Skip to main content
sharethis

อีกหนึ่งกรณีเลิกจ้างรับปีใหม่ จากการที่คนงานพยายามเจรจาต่อรองด้วยหลักแรงงานสัมพันธ์ที่ดี แต่กลับถูกเทคนิคโต้กลับจากนายจ้าง เช่น เลิกจ้างผู้ก่อการสหภาพฯ-ผู้แทนการเจรจา, เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างและปิดงานคนงานที่สนับสนุนข้อเรียกร้อง เป็นต้น

 
 
 

บริษัท ไฮคอม ออโตโมทีฟ พลาสติก (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) เลขที่ 64/30 หมู่ที่ 4 ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ทะเบียนเลขที่ 0105545126022 ทุนจดทะเบียน 151,700,000 บาทได้รับการจดทะเบียนตั้งแต่ พ.ศ 2546 นายจ้างเป็นชาวมาเลเซีย ผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ บริษัทไฮคอม-เทค ซี แมนูแฟคเจอริ่ง มาเลเซีย เอสดีเอ็น บีเอชดี (Hicom-tech see Manufacturing Malaysia SND.BHD.) เลขที่ ลอท 76&75 เอ จาลาน เซเมนตา 27/91 เซคชั่น 2740000 ซาห์ อลัม เซแลงกอร์ ดารูล เอซาน ประเทศมาเลเซีย

โดยบริษัทฯทำกิจการประเภท ฉีดพลาสติกอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น กันชนหน้า กันชนท้อง ฝาน้ำมัน ไฟแฮนด์เดอร์น หลังคาพรมภายในรถยนต์ ส่งให้กับลูกค้าภายในและต่างประเทศ เช่น Ford, Chevrolet sale,GM, Sanko Gosei, Calsinic kansei Thailand, GM(export), Brose (German,Spain)

เมื่อวันที่ 11 เดือน ธันวาคม 2552 พนักงานบริษัท ไฮคอม ออโตโมทีฟ พลาสติก (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัท ไฮคอม ออโตโมทีฟ พลาสติก (ไทยแลนด์) จำกัด ในนามพนักงานเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน และได้มีการในวันเดียวกันเตรียมการยื่นจดทะเบียนสหภาพแรงงานในเวลาเดียวกัน เวลา 10.30 น. หลังจากที่มีการยื่นข้อเรียกร้องนายจ้างได้มีการเลิกจ้างผู้แทนในการเจรจาข้อเรียกร้อง 1 คน คือ นางสาวเจนจิรา การถาง โดยไม่มีการตั้งข้อหาให้ทราบแต่อย่างใด และหลังจากนั้นนายจ้างไม่ตั้งผู้แทนในการเจรจาข้อเรียกร้องตามเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงนำไปสู่การแจ้งพิพาทแรงงานของผู้แทนลูกจ้างในวันที่ 14 ธันวาคม 2552 พร้อมทั้งได้มีการยื่นขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานต่อนายทะเบียนจังหวัดระยอง หลังจากนั้นสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองได้นัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานในวันที่ 17 ธันวาคม 2552

วันที่ 17 ธันวาคม 2552 ผลการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ จึงได้มีการนัดไกล่เกลี่ยอีกครั้งในวันที่ 22 ธันวาคม 2552 แต่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่สามารถตกลงกันได้ และผู้แทนเจรจาของพนักงานก็ได้พยายามที่จะปรับลดข้อเรียกร้องแต่นายจ้างยังคงไม่รับพิจารณาดังมีผลการเจรจาครั้งล่าสุด คือ

1. ข้อเสนอของพนักงาน ให้บริษัทฯ ปรับเงินขึ้นประจำปี 2553 ให้กับพนักงานทุกคน ทุกระดับไม่ต่ำกว่า 4 % และบวกเพิ่มพิเศษอีกคนละ 100 บาท

ข้อเสนอของบริษัท บริษัทฯ ปรับเงินขึ้นประจำปี 2553 ให้กับพนักงานทุกคน เฉลี่ยที่ 5 %

 

2.ข้อเสนอของพนักงาน ขอให้บริษัทปรับค่าข้าวจากเดิมเดือนละ 500 บาท เป็น 800 บาท และให้คงข้าวเปล่าไว้

ข้อเสนอของบริษัท บริษัทปรับค่าข้าวจากเดิมเดือนละ 500 บาท เป็น 800 บาท และให้ยกเลิกข้าวเปล่า

 

3.ข้อเสนอของพนักงาน ให้บริษัทฯ ปรับเพิ่มค่าเช่าบ้านจากเดิม 600 เป็นเดือนละ 1,000 บาท

ข้อเสนอของบริษัท บริษัทฯ จะรับไปพิจารณาในเดือนมีนาคม 2553

 

4.ข้อเสนอของพนักงาน ให้บริษัทฯ จ่ายเงินโบนัสประจำปี 2552 ให้กับพนักงานทุกคน 1.5 เท่าของเงินเดือน และบวกเพิ่มพิเศษอีกคนละ 10,000 บาท

ข้อเสนอของบริษัท บริษัทฯ จ่ายโบนัสปี 2552 ให้กับพนักงานทุกคน 1 เท่า บวกอีกคนละ 3,000 บาท

 

5.ข้อเสนอของพนักงาน ให้บริษัทฯ ปรับการจ่ายค่ากะ ให้กับพนักงานจากเดิม 60 บาท เป็น 80 บาท / คืน

ข้อเสนอของบริษัท บริษัทฯ จะรับไปพิจารณาในเดือนมีนาคม 2553

 

6.ข้อเสนอของพนักงาน ขอให้บริษัทฯ จ่ายค่าครองชีพให้กับพนักงานทุกคนๆ 500 ต่อเดือน

ข้อเสนอของบริษัท บริษัทฯ ไม่รับพิจารณา

 

7.ข้อเสนอของพนักงาน ขอให้บริษัทฯ จ่ายค่าความเสี่ยงภัยให้กับพนักงานทุกคน 600 บาทต่อเดือน

ข้อเสนอของบริษัท บริษัทฯ ยืนยันหลักเกณฑ์การจ่ายเดิม

 

8.ข้อเสนอของพนักงาน ให้บริษัทฯ ปรับเพิ่มเบี้ยขยัน จากเดิม 300 บาท เป็น 400-500-700 บาทต่อเดือน

ข้อเสนอของบริษัท บริษัทฯ ยืนยันหลักเกณฑ์การจ่ายเดิม

 

ข้อเรียกร้องอื่นผู้แทนลูกจ้างขอถอนข้อเรียกร้อง ผู้แทนเจรจาฝ่ายนายจ้างปฏิเสธการเจรจาโดยแจ้งว่าไม่ประสงค์จะเจรจากับลูกจ้างอีกต่อไป ขอยุติการเจรจา พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานนัดเจรจาอีกครั้งในวันที่ 5 มกราคม 2553

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2552 บริษัทฯ ได้ออกประกาศเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของพนักงานโดยการเปลี่ยนแปลงเวลาการทำงานจากที่เคยทำงาน 2 กะ เปลี่ยนเป็น 3 กะ โดยมีการเปลี่ยนแปลงเวลาการทำงานเฉพาะพนักงานที่มีรายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของพนักงานเท่านั้น แต่พนักงานทุกคนยังคงยืนยันที่จะทำงานในเวลาทำงานปกติของตนเอง

 
 
 

จากนั้นในวันที่ 23 ธันวาคม 2552 บริษัทฯ ได้แจ้งขอใช้สิทธิ์ปิดงานเฉพาะส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2552 เป็นต้นไป ซึ่งการประกาศปิดงานของนายจ้างเกิดขึ้นก่อนที่หยุดงานในเทศกาลปีใหม่เพียงวันเดียว การกระทำดังกล่าวเป็นการฉกฉวยโอกาสของนายจ้างที่จะให้ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในช่วงวันหยุดเทศกาลซึ่งปกติลูกจ้างจะต้องได้รับค่าจ้างระหว่างหยุดเทศกาลจำนวน 8 วัน

จากปัญหาต่างการเลิกจ้างผู้แทนในการเจรจาข้อเรียกร้องและแกนนำในการก่อตั้งสหภาพแรงงานรวมทั้งประกาศปิดงานเฉพาะส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านายจ้างมีเจตนาที่จะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพนักงานในการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานฯ ซึ่งเป็นสิทธิ์ของลูกสามารถกระทำได้ ตามความมาตรา 77 และมาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ในมาตรา 64 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ฯ และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ อนุสัญญาหลักฉบับที่ 87 และ 98 ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม การที่บริษัทฯ เลิกจ้างลูกจ้างและปฏิเสธการเจรจาต่อรองร่วมในกรณีดังกล่าวนี้ จึงเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้นการเลิกจ้างผุ้แทนในการเจรจาดังกล่าว ยังขัดต่อมาตรา 20,121,122 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518

ทั้งนี้พนักงานบริษัทไฮคอมฯ จึงขอร้องเรียนมายังองค์กรต่างๆให้ดำเนินการช่วยเหลือให้พนักงาน บริษัทไฮคอมฯ ได้รับความเป็นธรรมและให้นายจ้างเคารพกฎหมายและยุติพฤติกรรมที่เป็นการละเมิดกฎหมายเพื่อไม่ให้พนักงานได้รับความเดือดร้อนและเป็นการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์อันดีในระบบทวิภาคีที่ยั่งยืนต่อไป และพนักงานทุกคนที่ถูกนายจ้างปิดงานยังคงยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อกลับเข้าทำงานและเรียกร้องความเป็นธรรมกลับคืนมา ทุกคนยังคงชุมนุมกันที่บริเวณหน้าบริษัทฯ จนกว่าการเจรจาจะหาข้อยุติร่วมกันได้

อนึ่ง ทางด้านกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ได้ออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่พนักงานบริษัท ไฮคอม ออโตโมทีฟ พลาสติก (ไทยแลนด์) จำกัด

 

 

เรียน เพื่อนพี่น้องกรรมกร ประชาชนและสื่อมวลชนทุกท่าน

 

กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ ๒๗๒/๑๔๒ หมู่ที่ ๖ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นองค์กรที่เป็นการรวมกลุ่มกันของสหภาพแรงงานในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก โดยมีสหภาพแรงงานฯ ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก ๒๕ สหภาพแรงงานซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของลูกจ้าง เป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารและให้การศึกษาด้านการบริหารงานขององค์กรของผู้ใช้แรงงาน เพื่อช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องผู้ใช้แรงงานและสังคม

กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งในกรณี ที่มีการเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นผู้แทนเจรจาและเป็นแกนนำในการก่อตั้งสหภาพแรงงานของพนักงานบริษัท ไฮคอม ออโตโมทีฟ พลาสติก (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน ๑ คน และนายจ้างใช้สิทธิ์ปิดงานเฉพาะส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นมา ตลอดระยะเวลาในหลายปีที่ผ่านมาลูกจ้างได้ให้ร่วมมือกับทางบริษัทฯ ในการที่จะทำให้บริษัทฯ ได้มีผลกำไรอย่างสูงสุด ถึงแม้ว่าพนักงานต้องปฏิบัติงานที่ต้องเสี่ยงกับอุบัติเหตุในการทำงานอย่างสูงและความปลอดภัยมีน้อย พนักงานทุกคนก็ยังเต็มใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันหมั่นเพียรเพื่อให้งานเป็นไปตามเป้าหมายตามที่บริษัทฯ ต้องการ บริษัทฯ ได้มีการจ้างพนักงานในค่าแรงที่ต่ำเมื่อเทียบกับบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการลดต้นทุน เพื่อให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลงซึ่งเป็นการจ้างงานที่เอาเปรียบผู้ใช้แรงงานเป็นอย่างยิ่ง ทำให้พนักงานขาดความมั่นคงในการประกอบอาชีพ ไม่เป็นธรรมเป็นการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานและหัวหน้างานทั้งที่พนักงานกับหัวหน้างานหรือผู้บริหารต่างก็ มีค่าความเป็นคนไม่ได้แตกต่างจากที่ผู้บริหารเป็นจากเหตุการณ์เหล่านี้ พนักงานบริษัท ไฮคอม ออโตโมทีฟ พลาสติก (ไทยแลนด์) จำกัด จึงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับทุกคนโดยการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอปรับปรุงสภาพการจ้างงานให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ดังนั้น กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนจากพนักงานบริษัท ไฮคอม ออโตโมทีฟ พลาสติก (ไทยแลนด์) จำกัด กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก จึงเรียนมายังบริษัท ไฮคอม ออโตโมทีฟ พลาสติก (ไทยแลนด์) จำกัด ได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับพนักงานทุกคน และขอให้บริษัทฯ หาข้อยุติการละเมิดสิทธิแรงงานโดยด่วน

จากปัญหาต่างการเลิกจ้างผู้แทนในการเจรจาข้อเรียกร้องและแกนนำในการก่อตั้งสหภาพแรงงานรวมทั้งการประกาศปิดงานเฉพาะส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านายจ้างมีเจตนาที่จะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพนักงานในการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานฯ ซึ่งเป็นสิทธิ์ของลูกสามารถกระทำได้ ตามความมาตรา 77 และมาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๕๐ในมาตรา ๖๔ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ฯ และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ อนุสัญญาหลักฉบับที่ 87 และ 98 ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม การที่บริษัทฯ เลิกจ้างลูกจ้างและปฏิเสธการเจรจาต่อรองร่วมในกรณีดังกล่าวนี้ จึงเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้นการเลิกจ้างผู้แทนในการเจรจาดังกล่าว ยังขัดต่อมาตรา 20,121,122 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518

เพื่อความเป็นธรรมของลูกจ้างทั้งหมด และเพื่อประโยชน์แก่องค์กรของลูกจ้างที่จัดตั้งมาเพื่อประโยชน์ของพนักงานบริษัท ไฮคอม ออโตโมทีฟ พลาสติก (ไทยแลนด์) จำกัด ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะก่อตั้งและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานรวมถึงการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง จึงขอเรียกร้องให้บริษัท ไฮคอม ออโตโมทีฟ พลาสติก (ไทยแลนด์) จำกัด ปฏิบัติตามกฎหมายดังต่อไปนี้

1. ให้บริษัท ไฮคอม ออโตโมทีฟ พลาสติก (ไทยแลนด์) จำกัด รับนางสาวเจนจิรา การถาง เข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างและสวัสดิการที่ได้รับขณะเลิกจ้าง โดยให้ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามเดิมทุกประการและให้ บริษัท ไฮคอม ออโตโมทีฟ พลาสติก (ไทยแลนด์) จำกัด ชดใช้ค่าจ้างทั้งหมดในระหว่างที่ถูกเลิกจ้าง โดยคิดจากฐานค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่ได้รับขณะเลิกจ้างพร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าบาทต่อปี จนถึงวันที่รับกลับเข้าทำงาน

2. ห้ามมิให้บริษัท ไฮคอม ออโตโมทีฟ พลาสติก (ไทยแลนด์) จำกัด ขัดขวางการดำเนินการจัดตั้งสหภาพแรงงานของพนักงานบริษัท ไฮคอม ออโตโมทีฟ พลาสติก (ไทยแลนด์) จำกัด ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม

3.ห้ามมิให้บริษัทฯ ขัดขวางการดำเนินการโดยการกลั่นแกล้งการลงโทษหรือเลิกจ้างลูกจ้างที่ร่วมลงรายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของพนักงาน ด้วยเหตุผลอันไม่เป็นธรรมอีกต่อไป

4.ให้บริษัท ไฮคอม ออโตโมทีฟ พลาสติก (ไทยแลนด์) จำกัด จัดให้มีการเจรจาหาข้อยุติปัญหาการเลิกจ้างระหว่างผู้แทนของพนักงานฯ และผู้แทนของบริษัทฯ เพื่อหาทางออกร่วมกันโดยเร็ว

ดังนั้น พนักงานบริษัทไฮคอมฯ จึงขอร้องเรียนมายังองค์กรต่างๆให้ดำเนินการช่วยเหลือให้พนักงาน บริษัทไฮคอมฯ ได้รับความเป็นธรรมและให้นายจ้างเคารพกฎหมายและยุติพฤติกรรมที่เป็นการละเมิดกฎหมายเพื่อไม่ให้พนักงานได้รับความเดือดร้อนและเป็นการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์อันดีในระบบทวิภาคีที่ยั่งยืนต่อไป

 

กรรมกรจงรวมกันเข้า

กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net