Skip to main content
sharethis

กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์มีมติสลับเก้าอี้ เอา "จุรินทร์" ไปคุมกระทรวงสาธารณะสุข โยก "ชินวรณ์" ไปกระทรวงศึกษาฯ ส่ง “วิทยา” นั่งประธานวิปรัฐบาล  ส่วน “มานิต” ยันไม่มีเอี่ยวทุจริต

     
เมื่อเวลา 15.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ แทนนายวิทยา แก้วภราดรัย ที่ได้ลาออกไป โดยมีคณะกรรมการบริหารพรรค อาทิ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรค รวมถึงกรรมการบริหารพรรคทั้ง 19 ได้มาเข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง ที่ห้องประชุมเล็กชั้น 2 อาคารเสนี ปราโมทย์ ที่ทำการพรรค
 
จากนั้นเวลา 16.00 น. ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคได้เชิญนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รองหัวหน้าพรรคภาคกลาง ซึ่งทั้งสองเป็นกรรมการบริหารพรรคที่มีชื่อเป็น 2 ใน 5 แคนดิเดต ที่จะถูกพิจารณาเป็น รมว.สาธารณสุข ออกจากห้องประชุมเนื่องจากมีส่วนได้เสียในการพิจารณา
 
จากนั้นทั้ง 2 คนได้เข้ามานั่งอยู่ในห้องทำงานของนายเฉลิมชัย ทั้งนี้ ได้มีส.ส.บางส่วน ต่างเข้ามาแสดงความยินดีกับนายชินวรณ์เป็นระยะๆ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่รอผลการประชุมของกรรมการบริหารพรรค นายชินวรณ์ได้มีสีหน้าเคร่งเครียด นั่งลุ้นผลการประชุมอย่างเห็นได้ชัด จนเลยเวลา 16.30 น.จากเดิมที่ทางพรรคกำหนดให้เป็นเวลาเริ่มการประชุมประชุม ส.ส.ของพรรคเพื่อรับรองมติการพิจารณาของที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค จนต้องมีการขยายเวลามาจนถึง 17.00 น. การประชุมกรรมการบริหารพรรคจึงเสร็จสิ้น
         
หลังจากการประชุมกว่า 2 ชั่วโมง ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคได้มีมติเลือกนายชินวรณ์ มาดำรงตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการ และโยกนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จากเดิมที่เป็นรมว.ศึกษาธิการ ให้มาเป็นรมว.สาธารณสุขแทน โดยนายจุรินทร์ ได้ให้สัมภาษณ์สั้นๆว่า เรื่องนี้ตนของดให้ความเห็น เพราะต้องรอมติจากที่ประชุมร่วม ส.ส.ก่อน เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า พร้อมที่จะรับตำแหน่งรมว.สาธารณสุขหรือไม่ นายจุรินทร์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยกล่าวสั้นๆเพียงว่า ต้องรอเข้าที่ประชุมใหญ่ส.ส.ของพรรคก่อน
         
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีรายชื่อแคนดิเดตเป็นรมว.สาธารณสุข ไม่ได้มาร่วมประชุมกับพรรคในวันนี้ด้วย ยกเว้น นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก ที่เป็น 1 ในแคนดิเดตนั้น ได้มาร่วมประชุมส.ส.พรรคด้วย ส่วนนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง และรองหัวหน้าพรรค ไม่ได้เข้าร่วมประชุม กรรมการบริหารพรรคเนื่องจากติดภารกิจที่ต่างประเทศ
 
นายกรัฐมนตรียังไม่เห็นหนังสือลาพัก 30 วัน ของรมช.สธ.
วันนี้ (6 ม.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ได้ให้ข้อคิดกับนายมานิตหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงานร่วมกัน ต้องสร้างมาตรฐานทางการเมืองให้เป็นที่ยอมรับ ซึ่งเรื่องนี้ตนไม่คิดว่าเป็นเรื่องของการท้าทาย และยังไม่ทราบว่านายมานิตจะลาพักผ่อน 30 วัน เพราะยังไม่เห็นหนังสือ
 
ส่วนกรณีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกมาระบุว่ากฎเหล็ก 9 ข้อของนายกรัฐมนตรี ใช้ได้กับรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ตนได้แจ้งกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะให้ทราบดีแล้ว ไม่ใช่แจ้งเฉพาะรัฐมนตรีในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ และการที่นายชัยออกมาระบุเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องหนักใจ และไม่ได้มองว่าเป็นเจตนาไม่ดี ซึ่งไม่เชื่อว่าจะกระทบการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล และไม่คิดว่าพรรคภูมิใจไทยจะถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล เพราะยังมีงานใหญ่ที่ต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นงานที่ต้องทำเพื่อส่วนรวม
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยกับข้าราชการที่เข้าข่ายการกระทำทุจริตในโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข ว่า ได้หารือกับเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แล้ว ซึ่งการตั้งคณะกรรมการสอบวินัย จะดูในรายละเอียดว่าทำอะไรได้บ้าง ขอยืนยันว่านายมานิตไม่มีสิทธิตั้งคณะกรรมการสอบวินัยข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุข ถึงแม้ว่านายมานิตจะยังไม่ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ตาม นอกจากนี้ ในส่วนของปลัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น ตนเห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องพักราชการ
 
รมช.สธ.ยื่นหนังสือลาพักราชการ 30 วัน
วันนี้ (6 ม.ค.) เวลา 17.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า จริง ๆ แล้วสาเหตุที่มาพบนายกรัฐมนตรีคือต้องการยื่นหนังสือลาพักราชการ 30 วัน เพื่อจะให้มีการตรวจสอบในโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างไม่ต้องมีการกดดันจากฝ่ายการเมือง หรือทางด้านใด แต่ได้ไปพบกับนายกรัฐมนตรีก่อนในฐานะผู้บังคับบัญชาก็ได้พูดคุยกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีเหตุผลในส่วนหนึ่งที่ยังไม่ให้มีการลาพักราชการ และหลังจากที่พบนายกรัฐมนตรีแล้ว ตนมาคิดว่าถ้าเราไม่ลาพักราชการ การดำเนินการในกระทรวงอาจจะมีความกดดันในฐานะที่ตนเองเป็นนักการเมือง ดังนั้น การตรวจสอบต่าง ๆ ในกระทรวงอาจมีผลหรือเปล่า
         
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าก่อนหน้านี้ที่เข้าพบนายกรัฐมนตรีไม่ได้อนุมัติ และเพิ่งมาอนุมัติเมื่อสักครู่หรือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ก็อยู่ที่นายกรัฐมนตรี
         
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า แสดงว่าเป็นการลาพักกลางอากาศ เพราะนายกฯ ยังไม่เซ็นอนุมัติมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไม่ใช่ คือในส่วนนี้เป็นการยื่นหนังสือตามขั้นตอนราชการ ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมไม่ลาออกไปเลย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในแนวทางของความรับผิดชอบทางการเมืองมีหลายวิธี ในเรื่องการดำเนินการ ยกตัวอย่างเช่น นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรณีเรื่องจัดซื้อรถดับเพลิง ท่านก็ลาพักราชการก่อน และให้กระบวนการตรวจสอบทำงานไป ซึ่งตรงนี้เราก็มามองว่า ถ้าเรายังไม่ลาพักราชการอาจจะมีผลต่าง ๆ จึงคิดว่าเราน่าจะลาพักราชการเพื่อให้การตรวจสอบและการดำเนินการของคณะกรรมการ รวมถึงภายในกระทรวงจะได้ไม่ต้องมีแรงกดดันจากฝ่ายการเมือง
         
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้านายกรัฐมนตรีไม่อนุมัติให้ลาจะทำอย่างไร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อันนี้คงอยู่ที่นายกรัฐมนตรี
         
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากนี้ไปท่านมีแนวทางจะทำอย่างไรต่อไป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คิดว่านายกรัฐมนตรีคงต้องมีเหตุผล ซึ่งนายกรัฐมนตรียังไม่ได้เห็นหนังสือลาพักราชการของตน แต่ได้ไปพูดคุยเบื้องต้นก่อน เพราะท่านเป็นผู้บังคับบัญชาและไปเล่าให้ท่านฟังด้วย
         
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะยื่นหนังสือผ่านเจ้าหน้าที่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ยื่นผ่านเจ้าหน้าที่ไปแล้ว
         
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้านายกรัฐมนตรีไม่อนุมัติการลาพักราชการ จะหยุดการทำงาหรือไม่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในหนังสือที่ยื่นบอกว่ามีผลตั้งแต่วันที่ 7 มกราคมนี้แล้ว นายกรัฐมนตรีก็คงมีเหตุผล
         
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมถึงลา 30 วัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตนคิดว่าจากนี้ไปสภาผู้แทนราษฎรเปิดสมัยประชุมประมาณปลายเดือนนี้ ก็คงเข้าสู่กระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็คงเป็นช่วงประมาณนั้น
         
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงที่ท่านลาพักราชการจะมาชี้แจงหรือไม่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เราก็มาคาดว่าถ้าสมมติอยู่ในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และเป็นช่วงที่คาบเกี่ยวว่ามีผลวันลา เราอาจจะดำเนินขอถอนใบลา หรืออะไรก็ได้ เพื่อจะมาขอชี้แจงในสภาฯ ในฐานะเราดูกระทรวงนี้ ซึ่งตรงนั้นตนคิดว่ากระบวนการเมื่อเปิดสมัยประชุมสภา เราก็คงทราบ
         
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการตรวจสอบไม่เสร็จสิ้นใน 30 วันจะลาต่อหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯก็เป็นหนึ่งในกระบวนการตรวจสอบ และในหนังสือลาพักราชการก็ขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งดำเนินการที่จะให้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของ ป.ป.ช.
         
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีได้บอกถึงเหตุผลที่ไม่อนุญาตให้ลาพัก 30 วันในตอนแรกคืออะไร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ต้องถามนายกรัฐมนตรี พอดีท่านจะรีบไปพรรค เพราะมีการคัดสรรผู้จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
         
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข่าวว่านายกรัฐมนตรีต้องการให้ลาออกจากตำแหน่งแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ต้องถามนายกรัฐมนตรีผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ตัดสินใจลาพักราชการจะทำให้กระแสกดดันของสังคมน้อยลงหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่เราก็พยายามจะแสดงเจตนาของความรับผิดชอบให้การตรวจสอบทำได้เต็มที่
         
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวด้วยว่า ที่ตัดสินใจยื่นลาพักราชการ 30 วันได้ปรึกษากับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคภูมิใจไทยแล้ว ซึ่งนายสมศักดิ์ก็บอกว่าดีแล้ว จะได้ทำให้การตรวจสอบทำได้เต็มที่
 
ที่มีข่าวเรียบเรียงจาก: เว็บไซต์คมชัดลึก, www.thaigov.go.th,

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net