รายงาน: พื้นที่สันติภาพของ ‘สเตฟาโน ซูกาโมโต้’ ถอดประสบการณ์จาก ‘โคโซโว’

 

 

 
พื้นที่สันติภาพ - ศาสตราจารย์สเตฟาโน ซูกาโมโต้ จากมหาวิทยาลัยโตเกียว
กำลังอธิบายทฤษฎีพื้นที่สันติภาพ(รูปสามเหลี่ยมกลางภาพ)
ให้สื่อภาพประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ฟังเมื่อไม่นานมานี้ ที่โรงแรมซีเอสปัตตานี
 
 
ก่อนสิ้นปี 2552 ไม่กี่วัน ตัวแทนมูลนิธิสันติภาพซาซากาว่า (The Sasakawa Peace Foundation) นำโดย มาโฮ ซาโต้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการมีส่วนร่วม และศาสตราจารย์สเตฟาโน ซูกาโมโต้ จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ในฐานะที่ปรึกษา ได้มาเปิดเวทีคุยกับกลุ่มเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โรงแรมซีเอสปัตตานี โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 40 คน
 
ในเวทีครั้งนั้น มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวิธีการทำงาน เพื่อสร้างทางเลือกและโอกาสในการทำงานสื่อเพื่อสันติภาพร่วมกันอย่างไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำแผนที่คนทำงานด้านสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้ง นำไปสู่การทำงานร่วมกันในอนาคต แม้ในเวทียังไม่มีข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมมากนักถึงถึงกิจกรรมที่จะทำร่วมกัน โดยการสนับสนุนของมูลนิธิสันติภาพซาซากาว่า
 
แต่แนวคิดที่ได้โดยเฉพาะจากการนำเสนอทฤษฎีสันติภาพ โดยศาสตราจารย์สเตฟาโน ก็พอจะชี้ทางนำให้กับคนทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ โดยเฉพาะจากประสบการณ์ที่เคยทำงานเป็นเอ็นจีโอ(NGO) หรือ องค์กรพัฒนาเอกชนเคลื่อนไหวในโคโซโว ในช่วงสงครามกลางเมืองรุนแรงในช่วงปี พ.ศ.2543 ก่อนที่โคโซโวจะประกาศเป็นประเทศเอกราชจากเซอร์เบียในปี 2551 และในฐานะที่จบปริญญาด้านความขัดแย้งและสันติภาพ
 
ครั้งนั้น ศาสตราจารย์สเตฟาโน เล่าประสบการณ์ในโคโซโว ว่า เขาเจอภาพวาดภาพหนึ่ง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโคโซโว ซึ่งวาดโดยเด็กผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 8 ขวบ โดยวาดภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงต่อหน้าเด็กผู้หญิงคนนั้น โดยในภาพนั้นมีรูปทหารแต่งชุดดำๆ กำลังฆ่าพ่อแม่ แล้วก็ญาติของเด็กคนนั้น
 
“เด็กผู้หญิงคนนั้นเป็นเด็กน่ารัก ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่มีแผลอยู่ข้างหลัง ซึ่งในพื้นที่เหล่านั้น เด็กๆ เห็นผู้คนหลากหลายถูกฆ่า โดยทหารซึ่งเป็นพวกคริสเตียน ส่วนชาวบ้านที่ถูกฆ่าเป็นมุสลิม”
 
“ทหารที่เข้าไปในหมู่บ้านได้ขุดบ่อไว้ แล้วใส่ยาพิษลงไป พอชาวบ้านเอาน้ำมาใช้ก็ถูกยาพิษตาย ซึ่งนี่เป็นสงคราม เพราะว่า เป็นความขัดแย้งทางเชื้อชาติ จากนั้นทหารนาโต้(องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) เข้าไป เพื่อรักษาสันติภาพ เพราะรอเวลาไม่ได้แล้ว เพราะมีการฆ่ากันตายมาก”
 
“ปัญหาที่เกิดขึ้นในโคโซโวนอกจากเป็นความขัดแย้งทางเชื้อชาติแล้ว ยังเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่มีแนวคิดต่างกันด้วย เพราะกลุ่มหนึ่งเป็นมุสลิมอีกกลุ่มหนึ่งเป็นคริสเตียน”
 
ศาสตราจารย์สเตฟาโน เล่าต่อว่า จากประสบการณ์ที่ได้เข้าไปทำงานในโคโซโวบวกกับการประมวลความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ เกิดเป็นทฤษฎีพื้นที่สันติภาพของตนเองขึ้น อธิบายจากข้างบนลงข้างล่าง และจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน
 
นั่นคือ การจะสร้างสันติภาพได้นั้น อันแรกต้องมีการพัฒนา เพื่อเพิ่มรายได้ของบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ สอง การสร้างศักยภาพในแก่ผู้คนในท้องถิ่นได้ด้วยการสร้างความเป็นประชาธิปไตยในสังคม แล้วต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่างๆ ผู้คนสามารถแลกเปลี่ยนและเสนอความคิดของตัวเองต่อรัฐได้ นั่นคือการพัฒนาต่างๆ ที่มาจากรัฐข้องบน
 
ในส่วนข้าง ก็คือ ในส่วนของประชาชนเอง หมายถึง ประชาชนเองต้องมีการพัฒนาตัวเอง ประชาชนต้องรู้ระบบประชาธิปไตยและสามารถเสนอความคิดเห็นต่อรัฐได้
 
อีกอันหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น ก็ด้วยการเรียนรู้เรื่องสันติภาพ มีการใส่ใจเรื่องการเยียวยา มีการจัดเวิร์คช็อป(ประชุมเชิงปฏิบัติการ)ต่างๆ เพื่อ เพื่อให้มีการพูดถึงเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ต้องศึกษาบริบทสังคม ศึกษาเรื่องของวัยรุ่น เยาวชนในพื้นที่ๆ นั้น แล้วมหาวิทยาลัยในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมด้วย
 
ดังนั้น เมื่อทั้งสามส่วนมาตัดกัน นั่นคือ รัฐ ประชาชน และการเรียนรู้ ก็จะเกิดพื้นที่สันติภาพขึ้นมา
 
“ขณะเดียวกันเราต้องมีอีกซีกหนึ่งด้วย นั่นคือ เรื่องความมั่นคง ความปลอดภัย ส่วนจะทำให้ความมั่นคงมันอยู่ยาวได้อย่างไรนั้น ผู้คนในพื้นที่ต้องอยมรับสิ่งที่มีความพยายามผลักดัน โครงการต่างๆ ด้วย แต่สิ่งที่จะทำให้คนในพื้นที่ยอมรับได้คือความยุติธรรม ดังนั้น ต้องทำให้ประชาชนรู้สึกได้ว่ามันยุติธรรม”
 
“แล้วคนที่จะไปผลักดันโครงการต่างๆ ตรงนี้ได้ ต้องเข้าใจถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของมประชาชน ต้องเข้าใจบริบททางสังคมของตรงนั้นด้วย ทั้งในเชิงการเมืองและเชิงสังคมของพื้นที่ ต้องไม่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า เป็นคนละพวกกับเจ้าหน้าที่ คิดว่าถ้ายังไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับตำรวจ ทหาร มันก็คงไปได้ยาก”
 
“อีกอันหนึ่ง นอกจากการได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่แล้ว เราต้องประสานกับองค์กรใหญ่ๆ ระดับรัฐชาติ และนานาชาติด้วย อย่างสหประชาชาติ เป็นต้น แล้วก็ต้องมีกรอบการทำงาน ไม่ใช่มีแค่ให้หน่วยงานในพื้นที่ทำงานอย่างเดียว เพราะมันขยายต่อไปไม่ได้
 
รวมทั้ง ยังต้องมีมาตรการในการคุ้มครองคนทำงาน จะมีกลยุทธ์ทำอย่างไรที่จะทำให้เขาปลอดภัย มีเครื่องมืออำนวยความสะดวก แล้วก็มีการประสานกับรัฐ และองค์กรใหญ่ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือ
 
ศาสตราจารย์สเตฟาโน บอกด้วยว่า สำหรับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น ยังบอกไม่ถูกว่าเป็นอย่างไร ต้องลงไปในพื้นที่ก่อนและต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป ซึ่งตอนนี้ยังไม่พอที่จะให้แนวคิดอะไรได้ และยังบอกไม่ได้ว่าคล้ายกับที่โคโซโวหรือไม่
 
“แต่ที่โคโซโวมีเอ็นจีโอจากหลายๆ ประเทศเข้าไป แต่ที่นี่ยังไม่เยอะพอ ซึ่งน่าจะต้องเข้ามาให้มากขึ้น เพื่อจะได้ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ออกไปสู่สายตาชาวโลกมากขึ้น ซึ่งก็มั่นใจว่ารัฐไทยคงอนุญาตให้เข้ามาได้ ทั้งเพื่อจะได้ให้ทั้งเงินหรือให้ข้อมูล”
 
“การจัดเวทีพูดคุยกันหลายๆ ฝ่ายเป็นเรื่องที่ดีแล้ว เพราะจะเป็นที่มาของเขตพื้นที่สันติภาพ เพราะองค์กรเดียวคงทำไม่ได้ ต้องร่วมมือกัน แล้วจะเกิดเป็นเครือข่าย มันก็จะค่อยๆ เสริมแรงกันเอง” ศาสตราจารย์สเตฟาโน กล่าวทิ้งท้ายถึงการร่วมมือกันของภาพประชาสังคมในพื้นที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท