Skip to main content
sharethis

ตำบลปิยามุมัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี มีชื่อเสียงขึ้นมาเมื่อครั้งนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชาชาชีวะ มาเป็นประธานเปิดสภาเสริมสร้างสันติสุข เมื่อกลางปี 2552 ที่ผ่านมา แต่ที่จริงแล้ว ตำบลแห่งนี้ชุมชนทั้งพุทธและมุสลิมอยู่กันอย่างสมานฉันท์มาช้านานผ่านงานพัฒนาหมู่บ้านของปราชญ์ในพื้นที่

 

สมควร คงถาวร ปราชญ์ชาวบ้านปิยา และการีน๊ะ สือแต บัณฑิตหมู่บ้านชุมชนพุทธ-มุสลิม
 
โรงผลิตน้ำดื่ม
 
ตำบลปิยามุมัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น เมื่อมีการตั้งสภาเสริมสร้างสันติสุขตำบลปิยามุมังขึ้นมา โดยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาเป็นประธานเปิดสภาแห่งนี้ด้วยตัวเอง เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นตำบลที่มีความเข้มแข็ง ชาวบ้านอยู่ด้วยกันอย่างสมานฉันท์ ทั้งไทยพุทธและมุสลิม
 
แต่คงมีน้อยคนนักที่จะรู้ว่า ความเข้มแข็งเหล่านั้น ถูกหล่อหลอมขึ้นมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว โดยเฉพาะในหมู่บ้านปิยา หมู่ที่ 3 ตำบลปิยามุมัง จากการที่มีผู้นำที่เข้มแข็ง มีปัญญาและวิสัยทัศน์
 
บุคคลดังกล่าว คือ นายสมควร คงถาวร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ที่วันนี้อยู่ในอีกสถานะหนึ่งคือ ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดปัตตานี ขณะที่บ้านพักของเขาเองก็ถูกเลือกให้เป็นศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านแห่งเดียวของจังหวัดปัตตานีด้วย
 

สมควร คงถาวร ปราชญ์ชาวบ้านปิยา
 
ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน ในหมู่บ้านที่มีทั้งชาวพุทธและมุสลิมแห่งนี้ ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว โดยอยู่ในสังกัดสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดปัตตานี ตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านอยู่ทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นสถานที่อบรมเกษตรกรและการศึกษาดูงาน ในเรื่องที่เกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง
 
ผู้ใหญ่บ้านสมควร เล่าว่า เขาได้สมัครตั้งศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดปัตตานีที่บ้านปิยา เพราะคิดตนเองน่าจะเป็นปราชญ์ชาวบ้านได้ ด้วยเพราะตนเองได้ทำงานในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมา 20 ปีแล้ว ทั้งเรื่องการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี และการรวมกลุ่มชาวบ้าน เป็นต้น
 
ดังนั้นหลักสูตรที่ใช้ในการอบรม ส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งการเพาะปลูก เช่น การเพาะถั่วงอก การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำเชื้อจุลินทรีย์ ไบโอดีเซล การรวมกลุ่ม การทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งกำหนดขึ้นเอง เรียกว่าหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงแบบยั่งยืน โดยใช้วิทยากรในตำบล ยกเว้นเรื่องเกี่ยวกับบัญชีสหกรณ์ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับกฎหมาย เพราะการรวมกลุ่มจะใช้รูปแบบของสหกรณ์
 
ซึ่งการรวมกลุ่มของชาวบ้านปิยา มีหลายกลุ่มแล้ว ทั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โดยสามารถรวบรวมเงินจากได้กว่า 10 ล้านบาท กลุ่มแม่บ้านปิยาสามัคคี มีเงินกองทุน 4 ล้านบาท ร้านค้าชุมชนมีเงินทุนหมุนเวียน 4 ล้านบาท กลุ่มล่าสุด คือ กลุ่มทำน้ำดื่ม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขอใบรับรองจากองค์การอาหารและยา หรื อย. โดยได้รับเครื่องผลิตน้ำดื่มจากหน่วยทหารพัฒนาที่ 44 ให้ชาวบ้านมาบริหารจัดการเอง และได้ก่อสร้างอาคารผลิตน้ำดื่มแล้ว มูลค่า 230,000 บาท โดยยืมเงินจากร้านค้าชุมชนและเงินกองกลางของคณะกรรมการหมู่บ้าน จากนั้นก็จะให้สมาชิกร่วมกันลงทุนโดยการซื้อหุ้น
 
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการอบรมไปแล้ว 9 รุ่น รวม 422 คน การอบรมใช้เวลา 4 วัน 3 คืน ผู้เข้าอบรมมาจากทั่วจังหวัดปัตตานี ทั้งเกษตรกร ตัวแทนสหกรณ์การเกษตร รวมทั้งเกษตรกรที่หน่วยทหารในพื้นที่ส่งมา ส่วนการเข้ามาศึกษาดูงานนั้นมีเยอะมาก
 
“เมื่อมีการอบรม ผมก็ชวนลูกบ้านมุสลิมช่วยทำอาหารเลี้ยงคนที่เข้าอบรมเพราะมีมุสลิมด้วย และช่วยเรื่องอื่นๆ เพราะหมู่บ้านปิยา มีประชากรประมาณ 500 คน เป็นมุสลิมประมาณ 200 คน ที่เหลือเป็นชาวพุทธ ซึ่งทุกคนก็ช่วยกันดี”
 
เนื่องจากอาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่คือ ทำเกษตร ปลูกผัก ทำนา ผลผลิตที่ได้ก็เอามาฝากขายที่ร้านค้าชุมชน ซึ่งปีที่แล้ว ร้านค้าชุมชนได้กำไรถึง 7 แสนบาท นอกจากนั้นก็ยังมีสถาบันการเงินชุมชน ก็คือธนาคารชุมชนนั่นเอง ตรงให้เด็กนักเรียนเป็นสมาชิกฝากเงิน
 
เขาบอกด้วยว่า การลงทุนที่เกิดขึ้นไม่ได้ใช้เงินสนับสนุนจากภาครัฐเลย ชาวบ้านลงทุนและบริหารจัดการกันเอง บางคนลงทุนซื้อหุ้นมากถึง 5 หมื่นบาท เหตุที่ชาวบ้านกล้าลงทุนมากขนาดนี้ เพราะเขามีความมั่นใจในการรวมกลุ่ม จากเมื่อก่อนไม่ค่อยกล้าเสี่ยงมาก
 
“ส่วนเหตุที่ชาวบ้านสามารถรวมกลุ่มได้อย่างเข้มแข็งเช่นนี้ได้ขึ้นอยู่กับผู้นำด้วย โดยผมพยายามอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์ของการรวมกลุ่มกัน และจะทำอย่างไรไม่ให้กลุ่มล่ม โดยเฉพาะการอธิบายกับลูกบ้านมุสลิม เพราะทราบกันดีว่า รวมกลุ่มตั้งองค์กรกันอยากมาก ซึ่งตรงนี้ผมทำมา 20 ปีแล้วเช่นกัน”
 
“ตอนนี้เกือบทุกกลุ่ม ผมเป็นประธานเอง หรือชาวบ้านแต่งตั้งขึ้นโดยเขากำหนดในข้อบังคับให้
ผู้ใหญ่บ้านเป็นประธานโดยตำแหน่ง ส่วนสมาชิกก็กำหนดว่า ต้องเป็นคนที่อยู่ในหมู่บ้านปิยา หมู่ที่ 3 เท่านั้น ซึ่งในหมู่ที่ 3 นี้ ในพื้นที่ของชาวพุทธเรียกบ้านปิยา ส่วนพื้นที่ของมุสลิมเรียกบ้านบูแม แต่ทั้งพุทธก็พึ่งพาอาศัยกัน”
 
สำหรับเคล็ดลับในการสร้างกลุ่มให้เข้มแข็งนั้น ผู้ใหญ่บ้านสมควร บอกว่า ไม่ได้อยู่ที่หลักประชาธิปไตยอย่างเดียว เพราะเมื่อก่อนเคยใช้วิธีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะคนที่ถูกเลือกเข้ามาทำงานไม่ได้ จึงคิดวิธีการใหม่ คือ ให้มีผู้บริหารคนเดียว หมายถึงในแต่กลุ่มหรือฝ่าย มีผู้บริหารคนเดียว โดยให้เลือกกันเองภายในกลุ่ม หรือให้สมาชิกเลือก
 
นอกจากนี้ คนที่เข้ามาเป็นผู้บริหารหรือผู้นำนั้น ก็ต้องมีคุณสมบัติหลักๆ อยู่ 3 ข้อ คือ 1.ต้องเป็นคนมีปัญญา สามารถมองการณ์ไกลได้ 2.มีคุณธรรม และ 3.เสียสละ ขาดข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่ได้ ยิ่งมีหลายคนยิ่งดี เพราะจะทำให้องค์กรไม่ล้มแน่นอน เพราะทั้ง 3 ข้อนี้ หมายถึงการไม่เอาเปรียบคนอื่น
 
ขณะเดียวกัน ตัวสมาชิกเองก็ต้องมีความเข้าใจเรื่องการรวมกลุ่มด้วย เพราะนั่นคือผลประโยชน์ของเขาโดยตรง
 
“ที่ผ่านมา ผมพยายามอธิบายให้ความรู้ความเข้าใจกับชาวบ้านมาตลอด โดยเฉพาะระบบสหกรณ์ เนื่องจากกลุ่มต่างๆ ที่ตั้งขึ้นใช้รูปแบบของสหกรณ์ ซึ่งกว่าจะเข้าใจก็ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่เมื่อชาวบ้านเข้าใจแล้ว เขาก็จะอธิบายกันเองได้ เมื่อเขารู้ถึงความสำคัญแล้ว อย่างร้านค้าชุมชน เขาก็จะมาซื้อมาอุดหนุนกันเอง แทนที่จะไปซื้อที่อื่น”
 
“สิ่งที่ผมทำมาตลอด สังคมไม่ได้รับรู้ เพราะเราเองก็ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ คนนอกก็ตอนที่นายกรัฐมนตรี มาเปิดสภาเสริมสร้างสันติสุขตำบลปิยามุมังที่ผ่านมานี้เอง”
 
ผู้ใหญ่บ้านสมควร เล่าเป็นการทิ้งท้ายด้วยว่า ไม่สงบในหมู่บ้าน หรือแม้แต่ในตำบลปิยามุมังไม่เคยมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ปัญหาความขัดแย้ง โดยเฉพาะระหว่างพี่น้องมุสลิมกับชาวพุทธ เรื่องลักเล็กขโมยน้อยก็ไม่มี ส่วนที่จะมีปัญหาอยู่บ้างก็คือยาเสพติด แต่ก็อยู่ในระดับที่ควบคุมได้
 
แม้แต่ละวัน ผู้ใหญ่บ้านสมควร มักง่วนอยู่กับงานเรื่องการพัฒนาที่ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือไม่ก็เดินทางไปติดต่อกับหน่วยราชการต่างๆ แต่สิ่งที่เห็นก็คือมักมีทีมงานที่เป็นลูกบ้านชาวมุสลิมและพุทธ รวมเป็นกลไกหลักสำคัญอยู่ด้วยข้างๆ ด้วย นั่นก็อาจเป็นบทพิสูจน์ได้ถึงคำว่า “สมานฉันท์” ที่แท้จริงได้สวนหนึ่ง โดยมีปราชญ์ผู้ทรงความรู้และประสบการณ์ เป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้าน
 
 
การีน๊ะ สือแต บัณฑิตหมู่บ้านชุมชนพุทธ-มุสลิม
 
น.ส.การีน๊ะ สือแต เป็นอีกหนึ่งบัณฑิตอาสาตามโครงการบัณฑิตอาสาสมัครพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้ยั่งยืน หรือโครงการบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงาน ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่มีภารกิจเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านของตัวเอง โดยการว่างจ้างคนในหมู่บ้านขึ้นมาทำงานให้หมู่บ้านของตัวเอง
 
เธอเป็นบัณฑิตอาสา หรือที่เรียกว่า บัณฑิตหมู่บ้าน ประจำหมู่ที่ 3 ตำบลปิยามุมัง อันเป็นหมูที่บ้านที่ประกอบด้วยสองชุมชน คือบ้านปิยา และบ้านบูแม
 
ชุมชนแรกเป็นชุมชนชาวไทยพุทธ และส่วนชุมชนหลังเป็นชุมชนของชาวมุสลิม แต่นางสาวการีน๊ะ ไม่เกี่ยง เธอบอกว่า เธออาสารับใช้ทั้งสองชุมชน เพราะเป็นหมู่บ้านเดียวกัน คือ หมู่ที่ 3 ตำบลปิยามุมัง
 
งานหลักของเธอคือ ทำงานเป็นผู้ช่วยของผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 คือ นายคมควร คงถาวร จากบ้านปิยา มีภารกิจในเรื่องการเก็บข้อมูล การประสานงานกับชาวบ้านกรณีที่จะมีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ร่วมทั้งงานพัฒนาอื่นๆ ของหมู่บ้าน
 
นางสาวการีน๊ะ บอกง่าเธอต้องเข้าถึงบ้านทุกหลัง เพื่อแจ้งข่าวสารหรือประชาสัมพันธ์งานที่จะมีขึ้น ซึ่งชาวบ้านก็ให้ความร่วมมืออย่างดี ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าชาวบ้านที่นี่ เป็นคนที่มีความรู้และเข้าใจในเรื่องการพัฒนา
 
“ชาวบ้านให้ความสำคัญกับงานที่เราทำ เช่น การทำเวทีประชาคมหมู่บ้าน ชาวบ้านก็จะเข้ามาร่วมทุกครั้ง ซึ่งการที่เราเดินไปหาชาวบ้านทุกหลังนั่นเอง ที่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาให้ความร่วมมือ เพราะหมายถึงเราให้เกียรติชาวบ้านโดยไปหาเขาถึงที่บ้านเลย อีกอย่างเราก็จะได้เน้นย้ำให้ชาวบ้านได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการทำประชาคม เพราะมันก็จะเป็นประโยชน์กับเราเองด้วย”
 
“อีกอย่างวิธีการเช่นนี้ ก็จะทำให้การประชาสัมพันธ์ทั่วถึงมากที่สุด แม้ต้องใช้เวลาเดินไปที่ทุกบ้าน แต่ผลที่ได้รับก็คือความร่วมมือที่ดีขึ้น ตอนหลังเวลามีงานอะไรอีกก็แค่ให้บอก ชาวบ้านก็มาร่วมกันเลยโดยอัตโนมัติ”
 
เธอบอกด้วยว่า ชาวบ้านที่นี่ ทั้งมุสลิมและพุทธ ไม่เคยมีปัญหาต่อกัน ทุกคนอยู่ด้วยกันแบบพี่แบบน้อง มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ถ้ามีงานของส่วนรวมทุกคนก็จะออกมาช่วยกัน โดยไม่ได้แบ่งแยก
 
บัณฑิตหมู่บ้านไม่ได้ทำงานเฉพาะแต่ในหม่าบ้านของตนเองเท่านั้น แต่ยังต้องเข้าไปช่วยทำงานในพื้นที่หมู่บ้านอื่นในตำบลปิยามุมังด้วย ซึ่งตำบลปิยามุมังแห่งนี้ มีบัณฑิตทั้งหมด 5 คนจาก 5 หมู่บ้าน ใช้สำนักงานบริหารราชการตำบลปิยามุมัง เป็นสำนักงาน โดยมีนายสุวิทย์ มากแก้ว ปลัดอำเภอยะหริ่งผู้เป็นหัวหน้าส่วนราชการประจำตำบลปิยามุมัง เป็นผู้บังคับบัญชา
 
เธอยกตัวอย่าง เช่น ถ้าหมู่บ้านไหนจะทำเวทีประชาคมหมู่บ้าน บัณฑิตหมู่บ้านทั้ง 5 คน ก็ต้องมาช่วยกัน ทั้งคอยอำนวยความสะดวก ช่วยประชาสัมพันธ์งานและติดต่อประสานงานต่างๆ เป็นต้น ยังไม่นับรวมเรื่องการจัดเตรียมเอกสารและการจำทำข้อมูลอีกจำนวนมาก
 
“บัณฑิตหมู่บ้านของตำบลปิยามุมังมีงานเยอะ โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลและการจัดทำข้อมูลเอกสารให้เป็นระบบ และเป็นหมวดหมู่ ซึ่งตรงนี้ทางปลัดฯ สุวิทย์ มากแก้ว บอกว่า ต้องการให้เป็นผลงานของตำบลปิยามุมัง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหมู่บ้านต่อไป จนทำให้บางครั้งต้องทำงานร่วมกันที่สำนักงานกันจนถึงกลางคืน”
 
ส่วนโครงการพัฒนาที่มีในหมู่บ้าน บัณฑิตหมู่บ้านก็ต้องเข้าไปติดตามดูด้วยว่าเป็นอย่างไร การดำเนินงานไปถึงไหน มีส่วนไหนที่บัณฑิตหมู่บ้านสามารถเข้าไปช่วยเหลือดูแลได้ เช่น โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล ซึ่งก็มีหลายโครงการมีเกิดขึ้นในหมู่บ้าน
 
การพัฒนาหมู่บ้าน ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนในหมู่บ้านต้องช่วยกันอย่างที่ นางสาวการีน๊ะบอก ซึ่งก็เกิดขึ้นแล้วและพิสูจน์ได้ที่หมู่บ้านปิยาและบูแม หมู่ที่ 3 ตำบลปิยามุมัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net