Skip to main content
sharethis

เบรกเจโทร หลังพยายามเดินสายเคลื่อนไหวกดดันหน่วยงานภาครัฐและรัฐบาลไทยในเรื่องมาบตาพุด ชี้เอาแต่ได้ฝ่ายเดียว โดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตคนไทย

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามที่นายมุเนโนริ ยามาดะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ได้เดินสายนำคณะผู้บริหารเข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและรองนายกรัฐมนตรีของไทย เพื่อกดดันให้รัฐบาลช่วยปลดล็อคปัญหาที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งระงับการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการใด ๆ ในพื้นที่มาบตาพุด เพื่อให้กลับไปดำเนินการตามบทบัญญัติของมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ครบถ้วนเสียก่อน โดยอ้างว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศไทยเสียภาพลักษณ์ของประเทศที่น่าลงทุนอันดับต้น ๆ ไปเป็นประเทศที่ไม่น่าลงทุน ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และพร้อมที่จะย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศอื่นนั้น

“ขอประกาศให้ทราบกันโดยทั่วกันว่า พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ กลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นไม่เคยสำเนียกต่อปัญหาและความรับผิดชอบที่เคยปรากฎเป็นรอยอดีตที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศของตนเลยหรือ ไม่ว่ากรณีการเกิดโรคมินามาตะ ที่โรงงานสกปรกปล่อยสารปรอทจากโรงงานลงสู่แม่น้ำลงสู่ทะเลในอ่าวมินามาตะ ในเกาะคิวชู จนน้ำทะเลปนเปื้อนส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร ทำให้คนญี่ปุ่นที่บริโภคอาหารทะเล ต้องล้มป่วยกันทั้งเมือง

“หรือกรณีการทำเหมืองแร่ที่จังหวัดโตมายะ ปล่อยสารแคดเมียมจากการลอยแร่ลงสู่แม่น้ำ ทำให้คนเป็นโรคอิไต อิไต ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูดพรุนและโรคไตกันทั้งหมู่บ้าน ซึ่งทำให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับกลุ่มทุนและรัฐบาล โดยนำคดีขึ้นสู่ศาลจนชนะคดี จนกลายเป็นกระแสการต่อต้านอุตสาหกรรมมลพิษไปทั้งประเทศ จนทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศโลกที่สาม หรือประเทศยากจนกว่า โดยเฉพาะประเทศไทย เพราะคิดว่าประเทศไทยไม่มีความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย แถมยังได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลกันถ้วนหน้า แรงงานก็ราคาถูก ทรัพยากรก็มีให้ถลุงกันในราคาถูกอย่างเหลือเฟือ สุดท้ายได้ผลกำไรกันมหาศาลก็ส่งกลับประเทศของตน โดยที่คนไทยได้เพียงเศษเนื้อที่โยนมาให้ในรูปภาษีเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ในขณะที่ทุนทางสังคม ฐานทรัพยากรและคุณภาพชีวิตของคนไทย ต้องถูกปู้ยี้ปู้ยำนำไปหล่อเลี้ยงบำเรอการลงทุนของกลุ่มทุนญี่ปุ่นตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนไทยป่วยล้มตายไปจำนวนมากมายมหาศาล แต่คนเหล่านี้ไม่เคยมีใครพูดถึง”

“บทเรียนเหล่านี้ ญี่ปุ่นน่าที่จะใช้เป็นต้นแบบเพื่อไม่ให้เกิดปรากฎการณ์ซ้ำรอยในประเทศอื่นที่กลุ่มทุนประเทศตนไปลงทุน โดยเฉพาะประเทศไทย แต่พอสังคมไทยมีการตื่นตัวการบังคับใช้กฎหมาย การดูแลสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผ่านกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ กลุ่มทุนเหล่านี้กลับรับไม่ได้ และพยายามกดดันรับฐาลไทยต่าง ๆ นานา โดยอ้างจะย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่นแทน ถ้ากลุ่มทุนพวกนี้เป็นเจ้าของอุตสาหกรรมสกปรกและไม่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนไทย ก็ขอไล่ให้ไปลงทุนในประเทศอื่นเถอะ ประเทศไทยไม่ควรน้อมรับหรือต้องการเม็ดเงินสกปรกของคนพวกนี้เลย” นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net