Skip to main content
sharethis

 

วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่อง “โลกร้อน” ดูจะเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญและกำลังพยายามดำเนินการหามาตรการความร่วมมือระหว่างกันเพื่อเตรียมรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับประเทศไทยเองก็มีการระบุเรื่องการเตรียมรับมือผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเป็นแนวคิดสำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใหม่ ขณะที่ในภาพใหญ่ของการพัฒนาประเทศ แผนพัฒนาฯ ฉบับต่างๆ ที่ผ่านมาได้ถูกตั้งคำถามถึงบทบาทในการนำไปปฏิบัติจริง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งท้าทายว่าแผนฯ ฉบับที่ 11 ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำนี้จะนำพาสังคมไทยก้าวหน้าสู่อนาคตที่ต้องการ โดยไม่เป็นเพียงคำพูดสวยหรูในหน้ากระดาษได้อย่างไร

(19 ธ.ค. 52) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคมและภาคการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดการเสวนา “อนาคตประเทศไทยกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม” ภายใต้โครงการศึกษาวิจัยเรื่อง “เผชิญหน้าผลลัพธ์จากแผนฯ 10 สู่ประเด็นท้าทายในแผนฯ 11” เพื่อเปิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้เกี่ยวข้อง และร่วมติดตามการวางแผนจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555-2559) ในประเด็นต่างๆ โดยตั้งต้นจากประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ หัวหน้าโครงการเสวนาฯ กล่าวถึงโครงการศึกษาวิจัยเรื่อง “การแปลงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติฉบับที่ 10 ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทาง ชีวภาพ ไปสู่การปฏิบัติ โดยการสร้างกระบวนการความร่วมมือของภาคีการพัฒนาในการดำเนินการตามแผนพัฒนาฯ” ที่ ผศ.ดร.วีระ สมบูรณ์ เป็นหัวหน้าโครงการฯ ว่ามีข้อค้นพบที่น่าสนใจ 4 คือ 1.สถานภาพของแผนพัฒนาฯ ลดบทบาทความสำคัญลงในภาพรวม ในช่วงเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเริ่มมีการเมืองแบบประชาธิปไตย การพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับรัฐบาล หรือนักการเมืองมากขึ้น

2.การแปลงแผนไปสู่การปฎิบัติ จากแผนที่มีการใช้คำใหญ่ๆ แต่ความหมายไม่ชัด ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะสามารถเชื่อมโยงกับการปฎิบัติจริงได้มากแค่ไหน 3.ข้อจำกัดในการออกแบบสถาบันต่างๆ ที่จะเข้าไปดำเนินการ เนื่องจากผลของสองข้อข้างต้น และ 4.การมีส่วนร่วมของประชนจะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร

 

ชี้แผนพัฒนาฯ ฉบับ 11 ต้องสร้างองค์ความรู้ ไม่ใช่ลอกเลียนแบบ
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลก แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาฯ กล่าวว่าการประชุมเรื่องโลกร้อนที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เพิ่งจบลงโดยหลายคนอาจผิดหวัง เวลานี้ประเด็นเรื่องโลกร้อนถูกสร้างความตระหนักขึ้นมากแต่อาจมากเกินไป แม้ภาวะโลกร้อนจะเกิดขึ้นจริงโดยมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ และอาจรุนแรงขึ้นในอนาคต แต่ก็ถูกใส่สีตีไข่ในหลายเรื่องทำให้ผู้คนรู้สึกว่าต้องออกมาทำอะไรบางอย่าง และไปตั้งความหวังกับการเจราจาครั้งนี้มาก ในขณะที่ความรู้ ความพร้อมต่างๆ ภายในประเทศยังไม่มี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้จากการเจรจาฯ คือประเทศต่างๆ ในโลกเริ่มเปลี่ยนมาตรฐานการคิดในเรื่องการใช้พลังงานมากขึ้น อย่างน้อยทุกประเทศต้องพยายามสร้างภาพในเรื่องการใช้พลังงานให้ดูเหมาะสม แต่จะทำได้มากหรือน้อยก็เป็นเรื่องภายในประเทศนั้นๆ ส่วนการดำเนินการโดยรัฐบาลโลกอย่างยูเอ็น ส่วนตัวเชื่อว่าไม่สามารถทำให้การแก้ปัญหาโลกร้อนเกิดความสำเร็จขึ้นได้ รัฐบาลโลกไม่สามารถคุมประเทศต่างๆ ได้เหมือนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นจะหวังพึ่งเฉพาะกติการะหว่างประเทศอย่างเดียวไม่ได้ แต่เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ ผลักดันจากความรู้ความคิด

ดร.อานนท์ กล่าวด้วยว่า ทิศทางของแผนพัฒนาฯ ในประเด็นการควบคุมก๊าซเรือนกระจกหากเป็นการตั้งกฎจากข้างบนลงมาจะไม่เกิดประโยชน์และมาสามารถนำไปใช้ได้ ต้องค่อยๆ สร้างมาจากข้างล่างโดยการทำให้คนรู้มากขึ้น ทำให้คนมองเห็นทางเลือกที่ไม่ใช่เพียงทางเลือกเดียวที่รัฐขีดเส้นไว้ให้และเห็นความเชื่อมโยงของทางเลือกนั้นๆ รวมทั้งมีองค์กรติดตามตรวจสอบที่ดี จึงจะสามารถจัดการปัญหาสภาวะโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

ในส่วนผลกระทบจากเรื่องโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ดร.อานนท์ กล่าวว่าประเทศไทยค่อนข้างโชคดีที่ไม่ได้รับผลกระทบทางกายภาพจากเรื่องนี้มาก เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในโลก แต่ถ้าถามว่าประเทศไทยจะอยู่รอดได้หรือไม่ หรือจะทำอย่างไรในภาวะที่ภูมิอากาศจะไม่เหมือนเดิม สิ่งที่เป็นข้ออ่อนของไทยคือเรื่องทิศทางการพัฒนาซึ่งที่ผ่านมาเป็นการเลียนแบบจากต่างประเทศ แต่ในอนาคตจะไม่สามารถทำเช่นเดิมได้แล้ว ในขณะที่วิธีคิดของคนในสังคมยังไม่ปรับเปลี่ยน ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญในการพัฒนาคือการปรับความคิดของคนให้เข้าใจสิ่งรอบๆ ตัว ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้ที่มาจากในระดับชุมชน จากภาคส่วนต่างๆ

“แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ต้องเป็นแผนที่เอื้อที่ทำให้เกิดการสร้างความรู้ ทำให้เกิดสังคมที่อยากจะรู้ให้มากกว่าในอดีต” ดร.อานนท์กล่าว

ดร.อานนท์กล่าวด้วยว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งประเทศ มีความซับซ้อนและเชื่องโยงจากที่หนึ่งไปยังอีกทีหนึ่ง เช่นกรณีโยกย้ายของคน ทุน หรือแม้กระทั่งมลพิษ ปัญหาจะขยายวงในขณะที่ขอบเขตประเทศบางลงเรื่อยๆ ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องคิดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ซึ่งเรียกว่าเป็นก้าวแรกที่จะเข้าไปสู่โลกที่ต่างจากอดีต

 

ตั้งข้อสังเกตแผนพัฒนาฯ ชาติ รู้ตอนที่ทำแผน แต่ไม่รู้การประเมินผล
ดร.สุธาริน คูณผล นักวิชาการโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) กล่าวถึงโอกาสในวิกฤตโลกร้อนของประเทศไทยว่า มี 2 ส่วน คือ กระตุ้นให้เกิดการให้ความสนใจในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งในส่วนความหมายและการดำเนินการให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะตรงนี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และการปรับตัวของสังคม รวมทั้งนโยบายการพัฒนาประเทศ อีกส่วนหนึ่งคือเป็นโอกาสในการดูแลจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยรวม เพราะการแก้ปัญหาโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องโยงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาการพัฒนาอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วในประเทศไทยเอง ซึ่งซ้อนทับกับปัญหาเรื่องสิทธิในที่ทำกิน สิทธิในการจัดการทรัพยากร และความลักลั่นในการพัฒนา

เรื่องโลกร้อนไม่ใช่เพียงเรื่องเทคนิคการเจรจาในเวทีโลก แต่จะทำอย่างไรให้เรื่องนี้ลงมาอยู่ในทุกส่วนของมิติการพัฒนา ตามที่กรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ว่าไว้ แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหน เชื่อมโยงไปในภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องดูกันต่อไป

ดร.สุธาริน เล่าต่อมาถึงการทำ “โครงการสนับสนุนทางเลือกการพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายการอยู่เย็นเป็นสุข” ในประเทศไทย ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศโดยเป็นความร่วมมือกันระหว่าง 2 หน่วยงานของสหประชาชาติ คือหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานด้านการพัฒนา มีโจทย์ในการทำให้การมองมิติเรื่องปัญหาความยากจนและปัญหาคุณภาพชีวิต กับการมองเรื่องการจัดการทรัพยากรและเรื่องสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน โดยไม่ใช่การพูดว่าจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน

ในส่วนของประเทศไทยแม้ความยากจนไม่ได้อยู่ในระดับของประเทศในแอฟริกา หรืออเมริกาใต้ เพราะในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้แก้ปัญหาความยากจน ลดจำนวนคนจนลงไปมาก แต่ประเด็นท้าทายคือช่องว่างของการกระจายรายได้ที่ยังมีอยู่ อีกทั้งในเรื่องการเลือกการพัฒนากับการรักษาสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยมีการพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ยั่งยืน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชน ทุกอย่างอยู่ในแผนการพัฒนาของประเทศตั้งแต่แผนชาติ ลงไปถึงแผนระดับจังหวัดและท้องถิ่น แต่การนำแผนไปสู่การปฎิบัติกลับไม่เกิดขึ้นจริง

“โจทย์ของโครงการนี้ ในกรณีของมาบตาพุดเป็นตัวอย่างสนับสนุนเรื่องทางเลือกการพัฒนาสองอย่างที่มองทีละด้านแล้วผลที่เกิดขึ้นมันอาจจะบอกเราแล้วว่า มันไม่สามารถพูดเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว แล้วก็พูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างพอเป็นพิธี หรือพูดเรื่องคุณภาพชีวิตอย่างเป็นพิธี มันอาจเป็นไปไม่ได้แล้วในขณะนี้” ดร.สุธารินกล่าว

นักวิชาการโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ กล่าวต่อมาว่า แผนพัฒนาระดับชาติเมื่อลงไปถึงแผนระดับระดับจังหวัดและท้องถิ่น ในแง่ศักยภาพการทำแผน ศักยภาพคน และศักยภาพกลไกที่ทำให้เกิดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและความคิดเห็นนั้นได้เข้ามาอยู่ในแผนได้จริงๆ ตรงนี้ยังมีการทำงานแบบแยกส่วน นอกจากนั้นในการมีส่วนร่วมของประชาชนก็ไม่มีกลไกที่จะทำให้เกิดการตรวจสอบว่าแผนที่ออกมาเป็นไปตามที่ให้ความเห็นไปหรือไม่ และที่สำคัญในเรื่องตัวชี้วัด การติดตามประเมินผลของแผน การทำแปลนแผนไปสู่การปฎิบัติ ตรงนี้ยังเป็นช่องว่างอยู่ ดังนั้นในหลายๆ ครั้ง ในแผนพัฒนาของประเทศเรามักจะรู้ตอนที่ทำแผน แต่ในการประเมินแผนเราไม่ค่อยได้เข้าไปมีส่วนร่วมหรือรับรู้ผลที่ได้

 

แนะมองปัญหาโลกร้อน ต้องมองผลกระทบจากการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วย
ดร.สุธารินกล่าวด้วยว่าในเรื่องผลกระทบจากโลกร้อน ต้องมองผลกระทบจากการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยอีกต่อหนึ่งเพราะว่าด้วยมาตรการต่างๆ ในเรื่องการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กลไกสะอาดอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่หรือสิทธิของประชาชน ต้องมองมิติของสังคมด้วย นอกจากนี้การให้ข้อมูลความรู้กับประชาชนก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเตรียมการตั้งรับกับกลไก กติกาใหม่ๆ ที่จะเข้ามา อย่างการรับซื้อคาร์บอนเครดิตที่ปัจจุบันเข้ามาในประเทศ และได้เข้าไปถึงชุมชนแล้ว ในเรื่องการมีข้อมูลสนับสนุนการขับเคลื่อนและการตัดสินใจของประชาชน เป็นเรื่องที่พูดกันเฉยๆ ไม่ได้ ต้องมีกลไกที่เกิดขึ้นได้จริง

 

เปรียบปัญหามาบตาพุดแผลกลัดหนองที่ระเบิดแล้ว
นายสุทธิ อัฌชาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่ากรณีมาบตาพุดไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นแผลกลัดหนองและหนองได้ระเบิดออก จากการได้แลกเปลี่ยนกับนักเคลื่อนไหวหลายท่าน อาทิ ส.ศิวรักษ์, พิภพ ธงไชย ซึ่งมีประสบการณ์ในการต่อสู้เคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้รับทราบว่าการต่อสู้ในหลายครั้งได้เพลี่ยงพล้ำและยุติด้วยความพ่ายแพ้ แต่เรื่องมาบตาพุดเป็นพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นไปด้วยการทำงานที่จริงจัง โดยพยายามใช้ฐานข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ในการเคลื่อนไหว และการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบของประชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมีนักวิชาการที่กล้าเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงแม้จะถูกภาควิชาการและภาคอุตสาหกรรมโจมตีว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จากที่ไม่ค่อยมีใครเปิดเผยข้อมูล

“กลไกที่มีความชัดเจนในเชิงการบันทึกเก็บและรวบรวมข้อมูล รวมถึงการทำให้สังคมเห็นอย่างต่อเนื่อง เป็นประสิทธิภาพอย่างหนึ่งขององค์กรภาคประชาชนที่ได้รับการเรียนรู้มากขึ้น เพราะฉะนั้นคงไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นการเอาจริงเอาจังของพี่น้องประชาชนที่ตั้งใจจะสู้กับทุนขนาดใหญ่และอำนาจรัฐที่ล้นฟ้า” ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกกล่าว

นายสุทธิ เล่าถึงสถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้ว่า ล่าสุดเมื่อวานนี้ลุงน้อย ใจตั้ง ชาวบ้านบ้านคลองน้ำหู ชุมชนเกาะกก-หนองแตงเม ซึ่งเป็นชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง หลังกรณีมาบตาพุด ได้ถูกกลุ่มมวลชนกลุ่มหนึ่งด่าว่าเป็นพวกทำลายเศรษฐกิจและประกาศว่าต้องการ 65 โครงการ โดยลุงน้อยโทรศัพท์มาหาและร้องไห้ ว่าไม่คิดว่าจะต้องตกเป็นแพะรับบาปจากสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งที่ลุงน้อยถือว่าเป็นประชาชนคนหนึ่งที่เอาจริงเอาจังกับการต่อสู้ และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ต้องสูญเสียญาติไปด้วยโรคมะเร็ง ต้องสูญเสียที่ดินไปกับการเวนคืนทำนิคมอุตสาหกรรมโดยได้เงินชดเชยเพียงไร่ละ 8,000 บาท ทุกวันนี้เหลือที่ดินเพียง 2 งาน

“นี่เป็นอีกมิติหนึ่ง ที่เมืองไทยจะต้องใช้ประสบการณ์นี้ในการจัดความสัมพันธ์ในเรื่องราวให้มันเป็นเรื่องข้อเท็จจริงมากกว่าที่จะใช้อารมณ์ขึ้นมา ซึ่งมันไม่มีประโยน์ ในการที่จะทำให้คนที่อยากมองมุมต่างกลายเป็นคนที่ผิดทั้งหมด” นายสุทธิแสดงความเห็น

เขากล่าวด้วยว่า ชาวบ้านควรต้องมีโอกาสพูดเพื่อได้อธิบายให้สังคมได้ทราบว่าสิ่งที่เขาได้รับผลกระทบมันคุ้มค่ากับการประเมินผลกระทบกว่า 4 แสนล้านที่ความจริงไม่ได้เสียอะไร เพียงแค่เป็นการชะลอเวลา เพื่อให้การดำเนินโครงการตรงตามระบบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ แล้วค่อยเดินหน้าต่อในการลงทุนอย่างมีระบบมากยิ่งขึ้น

 

ร้องโดนขู่ทำให้คนไทยต้องใช้กะละมังใบละ 500 บาท พร้อมตั้งคำถามคนไทยยอมไหม
นายสุทธิ กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหามลพิษของมาบตาพุด ทางภาครัฐและภาคธุรกิจยังมองว่าต้องสร้างโรงงานเพิ่ม โดยไปทำเรื่องเงื่อนไขบีโอไอใหม่ แต่สำหรับภาคประชาชนมองว่าการแก้ปัญหามลพิษด้วยการสร้างโรงงานเพิ่มโดยกำหนดลดสัดส่วนการระบายมลพิษเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะมาตรการในสังคมไทยเป็นเรื่องตอบยาก ท้ายสุดเกิดก๊าซรั่ว โดยในเดือนนี้ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดก๊าซรั่ว 2 ครั้ง แต่จับใครไม่ได้ ส่วนเรื่องการฟ้องร้อง ขณะนี้มี 2 คดี อยู่ในการพิจารณาของศาล คือที่ศาลปกครองระยองที่สู้เรื่องเขตควบคุมมลพิษ และที่ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งแม้จะชนะคดี แต่ทั้ง 2 ศาลให้ความเห็นในความหมายที่ใกล้เคียงกันว่าการแก้ปัญหาอาจจะไปไม่ได้

โดยวิธีการอธิบายของศาลไม่ได้บอกว่าต้องไปลดต้นกำเนิดมลพิษ แต่อธิบายเปรียบเทียบว่า กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีปัญหามลพิษ ถ้ามีปัญหาขีดความสามารถในการรองรับการพัฒนาของทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม (Carrying Capacity) เต็มแล้วตอนนี้คนกรุงเทพฯ ต้องไม่มีรถใช้ ซึ่งความเป็นจริงความหมายของกรุงเทพฯ และระยองนั้นต่างกัน เพราะในพื้นที่มาบตาพุดมีสารอินทรีย์ละเหยที่เป็นอันตรายมากกว่า และส่งผลกระทบสะสมให้เกิดโรคมะเร็ง

“ผมก็แปลกใจที่คนกรุงเทพฯ ไม่เรียกร้องให้กรุงเทพฯ ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพราะมันก็ใหญ่มาก แต่เราก็ทนอยู่กัน เราก็ไม่ได้สนใจ แต่ว่าเรื่องที่ใหญ่มากคือการไม่ยอมจัดการมลพิษอย่างเป็นระบบ เพราะฉะนั้นต่อไปคงต้องเรียกร้องให้ประกาศกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษ” นายสุทธิกล่าว

นายสุทธิ กล่าวต่อมาว่า การที่ชาวบ้านมาบตาพุดชนะคดี มีกระแสที่ว่าภาคอุตสาหกรรมจะย้ายไปลงทุนที่เวียดนาม และข่มขู่ว่าต่อไปนี้กะละมังจะขึ้นราคาใบละ 500 บาท ข้าวของจะแพงขึ้น รวมทั้งน้ำมัน อีก 5 ปีข้างหน้าคนไทยจะไม่มีก๊าซธรรมชาติใช้ และสิ่งเหล่านี้ทำให้เขารวมทั้งชาวบ้านที่ออกมาเคลื่อนไหวถูกกดดันอย่างหนัก ทั้งนี้สิ่งที่ทำให้เห็นไม่ได้บอกว่าต้องการดึงประเทศกลับไปสู่การไถนา ดำนา แต่เห็นว่ามีจุดเด่นที่ชุมชนทำแล้วอยู่ได้ เป็นความสุขของชุมชนที่ไม่ได้ถูกพูดถึง

“ตรงนี้ต้องตั้งคำถามกับคนไทยด้วยกัน เพราะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นวัตถุดิบพื้นฐานของทั้งหมดในห้องนี้ หากของในห้องนี้ราคามันเพิ่มขึ้นแต่คนไทยอยู่ได้นานขึ้น เรายอมไหม”

ส่วนเรื่องแผนพัฒนาฯ ของไทย นายสุทธิแสดงความเห็นว่า ถ้ายังมัวแต่ไปมองกลไกตลาดแบบกลไกของประชาคมโลกจะไม่มีทางที่จะสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ การกำหนดทิศทางของประเทศควรถอดจุดเด่นของสังคมไทยมาเก็บไว้แล้วขมวดความคิดที่เข้มข้นที่คนในชุมชนทำได้จริงนำไปสู่การกำหนดทิศทางข้างบน ต้องร่วมกันผลักดัน การทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จึงจะเป็นแผนที่นำไปสู่การปฎิบัติได้จริง ไม่ใช่แค่แผนที่เป็นเพียงแผน

“มาบตาพุดมันเป็นทั้งวิกฤติและเป็นโอกาส วิกฤติคือวิกฤติที่ประชาชนเผชิญ ส่วนโอกาสคือการที่เราได้มาทบทวนเรื่องมิติการลงทุน มิติของการคุ้มครองป้องกันไม่ให้การลงทุนนั้นไปทำลาย เช่นเดียวกัน วันนี้เองแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ความจริงมันเป็นโอกาสของภาคประชาสังคมแต่มันเป็นวิกฤติที่เราทำอะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นฉบับที่ 11 มันต้องไม่ใช่วิกฤติหรือโอกาสแต่ต้องเดินหน้าท่ามกลางที่ทุกคนต้อง win-win แต่ก็ไม่แน่ใจว่าไปสู่อะไรจึงจะ win-win”

 

เสนอแก้ปัญหาโลกร้อน ต้องให้แต่ละประเทศกำหนดเอง
นายสุทธิ กล่าวถึงการเดินทางไปที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เพื่อติดตามการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศว่า จากการไปอยู่ที่นั่นได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับเอ็นจีโอประเทศต่างๆ ในเวทีประชาชน แต่การเดินขบวนได้ถูกตำรวจล็อกอยู่กว่า 2 ชั่วโมง ท่ามกลางอากาศลบ 2 องศาเซลเซียส ด้วยเจตนาที่จะไปบอกว่าการประชุมของสหประชาชาติไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะโลกร้อนต้องแก้ที่ระบบไม่ใช่การใช้วิกฤติโลกร้อนมาเป็นโอกาศทางเศรษฐกิจ ด้วยคาร์บอนเครดิต เรดด์ หรือการปรับเปลี่ยนระบบพลังงานใหม่โดยไม่เป็นธรรม และละเมิดสิทธิมนุษยชน

“การแก้ปัญหาโลกร้อน ประเทศแต่ละประเทศต้องกำหนดว่าประเทศตัวเองจะลดคาร์บอนเท่าไหร่ และจะจัดการกับการไม่สร้างปัญหาเพิ่มอีกเท่าไหร่ มากกว่าการใช้ธุรกิจ ใช้ตลาดในการเจรจา” นายสุทธิกล่าว

 

ฉะแผนพัฒนาฯ มีแต่คำสวยหรู แต่การปฎิบัติไม่เป็นจริง
ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กลุ่มในภาคฐานทรัพยากรกล่าวว่า ในแผนพัฒนาฯ มีคำสวยหรูเยอะ อาทิ ธรรมภิบาล การมีส่วนร่วม พอเพียง ฯลฯ แต่ตั้งแต่เมื่อมีการมายกร่างแผนพัฒนาฯ ตั้งแต่ปี 48 เปลี่ยนรัฐบาลมาประมาณ 5 ชุดแต่ไม่มีการนำแผนพัฒนาฯ มาใช้ นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่าตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ไม่ได้มีการระบุตัวเลขการใช่งบประมาณไว้ในแผนพัฒนาฯ แต่เป็นการใช้ภาษาเป็นหลักทำให้มีปัญหากับการปรับใช้ ยกตัวอย่างรัฐบาลชุดปัจจุบันตั้งงบประมาณนโยบาย “ไทยเข้มแข็ง” แต่โครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากร กลับไปทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่คำว่า การมีส่วนร่วม หรือธรรมภิบาลนี้ก็ได้มีบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาฯ

ข้อเสนอในสภาที่ปรึกษาฯ ส่งให้รัฐบาลปฏิบัติตามแผนหรือไม่ จากการอยู่สภาที่ปรึกษาฯ ประมาณ 4 ปี มีเรื่องตรวจสอบทั้งหมดประมาณ 130 เรื่อง เป็นเรื่องทรัพยากรราว 30 เรื่อง ในส่วนของคณกรรมการสิทธิมนุษยชน 6 ปี มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับทรัพยากรเกือบ 300 เรื่อง ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการปฏิบัติตามแผนฯ ที่ระบุไว้ ซึ่งถ้ารัฐบาลปฏิบัติตามแผนฯ และพิจารณาจากความเป็นจริง ก็จะไม่มีเรื่องร้องเรียนในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากมายอย่างทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม หากดูจากแผนฯ 10 นำไปสูแผนฯ 11 จะเห็นว่ามีวาทกรรมใหม่ขึ้นมาอีก เช่น อุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นภาษาใหม่ที่จะใช้ภาคตะวันออก จากที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เกิดในแผนฯ 4 และในแผนฯ ต่อไปกำลังจะย้ายฐานอุตสาหกรรมลงไปภาคใต้ ซึ่งโดยส่วนตัวมีความห่วงใยต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและคิดว่าแผนพัฒนาฯ ต่างๆ ควรต้องมีการทบทวน ไม่อยากเห็นภาษาที่สวยหรูแต่การปฎิบัติไม่เกิด นอกจากนี้ในการปรับปรุงกฎหมายที่ควรควบคู่กันไปกับแผนพัฒนาฯ ก็มีความเชื่องช้า ทั้งนี้ ความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกรณีมาบตาพุด กับความผิดเกิดจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ยอมออกกฎระเบียบกรณีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งที่มีระบุไว้ในแผนพัฒนาฯ และไม่แก้กฎหมาย จนทำให้เกิดปัญหาขึ้น

“มีการคิดกันด้วยซ้ำไปว่าไม่น่ามีแผนเสียเลยดีกว่า เพราะว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็เอาแผนกันมา เวลาที่ทำไม่ได้ก็ปรับปรุงกันช่วงที่เป็นนั่นแหละ ถ้าไม่มีมันอยู่กันได้หรือเปล่า ผมว่ามันก็อยู่ได้อยู่นะ แต่ว่าที่เราอยากมีแผน เพราะเราอยากเห็นว่าหน้าตาของประเทศไทยจะเดินไปทางไหน เราอยากเห็นหน้าตาประเทศไทยในสังคมโลกว่าเราจะไปทางไหน แผนฯ 5 ปีเป็นเพียงแผนย่อยๆ ที่จริงมีแผนระยะยาวกว่านี้ด้วยซ้ำไป แผนฯ 20 ปี เราจะเอาอุตสาหกรรมแบบที่มันไม่รับผิดชอบต่อไปหรือเปล่า อันนี้ก็ต้องคิด” นายหาญณรงค์กล่าว

 

ย้ำทำแผนพัฒนาฯ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน
นายหาญณรงค์ กล่าวด้วยว่าสถานการณ์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบันถูกเบียดขับโดยกฎระเบียบที่ยังไม่ถูกแก้ และหลายตัวก็ล้าหลัง เช่นกฏหมายป่าไม้ตั้งแต่ปี 2484 หากมีกติกาใหม่เกิดขึ้นไม่ว่าเรื่องโลกร้อน หรือเรื่องการปลูกป่า จะต้องมีการยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย และควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ยอมรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างในเรื่องการมีคนอยู่ในพื้นที่ป่า หรือปัญหาการทับซ้อนที่ดิน เพื่อการจัดทำนโยบายที่สอดคล้องกับความเป็นจริง และมีผลในการปฎิบัติโดยไม่สร้างปัญหาผลกระทบต่อประชาชนหรือสิ่งแวดล้อม

“คิดใหม่เริ่มทำแผนพัฒนาฯ ที่ไม่ใช่แผนเพ้อฟัน แล้วผลักดันอย่างไม่ลืมหูลืมตา” สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net