Skip to main content
sharethis

เย้ยรัฐแถลงแก้ปัญหาคนจนทำได้เพียงเรื่องเล็กๆ ส่วนปัญหาเชิงโครงสร้างไม่คืบหน้า ภาพรวมปัญหายังดำรงอยู่เหมือนเดิม ด้านนักวิชาการแนะรัฐควรกล้าบุกเบิกนโยบายที่ประโยชน์ได้ในระยะยาว มุ่งสร้างประชาธิปไตยที่กินได้ และการเมืองที่เห็นหัวคนจน

 

วันนี้ (28 ธ.ค.52) สมัชชาคนจน เครือข่ายปฎิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และเครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมกับโครงการติดตามการเมืองภาคประชาชน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าว “คนจนประเมินผลงานรัฐบาลในรอบ 1 ปี” เพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริงและแนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการของคนจน หลังจากการแถลงผลงานของรัฐบาลอภิสิทธิ์เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการเอ่ยอ้างถึงการแก้ปัญหาคนจน อาทิ การออกโฉนดชุมชน การแก้ปัญหาของสมัชชาคนจน การทำบ้านมั่นคงของชุมชนเมือง รวมไปถึงการแก้ปัญหาของผู้ใช้แรงงาน ที่ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

 

จวกรัฐบาลไม่จริงใจช่วยคนจน แก้ปัญหาคนจนได้เพียงเรื่องเล็กๆ

“วันนี้ในนามสมัชชาคนจน เรายืนยันรัฐบาลยังไม่ได้ให้ความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาของคนจน และถ้ารัฐบาลยังไม่ดำเนินการเชื่อว่าปัญหาจะปะทุขึ้นมา เนื่องจากว่าวันนี้ในพื้นที่ยังมีการเผชิญหน้ากันค่อยข้างมาก ทำให้ปัญหายังไม่มีข้อยุติ” สวาท อุปฮาด ผู้ประสานงานคณะทำงานสมัชชาคนจนกล่าว

สวาท กล่าวด้วยว่า 1 ปีที่ผ่านมาในฐานคนจน สมัชชาคนจนได้ติดตามการทำงานของรัฐบาล การที่รัฐบบาลพยายามแถลงว่าได้แก้ปัญหาของคนจนนั้น ในทางปฎิบัติยังไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นกรณีผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาแต่ก็ไม่เคยมีการประชุม กรณีปัญหาเรื่องที่ดินที่มีการประชุมคณะกรรมการร่วมกันแต่ก็ไม่มีการปฎิบัติจริง กรณีปัญหาของประมงพื้นบ้านภาคใต้ที่ยังไม่มีการเจราจาอย่างเป็นทางการ หรือกรณีของสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ ที่มีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองสุขภาพฯ แต่รัฐบาลก็พยายามบิดเบือนไม่ให้ปัญหาได้รับการแก้ไข

เขากล่าวต่อมาว่า ปัญหาของสมัชชาคนจนมีเรื่องของยายไฮ ขันจันทา เรื่องเดียวที่มีการแก้ไข แต่ในภาพรวมปัญหายังดำรงอยู่เหมือนเดิม แม้ว่ารัฐบาลจะเคยประกาศว่าจะต่องมีการเจรจาแก้ไขปัญหาร่วมอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงวันนี้ยังไม่เคยมีการนัดหมายอย่างชัดเจนเลย แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาคนจน อีกทั้งนโยบายหลายนโยบายที่ออกมาเป็นเพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ ส่วนนโยบายหลักที่ได้แถลงอย่างการกระจายการถือครองที่ดินกลับไม่ได้มีการดำเนินการ การแก้ปัญหาแบบนี้ไม่เพียงพอกับการแก้ปัญหาของชาติ

“เชื่อว่าในอนาคตถ้ารัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลไหนขึ้นมาเป็นผู้บริหารประเทศ แล้วยังไม่จริงใจ และไม่ให้ประชาชนมีสิทธิ์ มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของคนจนได้” ผู้ประสานงานคณะทำงานสมัชชาคนจนแสดงความเห็น

พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) กล่าวว่าจากการทำงานกับรัฐบาลมาแล้ว 1 ปี โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้รัฐบาลทำงานตามนโยบายในการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ซึ่งประเด็นที่คิดว่าสามารถนำมาช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรมคือ นโยบายโฉนดชุมชน และธนาคารที่ดิน ประเมินได้ว่ารัฐบาลยังแก้ปัญหาที่ดินให้กับเกษตรกรไม่ได้เลย หลายเรื่องเป็นเพียงนโยบายที่รัฐบาลพูดเป็นเพียงคำหวานเพื่อรักษาสถานภาพของรัฐบาลต่อไป

ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยกล่าวต่อมาถึงการทำงานร่วมกับรัฐบาลว่า คณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฎิรูปที่ดิน และคณะอนุกรรมการ 7 ชุด การทำงานหยุดชะงักไปเมื่อเดือนตุลาคม ในส่วนที่ทำงานมีคณะกรรมการชุดที่สาธารณะประโยชนและที่ดินทิ้งร้าง ซึ่งมีนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เพียงชุดเดียวที่ทำงานคืบหน้า นอกจากนี้ในส่วนคณะกรรมการอำนวยการฯ เอง ที่ผ่านมามีการประชุมเพียง 2 ครั้ง ทั้งที่ เครือข่ายได้มีการเสนอให้เปิดประชุมอยู่หลายครั้งเพราะในหลายปัญหาต้องการการตัดสินใจในระดับนโยบาย

ในส่วนความคืบหน้า พงษ์ทิพย์ให้ข้อมูลว่า เมื่อ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีมติ ครม.ในการออกระเบียบสำนักนายกว่าด้วยเรื่องโฉนดชุมชน ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา อย่างไรก็ตามเครือข่ายปฏิรูปฯ มองว่าระเบียบสำนักนายกฯ ดังกล่าวไปไม่ถึงเจตนารมณ์การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เพราะมีข้อจำกัดใหญ่ 2 ประการ คือ การระบุว่าจะให้ชุมชนที่ตั้งขึ้น 3 ปีก่อนการออกประกาศสำนักนายกฯ เท่านั้นจึงจะมีสิทธิได้รับโฉนดชุมชน และให้สิทธิกับชุมชนในที่ดินโฉนดชุมชนเพียง 30 ปี ซึ่งทำให้ระเบียบสำนักนายกฯ ที่จะออกมาดูพิการ และแก้ไขปัญหาไม่ได้จริง

“เราพูดว่าเราต้องการกระจายการถือครองที่ดิน เราต้องการปฏิรูปที่ดิน แต่รัฐบาลก็ยังคงหวงอำนาจ ต้องการที่จะรวบอำนาจการจัดการทรัพยากรที่ดิน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ไว้ในมือตัวเอง” ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยกล่าว

พงษ์ทิพย์ กล่าวต่อมาว่า ในการทำงานร่วมกันกับรัฐบาลที่ดูเหมือนว่ามีความคืบหน้าบนโต๊ะเจรจา แต่ในระดับพื้นที่ตอนนี้ชาวบ้านถูกจับ ถูกฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญา ล่าสุดที่ จ.ตรังและ จ.พัทลุง ผู้ว่าราชการจังหวัดได้เตรียมการที่จะฟ้องชาวบ้านอีกหลายราย แม้จะมีการชี้แจงว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในระหว่างดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกับรัฐบาลก็ไม่เป็นผล ชาวบ้านในหลายพื้นที่ยังคงเดือดร้อนอยู่ทุกวัน และการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

นอกจากนี้ เรื่องกองทุนที่ดินเพื่อช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินซึ่งทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่างได้บอกอย่างชัดเจนว่าจะมีการนำเงิน 2 เปอร์เซ็นต์จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและโรงเรือนมาจัดทำกองทุนที่ดิน แต่เมื่อเช็คไปที่กระทรวงการคลังในระดับเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการกลับบอกว่าไม่รู้เรื่อง และย้ำด้วยว่าเรื่องนี้คงไม่สามารถปฎิบัติได้ในความเป็นจริง

“สิ่งที่รัฐบาลแถลง เรื่องที่รัฐบาลแก้ไข เป็นเรื่องที่จิบๆ เป็นเรื่องเล็กๆ ที่มันไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างให้คนจน ถ้าจะแก้ไขปัญหาคนจนให้ได้จริงต้องแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน” พงษ์ทิพย์กล่าว

ส่วนประทิน เวคะวากยานนท์ ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ที่ผ่านมาในส่วนของสลัม 4 ภาคมีข้อเสนอใน 4 ประเด็นใหญ่ๆ คือ 1.งบประมาณ 6,000 ล้าน สินเชื่อที่อยู่อาศัยผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ซึ่งมีการผลักดันมานาน ปัจจุบันรัฐบาลได้ทำการโอนให้ พอช.แล้ว 3,000 ล้าน ต่อไปต้องโอนตามที่รัฐบาลบอกเอาไว้ว่าจะโอนให้หมดภายในปี 2555 2.เรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งเป็นอุปสรรค์ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองที่มีพื้นที่จำกัดในการก่อสร้าง เพียงราว 10 ตารางวา หากรัฐบาลจริงใจในการแก้ปัญหา และมุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการบ้านมั่นคงจริง ควรทำให้กฎหมายใหม่มีความสมบูรณ์แบบ และบังคับใช้ได้ภายใน 6 เดือน ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาการขอทำทะเบียนบ้านและสาธารณูปโภคของคนที่ได้ปลูกบ้านไปแล้ว

3.เรื่องโฉนดชุมชน แม้รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนแต่ยังไม่ได้เดินไปไหนไกล ในส่วน กทม.มีการแต่งตั้งผู้ว่าเป็นประธานชุดคณะทำงาน แต่ใน 3 ชุมชนนำร่อง คือ ชุมชนเพชรคลองจั่น เขตบึงกุ่ม, ชุมชนโรงหวาย เขตสวนหลวง และชุมชนหลวงวิจิตร เขตคันนายาว ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ รัฐบาลควรเรียกคณะทำงานมาสั่งการให้มีการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม และ 4.การยุติการไล่รื้อ ซึ่งเป็นข้อเสนอของสลัม 4 ภาคมายาวนาน แต่ปัจจุบันมีการกลับมาไล่รื้ออีก ทั้งในส่วนที่ราชพัสดุ และที่เอกชน ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการดำเนินการให้รัฐมนตรีมาเป็นตัวกลางเจรจากับเอกชนเจ้าของที่ดิน แต่ในรัฐบาลนี้ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กลับไม่เข้ามามีบทบาทด้านไหนเลย ทั้งที่ทางเครือข่ายฯ พยายามเสนอปัญหาเพื่อร่วมกันแก้ไข

“บอกไว้ตรงนี้เลยว่า หลังจากเทศกาลปีใหม่ เราอาจต้องไปพบท่านรัฐมนตรีอิสสระเพื่อไปหารือ แล้วก็จะไปดูว่าแนวทางแก้ปัญหาการไล่รื้อ หรือเข้ามาเป็นตัวกลาง ท่านจะทำอย่างไร เบื้องต้นเราจะส่งตัวแทนไปพบ หากยังไม่มีการแก้ไขคิดว่าสักวันนักข่าวคงได้ข่าวว่าเราไปบุกกระทรวงพัฒฯ อีก” ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาคกล่าว

 

นักวิชาการแนะรัฐควรกล้าบุกเบิกนโยบายที่ประโยชน์ได้ในระยะยาว

ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการที่ทำงานกับคนจน กล่าวว่า การนำนโยบายไปปฎิบัติของรัฐบาลนี้ที่เห็นชัดเจนมากที่สุดเป็นนโยบายเกี่ยวกับเรื่องกิจกรรมการสร้างความสามัคคีในรัฐ แต่นโยบายเกี่ยวกับคนจน การสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ไม่เห็นมากนัก การแก้ปัญหาในระดับเชิงโครงสร้างมีไม่ชัดเจน ยกตัวอย่าง โฉนดชุมชน กองทุนธนาคารที่ดิน และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นโยบายที่เห็นเกี่ยวกับการกระจายทรัพยากรในเรื่องความมั่นคั่งทางสังคมแก่คนจน มีลักษณะเป็นนโยบายสวัสดิการที่มุ่งให้ชาวบ้านในระดับปัจเจก ไม่ได้เป็นการบุกเบิกสร้างสรรใหม่ และมุ่งเน้นไปที่นโยบายที่จะหาเสียงในระยะสั้น

ประภาสกล่าวต่อมาว่า ปัญหาของคนจน คือปัญหาของการสร้างประชาธิปไตยที่กินได้ และการเมืองที่เห็นหัวคนจน การปฏิรูปการเมืองที่ผ่านมา 1 ปี เป็นการมุ่งแก้ปัญหาของนักการเมือง หรือนักเลือกตั้ง มากกว่าเป็นการสร้างพื้นที่การเมืองให้เห็นหัวคนจน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเจตนารมณ์ของการเมืองภาคประชาชนในรัฐธรรมนูญ ในการออกกฎหมายลูกซึ่งในระยะเวลา 1 ปี รัฐบาลออกกฎหมายมาเพียง 1 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยมุ่งหมายในการเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือความล่าช้าในการออกกฎหมายองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ

“รัฐบาลควรมุ่งที่จะทบทวนนโยบายที่หวังหาเสียงในระยะสั้น ควรให้ความสำคัญกับนโยบายในเชิงโครงสร้าง กล้าบุกเบิกนโยบายที่ทำให้ทุกคนสามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาว การปฏิรูปการเมืองควรมุ่งสร้างพื้นที่ทางการเมืองที่มันเห็นหัวคนจน พูดถึงกฎหมายลูกต่างๆ ขยายพื้นที่การเมืองที่มากไปกว่าการเมืองแบบตัวแทน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของนักการเมืองและพรรคการเมือง นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญในปีข้างหน้า” ประภาสกล่าว

 

ชี้ “ไทยเข้มแข็ง” ไม่ทำให้คนเข้มแข็งจริง

นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงโครงการไทยเข้มแข็งว่า รัฐบาลเข้าใจความหมายของไทยเข้มแข็งผิดไป ไทยเข้มแข็งไม่ใช่เรื่องของการโบกธงร้องเพลงตอนหกโมงเย็น ความเข้มแข็งของไทยอยู่ที่ว่าทำให้ประชาชนที่เป็นพลเมืองโดยเฉพาะคนในระดับล่างมีความมั่นคง ส่วนปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น หากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาโดยเฉพาะสำหรับคนจน รัฐบาลควรฉวยโอกาสในขณะนี้นำเสนอนโยบายทางโครงสร้าง เช่น เรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน ภาษีที่ดินและทรัพย์สิน ภาษีมรดก และการแก้ปัญหาประชานิยมด้วยสวัสดิการสังคมและการกระจายการถือครองทรัพย์สินอย่างเป็นธรรม ซึ่งหนึ่งปีที่ผ่านมารัฐบาลได้เคยพูดเรื่องเหล่านี้แต่ก็ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น

“ดังนั้นก็จะเป็นคำถามที่สำคัญว่าจริงๆ แล้วคำว่าไทยเข้มแข็ง เป็นความเข้มแข็งของใคร?” นฤมลตั้งคำถาม พร้อมกล่าวว่า ที่ผ่านมาการแก้ปัญหา รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากการตั้งกรรมการเจรจา และการเจรจานั้นหนักไปทางซื้อเวลา เพราะขณะที่มีการเจรจาก็มีการจับกุมประชาชน

นฤมล ให้ข้อมูลต่อมาว่า สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้พิจารณารางวัลวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ สำหรับวิทยานิพนธ์เพื่อคนจน เพิ่งได้ข้อสรุปของสถาบันฯ ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาคนจนถูกจับกุมเป็นจำนวนมากจากกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้น อาจเรียกได้ว่าในยุครัฐบาลนี้มีคดีความที่คนจนต้องขึ้นศาลมากที่สุด แล้วก็เป็นคดีความที่คนจนจะถูกจับกุม ดำเนินคดี และถูกศาลสั่งคุมขัง ไม่ค่อยได้รับการประกันตัว

ในส่วนการขับเคลื่อต่อไป นฤมลกล่าวว่าหลังจากที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายไปแล้ว และจะจัดการประชุมรัฐมนตรี ในส่วนเครือข่ายต่างๆ ได้พูดคุยกันว่าจะเปิดโอกาสให้รัฐบาลฉลองปีใหม่ไปสักพักหนึ่ง หลังปีใหม่หากไม่มีอะไรคือหน้าในการแก้ปัญหา อาจต้องไปเยี่ยมเยือนรัฐบาลเพื่อทวงถามถึงการทำงานในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะมีการประกาศอีกครั้งในนามของเครือข่ายต่างๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net