การค้าของไทยหลังกำแพงภาษีหายไปจากเขตการค้าเสรีอาเซียน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในปี 2535 ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และบรูไน ได้ร่วมกันจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA โดยการรวมกันเป็นตลาดสินค้าขนาดใหญ่ ให้กลายเป็นตลาดเดียวในนามของประชาคมอาเซียน ซึ่งจากข้อตกลงร่วมกันครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นย่างก้าวสำคัญของอาเซียน ที่จะสามารถเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับนานาประเทศที่เข้ามาทำการค้ากับอาเซียนได้อย่างมีศักยภาพมากขึ้น และสำหรับประเทศสมาชิกเองก็จะสามารถทำการค้าระหว่างกันได้โดยปราศจากข้อจำกัดทางการค้า และมีอัตราภาษีที่ต่ำลงตามแต่กำหนด

การลดอัตราภาษีระหว่างกันตามข้อตกลงในตอนแรก แบ่งสินค้าเป็นสองส่วนคือที่รีบเร่งลดให้เหลือ 0.5 % ภายในปี 2543 มี 15 รายการ ได้แก่ ซีเมนต์ ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์หนัง เยื่อกระดาษ สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ไม้หวาย น้ำมันพืช เคมีภัณฑ์ พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์เซรามิกและแก้ว เภสัชภัณฑ์ และแคโทดที่ทำจากทองแดง กับสินค้าที่ไม่ต้องรีบลด ได้แก่ สินค้าเกษตรไม่สำเร็จรูป เริ่มลดภาษีภายใน 2544-2546 ลดเหลือ 0-5 % ภายในปี พ.ศ.2553 ยกเว้นข้าวและน้ำตาล ให้ลดตามอัตราที่ตกลง

กรณีข้าวและน้ำตาลได้เป็นประเด็นที่พิเศษ เพราะจากการให้ลดตามอัตราที่ตกลงกัน หมายถึงประเทศใดจะยอมลดให้เท่าไรก็แล้วแต่สมัครใจ ถ้าสมาชิกยอมรับได้ก็เป็นไปตามนั้น นี่คือความไม่ชัดเจนของข้อตกลง ที่เห็นได้ชัดว่ามีช่องโหว่ในเรื่องของความเสมอภาค ที่อาจจะส่งผลต่อการทำการค้าที่ไม่สมดุลในอนาคต

ในวันที่ 1 ม.ค. 2553 ประเทศไทยเลือกที่จะลดภาษีสินค้าทั้งหมดให้เหลือ 0% ยกเว้น ไม้ตัดดอก มะพร้าวแห้ง มันฝรั่ง และกาแฟ จะลดภาษีเหลือ 5% ซึ่งหนึ่งในนั้นไม่มี ข้าว และน้ำตาล ไทยจะลดข้าวและน้ำตาลให้เหลือ 0 % ในขณะที่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และกลุ่มประเทศเข้าเป็นสมาชิกใหม่จะปรับลดภาษีเป็น 0% ในปี 2558 นั่นหมายถึงกำแพงภาษีข้าวและน้ำตาลของไทยจะหายไปก่อน 8 ประเทศถึง 5 ปี มีเพียง 2 ประเทศที่ลดเหลือ 0% เหมือนกันคือ บรูไน และสิงคโปร์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ประเทศนี้ รายได้หลักไม่ได้มาจากการทำการเกษตรกรรม ข้าวและน้ำตาลเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งต่างจากไทยอย่างสิ้นเชิงที่จำเป็นต้องส่งออกสินค้าทั้งสองอย่างนี้

การที่ไทยปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าเป็น 0% ในขณะที่ประเทศคู่ค้าเหล่านั้นยังไม่ได้ปรับลดภาษีนี้ลง นั่นหมายถึงสินค้าไทยที่ขายในประเทศจะถูกดึงราคาให้ต่ำลงตามสินค้าที่อาจจะมีคุณภาพต่ำกว่าหรือเทียบเท่าแต่ราคาถูกกว่าที่เข้ามาได้อย่างเสรี ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรไทย และที่ยิ่งกว่านั้นคือสินค้าไทยที่ส่งออกอาจจะอยู่ไม่ได้เพราะการต้องเสียภาษีที่สูงบวกกับค่าขนส่ง ไม่สามารถสู้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าได้ ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่กรณีของข้าวและน้ำตาลเท่านั้น แต่จะเกิดขึ้นกับสินค้าเกษตรเกือบทุกชนิด

ตัวอย่างกลุ่มเกษตรที่จะต้องรับผลกระทบโดยตรง เช่น กลุ่มผู้ปลูกสละสายพันธุ์อินโดนีเซีย ในเขตพื้นที่ภาคใต้ของไทยที่กำลังเป็นที่นิยม สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะมีราคาถึงกิโลกรัมละ 100 บาท หรืออาจจะมากกว่านั้น กลายเป็นรายได้หลักของหลายคน และรายได้เสริมให้กับอีกหลายครอบครัว เพราะสละสายพันธุ์นี้สามารถปลูกแซมได้ในสวนยางพารา แต่สละสายพันธุ์เดียวกันนี้ในประเทศอินโดนีเซียมีราคาถูกมาก ราคาขายปลีกแค่ประมาณกิโลกรัมละ 20-50 บาท เท่านั้น

และที่สำคัญอินโดนีเซียเป็นเจ้าของสายพันธุ์ที่สร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้บริโภคว่ามีคุณภาพดีกว่าสละที่ปลูกในไทย และกำลังขยายตลาดไปยังหลายประเทศ ทั้งจีน ยุโรป และอาหรับ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมาเปิดตลาดในไทยในอีกไม่ช้านี้หากกำแพงภาษีจะลดลงหรือหายไป

หลายประเทศที่มีรายได้หลักมาจากการเกษตรเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสินค้าของตัวเอง ต่างรีบออกกฎหมายใหม่และเพิ่มมาตรการต่างๆมากมายเพื่อมารองรับ เพื่อจะเป็นตัวช่วยในการกรองสินค้าที่อาจจะทะลักเข้ามามากจนเกินไป จนทำให้เกิดผลกระทบต่อสินค้าหลักของประเทศ โดยเฉพาะสินค้าการเกษตร ดังเช่นประเทศอินโดนีเซีย ได้ออกกฎหมายคุมเข้มด้านมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารจากพืชที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. 2552 เพื่อให้มีการตรวจสอบสารพิษตกค้างอย่างละเอียดมากขึ้น ซึ่งเป็นการตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีที่จะมาถึง ในวันที่ 1 ม.ค. 2553 แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยที่มีอินโดนีเซียเป็นตลาดสำคัญ นับตั้งแต่ ข้าว พริก ข้าวโพด หอมแดง ไปจนถึงผลไม้อย่างส้มและลำไย

ในขณะที่ประเทศไทยนั้นมีหลายฝ่ายกำลังนับวันรอการพังทลายของกำแพงภาษีการค้า ด้วยหวังว่าอุปสรรคสำคัญทางการค้าจะหมดไป ซึ่งจะส่งผลดีมากสำหรับธุรกิจและผู้ประกอบการที่ต้องการขยายตลาดสินค้า มีการเตรียมพร้อมในการเจาะตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นช่องทางทางการค้าอันเอื้อประโยชน์จากข้อตกลงในการพังทลายกำแพงภาษีของอาเซียน ในขณะที่ผู้ผลิตซึ่งเป็นเกษตรกร และเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ย่อมได้รับผลกระทบจากปัญหาสินค้าล้นตลาดหรือมีราตาต่ำ เพราะมีสินค้าจากประเทศอื่นไหลเข้ามาตีตลาด นี่คือผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตามข้อตกลงในการพังทลายกำแพงภาษีของอาเซียน อาจส่งผลดีต่อการแข่งขันกันพัฒนาคุณภาพสินค้าของแต่ละประเทศ รวมทั้งไทยเองด้วย ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะประชากรในกลุ่มอาเซียนเองที่จะได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น

ในวันที่ 1 ม.ค. 2553 จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ทางการค้าของไทยกับภูมิภาคอาเซียน และสิ่งที่สำคัญเรามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน อย่างไร กับนโยบายการพังทลายกำแพงภาษีของอาเซียนซึ่งเมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปดังที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่ากำแพงภาษีที่หายไปอาจกระทบกับเกษตรกร ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้

ในสภาวการณ์เช่นนี้เราควรยินดีหรือตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท