาพที่ประสบความสำเร็จได้ และนี่คือสินค้าคุณภาพ
 
เราใช้สินค้าคุณภาพ กลุ่มคนรุ่นใหม่วันนี้ฉลาดพอ เราหวังว่าอีก 5 ปีข้างหน้ากลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่เสพย์แต่สินค้าคุณภาพ และ Voice TV เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ถ้าเราคิดแบบนี้ Voice TV ก็เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท