Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปัญหาของมาตรการพิสูจน์สัญชาติ กับความซับซ้อนที่ซ่อนอยู่ภายใต้จิตใจของแรงงานพม่า เรื่องละเอียดอ่อนที่ไม่ควรมองข้าม

            หากหัวข้อการสนทนาของคนไทยทุกวันนี้เป็นเรื่องการเมือง เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องของดาราหรือผู้มีชื่อเสียง หัวข้อสนทนาของแรงงานจากประเทศพม่าทุกวันนี้คงไม่พ้นเรื่องการพิสูจน์สัญชาติ หรือที่แรงงานเหล่านั้นมักเรียกติดปากว่า ‘ทำพาสปอร์ต’

            แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าอาศัยและทำงานในประเทศไทยกว่าล้านคน ที่ต้องเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติ ตามเป้าหมายปรับเปลี่ยนสถานะแรงงานจากบุคคลหลบหนีเข้าเมืองกลายเป็นผู้เข้าเมืองถูกกฎหมายภายในกำหนดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 และให้สิทธิให้เสียงแก่แรงงานมากขึ้น ทั้งการควบคุมการจ่ายค่าจ้างตามกฎหมาย การเข้าสู่ระบบประกันสังคม สิทธิเดินทางได้ทั่วประเทศ รวมถึงสิทธิการทำใบอนุญาตขับขี่ฯ
 
            แรงงานพม่าเริ่มทยอยเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติใน 3 ช่องทางที่รัฐบาลพม่าจัดไว้ ทั้งจังหวัดท่าขี้เหล็ก (ตรงข้ามจังหวัดเชียงราย) จังหวัดเมียวดี (ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก) และจังหวัดเกาะสอง (ตรงข้ามจังหวัดระนอง) ทว่าแรงงานที่เป็นชนกลุ่มน้อยในพม่า โดยเฉพาะแรงงานมอญ ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากในไทยกลับมองว่า การพิสูจน์สัญชาติครั้งนี้อาจไม่ส่งผลดีแต่อย่างใด
 
            ในแง่หนึ่ง เนื่องจากความรู้สึกหวาดระแวงไม่ไว้ใจของแรงงานมอญต่อรัฐบาลพม่าที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาตั้งแต่ชนชาติมอญเสียเอกราชให้แก่ชนชาติพม่าเมื่อ พ.ศ.2301   และครั้งหลังที่พม่าเป็นเอกราชจากอังกฤษเมื่อ พ.ศ.2490     บรรดาผู้นำชนกลุ่มน้อยเจรจาทำสนธิสัญญาปางโหลงเพื่อกำหนดให้แต่ละชนชาติมีสิทธิปกครองตนเอง แต่ภายหลังรัฐบาลทหารพม่าก็ละเมิดข้อตกลงดังกล่าวจนกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งเรื้อรังจนทุกวันนี้ 
 
ปัญหาความไม่ไว้วางใจยังโยงไปถึงการขาดหลักประกันที่จะรับรองว่า หลังจากครบอายุหนังสือเดินทางชั่วคราว 4 ปีสิ้นสุดลง จะปลอดจากการเก็บภาษีจากรัฐบาลทหารพม่าร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งประเด็นนี้ รัฐบาลไทยก็รับรองได้ไม่เต็มปากนัก
 
            อีกประการหนึ่ง เกิดจากขาดการประชาสัมพันธ์ข้อมูลอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสื่อที่เป็นภาษาของผู้ใช้แรงงาน จนเกิดกระแสข่าวลือในบรรดาแรงงานว่า หากพิสูจน์สัญชาติแล้วจะต้องถูกรัฐบาลพม่าจับกุม รีดเร้นภาษีจากครอบครัวที่พม่า จนถึงขั้นที่ว่า หากแรงงานมอญไปพิสูจน์สัญชาติจนได้รับหนังสือเดินทางที่ระบุสัญชาติพม่าทั้งหมด อัตลักษณ์ความเป็นชาติมอญก็จะสูญหายไปในที่สุด
 
            ฉะนั้น พลันที่รัฐบาลไทยกำหนดนโยบายพิสูจน์สัญชาติพม่า จึงเกิดปรากฎการณ์แรงงานมอญเช่นที่สมุทรสาครและสมุทรปราการทยอยเดินทางกลับประเทศพม่าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรีซึ่งอยู่ใกล้กับรัฐมอญ ประเทศพม่า โดยคาดการณ์ว่า เดือนหนึ่งๆ กลับเป็นหลักพันคน และบางส่วนถึงขั้นหยุดงานประท้วง ขณะเดียวกัน ฟากฝั่งนายจ้างผู้ประกอบการก็ประสบปัญหาแรงงานลาออกกลับพม่าจำนวนมาก จนต้องเจรจากับภาครัฐเพื่อให้ชะลอการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติออกไป ซึ่งท่าทีของภาครัฐเองเริ่มโอนอ่อนและรับฟังปัญหามากขึ้นโดยมีแนวโน้มงัดมาตรการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน (บัตรแข็งสีชมพู) มาใช้ไปพลางก่อนจนกว่าระบบจะเข้าที่
 
            แนวทางต่อการจัดการปัญหาการพิสูจน์สัญชาติโดยการขยายระยะเวลาเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องตัดสินใจอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยที่ต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน   นอกจากนี้รัฐควรส่งเสริมให้แรงงานสามารถพิสูจน์สัญชาติด้วยตนเองโดยสะดวก ด้วยการเร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วน ส่วนประเด็นค่าใช้จ่าย แม้จะมีการลดค่าธรรมเนียมตรวจลงตราหนังสือเดินทางชั่วคราวจาก 2,000 บาทเหลือเพียง 500 บาทก็ตาม ทว่าแรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อยถูกเจ้าของกิจการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 6,000 – 12,000 บาท ผ่านบริษัทตัวแทนนายหน้าที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด และแรงงานก็ถูกมัดมือชกให้ต้องจ่ายแพงเกินจริง ประเด็นสำคัญคือ ต้องควบคุมขบวนการอิทธิพลหรือเจ้าหน้าที่บางส่วนที่คอยรีดไถแรงงานข้ามชาติ เพื่อเป็นหลักประกันว่าพิสูจน์สัญชาติแล้วจะได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างแท้จริง
 
มาตรการพิสูจน์สัญชาติในระยะยาวให้เกิดแรงงานถูกกฎหมายถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องและจำเป็น แต่รัฐบาลไม่ควรหวังขจัดแรงงานข้ามชาติออกไปจากประเทศไทย โดยบีบบังคับว่า หากไม่พิสูจน์สัญชาติก็จะหมดสิทธิอยู่และทำงานในประเทศไทยต่อไป เพราะแม้จะทำให้แรงงานข้ามชาติหวาดวิตกบ้าง แต่นั่นคงไม่เท่ากับความกลัวว่า หากพิสูจน์สัญชาติและกลับพม่าแล้วต้องถูกคิดบัญชีย้อนหลังในวันต่อมา ด้วยเมื่อถึงเวลานั้นต่อให้เมืองไทยทั้งปลอบทั้งขู่ แรงงานก็กู่ไม่กลับมาอีกแล้ว 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net