Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
      “...คุณเคยตื่นขึ้นมาตอนตีห้าครึ่งไหม แล้วเราไม่รู้ว่าเราอยู่ตอนเช้า หรือว่าอยู่ในช่วงเวลาห้าโมงครึ่ง หกโมงครึ่งของตอนเย็น ถ้าคุณนอนข้ามวันข้ามคืน แล้วตื่นขึ้นมา คุณจะไม่รู้เลยว่ามันเป็นตอนเช้าที่เช้ากว่าเดิม หรือเป็นตอนเย็นที่พระอาทิตย์กำลังตกดิน...ผมรู้สึกว่าสังคมตอนนี้ก็เป็นเช่นนั้น เราอยู่ในภาวะโพล้เพล้ ... แล้วมันตอบไม่ได้เลย ว่าเรากำลังเดินไปสู่ภาวะที่พระอาทิตย์ขึ้นหรือรอพระอาทิตย์ตก...” - อนุสรณ์ ติปยานนท์
 

       คำชี้แจง : ข้อเขียนที่ท่านกำลังจะได้อ่านต่อไปนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวในฐานะของปัจเจกชนผู้ต้องผูกพันอยู่ใต้ระบบกฎหมายไทยคนหนึ่ง และขอใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นถึงสภาวะอันตนเองจะต้องอยู่อาศัยต่อไป เสมือนเป็นปลาที่พูดถึงน้ำ จึงไม่ได้หมายใจให้เป็นบทความทางกฎหมายอย่างเต็มที่ เพราะหากเช่นนั้น ผมจำเป็นจะต้องค้นคว้าและอ้างอิงมากกว่านี้ ซึ่งไม่สะดวกและไม่สดใหม่ทันเหตุการณ์ ทั้งนี้ หากผู้ใดสนใจเนื้อหาที่เป็นวิชาการลึกซึ้งเพิ่งเติม ก็ขอให้ศึกษาจากตำราทางวิชาการในสาขากฎหมายอาญาเถิด
       หลังจากที่โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวว่า อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาในกรณีบุกรุกเขายายเที่ยงเพื่อสร้างบ้านพักตากอากาศส่วนตัว โดยทางอัยการแถลงว่าเป็นเพราะผู้ถูกกล่าวหานั้น “ไม่มีเจตนา” จึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง
       พลันในหน้าเว็บ Facebook ของผมก็เต็มไปด้วยข้อความอันหลั่งไหลมาจากเครือข่าย – เอาละ อาจจำต้องยอมรับข้อเท็จจริงตามที่หลายท่านอาจจะกล่าวหาผมอยู่เนืองๆ ว่า เครือข่ายเพื่อนฝูงของผมนั้นส่วนใหญ่มีแนวคิดคนละด้านกับรัฐบาลและจารีตนิยมทางการเมืองไทยบางอย่าง – แต่กระนั้นสิ่งนั้นก็หาทำลายสิทธิแห่งการตั้งข้อสงสัยของพวกเขาไม่
       ทั้งอย่างไรก็ตาม ผมก็ยังเชื่อว่า ไม่ว่าฝ่ายใดสีไหนก็ตาม คดีเขายายเที่ยงนี้ ก็ยังจัดเป็น “คดีสะเทือนขวัญ” สำหรับผู้ที่ยังเป็นเสรีชนและผู้รักความเป็นธรรมอยู่ – ไม่ว่าจะมีรสนิยมทางการเมืองเช่นใดก็ตาม ย่อมสามารถรู้สึกถึงการถูกตบหน้าจากความไม่เป็นธรรมกันได้ทั้งสิ้น แต่จะเจ็บมากหรือเจ็บน้อย เจ็บแล้วเงียบหรือเจ็บแล้วร้อง นั่นเป็นเรื่องของรสนิยมหรือกลยุทธทางการเมืองโดยแท้ หลายคนอาจจะไม่พอใจแต่เงียบไว้ เพราะกลัวไปเข้าทางฝ่าย “สีแดง”
       นั่นเพราะอะไร ? อาจจะเพราะคดีเขายายเที่ยงเป็นอีกกรณีที่เด่นชัดที่แสดงต่อเราทั้งหลาย ถึงการบังคับใช้กฎหมายที่แตกต่างกันตามแต่สถานะภาพของผู้ที่จะถูกกฎหมายนั้นใช้บังคับด้วย – ให้เห็นชัดเจนว่า สำหรับบุคคลในบางตำแหน่งแล้ว พลังแห่งการบังคับใช้กฎหมายอันควรเป็นมาตรบรรทัดวัดชี้ความเป็นธรรมในสังคม มิอาจแตะต้องเขา แม้แต่การแจ้งสถานะการเป็น “จำเลย” ในกระบวนยุติธรรม...


       ส่วนตัวแล้ว ผมมี “ข้อสงสัย” ต่อกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้อง พล.อ. สุรยุทธ์ สองประการ
       1. อัยการอ้างว่า พล.อ. สุรยุทธ์ “ไม่มีเจตนา” นั้น “ไม่มีเจตนา” อะไร ?
       โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดชี้แจงว่า ที่สั่งไม่ฟ้องเนื่องจากพิจารณาเห็นว่า พล.อ.สุรยุทธ์ ได้ครอบครองโดยอาศัยสิทธิต่อจากบุคคลอื่นผู้ได้ขายที่ดินให้ จึงขาดเจตนากระทำผิดตามข้อกล่าวหา ...
       เป็นที่เข้าใจได้ว่า การกระทำความผิดทางอาญานั้น หลักทั่วไปจะต้องอาศัยเจตนาเสมอ จึงจะเป็นความผิด ถ้อยคำของกฎหมายนิยามคำว่าเจตนาไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 วรรคสองว่า “...ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น...” ดังนั้นการกระทำอันกฎหมายถือว่ากระทำโดยเจตนานั้น จะต้องเป็นการกระทำที่มีสติชัดแจ้งสมบูรณ์ในการตัดสินใจกระทำอันสิ่งกฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิดนั้น คือรู้ว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลอันเป็นความผิดที่กฎหมายห้ามไว้อย่างไร กรณีเจตนาที่ไม่สมบูรณ์หรือบกพร่องหรือมีเหตุชี้นำบางประการอันกฎหมายเห็นว่าเป็นเหตุสมควร อาจจะเป็นเหตุให้การกระทำไม่เป็นความผิดหรือไม่ต้องรับโทษหรือได้รับการลดโทษที่จะลงได้ ดังนั้นเจตนาจึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการดำเนินคดีอาญา
       หากเราพิจารณาว่า การกระทำความผิดทางอาญาต้องอาศัยเจตนา และเจตนาคือการกระทำโดยมีสติรู้ตัวอยู่ว่ากำลังกระทำความผิด ดังนั้นการกระทำโดยไม่มีเจตนากระทำความผิดจึงไม่เป็นความผิดเช่นกัน
       และหากเราวางระดับ “เจตนา” ที่กล่าวไป เป็น “เจตนาธรรมดา” ที่อยู่ตรงกลางของหลักเรื่องเจตนาและความรับผิดทางอาญาแล้ว ยังมี “เจตนา” อีกสองระดับที่หย่อนกว่า และสูงกว่า “เจตนา” ธรรมดาไปอีก
       ระดับที่หย่อนกว่าเจตนาธรรมดา ได้แก่ กรณีที่แม้ไม่มีเจตนาก็ต้องรับผิด เช่น กรณีกระทำความผิดโดยประมาท ซึ่งกฎหมายอาญาบางเรื่องกำหนดว่าแม้กระทำการโดยไม่มีเจตนาแต่เป็นไปโดยประมาทขาดระวังก็ต้องรับผิด ซึ่งความผิดจำพวกนี้ได้แก่ ความผิดที่ก่อความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผู้อื่น เช่น ความผิดต่อชีวิตของผู้อื่น หรือทำให้เกิดเพลิงไหม้ หรือกรณี “ความรับผิดเด็ดขาด” ได้แก่กรณีที่จะต้องรับผิดโดยไม่อาศัยเจตนา กล่าวคือ แม้ไม่มีเจตนาก็ต้องรับผิด เช่น ความผิดลหุโทษต่างๆ เช่นการไม่พกบัตรประชาชน หรือการผิดกฎจราจร ความผิดพวกนี้จะไม่ต้องอาศัยเจตนาก็ถือว่ามีความผิด
       ระดับที่สูงกว่าเจตนาธรรมดา บ้างก็เรียกว่า “เจตนาพิเศษ” กล่าวคือ ในความผิดบางเรื่อง แม้มีเจตนาครบถ้วน แต่ไม่มีมูลเหตุจูงใจตามกฎหมาย ก็ไม่ถือเป็นความผิด ตัวอย่างที่ดีคือ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ซึ่งกฎหมายคาดหวังมูลเหตุชักจูงใจเพิ่มจากเจตนา คือ “ความทุจริต” ในเจตนานั้น เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 บัญญัติว่าหมายถึงกรณีที่ “...ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวม อยู่ด้วยไปโดยทุจริต...” ดังนั้น “เจตนา” เอาทรัพย์ผู้อื่นไปเฉยๆ ก็ยังอาจจะไม่ใช่กรณีลักทรัพย์ได้ ถ้าขาดเจตนาทุจริต เช่นเอาทรัพย์ผู้อื่นไปโดยวิสาสะ คิดว่าเอาไปได้ หรือเป็นทรัพย์ของตน หรือเอาไปในลักษณะอื่นที่ไม่ใช่เพื่อจะเอาทรัพย์ในเชิงพรากกรรมสิทธิ์ ก็ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
       ที่ต้องพูดเรื่องเจตนาในกฎหมายอาญากันยืดยาวนี้เพื่อที่จะได้กลับมาพิจารณาเรื่องของคำว่า “ไม่มีเจตนา” อันเป็นเหตุให้อัยการไม่สั่งฟ้องนี่แหละ


       เพราะอย่างไรก็ตาม ขอให้พิจารณา กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ พระราชบัญญัติป่าสงวน พ.ศ. 2507 หมวดที่เป็นความผิด จะพบว่า :-
       มาตรา 31(6) บัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 14 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท...” และเมื่อเราไปพิจารณา มาตรา 14 จะพบว่า บัญญัติว่า“...ในเขตป่าสงวนแห่งชาติห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดินก่อสร้าง แผ้วถ้าง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่าหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติเว้นแต่...” ซึ่งข้อยกเว้นได้แก่ การเข้าไปทำไม้หรือเก็บของป่าตามที่ได้รับอนุญาต แล้วหรืออยู่อาศัยใช้ประโยชน์อันจำกัด ตามที่ได้รับอนุญาตต่างๆ ตามที่ทางราชการได้ผ่อนผันให้ตามเหตุต่างๆ ในมาตรา 16 16 ทวิ 16 ตรี 17 18 และ 20 ซึ่งอันนี้ไม่ใช่ประเด็นที่เราจะพิจารณา
       ปัญหาคือ ที่อัยการแจงเหตุของการ “ไม่สั่งฟ้อง” ว่า เนื่องจากองคมนตรีท่านนั้นไม่มีเจตนานั้น จึงต้องถามว่า หมายถึง “ไม่มีเจตนาอะไร” (โปรดสังเกตว่า คำแถลงของโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด จบแค่ “ไม่มีเจตนากระทำความผิด” แต่ไม่ได้แจงต่อว่า ไม่มีเจตนาอะไร)
       หากจะกล่าวว่า องคมนตรีท่านนั้น ไม่มีเจตนา “ยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน” นั้นก็คงฟังยาก เพราะท่านปลูกบ้านพักตากอากาศเป็นเรื่องเป็นราว มีไฟฟ้า เคยพานักข่าวเข้าเที่ยวชม
       ถ้าเช่นนั้นหากจะกล่าวว่า ไม่มีเจตนา เพราะเนื่องจากครอบครองโดยสุจริต ครอบครองโดยรับสิทธิต่อมาจากกฎหมายเดิม ก็น่าสงสัยเข้าไปใหญ่ เพราะในกฎหมายป่าสงวนฯ มาตรา 14 นั้น ไม่ใช่กรณีที่กฎหมายมุ่งหวังเจตนาพิเศษ คือเรื่องทุจริต แต่กำหนดเพียงห้าม “ยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน” ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าผู้ครอบครองนั้น ครอบครองโดยสุจริตหรือทุจริต ดังนั้นการเข้าไปครอบครองที่ดินในป่า และป่านั้นเป็นป่าสงวน ก็เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 31(6) ประกอบมาตรา 14 แล้ว โดยไม่พึงต้องพิจารณาความทุจริตหรือสุจริตของการครอบครอง (เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องครอบครองอย่างทุจริตถึงจะผิดกฎหมาย)
       หรือหากจะกล่าวว่า ไม่มีเจตนา ในที่นี้หมายถึง ไม่มีเจตนาเข้าครอบครองป่าสงวน เพราะไม่รู้ว่าที่ดินนั้นเป็นป่าสงวน จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย เช่นนี้ก็จะนำมาสู่ปัญหาประการที่สอง คือ


       2. คำสั่งไม่ฟ้องอัยการ ก้าวล่วงเข้าไปพิจารณาถึงเจตนาในการกระทำความผิด และเรื่ององค์ประกอบแห่งความผิด ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย อันควรจะเป็นหน้าที่ของ “ศาลยุติธรรม” หรือไม่ ?
       แม้เราจะยอมรับได้ใน “อำนาจในการสั่งคดี” (ว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี) ของอัยการว่าเป็นดุลยพินิจของการใช้อำนาจตามกฎหมายที่กระทำได้ แต่นั่นก็เป็นคำถามว่า อำนาจในการไม่ฟ้องคดีของอัยการในคดีนี้นั้น “ก้าวล่วง” อำนาจศาลเกินไปหรือไม่ ? เพราะการพิจารณาของอัยการในคดีนี้เป็นการพิจารณาเข้าไปใน “ปัญหาข้อกฎหมาย” ได้แก่ “การตีความเจตนาของผู้ถูกกล่าวหา” ว่ากระทำโดยรู้ข้อเท็จจริงแห่งการกระทำความผิด ว่าที่ดินปัญหาเป็นที่ป่าสงวนหรือไม่ ซึ่งควรที่จะให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ชี้ขาดในปัญหาดังกล่าวมากกว่า เพราะมันเป็นประเด็นสำคัญแห่งคดีด้วย ว่าการกระทำขององคมนตรีท่านนั้น “มีเจตนาบุกรุกป่าสงวนหรือไม่” ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี
       เพราะศาลน่าจะได้เป็นผู้ตัดสินโดยอาศัยหลักการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานประกอบพฤติการณ์แห่งคดีเพื่อชี้พิพากษาว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นความผิดที่ต้องลงโทษหรือไม่ ทั้งนี้หลักการที่ศาลทั่วไปใช้ในการวินิจฉัย “เจตนา” ของการกระทำความผิด คือ หลักว่าด้วย “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา”
       หากจะพิจารณาถึง “กรรม” ในที่นี้อันหมายถึงการกระทำที่ไม่ใช่เรื่องบาปบุญคุณโทษ ก็น่าสงสัยว่า องคมนตรีท่านจะมี “เจตนา” อย่างไรในการครอบครองที่ดินปัญหา และท่าน “รู้” หรือ “ควรรู้” หรือไม่ว่าที่ดินอันครอบครองนั้น อยู่ในเขตป่าสงวน ?
       ข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้ตามที่สื่อมวลชนรายงานคือ นายเบ้า สินนอก เจ้าของที่ดินปัญหานั้น มีสิทธิ์ครอบครองที่ดินบนเขายายเที่ยงโดยชอบตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 เม.ย.18 เห็นชอบให้กรมป่าไม้ ดำเนินการปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติเขายายเที่ยง เพื่อจัดสรรให้ราษฎรทำกินครอบครัวละไม่เกิน 15 ไร่ (ให้ทำกินครอบครัวละ 14 ไร่ 2 งาน และให้เป็นที่อยู่อาศัยอีก 2 งาน) โดยมีเงื่อนไขไม่ให้กรรมสิทธิ์ แต่ให้สิทธ์ครอบครองตกทอดดึงทายาทโดยธรรมได้เป็นการถาวร เพื่อป้องกันไม่ให้นายทุนมาครอบครองโดยวิธีกว้านซื้อ โดยกรมป่าไม้จะออกใบอนุญาตชั่วคราวให้ราษฎรเข้าอยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวโดยจัดตั้งในรูปหมู่บ้านป่าไม้ นายเบ้า และบุตรเขย จึงได้รับการจัดสรรที่ดินคนละ 15 ไร่ รวม 30 ไร่ และได้มีการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) ตลอดมา ตั้งแต่ปี 2520 – 2538 ต่อมานายเบ้า ได้ขายที่ดินของตนเองและบุตรเขย จำนวน 20 ไร่ ให้นายนพดล พิทักษ์วาณิชย์ เมื่อปี 2538 พร้อมมอบหลักฐานการแสดงภาษีให้แก่นายนพดลด้วย และนายนพดล ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ระหว่างปี 2538 – 2540 ต่อมา พ.อ.สุรฤทธ์ จันทราทิพย์ เป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในปี 2540 – 2545 และในวันที่ 6 ก.ค.43 พล.ต.สุรฤทธ์ เป็นผู้ไปยื่นขอออกเลขที่บ้าน เลขที่ 10 ตำบลคลองไผ่ (เดิมอยู่ในเขตตำบลลาดบัวขาว) อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นบ้านพักอาศัยของ พล.อ.สุรยุทธ์ ในปัจจุบัน และในวันที่ 4 ก.ค.46 พล.ต.สุรฤทธ์ เป็นผู้ขออนุญาตใช้ไฟฟ้าในบ้านหลังดังกล่าว และในปี 2545 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน มีหลักฐานว่าผู้ยื่นเสียภาษีบำรุงท้องที่ ในที่ดินดังกล่าว คือ พ.อ.หญิง คุณหญิงจิตรวดี จุลานนท์ ภริยาของ พล.อ.สุรยุทธ์
       เอาละครับ จากนี้ขอให้เราย้อนกลับมาพิจารณาว่า บุคคลธรรมดาสามัญ เยี่ยงเราๆท่านๆ ผู้อ่านบทความนี้ เวลาจะซื้ออสังหาริมทรัพย์สักที เราคงเช็คแล้วเช็คอีก ตรวจสอบประวัติผู้ขาย และประวัติที่ดินหรือบ้านช่องที่เราจะซื้อนั้นอย่างดี เพื่อไม่ให้มีปัญหาว่าไปซื้อที่ที่จะก่อปัญหาแก่เราในอนาคต เช่น เป็นที่ดินติดจำนอง เป็นที่อันอาจถูกรอนสิทธิ มีสิทธิเหนือผืนดิน ติดทางจำเป็น หรือมีผู้ครอบครองปรปักษ์ไปแล้ว ฯลฯ กว่าเราจะยอมซื้อยอมจ่าย และยิ่งถ้าเป็นที่ดินสวยๆ ในต่างจังหวัด ที่ไม่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนด แต่เป็นเอกสารอื่น เช่น น.ส.3 ก. หรือเอกสารที่ไม่ได้แสดงสิทธิ์ เช่น ภ.บ.ท.5
       เราจะไม่ตรวจสอบหรือสงสัยในสิทธิการครอบครองในที่ดินอันเราจะต้องจ่ายเงินซื้อเลยหรือ ?
       อันนี้เราพูดถึงสามัญชนคนธรรมดา คนชั้นกลางที่มีเงินพอจะซื้อที่ดินสักก้อน เขียนหนังสือได้อ่านกฎหมายออก – ผมเชื่อว่า “วิญญูชน” ระดับเพียงเท่าเราๆท่านๆนี้ ก่อนจะซื้อจะรับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ เราก็ต้อง “ทำการบ้าน” เช่นนี้กันทั้งนั้น
       แล้วท่านผู้ถึงพร้อมทั้งอำนาจ กำลัง ความสามารถละ ? ท่านสามารถให้ลูกน้องที่มีมากมายช่วยตรวจสอบได้หรือไม่ ว่าที่ดินที่ท่านจะปลูกสร้างบ้านพักตากอากาศนั้นเป็นที่ดินอัน “มีปัญหา” อย่างไรหรือไม่ ? แม้แต่อย่างง่ายเลย คือท่านยกหูโทรศัพท์ หรือแม้แต่ไม่ต้องทำเอง สั่งให้ลูกน้องกระทำการในนามท่าน ติดต่อไปยังกรมป่าไม้ ผมก็เชื่อว่าท่านจะได้รับคำตอบอย่างง่ายดายไม่กี่นาที
       ท่านได้กระทำเช่นนี้หรือไม่ ?
       และหากท่านมิได้กระทำ – ซึ่งการไม่กระทำ ก็เป็นการ “กระทำ” อย่างหนึ่งในทางอาญานั่นเอง
       ชี้เจตนาอะไร ?
       น่าเสียดาย, หากท่านอัยการผู้สั่งคดีจะไม่ “สงสัย” แต่ท่านก็น่าจะส่งให้ศาลยุติธรรมได้มีโอกาสพิจารณา – เผื่อศาลท่านจะสงสัย อย่างที่ผมสงสัย และเชื่อว่าหลายคนก็น่าจะสงสัยเช่นกัน
       และขอกล่าวไว้ด้วยว่า การสั่งฟ้องคดีนี้ ไม่เหมือนการสั่งฟ้องคดีอาญาทั่วไป ที่ผู้เสียหายอาจจะเป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลได้ด้วยตนเอง อย่างเช่นที่เคยเกิดมาแล้วในคดีฆาตกรรมแพทย์หญิงผัสพร ที่ทางอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง แต่ญาติผู้เสียหายยังสามารถสู้ต่อโดยฟ้องคดีด้วยตนเอง จนชนะคดีถึงชั้นศาลฎีกา ลงโทษประหารชีวิตจำเลยได้ในที่สุด
       แต่ในคดีนี้ เป็นคดีที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้เสียหายโดยแท้ ดังนั้นเมื่อ “อัยการ” ที่เป็น “ทนายของรัฐ” มีคำสั่งไม่ฟ้องเสียแล้ว เท่ากับคดีจบลง โดยไม่มีใครสามารถใช้สิทธิเป็นผู้เสียหายได้อีก – ทั้งนี้หมายถึงผู้เสียหายในทางกฎหมาย ซึ่งกินความแคบกว่าความเสียหายของ “ประชาชนทั้งหลาย”


       อย่างไรก็ตาม, พอจะเข้าใจได้ว่า หากเรื่องนี้ถูกฟ้องร้องขึ้นต่อศาล โดยคำสั่งฟ้องของอัยการ แม้แต่ศาลจะลงโทษสถานเบา รอการลงโทษ หรือแม้แต่ยกฟ้องไปด้วยเหตุผลเดียวกับคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการด้วยพิจารณาเห็นว่าเรื่องนี้ท่านไม่มีเจตนาบุกรุกป่าสงวนจริงๆ หรืออะไรก็ตาม แต่หากคดีถึงบัลลังก์ศาลเสียแล้ว
       ท่านองคมนตรี – พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี จะมีสถานะในกระบวนยุติธรรมทางอาญา เป็น “จำเลย” ในคดีบุกรุกป่าสงวน
       สถานะในกระบวนยุติธรรมดังกล่าวอาจจะไม่งดงามต่อ “อีกสถานะ” ของท่าน – ในสถานะอันเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์
       การจบเรื่องนี้ ตั้งแต่ก่อนถึงชั้นศาล อาจจะเป็นหนทางที่ “กระทบกระเทือน” น้อยกว่า...
       แต่ “ราคา” ที่ต้องจ่าย มันอาจจะแพงกว่าที่ “ท่าน” คิด
       เพราะมันทำให้เสรีชนทั้งหลายประจักษ์ชัดว่า กระบวนยุติธรรมทางอาญาระหว่าง “คน” ที่มีสถานะต่างกันนั้น แตกต่างกัน – โดยเฉพาะเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับกรณีที่คนยากจนบุกรุกป่าสงวนและถูกขับไล่ออกจากที่ทำกิน ดำเนินคดี
       คนยากจนน่ะครับ ท่านเคยเห็นหรือไม่, คนยากจนที่ตัวดำๆ มอมแมม อ่านหนังสือออกบ้างไม่ออกบ้าง คำว่า “พระราชบัญญัติป่าสงวน” เขาจะเขียนถูกหรือไม่ก็ยังไม่รู้ คนที่ไม่รู้กฎหมาย (ที่บังคับให้ทุกคนต้องรู้กฎหมาย จะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อเป็นเหตุให้ไม่ต้องรับโทษมิได้) หรือแม้จะรู้กฎหมาย แต่เขาก็ไม่มีความสามารถที่จะ “เข้าถึง” ข้อมูลได้ง่ายๆ ว่าผืนดินที่พวกเขา เข้าไปหักร้างถางพง อยู่อาศัย ทำไร่ทำนา แค่พอเลี้ยงตัวไปวันๆ นั้น เป็น “ป่าสงวน” คนพวกนี้หลายต่อหลายครอบครัวถูกขับไล่ออกจากที่ทำกิน บ้างก็ถูกดำเนินคดีในศาล บ้านแตกสาแหรกขาด สิ้นเนื้อประดาตัว
       พวกเขาได้รับการ “พิจารณาเจตนา” ของการเข้าอยู่อาศัยในเขตป่าสงวนหรือพื้นที่อันรัฐหวงกันไว้ ด้วยมาตรฐานเดียวกัน จากกฎหมายฉบับเดียวกันกับองคมนตรีหรือไม่ ?
        ฤาเรื่องนี้อาจจะกลายเป็น “ใบเสร็จ” อีกชิ้นหนึ่ง ที่แสดงออกให้เราได้เก็บไว้เป็นหลักฐาน ยืนยันต่อตัวเองเป็นที่ระลึกว่า...
       ความเสมอภาค เท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย ในประเทศนี้ไม่มีอยู่จริง.

       หมายเหตุเพิ่มเติม : หลังจากที่ผมเผยแพร่บทความนี้ในเว็บ และมีผู้นำไปเผยแพร่ต่อในเว็บบอร์ดสาธารณะหลายแห่ง รวมทั้งฟ้าเดียวกันเว็บบอร์ดด้วย
       มีสมาชิกท่านหนึ่งของเวบบอร์ดฟ้าเดียวกัน คือ คุณ “ กูคนไทย ไม่ได้อพยพมาจากไหน” ได้นำคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องหนึ่งซึ่งมีข้อเท็จจริงคล้ายคลึงกับคดีนี้ มาโพสต์ไว้ด้วย ผมจึงขออนุญาตนำมาแสดงท้ายบทความนี้ เพื่อได้พิจารณาบรรทัดฐานของคำพิพากษาของศาลและกระบวนยุติธรรม ในกรณีที่คดีคล้ายคลึงกันนี้ เกิดขึ้นกับสามัญชนธรรมดา - ข้อเท็จจริงในคดีนี้ใกล้เคียงกันในแง่ที่ว่า จำเลยได้ซื้อที่ดินในเขตป่าสงวนต่อมาจากผู้ขาย ซึ่งผู้ขายนั้นมีสิทธิ์ครอบครองโดยไม่มีเจตนาบุกรุกป่าสงวน เพราะครอบครองมาก่อนเป็นป่าสงวน แต่สิทธิครอบครองนั้นไม่ได้ตกแก่ผู้ซื้อด้วย หากผู้ซื้อนั้นรู้ว่าที่ดินนั้นเป็นป่าสงวนก็ถือว่ามีความผิดด้วย - รายละเอียดโปรดพิจารณาจากคำพิพากษาครับ


คำพิพากษาที่ 2087/2539
       แม้จำเลยจะซื้อสิทธิครอบครองที่ดินจากบุคคลผู้ครอบครองที่ดินมาก่อนที่ทางการจะประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติก็เป็นเพียงแสดงว่าเฉพาะตัวผู้ที่ขายสิทธิครอบครองให้แก่จำเลยขาดเจตนาที่จะบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเท่านั้นเมื่อปรากฏว่าที่ดินที่จำเลยซื้อได้มีกฎกระทรวงประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติเมื่อวันที่12มิถุนายน2529จำเลยเบิกความว่าได้ซื้อมาระหว่างปีพ. ศ.2530ถึงปี2535จึงเป็นระยะเวลาที่รัฐประกาศให้ที่ดินดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้วและจำเลยก็ทราบดีว่าที่ดินดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติการที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินป่าสงวนจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ. ศ.2507มาตรา14 และยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ. ศ.2484มาตรา54ซึ่งบัญญัติห้ามยึดถือครอบครองป่าเช่นกันด้วย
ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย คำพิพากษาที่ 2087/2539
พนักงานอัยการจังหวัดตรัง
โจทก์
นาง ปราณี ศรมณี
จำเลย
พ.ร.บ.ป่าไม้ มาตรา 54
พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ฯ มาตรา 14
       โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันเวลาและ เดือน ใด ไม่ปรากฏ ชัด ปี 2530ถึง วันที่ 9 มิถุนายน 2535 เวลา กลางวัน ต่อเนื่อง กัน จำเลย ได้ ก่นสร้างแผ้วถาง ทำ ไม้ และ เข้า ยึดถือ ครอบครอง ป่า และ ที่ดิน เพื่อ ตนเองใน เขต ป่า คลอง กะลาเส และ คลอง ไม้ตาย โดย ไม่ได้ รับ อนุญาต จาก พนักงาน เจ้าหน้าที่ และ ไม่ได้ รับ การ ยกเว้น ตาม กฎหมาย เป็น เนื้อที่496 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวา อันเป็น การ ทำลาย ป่า และ เป็น การ เสื่อมเสียแก่ สภาพ ป่า ซึ่ง เป็น ป่าสงวนแห่งชาติ เหตุ เกิด ที่ ตำบล ไม้ฝาด อำเภอ สิเกา จังหวัด ตรัง ขอให้ ลงโทษ ตาม พระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54, 72 ตรี พระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 ให้ จำเลย และ บริวาร ออก ไป จาก เขตป่าสงวนแห่งชาติ
       จำเลย ให้การ ปฏิเสธ
       ศาลชั้นต้น พิจารณา แล้ว พิพากษา ว่า จำเลย มี ความผิด ตามพระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง , 72 ตรี วรรคสองพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง ,31 วรรคสอง การกระทำ ของ จำเลย เป็น กรรมเดียว ผิด ต่อ กฎหมาย หลายบทให้ ลงโทษ ตาม พระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ซึ่ง เป็นบทที่ มี โทษหนัก ที่สุด ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 9 ปีทางนำสืบ ของ จำเลย เป็น ประโยชน์ แก่ การ พิจารณา มีเหตุ บรรเทา โทษลดโทษ ให้ หนึ่ง ใน สาม ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คง จำคุก 6 ปีให้ จำเลย และ บริวาร ออกจาก เขต ป่าสงวนแห่งชาติ
       จำเลย อุทธรณ์
       ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
       จำเลย ฎีกา
       ศาลฎีกา วินิจฉัย ว่า พิเคราะห์ แล้ว คดี ฟัง เป็น ยุติ ใน ชั้น นี้โดย คู่ความ มิได้ โต้เถียง กัน ว่า ที่ดิน จำนวน ประมาณ 496 ไร่ 2 งาน72 ตารางวา ที่ จำเลย และ นาย สุพจน์ บัวเลิศ น้องชาย จำเลย ได้ ซื้อ มา จาก ผู้ขาย 13 ราย ซึ่ง เป็น ผู้ครอบครอง ทำประโยชน์ ใน เขต ที่ดิน ป่าคลอง กะสาเสและป่าคลองไม้ตาย ตำบล กะลาเส ตำบล เขาไม้แก้ว ตำบล บ่อหิน และตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัด ตรัง ซึ่ง รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตร และ สหกรณ์ ได้ ประกาศ ให้ เป็น เขตป่าสงวนแห่งชาติ ปรากฏ ตาม เอกสาร หมาย ล. 1 และ ป.ล. 1 โดย ปรากฏว่าผู้ที่ ขาย ที่ดิน ให้ จำเลย และ น้องชาย จำเลย เป็น ผู้ที่ ได้ ครอบครอง ที่ดินมา ก่อน ที่ จะ ประกาศ ให้ เป็น ป่าสงวนแห่งชาติ และ ผู้ครอบครอง ได้ ไปร้อง แจ้ง สิทธิ การ ครอบครอง ไว้ ภายใน 90 วัน นับแต่ วันที่ ได้ประกาศ เขต ป่าสงวนแห่งชาติ แล้ว ปรากฏ ตาม หลักฐาน การ แจ้ง สิทธิ การครอบครอง เอกสาร หมาย ป.ล. 2 มี ปัญหา ที่ จะ ต้อง พิจารณา ว่า จำเลยมี ความผิด ตาม พระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และ มี ความผิดตาม พระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 หรือไม่ เห็นว่า ใน ข้อหา ความผิดตาม พระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ จำเลย นำสืบ ว่า ได้ ซื้อสิทธิ ครอบครอง จาก บุคคล ผู้ครอบครอง ที่ดิน มา ก่อน ที่ ทางการ จะ ประกาศให้ เป็น ป่าสงวนแห่งชาติ โดย ข้อเท็จจริง รับฟัง ได้ ตาม ข้ออ้าง ของจำเลย ดังกล่าว ก็ เป็น เพียง แสดง ว่า เฉพาะตัว ผู้ที่ ขาย สิทธิ การ ครอบครองให้ แก่ จำเลย ดังกล่าว ขาด เจตนา ที่ จะ บุกรุก ป่าสงวนแห่งชาติ หรือไม่ มีความผิด ตาม พระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ เท่านั้น แต่ สำหรับ จำเลยผู้รับโอน สิทธิ ครอบครอง จาก บุคคล ดังกล่าว จะ อ้าง สิทธิ ครอบครองที่ ได้รับ โอน มา ได้ ก็ แต่ ราษฎร ด้วยกัน เอง เท่านั้น แต่ ใน เรื่อง ที่ผู้ใด กระทำผิด กฎหมาย หรือไม่ สำหรับ กรณี นี้ นั้น เป็น เรื่อง เฉพาะตัวหรือ เหตุ เฉพาะตัว ของ ผู้กระทำ จำเลย จะ อ้างว่า ได้รับ โอนสิทธิ และขาด เจตนา บุกรุก ป่าสงวน เช่นกัน หาได้ไม่ เพราะ เป็น การ อ้าง เหตุเพื่อ หลีกเลี่ยง ให้ พ้น ผิด และ เป็น การ อ้าง ใน ลักษณะ ที่ ว่า ตนเองไม่รู้ ว่า กฎหมาย บัญญัติ ห้าม ไว้ เช่นนั้น เมื่อ ปรากฏว่า ที่ดินที่ จำเลย ซื้อ ได้ มี กฎกระทรวง ประกาศ เป็น เขต ป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อ วันที่12 มิถุนายน 2529 จำเลย เบิกความ ว่า ได้ ซื้อ มา ระหว่าง ปี 2530ถึง ปี 2535 จึง เป็น ระยะเวลา ที่ รัฐ ประกาศ ให้ ที่ดิน ดังกล่าว เป็นเขต ป่าสงวนแห่งชาติ แล้ว และ จำเลย ก็ ทราบ ดี ว่า ที่ดิน ดังกล่าว เป็นป่าสงวนแห่งชาติ การ ที่ จำเลย อ้างว่า ได้ ก่นสร้าง เฉพาะ ต้น ไม้ที่ ผู้ขาย ได้ ปลูก ไว้ มิได้ ทำลาย ป่าไม้ ส่วน อื่น นั้น เห็นว่า ต้นยางต้นมะม่วง และ ต้นมะพร้าว ที่ ผู้ขาย ปลูก ไว้ เป็น ไม้ยืนต้น มี ลักษณะติด ตรึงตรา กับ ที่ดิน ที่ เป็น ป่า เป็น ส่วนควบ กับ ที่ดิน ป่า จึง เป็นส่วน หนึ่ง ของป่า สงวน การ ไป ตัด ทำลาย ก็ เป็น การ ทำลาย ป่าสงวนแต่ จะ อย่างไร ก็ ตาม การ ที่ จำเลย ยอมรับ ว่า ได้ เข้า ยึดถือ ครอบครองที่ดิน ป่าสงวน ดังกล่าว โดย การแสดง บอกกล่าว ต่อ เจ้าหน้าที่ และแสดง หลักฐาน การ เสีย ภาษีบำรุงท้องที่ อันเป็น หลักฐาน แสดง ออก ถึงการ ครอบครอง ที่ ป่าสงวน ดังกล่าว กรณี ก็ เป็น ความผิด ตาม มาตรา 14แห่ง พระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 แล้ว เพราะ บทบัญญัติของ กฎหมาย ดังกล่าว ห้าม บุคคล ใด เข้า ยึดถือ ครอบครอง ป่าสงวน ข้ออ้างของ จำเลย จึง ไม่เป็นเหตุ ให้ จำเลย พ้น ผิด สำหรับ ข้ออ้าง ตาม ฎีกา ของ จำเลยเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ที่ ว่า จำเลย เป็น เพียงผู้ซื้อ สิทธิ ครอบครอง ต่อ จาก ราษฎร ที่ ยึดถือ ครอบครอง อยู่ ก่อน เท่านั้นมิได้ กระทำการ ก่นสร้าง แผ้วถาง ป่า หรือ กระทำ ด้วย ประการใด ๆอันเป็น การ ทำลาย ป่า นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 54 ก็ ได้ บัญญัติ ห้าม ยึดถือ ครอบครอง ป่า เช่นกัน ฉะนั้น การ ที่จำเลย เข้า ยึดถือ ครอบครอง ป่า จึง มี ความผิด ตาม พระราชบัญญัติ ป่าไม้ดังกล่าว ถึง แม้ จำเลย จะ มิได้ กระทำการ ก่นสร้าง ทำลาย ป่า ก็ ตามเมื่อ การ ที่ รัฐ ประกาศ เขตท้องที่ ดังกล่าว เป็น เขต ป่าสงวนแห่งชาติก็ มิได้ กระทำ ให้ ป่า ส่วน นั้น หมด สภาพ จาก การ เป็น ป่า ที่ดิน ดังกล่าวก็ ยัง มี สภาพ เป็น ป่า อยู่ เช่น เดิม มิได้ ทำให้ การ เป็น ป่า อยู่ แต่ เดิมสิ้นสภาพ ไป การ ที่ จำเลย เข้า ไป ยึดถือ ครอบครอง จึง เป็น การกระทำ ผิดตาม พระราชบัญญัติ ป่าไม้ ดังกล่าว ด้วย ที่ ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืนตาม ศาลชั้นต้น ว่า จำเลย มี ความผิด ตาม พระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 และ มี ความผิด ตาม พระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ชอบแล้ว
       สำหรับ ฎีกา ของ จำเลย ที่ ขอให้ ลงโทษ สถาน เบา และ รอการลงโทษ จำคุกให้ จำเลย นั้น เห็นว่า จำเลย เพียง เป็น ผู้ซื้อ สิทธิ การ ครอบครองและ เข้า ยึดถือ ครอบครอง ป่าสงวน ต่อ จาก บุคคลอื่น เมื่อ เจ้าหน้าที่ไป ตรวจสอบ จำเลย ก็ ได้ ชี้แจง ข้อเท็จจริง ใน การ ที่ ได้ ซื้อ มา ให้เจ้าหน้าที่ ทราบ พา ไป ดู เขต ที่ดิน แจ้ง จำนวน เนื้อที่ดิน ที่ ซื้อ มาแสดง ใบเสร็จ การ เสีย ภาษี แสดง หลักฐาน คำร้อง อ้าง สิทธิ การ ครอบครองของ ผู้ขาย ให้ เจ้าหน้าที่ ทราบ เป็น การ ให้ ความ ร่วมมือ กับ เจ้าหน้าที่จำเลย เคย รับ ราชการ ครู ขณะ รับ ราชการ ได้รับ เครื่อง ราชอิสริยาภรณ์ได้รับ เหรียญ กาชาด สมนาคุณ ได้รับ ประกาศ เกียรติคุณ บัตร ปรากฏ ตามภาพถ่าย ท้าย ฎีกา หมายเลข 1 ถึง 3 และ รับ ราชการ ครู มา จน เกษียณอายุแสดง ว่า จำเลย เป็น ผู้ ประพฤติ ดี มา ตลอด การกระทำ ของ จำเลย จึง เป็นเรื่อง ที่ จำเลย มิได้ กระทำ ความผิด เพราะ เหตุ ที่ จำเลย มี สันดาน เป็นผู้ร้าย เมื่อ ได้ พิจารณา ประกอบ กับ ว่า จำเลย เป็น หญิง ปัจจุบัน อายุประมาณ 66 ปี และ ไม่ปรากฏ ว่า จำเลย เคย ต้องโทษ จำคุก มา ก่อน ด้วย แล้วกรณี มีเหตุ สมควร ให้ จำเลย ปรับตัว ให้ เข้า กับ สังคม เป็น พลเมือง ดี ต่อไปที่ ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ลงโทษ จำคุก จำเลย 9 ปี หนัก เกิน ไป สมควร กำหนด โทษให้ เบาลง ตาม สมควร แก่ โทษ และ รอการลงโทษ จำคุก ให้ จำเลย ฎีกา ของ จำเลยข้อ นี้ ฟังขึ้น
       พิพากษาแก้ เป็น ว่า ให้ ลงโทษ จำคุก 3 ปี ปรับ 150,000 บาทลดโทษ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่ง ใน สาม คง จำคุก 2 ปีปรับ 100,000 บาท โทษ จำคุก ให้ รอการลงโทษ ไว้ มี กำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระ ค่าปรับ ให้ จัดการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ คุมประพฤติ จำเลย โดย ให้ จำเลยกระทำ กิจกรรม บริการ สังคม ตาม ที่ พนักงานคุมประพฤติ และ จำเลย เห็นสมควรไม่ น้อยกว่า 30 ชั่วโมง ภายใน กำหนด เวลา รอการลงโทษ ให้ จำเลย ไป ติดต่อพนักงานคุมประพฤติ เพื่อ ดำเนินการ ดังกล่าว ภายใน กำหนด 30 วันนับแต่ วัน ฟัง คำพิพากษา ศาลฎีกา นอกจาก ที่ แก้ ให้ เป็น ไป ตาม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 3
        ( กอบเกียรติ รัตนพานิช - สมมาตร พรหมานุกูล - ชลอ บุณยเนตร )


       หมายเหตุ
        (1)สิทธิครอบครองซึ่งเป็นทรัพยสิทธิย่อมโอนกันได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1378)เป็นวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้จึงเป็นทรัพย์สิน(มาตรา138)ย่อมซื้อขายกันได้(มาตรา453)โดยปกติถ้าเป็นทรัพย์สินโดยทั่วไปและเป็นสิทธิครอบครองอสังหาริมทรัพย์เพราะเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดินหรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินฯลฯ(มาตรา139)การซื้อขายสิทธิครอบครองซึ่งเป็นนิติกรรมก็ย่อมต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา456มิฉะนั้นย่อมเป็นโมฆะ
        (2)การส่งมอบสิทธิครอบครองก็คือการโอนการครอบครองซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเหมือนกันไม่เกี่ยวกับกฎหมายเป็นหน้าที่ของผู้ขายที่จะต้องส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อ(มาตรา461)แต่การซื้อขายซึ่งเป็นนิติกรรมสัญญาเป็นบุคคลสิทธิเป็นคนละเรื่องกับการได้สิทธิครอบครองซึ่งเป็นทรัพยสิทธิแม้จะซื้อขายรับโอนส่งมอบกันมาแล้วซึ่งต้องหมายความว่าต้องเข้ายึดถือโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนจึงจะได้สิทธิครอบครอง(มาตรา1367)แต่ตอนหลังอาจไม่ได้ยึดถือโดยเจตนายึดถือเพื่อตนจึงไม่ได้สิทธิครอบครองก็ได้
        (3)ตามคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้จำเลยได้สิทธิครอบครองที่ดินจากบุคคลภายนอกผู้ครอบครอง(หมายความว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิครอบครองอยู่ก่อน)โดยวิธีซื้อแม้การซื้อขายสิทธิครอบครองที่พิพาทจะไม่ได้ทำเป็นหนังสือจดทะเบียน(สิทธิครอบครองป่าสงวนแห่งชาติเช่นกรณีนี้พนักงานเจ้าหน้าที่คงไม่ยอมจดทะเบียนการซื้อขายให้แน่)แต่ในทางข้อเท็จจริงนั้นไม่เกี่ยวกับกฎหมายเมื่อจำเลยรับโอนการครอบครองมาโดยได้ยึดถือและเจตนาจะยึดถือเพื่อตน(หมายความว่าเพื่อประโยชน์ของตนไม่ต้องถึงขนาดมีเจตนาเป็นเจ้าของ)จำเลยจึงได้สิทธิครอบครอง
        (4)ได้กล่าวในบันทึกท้ายคำพิพากษาศาลฎีกามาหลายฉบับแล้วว่าการได้สิทธิครอบครองเป็นข้อเท็จจริงที่บุคคลยึดถือโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนไม่เกี่ยวกับกฎหมายแม้จะผิดกฎหมายก็ยังอาจได้สิทธิครอบครอง(มาตรา1367)ครอบครองโดยไม่มีสิทธิครอบครองหามีไม่กรณีนี้เป็นสิทธิครอบครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย(การพูดดังนี้ไม่ได้พูดคลาดเคลื่อนหรือผิดหลักเกณฑ์)คดีนี้จำเลยยึดถือโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนจึงได้สิทธิครอบครอง(มาตรา1367)แม้กระนั้นจำเลยซึ่งทราบดีว่าที่ดินเป็นป่าสงวนแห่งชาติจึงมีเจตนาบุกรุกกระทำความผิดทางอาญาตามกฎหมาย2ฉบับดังที่ศาลฎีกาอ้างไว้แม้จำเลยจะมีสิทธิครอบครอง(ไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญาซึ่งเป็นอย่างเดียวกัน)ก็ตามแต่เมื่อถูกขับไล่จำต้องออกไปเมื่อใดก็ไม่มีสิทธิครอบครองเมื่อนั้นและไม่มีสิทธิที่จะได้คืนการครอบครอง(สิทธิครอบครอง)ตามมาตรา1375ด้วย
        (ไพจิตร ปุญญพันธุ์)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net