ข้อเสนอแนะการใช้กฎหมายอิสลามของชาวมุสลิม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
ชื่อเดิม: ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทยกรณีการใช้กฎหมายอิสลามของชาวมุสลิม 
        
 
      ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด  ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน
 

.บทนำ
               ตามทัศนะอิสลามถือว่าศาสนาคือแนวทางการดำเนินชีวิตซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่ครอบคลุมและมีความบริบูรณ์ในทุกด้านและทุกมิติของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ในขณะที่กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกของประเทศไทยมีกฎหมายรองรับเพียงสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น (ปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล) ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีกฎหมายรองรับสำหรับในจังหวัดอื่นๆด้วยเช่นกัน
 
              อันเนื่องมาจากกฎหมายอิสลามเสมือน   ระเบียบ ข้อบังคับ บทบัญญัติ ซึ่งกำหนดมาเพื่อใช้บังคับความประพฤติของมุสลิมในรัฐหรือประเทศนั้นให้ปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม หากผู้ใดฝ่าฝืนจะได้รับผลอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมายและมีผลต่อโลกหน้า    
 
               ในขณะเดียวกันหากย้อนกลับไปพิจาณาการใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลพบว่าไม่ได้ใช้ “หลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก” อย่างโดดๆ แต่ทว่ายังเกี่ยวข้องกฎหมายหลายอื่นหลายฉบับ เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความ (แพ่ง) กฎหมายลักษณะพยาน และโดยเฉพาะพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พุทธศักราช 2540 ซึ่งองค์กรอิสลามที่อยู่ในกระบวนการนำกฎหมายอิสลามมาปฏิบัติ (Implementation) คือ คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดและคณะกรรมอิสลามการประจำจังหวัด
 
            ที่กล่าวมาข้างต้น องค์กรอิสลามในจังหวัดอื่นๆ นอกจากปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลก็ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของรัฐในการบริหารองค์กรอิสลามและอำนวยความสะดวกแก่ชาวไทยมุสลิมในด้านต่างๆ รวมทั้งเรื่องครอบครัว และมรดกตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามเท่าที่กระบวนการยุติธรรมจะเปิดช่องทางให้แต่ทั้งนี้ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก
 
 
. ปัญหาสำหรับมุสลิมนอกเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
             สำหรับจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล เมื่อมีกรณีพิพาทเรื่องครอบครัวและมรดกของชาวไทยมุสลิม อาจยุติการพิพาทด้วยการระงับข้อพิพาทเบื้องต้นโดยอนุญาโตตุลากร ซึ่งมีองค์กรอิสลามที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายของรัฐ (คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด) เป็นผู้ไกล่เกลี่ย ในกรณีที่ไม่อาจไกล่เกลี่ย หรือไม่อาจยุติข้อพิพาทได้ก็จะถูกนำขึ้นสู่ศาลจังหวัด โดยใช้หลักกฎหมายอิสลามในการพิจารณาและตัดสินคดี แต่ทว่าชาวไทยมุสลิมที่อำนาจของพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พุทธศักราช 2489 ไม่สามารถไปถึง จึงไม่ได้รับเมตตาธรรมจากกฎหมายของรัฐฉบับนี้   ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันในการบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐ
 
                    สมหวัง บินหะซันได้อธิบายว่า “การใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกในจังหวัดชายแดนภาคใต้อันประกอบด้วย   ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ในขณะนี้นั้นเป็นการได้สิทธิเสรีภาพถูกต้องและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อมุสลิม แต่ก็ยังมีจังหวัดอื่นๆ อีกหลายจังหวัดที่มีมุสลิมจำนวนมากนอกเหนือจากจังหวัดดังกล่าวยังไม่มีการใช้กฎหมายอิสลามลักษณะนี้อย่างเป็นทางการ
 
                   ดังจะเห็นได้ว่า ชาวไทยมุสลิมที่อยู่นอกเขต 4 จังหวัดดังกล่าว รัฐไม่ได้ยกเว้นให้ใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกจำต้องปฏิบัติตามกฎหมายแพ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวไทยกลุ่มอื่นๆ แต่ทว่าสำหรับชาวไทยมุสลิมนั้น มีกฎหมายอิสลามที่เป็นธรรมนูญชีวิต (Code of Life) ตามครรลองของศาสนาอิสลาม   ดังนั้น กฎหมายแพ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมไทยส่วนใหญ่ (ทั้งในและนอกศาล) จึงไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับชาวไทยมุสลิม ในเรื่องนี้มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ชาวไทยมุสลิมที่อยู่นอกเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูลได้มีการใช้กฎหมายครอบครัว และมรดกอิสลามมาโดยตลอด เช่นในกรณีของชาวไทยมุสลิมในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันที่สยามได้เริ่มใช้กฎหมายแบบตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวไทยมุสลิมในเขตกรุงเทพฯ ได้พยายามใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกตามศักยภาพของแต่ท้องที่ หรือแต่ละชุมชน ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่มีการใช้ในลักษณะใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ คือ จังหวัดสงขลา แต่จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับองค์กรบริหารกฎหมายอิสลามที่ชัดเจนกว่ากรณีของกรุงเทพฯแต่สิ่งที่เหมือนกันระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดสงขลา คือ การใช้โดยไม่มีกฎหมายรองรับนอกจากกรุงเทพฯ และจังหวัดสงขลาแล้วจังหวัดอื่นๆ ก็มีการใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกเช่นกัน
 
            จึงสรุปได้ว่า การปฏิบัติในด้านครอบและครัวมรดกของชาวไทยมุสลิมที่อยู่นอกเขต 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงถูกจัดอยู่ในวัฒนธรรมชายขอบ (Marginal Culture) ของสังคมไทย (ที่คนไทยส่วนใหญ่ยอมรับและใช้กฎหมายแพ่งในการตัดสินข้อพิพาท) และยังกลายเป็นชายขอบ (Marginalization) ซ้อนลึกลงไประหว่างชาวไทยมุสลิมด้วยกันจากการใช้กฎหมายอิสลามที่เกี่ยวกับเรื่องครอบครัวและมรดก ที่รัฐมีการจำกัดให้ใช้ได้เฉพาะในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล   ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ (Discriminate) ระหว่างชาวไทยมุสลิมด้วยกันที่อยู่ในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลกับที่อยู่นอกเขต 4 จังหวัดนี้ โดยการใช้บทบัญญัติของกฎหมายต่างกันในเรื่องที่มีการปฏิบัติเหมือนกัน (ครอบครัวและมรดก) ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐ
 
                        จากที่กล่าวมาข้างต้น แม้ว่ามุสลิมในปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลเคยได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ 5 และการยกเลิกการใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกใน 4 จังหวัดดังกล่าวโดยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในระหว่างปี 2486-2488 แต่ปัญหาก็ได้รับการแก้ไขเยียวยาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว   แต่ทว่าในส่วนของชาวไทยมุสลิมที่อยู่นอกเขต 4 จังหวัดดังกล่าวไม่เคยได้รับการยกเว้นใดๆ จากรัฐ ทำให้จำต้องปฏิบัติตามกฎหมายแพ่ง ซึ่งพอจะมีทางออกอยู่บ้างแต่ก็เป็นช่องทางที่ค่อนข้างจำกัด เพราะศาลจะยอมรับเฉพาะกรณีที่มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการซึ่งอาจแต่งตั้งจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหรือผู้รู้ทางศาสนาขึ้นมาทำหน้าที่ตัดสินชี้ขาด (ตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม)โดยผู้เกี่ยวข้องทุกคนต้องทำการแต่งตั้งเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างถูกต้องเพื่อทำหน้าที่ชี้ขาดตามกฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดก กรณีนี้ถือว่าเป็นอนุญาโตตุลาการทำหน้าที่ตัดสินชี้ขาดซึ่งทางศาลจะพิจารณาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการข้างต้นซึ่งเรื่องนี้มีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในกรณีของจังหวัดสงขลาและกรุงเทพฯ ดังนั้น หากไม่มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการตามรูปแบบข้างต้นก็ไม่สามารถนำบทบัญญัติของศาสนาอิสลามมาใช้ได้เลยในทางการศาล (ของจังหวัดอื่นๆ ยกเว้นจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล)
 
            การใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวมรดกที่มีขอบเขตจำกัดเฉพาะในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ทำให้การใช้กฎหมายอิสลามของมุสลิมในจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยถูกนับว่าเป็นเพียงการปฏิบัติตามบทบัญญัติหรือหลักการของศาสนา (Religious law) ซึ่งทำให้ประสบปัญหาและข้อจำกัดในการนำมาใช้หลายประการ และหากพิจารณาจากระยะเวลาของการใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกที่ยาวนานในประเทศไทยแล้ว ปรากฏว่าไม่เคยมีการขยายขอบเขตการใช้จากที่ปรากฏหลักฐานครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2444 ใน “กฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณ 7 หัวเมือง ร.ศ. 120” เป็นต้นมา รวมระยะเวลามากว่า 100 ปี ซึ่งถือได้ว่านานมากในขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคเอเชียใต้ที่มีมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย เช่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินเดียและศรีลังกา กลับพบว่าการใช้กฎหมายอิสลามได้พัฒนาไปไกลมากทั้งในแง่ของกระบวนการใช้ทั้งในศาลและนอกศาล ตัวบทกฎหมาย กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดก และองค์กรบริหารกฎหมายอิสลาม เป็นต้น ซึ่งในส่วนของรายละเอียดนั้นแต่ละประเทศมีความแตกต่างพอสมควร
 
 
. ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย
 
            เมื่อเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับการใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกในประเทศสิงคโปร์ ฟิลิปินส์ และศรีลังกามีพัฒนาการการใช้ที่ก้าวหน้ากว่าประเทศไทยอย่างมาก จากการศึกษาของสมบูรณ์ พุทธจักร เรื่อง “การใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล” ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์เพื่อการศึกษาระดับปริญญาโท สาขานิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจากการศึกษาของเด่น โต๊ะมีนา เรื่อง ศาลศาสนา (SHARIAH COURT) เอกสารฉบับหลังได้รวบรวมข้อมูลจากการประชุมสัมมนาเรื่อง กฎหมายอิสลามในอาเซียน (1st ASEAN SHARIAH ADMINISTRATOR CONFERENCE WORKSHOP) ในวันที่ 7-11 สิงหาคม 2526 (1983) ที่กรุงมะนิลาประเทศ ซึ่งเด่น โต๊ะมีนาได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อนำเสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2540 จากการศึกษาของบุคคลทั้งสองซึ่งสามารถสรุปความก้าวหน้าในการใช้กฎหมายอิสลามในประเทศสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และศรีลังกาไว้ดังนี้
 
                     (1) การใช้โดยมีศาลชะรีอะฮ์* กระจายทั่วประเทศ ในประเทศศรีลังกามีศาลชะรีอะฮ์กระจายอยู่ทั่วประเทศจำนวน 52 ศาล จัดตั้งในปี ค.ศ. 1983 (พ.ศ.2526) ในประเทศฟิลิปินส์มีศาลชะรีอะฮ์ประจำท้องถิ่น (Shariah Circuit Court) และศาลศาลชะรีอะฮ์ประจำภาคกระจายใน 5 ภาคของประเทศรวม 51 ศาล
                     (2) มีการกำหนดขึ้นเป็นกฎหมายอย่างชัดเจน และมีกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรองรับ เช่น ในประเทศศรีลังกา มีกฎหมายว่าด้วยสถานภาพบุคคลมุสลิมในเรื่องการจดทะเบียนสมรส   การจดทะเบียนหย่าและผู้เยาว์ และกฎหมายว่าด้วยกองมรดกและกองอทุนการบริจาค เป็นต้น
                     (3) มีองค์กรบริหารกฎหมายอิสลาม เช่น สำนักงานทะเบียนอิสลาม คณะกรรมการอิสลาม สภาที่ปรึกษากฎหมายอิสลาม (Jurisconsult in Islamic Law) คณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามกฎหมายอิสลาม (Agama Arbitration) เป็นต้น และในประเทศสิงคโปร์มีสำนักงานการจดทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่าหรือเพิกถอนการหย่าและการเปลี่ยนแปลงศาสนาอิสลามประจำภาค ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติการบริหารกฎหมายอิสลาม
                     (4) การอุทธทรณ์และฎีกาสามารถกระทำได้ เฉพาะกรณีประเทศสิงคโปร์การอุทธรณ์คดีโดยการตัดสินของคณะกรรมการการอุทธรณ์ (Appeal Board) ถือเป็นที่สิ้นสุด ส่วนประเทศฟิ-ลิปินส์สามารถอุทธรณ์คดีได้ที่ศาลชะรีอะฮ์ประจำภาคในฐานะศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลชะ-รีอะฮ์ประจำภาคยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด สามารถที่จะนำขึ้นสู่ศาลสูง (ศาลฎีกา) ได้
                     (5)  การยกเลิกบรรทัดฐานอื่นๆ ในโครงสร้างการใช้กฎหมายทั่วไปเพื่อนำกฎหมายอิสลามมาบังคับใช้กับมุสลิมโดยเฉพาะ ซึ่งหลักการนี้ใช้ในประเทศศรีลังกา
           
            จากกรณีศึกษาของประเทศต่างๆ ข้างต้น และสภาพปัญหาการใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกในประเทศไทย  ดังนั้น
                     (1) ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 และหลักกฎหมายอิสลามที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับข้อเสนอแนะในข้ออื่นๆ 
                     (2)  จัดทำประมวลวิธีพิจารณาความ และกฎหมายลักษณะพยานขึ้นเฉพาะ เพราะการใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ในการพิจารณาคดีได้ใช้กฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่ง และกฎหมายลักษณะพยาน ซึ่งถือได้ว่าไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายอิสลาม ปัญหานี้คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ได้เสนอว่า ให้จัดทำกฎหมายอิสลามที่เกี่ยวกับเรื่องครอบครัวและมรดกที่ครอบคลุมถึงกฎหมายวิธีพิจารณาความ การอุทธรณ์ ฎีกาและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขัดกันของกฎหมายอย่างชัดเจน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงศาลที่มีลักษณะเช่นนี้ในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา เป็นต้น
                     (3)  ขยายการใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกทั่วทุกภูมิภาค   ในเบื้องต้นไม่ต้องมีดะโต๊ะยุติธรรม (ผู้วินิจฉัยข้อกฎหมายอิสลาม) ในศาลทุกจังหวัด แต่ให้อยู่ประจำศาลในภูมิภาค เช่นเดียวกับกรณีของศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานภาค ศาลล้มละลายกลาง ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลางโดยพิจาณาจากข้อเสนอแนะของประคอง เตกฉัตร อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดยะลา
                     (4)  ออกกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารกฎหมายอิสลามและกิจการที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสลามมารองรับ เพื่อให้การใช้กฎหมายอิสลามมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เช่น พระราชบัญญัติการบริหารกฎหมายอิสลามขึ้นมาแทนพระราชบัญญัติองค์กรบริหารศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ซึ่งกำลังใช้อยู่ในปัจจุบัน
                     (5) จัดตั้งสำนักงานทะเบียนอิสลามขึ้นมาทำหน้าที่ด้านทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่าหรือเพิกถอนการหย่า และการเปลี่ยนแปลงศาสนาอิสลาม เพื่อให้การใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกมีความชัดเจนเกี่ยวกับบุคคลที่เข้าเงื่อนไขที่จะต้องใช้บทบัญญัติของกฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกกับบุคคลที่ใช้บทบัญญัติของกฎหมายกฎหมายแพ่ง เพราะในเรื่องของการนับถือศาสนานั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้   อีกทั้งยังมีการสมรสระหว่างผู้ที่นับถือศาสนาต่างกัน (ซึ่งบทบัญญัติของศาสนาอิสลามกำหนดให้ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นมีความศรัทธาในศาสนาอิสลามเสียก่อนจึงจะสมรสกันได้) จึงสมควรจัดตั้งสำนักงานทะเบียนอิสลามเพื่อให้กระบวนการใช้กฎหมายอิสลามทั้งในและนอกศาลให้มีเอกภาพไม่ให้เกิดปัญหากรณีการเปลี่ยนแปลงศาสนา
           
            ข้อเสนอแนะที่กล่าวมาสามารถนำกรณีศึกษาของสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา เป็นต้นมาพิจารณาเพื่อดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมได้ ในขณะเดียวกันการปรับกระบวนทัศน์ภายในตัวมุสลิมเองก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกล่าวคือ หนังสือหลักกฎหมายอิสลาม ว่าด้วยครอบครัวและมรดก จะต้องมีสถานภาพเช่นเดียวกับมาตราต่าง ๆ ของพระราชบัญญัติการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล และสมควรที่จะต้องมีการตรวจสอบแก้ไขเพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคณะกรรมการตรวจสอบแก้ไข จะต้องประกอบด้วย ผู้พิพากษา ดาโต๊ะยุติธรรม และนักวิชาการด้านกฎหมายอิสลามก่อนที่จะจะต้องขยายขอบเขตการใช้กฎหมายอิสลามให้ครอบคลุมมุสลิมทั้งหมดในประเทศไทย
 
                 ที่สำคํญมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยวิทยาลัยอิสลามศึกษาควรพัฒนาวิชาการของอาจารย์และบัณทิต เอกกฎหมายอิสลามในระดับปริญญาตรี โทและเอก ซึ่งสามารถผลิตบัณฑิตที่มีความเข้าใจกฎหมายอิสลามและมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมท้องถิ่นเป็นอย่างดีด้วย
 
 
---------------------------------------------
* ศาลชะรีอะฮฺหมายถึงบทบัญญัติทางศาสนาอิสลามซึ่งสังคมมุสลิมทั่วไปทุกยุคทุกสมัยจะเพิกเฉยมิได้ ทั้งนี้เพราะศาลเป็นกลไกสำคัญในอันที่จะสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกอธรรมในสังคม ท่านศาสดามุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า“เมื่อผู้พิพากษาคนใดได้ทำการพิพากษา แล้วได้ทำการวิเคราะห์วินิจฉัย หลังจากนั้นถ้าหากว่าการวิเคราะห์วินิจฉัยนั้นถูกต้องเขาย่อมได้รับสองกุศลบุญ และเมื่อใดที่เขาได้พิพากษา แล้วได้ทำการวิเคราะห์วินิจฉัย หลังจากนั้นถ้าหากว่าการวิเคราะห์วินิจฉัยนั้นผิดเขาจะได้รับหนึ่งกุศลบุญ
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
1. ก้อซันหลี เบ็ญหมัด. (2546). การใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกของมุสลิมในจังหวัดสงขลา. ศศ.ม., มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
 
2. คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ. (2549).รายงานคณะกรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ: เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์: บทสรุปสำหรับผู้บริหาร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา.
 
3. ผลการสัมมนา “ ข้อเสนอแนะการใช้ว่าด้วยครอบครัวและมรดก” ของกลุ่มนักศึกษาวิชากฎหมายอิสลาม (ภาคปกติ) มหาวิทยาลัยทักษิณ ภาคเรียน ๑/๒๕๕๒   ๒๔ กันยายน ๒๕๕๒ ณ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ
 
4. เด่น โต๊ะมีนา. (ม.ป.ป.). ศาลศาสนา (SHARIAH COURT). ม.ป.ท.
 
5. สมบูรณ์ พุทธจักร.(2529).  การใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล  น.ม., จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. .
 
6. สมหวัง บินหะซัน. (2549). การใช้กฎหมายอิสลามลักษณะมรดกและพินัยกรรมในกรุงเทพมหานคร. ศศ.ม., มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 
 
7.วิชัย ปะดุกา "บทบาทของพหุนิยมทางกฎหมายในฐานะเครื่องมือทางการบริหารกรณีการใช้กฎหมายอิสลามในประเทศไทย". www.gspa.ru.ac.th/downloads/กำหนดการ%202.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท