“เอาคนพื้นที่มาเป็นพลังเราแค่ขับเคลื่อน" : 'ภาณุ อุทัยรัตน์’ ผอ.ศอ.บต.ลูกที่นำทัพดับไฟใต้

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 อาจถือเป็นความเปลี่ยนสำคัญครั้งหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับการเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศอ.บต.) ของนายภาณุ อุทัยรัตน์ ต่อจากนายพระนาย สุวรรณรัฐ ในฐานะรองปลัดกระทรวงมหาดไทยฝ่ายกิจการพิเศษ ควบเก้าอี้ ผอ.ศอ.บต.

ทันทีที่เข้ารับบทบาทตำแหน่ง งานแรกที่เจอคือเร่งแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ รวมถึงหารือผู้เกี่ยวข้องใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (War Room) พร้อมกันนี้ ยังเปิดสายด่วนสันติสุขถาวร 1880 เพื่อเพิ่มช่องทางการแจ้งข้อมูลข่าวสารของประชาชน

ภารกิจสำคัญในการชิงมวลชนชายแดนใต้ให้รู้สึกอบอุ่นใจต่อรัฐไทย เขาต้องทำอะไรบ้าง อ่านบทสัมภาษณ์ของเขาได้ในฐานะลูกที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

 

 

-ในฐานะที่เคยเป็นพ่อเมืองปัตตานีมาก่อน แล้วต้องมารับตำแหน่ง ผอ.ศอ.บต. 

ถือเป็นความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชา พร้อมที่จะทำหน้าที่ ในฐานะที่ผมเป็นคนท้องที่ ต้องใช้ประสบการณ์พื้นที่มาระดมความร่วมมือกับพี่น้องประชาชน เพื่อช่วยกันทำให้พื้นที่มีความน่าอยู่มากขึ้น

ใช้คำว่า น่าอยู่มากขึ้น ผมจะไม่พยายามใช้คำว่า สันติสุข  เพราะว่าเราใช้จนมันไม่สันติสุขแล้ว ขอให้คิดว่า ศอ.บต. เป็นตัวช่วยถ้าเหลือ เมื่อมือผู้ว่าฯ ไปไม่ถึง หรือเครือข่ายผู้ว่าฯ ไปไม่กว้าง ศอ.บต.จะเข้าไปช่วยเหลือดูแลตรงนี้ นี่คือประเด็นที่ 1

ประเด็นที่ 2 ผมคิดว่าสถานการณ์ใน 1 ปีหลังจากที่ผมออกจากพื้นที่ไป  ผมว่ามันเป็นโอกาสดีของพื้นที่มากขึ้น ตรงที่ว่าเราเห็นความชัดเจนในแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เราเคยได้ยินมาตลอดว่ารัฐบาลบอกว่า  การแก้ไขปัญหามาถูกทาง  คนก็พยายามคิดต่อว่าถูกทางยังไง เพราะยังมีระเบิด ยังยิงกัน  ตรงนั้นไม่ใช่คำถาม

ผมว่าถูกทางในที่นี้คือ  ผมคิดว่าทิศทางกระบวนการในการพัฒนาพื้นที่ มันมาถูกทิศถูกทางขอให้พี่น้องประชานชนมั่นใจ  เราไม่นำพาเรือลำหรือนำพี่น้องประชาชนไปตกหนอง ตกดิน ตกคลอง หรือไปทางตัน แต่มันเป็นกระบวนการในการดำเนินการ  มั่นใจว่าข้างหน้าเป็นทางที่สดใสแน่นอน

พอพูดว่าทางที่สดใสจะเอาอะไรมาเป็นตัวชี้วัด ? ขอเรียนว่าแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการคือ  มุ่งในเรื่องของการพัฒนา  ผมคิดว่าจะเป็นครั้งสำคัญที่เรามีครัวเรือนเป้าหมายในการพัฒนาที่ชัดเจน เรามีพื้นที่พัฒนาชัด ครัวเรือนที่ว่านี้ก็คือเราเอาครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 64,000 บาท / ปี จะต้องยกระดับให้ได้ภายในปี 2555 ให้ได้ 120,000 บาท / ปี ช่วงแรกๆ เรากำหนดให้ได้ 696 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นหมู่บ้านยากจนเป็นพื้นที่ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ

แต่วันนี้รัฐบาลบอกว่าทำพร้อมกันในพื้นที่ 2,000 กว่าหมู่บ้าน หมายความว่าเวลานี้พี่น้องประชาชนก็พร้อมใจกันมีรายได้มากกว่ากว่า 64,000 บาท/ปี แล้วทุกคนมีความรู้สึกว่าไม่อยากจะจนอีกต่อไป ตรงนี้กลับกลายเป็นการให้กำลังใจ และร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไร ?

ที่พูดมาเพื่อให้พวกเราเห็นว่าเรามีเป้าหมายชัด คราวนี้สังคมก็จะต้องมาช่วยกันคิด-เลือกว่าใครเป็นคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 64,000 บาท แล้วสังคมจะช่วยเขาอย่างไร? เขาควรมีวัว 3 ตัว 5 ตัว เขาควรจะเลี้ยงเป็ด ปลูกปาล์ม ยางพารา ไปทำบ่อปลา เป็นผู้ใช้แรงงาน หรือทำอย่างไรเขาจะประหยัดค่าใช้จ่าย

บางทีการมีชีวิตดีไม่ใช่ว่าต้องจ่ายอย่าเดียว การรู้จักประหยัด ไม่ต้องใช้จ่ายอะไร จะทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ก็ต้องช่วยกันคิด เรียกว่าดีมานด์ไซด์ (Demand side) คือความต้องการโดยรวมของคนทั้งหมู่บ้าน

ครอบครัวละเท่าไร  มีแล้วเท่าไร เราก็ต้องดูศักยภาพของรัฐ โครงการต่างๆ งบประมาณเรามีให้เขาเท่าไร  เช่น ปีนี้กรมพัฒนาที่ดินบอกว่าจะสนับสนุนในเรื่องของการปลูกปาล์มจำนวน 20,000 ไร่ เราสำรวจดูแล้ว ความต้องการของครัวเรือนยากจนเหล่านี้ต้องการปลูกปาล์มจำนวน18,000 ไร่ โดยทางรัฐยังอุดหนุนได้อีก 2,000ไร่ ก็มาเช็คกันว่าใครต้องการเพิ่มเติม

พี่น้องประชาชนต้องการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว ต้องการเป็นแสนตัว  วันนี้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรสนับสนุนได้เท่าไร  ความต้องการกับสมการสนับสนุนต้องมาชนกัน อะไรที่มาสนับสนุนมากขึ้น ก็ต้องถามว่ามีความต้องการหรือไม่ ? ถ้าไม่ต้องการเราจะเอางบประมาณส่วนนี้ไปทำอย่างอื่น 

-ทั้ง 696 หมู่บ้าน จะใช้งบประมาณเท่าไร?

ก็เยอะ  วันนี้งานพัฒนา เราใช้เงินถูกทิศถูกทาง เป็นไปตามความต้องการ เราใช้ประสบการณ์ที่ทำมา  บางทีอาจจะล้มเหลว เราก็ต้องมาศึกษาต่อว่าที่ล้มเหลวเพราะอะไร? ข้าราชการซึ่งเป็นคนที่คอยแนะนำ เขาก็ต้องทำหน้าที่ของเขาไป

ความรับผิดชอบมันไม่ใช่เฉพาะประชาชน  กลไกของเจ้าหน้าที่รัฐที่คอยเป็นพี่เลี้ยงเขา  เราได้ทำเต็มที่หรือไม่ ? ที่ผมพูดมาทั้งหมดคือทิศทาง

ผมถึงบอกว่าวันนี้เรามีเป้าหมายชัดเจน  เราตอบให้ได้ว่าครอบครัว  ครัวเรือน เป้าหมายที่เรากำหนดขึ้นมา  พอปี 2555 เค้ามีเงิน 120,000 บาท  จริงหรือเปล่า ? ถ้าเราเอา 640,000 บาท/ปี คือรายได้ต้องต่ำกว่า 5,000 บาท / เดือน ต่อไปต้อง 10,000 บาท / เดือน ในระยะเวลา 3 ปี นั่นคือสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำให้ได้

เรามีงบประมาณทั้งหมดคือ 3 ปี 1,600 ล้าน และแน่นอนครับว่ากระทรวงเกษตรรับมาเท่าไหร่ อาจจะเป็น 3,000 ล้าน ตรงนี้มีตัวเลข ผมเองก็คงให้ตัวเลขรายละเอียดไปไม่ได้

ผมเรียนว่าท่านนายกรัฐมนตรีให้โอวาทในวันที่ผมไปรายงานตัว ท่านบอกว่าโครงการ-งบประมาณ ที่เราเข้าไปดูแล ทำอย่างไรโครงการที่จะลงไปเป็นโครงการของประชาชนจริงๆ  ในการที่เขาต้องการวัว–ควาย มันต้องผ่านประชาคม ซึ่งตอนนี้ได้ผ่านมาแล้ว  ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม มีการให้ 4 เสาหลักช่วยพิจารณา ที่จะช่วยกันคิด-ช่วยแสดงความคิดเห็น

ที่ท่านนายกฯ  บอกว่าต้องเป็นโครงการของชาวบ้าน  นี่คือทางประชาคมตอบโจทย์ข้อนี้ อันที่ 2 คือชาวบ้านต้องการอะไร  ชาวบ้านต้องการไก่ 20 ตัว  ต้องไปถึงชาวบ้านจริง ๆ  ชาวบ้านต้องการบ่อปลา ก็ต้องเป็นบ่อปลาที่ถึงชาวบ้านต้องการจริงๆ  ไม่ไปตกระหว่างทาง แล้วเราก็ให้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษคือบรรดาประชาชน ข้าราชการ หรือผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องอาชีพนี้เข้าไปแนะนำ ประการสุดท้ายที่นายกฯ  บอก คือ ทำแล้วประโยชน์ได้กับชาวบ้านจริงๆ  

- สี่เสาหลักคืออะไร

สี่เสาหลักก็คือ แกนของคณะกรรมการหมู่บ้าน เรามีส่วนผู้นำท้องที่  คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เรามีผู้นำศาสนา  นั่นก็คือโต๊ะอิหม่าม เรามีผู้นำของฝ่ายกฎหมายท้องถิ่น  ก็คือตัวแทนของ อบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล) เรามีผู้นำโดยธรรมชาติ คือคนที่ชาวบ้านนับถือ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นปราชญ์ชาวบ้าน เป็นผู้อาวุโส ส่วนคณะกรรมการหมู่บ้านก็มีผู้นำสตรี ผู้นำเยาวชน มีฝ่ายรักษาความปลอดภัย ช่วยกันคิด ช่วยกันปลุก ให้ทุกคนช่วยกันคิด ให้ทุกคนรู้จักที่จะออกความคิดเห็น

-โครงการนี้จะเริ่มได้เมื่อไหร่  ? หมายถึงตัวเงินที่จะไปถึงชาวบ้าน

จริงๆ แล้วก็คงจะวันนี้ ดีมานด์ –ซับพลายด์มันต้องตรงกัน โครงการนี้เราประชุมสุดท้ายเมื่อวันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2552 ผ่านมา วันนี้บางส่วนยังไม่จบ เช่น ต้องการสร้างบ้านของ ก็เข้าโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.(สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) บ้านเพื่อความมั่นคง เรามีศักยภาพมากกว่าความต้องการ แต่เนื่องจากความต้องการบางทีความต้องการมันต้องการจากที่อื่น เราก็เอามารวมกันเป็นพื้นที่พิเศษตรงนี้

ถามว่าเมื่อไหร่จะลงไปผมคิดว่าต้องเร็วที่สุด เพราะว่าวันนี้จำเป็นจะต้องเอามาให้ประชุมกันก่อนอะไรที่ขาดอยู่จะได้เติม อะไรที่เกินก็จะได้ตัด  อันนี้ก็จะต้องให้ขอเวลานิดหนึ่ง  ไม่อย่างนั้นอันหนึ่งที่เราห่วงกันมากก็คือว่า หนึ่ง เป้นความต้องการแท้จริงหรือไม่  หรือแท้จริงแล้ว อันที่สองเราศึกษาประสบการณ์แต่ละเรื่องหรือยังว่ามันล้มเหลวเพราะอะไร  คนเคยให้มาแล้ว มันล้มเหลวเท่าไหร่ ต้องช่วยกันป้องกันตรงนี้ด้วย มันจะได้ไม่เสียเปล่า อันที่สามก็คือความโปร่งใส  ความโปร่งใสในการจัดหางบประมาณ  อันนี้คือจุดหนึ่งที่ท่านนายกฯ  กังวลอยู่ แล้วก็เร่งรัดกันเป็นกับ  ศอ.บต. 

-ความต่างของ  ผอ.ศอ.บต.คนเก่าๆ  คือความเป็นลูกที่  การเป็นคนพื้นที่  พูดภาษามลายูได้นิดหน่อย  มีผลต่อการทำงานหรือไม่

ผมพูดกับเราเมื่อสักครู่ว่า  ผมจะใช้ความเป็นลูกที่และประสบการณ์ที่มีอยู่  ทำงานร่วมกับคนอื่นให้ดีที่สุด  คือบางทีเราบอกว่าเราลูกที่รู้ปัญหา ถ้ารู้ปัญหาแล้วไม่ได้มีโอกาสแก้  ก็แค่นั้น และน่าเจ็บใจด้วยซ้ำ

ขณะเดียวกันประสบการณ์ที่เรามีอยู่ แล้วก็มีคนที่เป็นลูกที่คิดอย่างเรามากมาย ถามวันนี้ทุกคนในจังหวัดปัตตานี ก็คิดตรงกันว่าเมื่อไหร่เหตุการณ์นี้จะผ่านไปสักที คนยะลาก็เหมือนกัน เดาใจได้ถูก  คนนราธิวาสก็เหมือนกัน

พราะฉะนั้นตรงนี้เรามีเป้าหมาย  ผมมีหน้าที่แค่ขับเคลื่อนเอาคนเหล่านี้มาเป็นพลัง  เราต้องทำงานร่วมกัน การเป็นลูกที่ รู้ถึงภาษา สำคัญกว่านั้นผมมีเพื่อน  การมีลูกที่ที่เป็นเพื่อน เคยเล่นกัน เรียนด้วยกัน คนเหล่านี้ล้วนแต่อาสาทั้งนั้น  เป็นเครือข่ายของผม

กลุ่มวิทยุสมัครเล่นที่ผมตั้งไว้ตอนผมเป็นรองผู้ว่าฯ  ยะลา วันนี้กระจายออกไปในพื้นที่ 3 จังหวัด พร้อมจะมีตัวแทนวิทยุสมัครเล่นอยู่ทุกหมู่บ้านอยู่แล้ว เขาต้องมาพร้อมกันเป็นเครือข่าย

ผมคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสดีของประชาชน บวกกับที่ท่าน ผอ.พระนาย ทำไว้อย่างดี ผมพูดกันเล่น ๆ ว่าท่านตีหัวปลาตั้งไว้หมดแล้ว ผมมีหน้าที่ขูดเกร็ดแกงส้มอย่างเดียว  เราต้องยอมรับ และท่านก็ทุ่มเทตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา

-โดยมาตรฐานของ  ผอ.ศอ.บต. คนเก่าทำมาตรฐานไว้สูง  ภาพรวมของการพัฒนาแทบจะครอบคลุม  ท่านมามีอะไรใหม่ๆ  นอกเหนือจาก  ผอ.คนอื่นที่ไม่ได้ทำบ้าง

ต้องบอกว่า  ผอ.พระนายท่านทำไว้ดีมาก โดยเฉพาะโครงสร้าง ผมคิดว่าตัวเองโชคดี  แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามว่าอะไรที่ท่านยังไม่ครอบคลุมก็จะทำให้ครอบคลุม  อะไรที่ยังไม่ชัดเจนก็จะทำให้ชัดเจนมากขึ้น

-เช่นเรื่องอะไรบ้าง

ในส่วนของโครงการพนม. (โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในระดับหมู่บ้าน) ซึ่งเป็นโครงการที่ท่านผอ.ศอ.บต.ได้ดำเนินการมา  2 ปีต่อเนื่องกัน เราก็มาดูว่าเนื้อหาโครงการที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

บางทีเป็นเพราะชาวบ้านยังถือวิธีการใช้งบประมาณแบบเดิม  คือคิดในเรื่องของอยากได้รั้วสวยๆ อยากได้อะไรที่เป็นเรื่องของวัตถุ เขาคิดง่ายๆ วันนี้ทำอย่างไรที่จะให้เขาคิดเกินไปกว่านั้น  เช่น เราบอกว่าวันนี้เงิน 222,000 บาท เราควรกักไว้สัก 30,000 – 50,000 บาท เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาเรื่องของยาเสพติด

นั้นคือแนวทางที่เราจะต้องให้ความคิดร่วมกัน  กลุ่มคณะกรรมการทุกกลุ่มทุกหมู่บ้าน ต้องคิดว่าวันนี้ภัยมาถึงลูกหลาน  เราจะช่วยลูกหลานได้อย่างไรในการแก้ไขปัญหายาเสพติด  เรามีมาตรการในการป้องกันอย่างไร? มีมาตรฐานในการบำบัดรักษาอย่างไร? อันนี้คือแนวทาง

เราไม่คิดแต่เรื่องของถาวรวัตถุทั่วไปแล้ว  ซึ่งตัวนี้ก็เป็นอันหนึ่งที่เราจะแนะนำไปยังกรรมการหมู่บ้านให้ร่วมกันคิด

-เท่าที่สัมผัสคนในพื้นที่  เรื่องการอำนวยความยุติธรรมยังเป็นช่องว่างของ ศอ.บต. จะจัดการอย่างไรกับเรื่องนี้   

เป็นโจทย์ที่หลายหน่วยให้ความสนใจ  กระทรวงยุติธรรมก็ให้ความสนใจ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่า วันนี้เรายังให้บทบาทสำคัญ  อย่างเช่น ผมทำสมาคมทนายความมุสลิม  คนเหล่านี้เข้าถึงข้อมูลกับพี่น้องประชาชนได้ดีกว่า  เค้าไว้วางใจในการพูดจา บอกกล่าวกันมากกว่า

เพราะอย่างนั้น  เราจะทำอย่างไรว่าตัวกรรมการสมาคมกับบรรดาสมาชิกทั้งหลาย ซึ่งเราก็มีความสัมพันธ์กันดี จะได้ให้เราเข้าไปเพื่อการช่วยเหลือผ่านทางสมาคม ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่ง  นั่นคือสมาคมทนายความ อันที่ 2 เราจะทำอย่างไร เพื่อให้มีศูนย์อำนวยความยุติธรรม ซึ่งวันนี้มีอยู่ที่อำเภอแล้ว เรามียุติธรรมชุมชนที่อยู่ในตำบล-หมู่บ้านแล้ว แต่ทำอย่างไรให้กระบวนเนื้อหาเป็นที่พึ่งอาศัยของชาวบ้านได้จริงๆ

แน่นอน  ตรงนั้นก็คือกลไกลของรัฐบาลที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแล ทำอย่างไรให้ชาวบ้านวางใจกลุ่มยุติธรรมชุมชน ซึ่งยุติธรรมชุมชนรับปัญหามาแล้วก็หยุดอยู่ที่ตัวเอง เราเองต้องเข้าไปช่วยเหลือ  ให้ความสำคัญกับชาวบ้านมากขึ้น

-อย่าง  เอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน  : NGOs) เห็นช่องว่างตรงนี้ จึงตั้งองค์กรเข้ามาร่วมดูแล

ผมมั่นใจว่าทุกคนมีเป้าหมายเหมือนกัน คือการช่วยเหลือ ในขณะเดียวกันการช่วยเหลือตรงนี้ใครจะมีโอกาสมากกว่ากัน  นั้นคือความไว้วางใจจากเจ้าทุกข์คือพี่น้องประชาชนมากกว่า  วันนี้ ศอ.บต. ที่เราเปิดสายด่วนสันติสุขถาวร 1880 มีเบอร์มือถือของผอ. (08-0088-8308) เรามีเบอร์ขององค์กร (0-7327-4000) 

-ให้หลักทำงานกับข้าราชการอย่างไร  หรือมีอะไรเป็นพิเศษบ้าง 

แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือภารกิจของ ศอ.บต. ศ = เน้นหนักในเรื่องศาสนสัมพันธ์ อยากเอาของเรื่องศาสนามาแก้ปัญหา เช่น เราต้องการแก้ไขปัญหายาเสพติด ผมก็มอบนโยบายไปทางท่านรองประมุข (ประมุข ลมุล-รองผอ.ศอ.บต.) ดูว่าเนื้อหาในฮาดิสในซุเราะห์ ตรงไหนที่พูดถึงพิษภัยของยาเสพติด เพราะวันนี้พ่อแม่เตือนก็ไม่เชื่อแล้ว แต่เด็กจะกลัวในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ นี่คือศาสนา เราจะนำเรื่องเหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อแก้ไขปัญหา

เราจะกำหนดแนวทางกับผู้ปฏิบัติ ศอ.บต. คือผู้ช่วย อ = คือ ความอบอุ่น เอื้ออาทร สิ่งที่สังคมในจังหวัดชายแดนใต้ต้องการวันนี้ เนื่องจากสภาพเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ ความบกพร่องในกลไกของรัฐก็มี อันนี้สำคัญ

ผมเป็นข้าราชการ ผมไม่สามารถรับรองว่าจะต้องไม่มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น คนจะไม่เดือดร้อน คนจะได้ไม่ตาย  ผมรับรองไม่ได้ แต่ที่คิดว่าผมทำได้คือให้ทุกคนมีความอบอุ่น อบอุ่นใจจากการที่เราทำงาน  จากที่เราทุ่มเท จุดตรวจต้องเป็นจุดตรวจรถจริงๆ  ไม่ใช่จุดดูรถ ซึ่งเป็นความสำคัญของการกระตือรือร้นในการทำงาน  หากผ่านจุดตรวจจริงๆ แล้วมีการตรวจจะทำให้เกิดความอบอุ่นใจ นี่คือ อ ที่อยากให้เกิดขึ้นมากๆ ภารกิจจะทำอย่างไรให้คนอบอุ่นใจจากการทำงานของฝ่ายราชการ

บ = คือการบริการ การให้ความเป็นธรรม คือการบริการอย่างหนึ่ง ผมบอกกับข้าราชการ ประกาศเป็นอุดมการณ์หรือเป็นคำรับรองจากราชการ เราบอกว่าข้าราชการชายแดนใต้วันนี้ดีเกินคาด เงื่อนไขสำคัญของปัญหาชายแดนภาคใต้ ข้าราชการไม่บริการ ข้าราชการขูดรีด ข้าราชการเย่อหยิ่ง ข้าราชการข่มเหง ขอให้ความเป็นธรรมกับเขาเถอะ นั่นคือเมื่อ 20 ปี ที่แล้ว

วันนี้เขาพัฒนาแล้วนะ  แต่เรายังพูดอย่างนี้ ผมว่าข้าราชการคงหมดกำลังใจเหมือนกัน  คือต้องสร้างภาพที่ดีให้แก่ข้าราชการ  ไม่ใช่เรายืนยันจากการรับบริการว่าดี  แต่ถ้าเขามารับบริการแล้วแย่กว่าที่คิด  ถ้าผลตอบกลับตรงกันข้ามว่าแย่

คือการให้บริการไม่ใช่ว่าถ้าเขาขออะไรก็ให้ ต้องอยู่ที่ท่าทีการเจอกันครั้งแรก  ว่ายิ้มแย้มแจ่มใส แต่ความใส่ใจจะเกิดขึ้น การยิ้มแย้มนี่แหละเป็นเรื่องสำคัญ  วันนี้เรามีพื้นที่หน่วยบริการ 33 จุด ผมกำลังขยายพื้นที่ใหม่ น่าจะประมาณ 60 หน่วยงาน ใน 33 อำเภอ ทั้ง 33 อำเภอ รวมทั้ง 4 อำเภอของสงขลาด้วย

เราจะติดเครื่องประเมินผลว่าประชาชน  พอใจ ไม่พอใจ ปรับปรุง  มีสีเขียว เหลือง แดง ผมได้ทำที่นครศรีธรรมราช  ชาวบ้านพอใจ ซึ่งเป็นลู่ทางในการปรับปรุงงานของเราด้วย

ต = ตรวจสอบเพื่อความปลอดภัย อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ เรื่องวงจรปิด ที่มีอยู่แต่ยังใช้งานไม่ได้ อะไรที่สนับสนุนความปลอดภัยให้กับประชาชนได้ เราต้องทำ นี่ คือ ศอบต.ในภาระกิจของผม

ส่วนฝ่ายปฏิบัติการจริง  ๆ ที่อยู่ในอำเภอ คนที่ดูแลข้าราชการเหล่านี้คือผู้ว่าราชการจังหวัด คนปฏิบัติคือพี่น้องราชการที่อยู่ในพื้นที่เป็นสำคัญ

วันนี้เราต้องบอกว่าเราบริการแล้ว  เราจะไม่มีสิทธิในการสร้างเงื่อนไขอะไรทั้งสิ้น  การแก้ไขปัญหาต้องไม่มีการล้มเหลวเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าจะต้องทำให้ประสบความสำเร็จ  แต่ว่าต้องมีทิศทางที่ดีขึ้น 

-ประเด็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศอ.บต. 

สภาผู้แทนราษฎรรับเข้าสู่วาระเรียบร้อย เมื่อวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน  2552 นำเสนอโดยท่านถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) และทีมงาน มีทั้งร่างของ ส.ส.(สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร)วิรัตน์ (วิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ :ปชป.)  ส.ส. นิพนธ์ บุญญามณี (ส.ส.สงขลา ปชป.) ร่างของหมอแว (นายแพทย์แวหะมะดี แวดาโอะ สส.นราธิวาส พรรคเพื่อไทย : พท.) และอีก 2 ร่างของส.ส.ภาคอีสานนี่คือร่างที่นำมาประกอบ

ต่อมาในวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน 2552 สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการแล้ว โดยรับพิจารณาทั้ง 6 ฉบับ ซึ่งต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ศอ.บต. 31 คน การมี พ.ร.บ.เป็นเรื่องเร่งด่วน พรรคการเมืองทุกพรรคเห็นพ้องต้องกัน

-ประเด็นร่าง  พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี  ยะลา นราธิวาส  และสตูล

วันนี้มีความก้าวหน้าพอสมควร ตอนนี้อยู่ที่ขั้นตอนการนำเสนอ  มีร่างของ ส.ว. และของคุณวิรัตน์ (กัลยาศิริ) ด้วย และมีผู้แทนจากหลากหลาย มีทางตุลาการมาร่วมด้วย มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น  ผมคิดว่าในสมัยหน้าเปิดสภาคงมีโอกาสคุยกันถึงเรื่องนี้ และรัฐบาลก็ให้ความสำคัญ  เป็นเรื่องหนึ่งที่ท่านนายกฯ  ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ  เพราะงานชิ้นนี้เป็นชิ้นโบว์แดงของ  ศอ.บต. ทาง สสต. (สภาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้)ก็มีผลักดันเต็มที่ 

-ในส่วนของ  สสต. ซึ่งเป็นเวทีสำหรับคนพื้นที่ได้เข้ามามีบทบาทในการให้ความเป็นให้คำปรึกษากับศอ.บต. จนสามารถผลักดันในประเด็นต่างที่เป็นความต้องการของคนในพื้นที่ได้ส่วนหนึ่ง  ซึ่งบางเรื่องมีความพิเศษอยู่  เช่น ในเรื่องการออกกฎหมายว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในพื้นที่  ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจาก  สสต.

สมาชิกสสต.กำหนดมาจากคนหลากหลายด้วยความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี โดยภารกิจที่กำหนดแล้วก็ค่อนข้างที่จะมีประโยชน์ อะไรที่เป็นภาระหน้าที่อยู่เหนือกว่าศอ.บต. ก็สามารถที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นได้ เพื่อประโยชน์ของคนในพื้นที่ ตรงนี้เองเป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญเป็นพิเศษ แต่วันนี้สมาชิก สสต.หมดอายุแล้ว ผมก็ต่ออายุให้อีกครั้ง ไม่ได้คัดเลือกกันใหม่ เพราะเราจะรอ พ.ร.บ.ศอ.บต.ก่อน ที่น่าจะออกมาได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2553

วันนี้จากผลงานและการให้ความรู้ ความสำคัญต่อ ศอ.บต.ทำให้เราเห็นความจำเป็นว่า เขาต้องอยู่ช่วยเรา ซึ่งใน ร่าง พ.ร.บ.ศอ.บต.มีสภาเสริมสุขสันติสุขอยู่ในโครงสร้างของศอ.บต.ด้วย ระบุไว้ชัดเจนว่า องค์ประกอบในสภาเสริมสุขสันติสุขมีใครบ้าง แต่เราก็ไม่รู้ว่าร่าง พ.ร.บ.ศอ.บต.จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่จะบอกไว้ว่าทิศทางที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือการรวบรวมความคิดความอ่านของคนในพื้นที่ ก็คือสภาเสริมสุขสันติสุขนี่เองที่จะเป็นแนวคิดของสภาความมั่นคงแห่งชาติและต้องเอาแนวความคิดของสภาเสริมสุขสันติสุขมาเป็นแนวทางในการทำงานด้วย

นอกจากนี้คณะกรรมการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ก็ต้องเอาแนวคิดของสภาเสริมสุขมาเป็นแนวนโยบายด้วย ทั้ง 2 ภาค ทั้งภาคการพัฒนา และภาคของความมั่นคง 

-ประเด็นการส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ตอนนี้เป็นอย่างไร

วันนี้ถือเป็นความโชคดีของพื้นที่  มีบริษัทใหญ่ๆ ที่มีเครือข่ายมากมายให้ความสนใจกับพื้นที่  ผมเห็นความสำเร็จของโครงการที่ศูนย์ตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อการส่งออกที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส แม้ยังไม่เปิดเป็นทางการ  แต่มีคนงานถึง 250 คน

นนี้ผมมอบหน้าที่ให้กับรองประมุข ประสานงานกับจังหวัดยะลา  เราจะเปิดอีกจุดที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลาอีก 350 คน บริษัทพร้อมที่จะรับคนงาน

ต่อมาคือเรื่องอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับผลผลิตทางการเกษตร หลักๆ คือมังคุด ทุเรียน  เงาะ เราคิดกันมานานเรื่องโรงงานแปรรูป ทำอย่างไรให้เจ้าของสวนได้เงินมากกว่าเดิม รัฐบาลให้งบประมาณมาพอสมควร ให้ใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น ความชัดเจนจึงมากขึ้นตามมา  อันนี้เป็นหน้าที่ของ ศอ.บต.ที่ต้องรีบทำ อย่างปัญหาราคาผลไม้ เราจะไม่คิดตอนที่ผลไม่สุกแล้ว   

-การขยายขอบเขตของ  ศอ.บต.ที่มีเค้าว่า  อาจจะเพิ่ม 12 อำเภอสงขลาไปด้วย  ตรงนี้เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์

การแก้ไขปัญหาพื้นที่  เราไม่ได้มองเรื่องความมั่นคงอย่างเดียว เรามองเรื่องการพัฒนาด้วย จะขยายความรุนแรงไปพื้นที่อื่นหรือไม่ ผมว่าถึงเวลาที่จะต้องป้องกันไว้ก่อน  เพื่อไม่ให้ขยายออกไป

ขณะเดียวกันเราก็มีงบประมาณ  สามารถที่จะแบ่งสัดส่วนได้  พื้นที่ 3 จังหวัด ใน 100 บาท  พื้นที่ 3 จังหวัดเอาไป 80 บาท  อีก 20 % เป็นพื้นที่ฉีดวัคซีน แบ่งปันกันได้  

-ช่วงที่ดำรงตำแหน่ง  กล้าฟันธงไหมว่าเหตุการณ์จะน้อยลง

ดีขึ้น  ต้องบอกว่าดีขึ้น คือยังนี้  ถ้าเราเอาสถิติมาพูดกัน คงตอบตรงๆไม่ได้  ดีขึ้นในความรู้สึกของคน  คือคนวางใจมากขึ้น อบอุ่นใจมากขึ้น  บรรยากาศเริ่มมีชีวิตชีวา คนกล้าออกนอกบ้านมากขึ้น

..................

รู้จักภาณุ  อุทัยรัตน์

นายภาณุ เป็นชาว อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2499 เป็นบุตรของนายห้อม และนางสรรเสริญ อุทัยรัตน์ จบการศึกษาระดับต้นจากโรงเรียนในอำเภอหนองจิก ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศปัตตานี โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สิงห์แดง)

เป็นนักเรียนนายอำเภอรุ่นที่ 32 สำเร็จหลักสูตรนักปกครองระดับสูงรุ่นที่ 34 เส้นทางชีวิตราชการวนเวียนอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด

เคยเป็นปลัดอำเภอระแงะ แว้ง จ่าจังหวัดนราธิวาส ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่ง อำเภอเจาะไอร้อง นายอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส นายอำเภอเมืองสงขลา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ระดับ 10 กระทรวงมหาดไทย ก่อนจะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2548 จากนั้นย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชประมาณ 1 ปี ก่อนดำรงตำแหน่ง ผอ.ศอ.บต.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท