Skip to main content
sharethis

SAN อาสา สร้างสานสายใยชุมชน
วันนั้นคลื่นยักษ์กระหน่ำคร่าชีวิต แต่วันนี้วิกฤตสร้างโอกาสแห่งการฟื้นฟู

5 ปีแล้วที่คลื่นยักษ์สึนามิถาโถมดูดกลืนทุกอย่างที่ขวางหน้า ความเจ็บปวดและการสูญเสียครั้งนั้นคงเป็นความทรงจำที่เลวร้ายที่สุดของผู้คน ชายฝั่งทะเลอันดามัน แต่วันนี้หลายอย่างได้รับการฟื้นฟูจนดีขึ้น จากคนไร้บ้าน หลายคนสร้างบ้านขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง จากชาวเลไร้เรือ หลายคนสร้างเรือขึ้นมาฝ่าเกลียวคลื่นออกเผชิญชีวิตอีกครั้ง

หลายหมู่บ้านรวมกลุ่มผนึกกำลังสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ด้วยการจัดตั้งกองทุนออมทรัพย์ กลุ่มสตรี สร้างอู่ซ่อมเรือและแพชุมชน บางพื้นที่เกิดการรวมกลุ่มของเยาวชนพื้นถิ่น เหล่านี้เป็นผลิตผลส่วนหนึ่งจากฝีมือของชุมชนที่ได้รับแรงหนุนจาก นุ่มสาวอาสาสมัคร เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนและชายฝั่งทะเล อันดามัน หรือ Save Andaman Network (SAN) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนไทยพาณิชย์เพื่อผู้ประสบภัย และสานงานมาอย่างต่อเนื่องโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

“มีน” นายสิทธิโชค แขกปาทาน อาสาสมัคร SAN พื้นที่พังงาทะเลตะวันตก (ภูเก็ต พังงา ระนอง) เล่าถึงภาพรวมการทำงานของ SAN คร่าวๆ ว่า ในช่วงแรกอาสาสมัครต้องเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ผู้ประสบภัย อาทิ เรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย และอุปกรณ์ยังชีพ แต่นั่นไม่ใช่หน้าที่หลัก

“เราต้องไม่ลืมว่า อาสาสมัครมีหน้าที่เพียงหนุนเสริมชาวบ้าน ด้วยการให้ความรู้ ข้อชี้แนะ และสนับสนุนงบประมาณบางส่วน สำคัญที่สุดต้องทำให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง พอสถานการณ์คลี่คลายลง ชาวบ้านต้องมีอาชีพและยืนหยัดด้วยตัวเองได้”

 “ตอนเกิดสึนามิ ผมเห็นความเสียหายมากมายเกิดขึ้นในหมู่บ้านซึ่งเป็นบ้านเกิดผมเอง (บ้านหลอมปืน จ.สตูล) เห็นชาวบ้านเดือดร้อน ผมเป็นเยาวชนแกนนำหมู่บ้านเลยอยากเข้ามาช่วยเหลือ”
นายประวิทย์ ลัดเลีย หรือ บังหยาด หนุ่มหน้าเข้มอีกคนเล่าถึงจุดเริ่มต้นงานอาสาสมัครของตัวเอง

เมื่อลงมือทำงานจริง ปัญหาที่คาดไม่ถึงก็ตามมามากมาย “ถึงเราจะเป็นคนในท้องถิ่น แต่การทำงานกับชุมชนไม่ง่ายเลย เพราะในหมู่บ้านมีกลุ่มอิทธิพลเคยชี้นำให้คนในชุมชนทำตามสิ่งที่เขาต้องการ เข้ามาตอนแรกชาวบ้านไม่เชื่อใจผมเลย ต้องใช้เวลานานมาก กว่าผมจะซื้อใจคนในหมู่บ้านได้ กว่าเขาจะยอมรับ เชื่อใจ และวางใจผม” บังหยาด เอ่ยอย่างมุ่งมั่น “ผมอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เด็ก ผมรู้ว่าปัญหาของคนในชุมชนคืออะไร มีทั้งวัยรุ่นติดยาเสพติด ปัญหาหนี้สิน ติดการพนัน ติดเหล้า และการเข้ามาให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ บางครั้งก็มาไม่ถึงชาวบ้าน คนที่ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นกับพวกพ้อง ชาวบ้านที่เดือดร้อนจริงๆ กลับไม่ได้รับการเหลียวแล โดยเฉพาะช่วงเกิดสึนามิ มือใครยาวสาวได้สาวเอา”

 


 

ขณะที่ “เอียด” นางสาวอารีย์ สุวรรณชาตรี บอกว่า พื้นที่เกาะมุกด์ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ที่เธอรับผิดชอบอยู่ก็มีปัญหาอยู่ไม่น้อย “ที่เกาะมุกด์ชาวบ้านมีหลายกลุ่มหลายฝ่าย กลุ่มผู้มีอิทธิพลก็เยอะ การกระจายอำนาจไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียมกัน ชาวบ้านที่ไม่มีความรู้เท่าทันก็จะถูกชักจูงได้ง่าย โดยเฉพาะเงินและอำนาจ ที่ทำให้ชาวบ้านทะเลาะกัน” ถึงตรงนี้ มีน เสริมขึ้นทันทีว่า “ตอนลงชุมชนแรกๆ หงุดหงิดชาวบ้านมาก สงสัยว่าทำไมเขาเข้าใจอะไรยากจัง ทำไมไม่ให้ความร่วมมือกับเรา”

“ช่วงแรกที่เกิดสึนามิมีหลายหน่วยงานลงมาให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน บางหน่วยงานให้เงินมาเปล่าๆ ชาวบ้านก็เอาไปแจกจ่ายกัน บางคนได้บางคนไม่ได้ แต่งบประมาณของ SAN ให้ไปแล้วมีเงื่อนไขว่า คนในชุมชนต้องช่วยกันบริหารและคิดกิจกรรมพัฒนาชุมชนร่วมกัน เช่น จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ สร้างฐานอาชีพ เอาเงินมาตั้งกลุ่มฟื้นฟูรักษาทรัพยากรชายฝั่ง เงินที่เราให้ไม่ได้ดอกผลทันตาเขาก็ปฏิเสธ เพราะฉะนั้นอาสาสมัครต้องใช้ความอดทนอย่างมาก กว่าจะทำให้ชาวบ้านเข้าใจ แล้วยอมให้ความร่วมมือ ใจร้อนไม่ได้” มีน เล่าต่อ

ทั้งสามคนยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า การให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ชาวบ้านเป็นเรื่องสำคัญมาก “เมื่อมีความรู้ ความกล้าและความมั่นใจจะตามมา...เห็นได้ชัดตอนที่ชาวบ้านและเยาวชนลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินของตัวเอง หลังผู้มีอิทธิพลฉวยโอกาสออกโฉนดทับที่ทำกินและป่าชุมชนของหมู่บ้าน ตอนนั้นถ้าชาวบ้านมัวแต่กลัว และยอมแพ้เหมือนที่ผ่านๆ มา เขาคงไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ทำมาหากิน” มีน กล่าว

 “คนที่ไม่มีเงินจะถูกชักจูงได้ง่าย เราต้องทำให้ชาวบ้านรู้เท่าทัน เขาไม่จำเป็นต้องเชื่อในทันที แต่ยิ่งรู้มาก เขาจะยิ่งมีข้อมูลในการตัดสินใจและแก้ปัญหาของตัวเอง” เอียด เอ่ยขึ้น

บังหยาด บอกว่า 5 ปีแล้วที่เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนและชายฝั่งทะเลอันดามัน (SAN) เข้ามาช่วยฟื้นฟูชุมชนในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ เขายืนยันว่า ชาวบ้านในท้องถิ่นมีศักยภาพมากพอที่จะดูแลตัวเอง และรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่

“ตอนนี้กิจการกลุ่มออมทรัพย์ และกลุ่มอาชีพในชุมชนยังเดินหน้าต่อไป มีคนในชุมชนช่วยกันบริหารจัดการ แต่อาสาสมัครยังต้องเข้ามาดูแลอยู่ตลอด เพราะชาวบ้านต้องการกำลังใจ เหมือนบ่มเพาะต้นไม้ขึ้นมาแล้วก็ต้องดูแลจนกว่าจะมีรากแก้วที่หยั่งรากลึก ยืนต้นได้อย่างมั่นคงแข็งแรง” บังหยาดเปรียบเทียบ

อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่า การบ่มเพาะความรู้และการสร้างความเข้าใจต่อชุมชนของเหล่าอาสามัคร SAN ให้ดอกผลอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ล่าสุด ชาวบ้าน เกาะยะระโตดใหญ่ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล และ บ้านหลอมปืน ต.ละงู  อ.ละงู  จ.สตูล ได้ช่วยกันปลูกป่าชายเลนชุมชนละกว่า 2 พันต้น และวางระเบิดจุลินทรีย์ เพื่อเป็นของขวัญต้อนรับปีใหม่ให้ชุมชนของตนเอง

“ก่อนหน้านี้ผมนำกลุ่มแกนนำชาวประมงพื้นบ้านของทั้ง 2 ชุมชนไปศึกษาโครงการระเบิดจุลินทรีย์ที่ จ.ชุมพร นำดินและน้ำจุลินทรีย์จากการหมักมาปั้นเป็นก้อนกลมๆ ช่วยบำบัดน้ำเสียในทะเล และช่วยเพิ่มพันธุ์สัตว์น้ำ ตอนนี้ชาวบ้านกำลังพัฒนาโครงการระเบิดจุลินทรีย์ให้เป็นหมู่บ้านตัวอย่าง มีชุมชนอื่นสนใจเข้ามาศึกษาดูงาน ผมคิดว่านี่แหละเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมให้ชาวบ้านหาความรู้ด้วยตนเอง และนำมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมในชุมชนของตัวเอง” บังหยาด เล่าด้วยความภูมิใจ

แม้งานที่ทำจะเหนื่อยหนักและให้คำตอบแน่นอนไม่ได้ว่า จะหยุดได้ตอนไหน แต่พวกเขายอมรับว่าจะตั้งใจทำงานอาสาสมัครต่อไป นั่นอาจเพราะผลตอบแทนที่ได้รับมีค่ามหาศาล “ภูมิใจที่มองเห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาสิทธิชุมชนให้ชาวบ้านกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้มีอิทธิพล” เอียด กล่าวถึงผลตอบแทนที่เธอได้รับอย่างมุ่งมั่น

“ทำงานแบบนี้เหนื่อยกาย แต่สุขใจ จากที่เคยเป็นคนเห็นแก่ตัว ทำอะไรนึกถึงแต่ตัวเอง ตอนนี้กลับได้ทำเพื่อคนอื่น ดีใจที่ตัวเองมีความสุขและเห็นคนอื่นก็มีความสุขด้วย”
บังหยาด กล่าวบ้าง

ส่วน มีน บอกว่า งานอาสาสมัครทำให้เขาเข้าใจตัวเองมากขึ้น “เมื่อก่อนผมอายถ้าต้องบอกใครว่าตัวเองเป็นลูกชาวเล เพราะกลัวคนอื่นมองว่าเป็นเด็กบ้านนอก ล้าหลัง แต่ตอนนี้พูดได้อย่างเต็มปากว่า ผมเป็นชาวเล ผมเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตที่มีอยู่ในบ้านเกิดของผม ซึ่งหาไม่ได้แน่ๆ ในเมือง”

5 ปีที่แล้ว ริมชายฝั่งทะเลอันดามันคุกรุ่นไปด้วยกลิ่นไอแห่งความเศร้าและการสูญเสีย แต่วันนี้รอยยิ้มและเสียงหัวเราะเริ่มแจ่มชัดขึ้นอีกครั้ง ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะความร่วมมือและการเกื้อกูลกันระหว่างคนในชุมชนค่อยๆ ทักทอเป็นสายใยที่เหนียวแน่นและอาจมั่นคงขึ้นกว่าเดิม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net