Skip to main content
sharethis

 

คณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว (กบร.) จะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้ (21 ธ.ค.) เพื่อปรับนโยบายการพิสูจน์สัญชาติของประเทศไทย ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะทำให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า 2-3 ล้านคนได้มีสถานะที่ถูกกฎหมาย แต่ระยะเวลาผ่านมาประมาณ 1 ปีกลับมีแรงงานข้ามชาติเพียง 3,000 คนผ่านกระบวนการดังกล่าวเท่านั้น

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เรียกร้องให้ กบร. เร่งดำเนินการเพื่อให้กระบวนการดังกล่าวชอบธรรมมากขึ้น โดยการลดการทุจริตที่เกิดขึ้น และเพิ่มการประชาสัมพันธ์ข้อมูลการพิสูจน์สัญชาติที่มีประสิทธิภาพไปยังชุมชนแรงงานข้ามชาติ และหาก กบร. ไม่ปรับกระบวนการพิสูจน์สัญชาติให้มีความซับซ้อนน้อยลงและลดค่าใช้จ่ายลง กระบวนการดังกล่าวอาจได้รับความล้มเหลวและเป็นการสูญเสียโอกาสสำคัญในการเปลี่ยนสถานะของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้

นอกจากนี้ เพื่อให้มีประสิทธิภาพต่อแรงงานข้ามชาติมากขึ้น หาก กบร. ไม่เพิ่มคำแนะนำ กระบวนการพิสูจน์สัญชาติให้ลดค่าใช้จ่ายและประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้กับแรงงานข้ามชาติและนายจ้าง กระบวนการดังกล่าวก็อาจจะล้มเหลวและเป็นการสูญเสียโอกาสสำคัญในการเปลี่ยนสถานะของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า นอกจากนี้รัฐบาลไทยอาจถูกลดระดับความน่าเชื่อถือในการจัดการปัญหาและอุปสรรคด้านการย้ายถิ่นที่มีประสิทธิภาพของไทย

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส) แสดงความเห็นด้วยกับกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ โดยระบุว่า เพราะสามารถยกระดับชีวิตของแรงงานข้ามชาติกว่าหนึ่งล้านคนในประเทศไทย เพราะแรงงานข้ามชาติที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวจะมีสถานะที่ชัดเจนที่จะช่วยให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่เคยได้รับการปฏิเสธมาก่อนหน้านี้ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทั้งแรงงานข้ามชาติและนายจ้างเองยังไม่ตระหนักและเข้าใจกระบวนการดังกล่าวมากนัก หน่วยงานราชการเองก็ไม่มีการประชาสัมพันธ์ หรือทำสื่อที่อธิบายกระบวนการดังกล่าวให้กับพวกเขา แต่กลับมีบริษัทเอกชนที่ติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐได้อาศัยประโยชน์จากกระบวนการที่ซับซ้อนกว่า 13 ขั้นตอนและการขาดข้อมูลนี้ เพื่อเรียกค่าบริการที่สูงเกินความจำเป็นและสร้างความมั่นใจว่าแรงงานข้ามชาติสามารถที่จะผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ ทางรัฐบาลเองก็ล้มเหลวในการที่จะทำกระบวนการให้มีความง่ายขึ้นและลดค่าใช้จ่ายของกระบวนการอันจะเป็นเหตุให้กระบวนการนี้ล้มเหลว

นายสมชาย หอมลออ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลกำหนดให้แรงงานข้ามชาติต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ทางรัฐบาลได้เริ่มพูดถึงการผลักดันแรงงานข้ามชาติที่ไม่เข้าสู่กระบวนการกลับประเทศพม่า แต่การพิสูจน์สัญชาติยังเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนกับแรงงานข้ามชาติเนื่องจากพวกเขาต้องเดินทางกลับไปประเทศพม่า ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองและชนกลุ่มน้อยค่อนข้างสูง แรงงานช้ามชาติที่ไม่ต้องการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมนี้ไม่ควรที่จะถูกผลักดันกลับ

ทั้งนี้ เขาเสนอให้รัฐบาลไทยรับรองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศให้กับชนกลุ่มน้อยต่างๆ เพราะเศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงต้องการแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า แต่ก็ยังคงไม่มีวิธีการใดที่จะสามารถนำเข้าแรงงานเหล่านี้เข้าสู่ประเทศไทยได้อย่างเป็นทางการ ดังนั้น รัฐบาลไทยควรที่จะขยายระยะเวลาดังกล่าวที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและคุกคามแรงงานข้ามชาติ เพื่อเป็นหลักประกันได้ว่ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติเป็นกระบวนการที่แรงงานข้ามชาติและนายจ้างสามารถทำได้ในราคาที่ต่ำที่สุด และลดกระบวนการทุจริตที่เกี่ยวข้อง
 

ข้อเสนอแนะของ สรส. มสพ. และคสรท. ได้แก่
1.รัฐบาลไทยควรดำเนินการด้วยตัวเองหรือได้รับความช่วยเหลือจากอาเซียนในการผลักดันให้สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC) ตั้งศูนย์ประสานงานการพิสูจน์สัญชาติในประเทศไทย เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการและลดการใช้นายหน้าโดยไม่จำเป็น

2.รัฐบาลไทยควรสร้างความตระหนักในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนเพื่อให้แรงงานข้ามชาติและนายจ้างได้เข้าใจกระบวนการและประโยชน์ในการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ การสร้างความตระหนักนี้ควรทำร่วมกับสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ โดยใช้ภาษาของชนกลุ่มน้อยต่างๆ รวมทั้งภาษาไทย และต้องเป็นสิ่งที่แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าใจได้

3.กระบวนการพิสูจน์สัญชาติต้องปรับให้มีกระบวนการที่ง่ายขึ้นเนื่องจากปัจจุบันมีขั้นตอนต่างๆ กว่า 13 ขั้นตอน ซึ่งเป็นกระบวนการที่เป็นไปไม่ได้และส่งผลเสียต่อกระบวนการนี้ และควรมีจากจัดตั้งศูนย์ประสานงานการพิสูจน์สัญชาติแบบ “One-stop”

4.ในกรณีที่ต้องมีนายหน้าเกี่ยวข้องกับกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ รัฐบาลไทยควรเข้าไปควบคุมเพื่อลดการแสวงหาประโยชน์ จากค่าบริการที่สูงเกินสมควร และกระบวนการนี้ไม่ควรเปิดโอกาสในการหาประโยชน์ที่มากเกินไป การทุจริตระหว่างนายหน้าและเจ้าหน้าที่ของไทยและพม่าจะต้องได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ การที่แรงงานข้ามชาติใช้บริการนายหน้าที่ไม่ได้รับการควบคุมเพื่อเดินทางไปยังชายแดนอาจเป็นการเพิ่มสถานการณ์การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายหรือการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก รัฐบาลไทยควรมีกติการระหว่างประเทศเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์

5.รัฐบาลไทยควรเผยแพร่นโยบายเรื่องนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าแรงงานข้ามชาติที่เป็นเด็กในประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เด็กๆ ไม่ควรต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ

6.รัฐบาลไทยได้กำหนดให้แรงงานข้ามชาติต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติภายในวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง เมื่อพิจารณาขยายระยะเวลา รัฐบาลไทยต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันในการกำหนดระยะเวลาสามารถเป็นไปได้จริง

7.รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือร่วมกันในการกำหนดแนวทางการดำเนินการกับแรงงานข้ามชาติที่ไม่ต้องการเข้ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เนื่องจากการกลัวการประหัตประหารโดย สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ และรัฐบาลไทยต้องกำหนดนโยบายระหว่างประเทศและหลักมนุษยธรรมมาใช้กับกระบวนการนี้

8.รัฐบาลไทยต้องยอมรับและสนับสนุนสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติและครอบครัว โดยไม่คำนึงว่าแรงงานนั้นๆ จะผ่านการพิสูจน์สัญชาติจากสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐหรือไม่


ที่มาของนโยบายการพิสูจน์สัญชาติ

แรงงานข้ามชาติกว่า 2-3 ล้านคน ที่ทำงานยู่ในประเทศไทยได้เดินทางจากประเทศพม่าเข้าประเทศไทยอย่าง “ผิดกฎหมาย” ในปี 2546 รัฐบาลไทยและสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐได้ลงนามในข้อตกลงเรื่องการพิสูจน์สัญชาติที่จะทำให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นแรงงานที่ “ถูกกฎหมาย” แต่กระบวนการดังกล่าวต้องยุติลงกลางคันเนื่องจากสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐได้ยืนยันว่าการพิสูจน์สัญชาติต้องทำในประเทศพม่า ในขณะที่ประเทศไทยกล่าวว่ากระบวนการต้องดำเนินการภายในประเทศไทยเช่นเดียวกับการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติจากลาวและกัมพูชา และได้ยุติการดำเนินการดังกล่าวมาจนถึงปลายปี 2551 เมื่อรัฐบาลไทยได้ยินยอมให้การพิสูจน์สัญชาติสามารถดำเนินการได้ที่เมืองชายแดนของประเทศพม่า 3 แห่ง นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้ประกาศว่าจะไม่มีแรงงานข้ามชาติที่ “ผิดกฎหมาย” หลังจากวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 อีกต่อไป เนื่องจากทุกคนต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติก่อนระยะเวลาดังกล่าวว มิฉะนั้นจะถูกผลักดันกลับประเทศ

การพิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าได้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2552 เมื่อบริษัทนายหน้าได้เริ่มจัดรถบัสพาแรงงานข้ามชาติไปยังศูนย์พิสูจน์สัญชาติที่ชายแดนของประเทศไทย แรงงานข้ามชาติได้เดินทางสู่ประเทศพม่าและเดินทางกลับมาประเทศไทยด้วยค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันสำหรับหนังสือเดินทางชั่วคราวของพม่า ค่าวีซ่าและค่าใบอนุญาตทำงาน ข้อมูลต่างๆ ของกระบวนการดังกล่าวได้เผยแพร่ในชุมชนแรงงานข้ามชาติอย่างไม่เป็นทางการ ทั้งนี้เนื่องจากทางรัฐบาลมิได้จัดการประชาสัมพันธ์หรือการรณรงค์ให้กับแรงงานข้ามชาติ แต่ข้อมูลที่เป็นทางการของกระบวนการดังกล่าวที่เผยแพร่ให้แรงงานข้ามชาติกลับเป็นข้อมูลจากทางพม่าที่อธิบายขั้นตอนต่างๆ ในประเทศพม่า ข่าวลือต่างๆ ได้ถูกกล่าวขึ้น ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากไม่ต้องการเข้าสู่กระบวนการหรือไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว เนื่องจากการเข้าบุกที่บ้าน การเสียภาษี การทำร้ายร่างกายและการถูกจับกุมโดยสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ

ปลายเดือนสิงหาคม 2552 ได้มีนายหน้าเกิดขึ้นและเจ้าหน้าที่รัฐได้แนะนำนายหน้าดังกล่าวให้กับแรงงานข้ามชาติและนายจ้าง นายหน้าได้เริ่มให้การบริการให้กับแรงงานข้ามชาติ เพื่อเข้าสู่กระบวนการที่สลับซับซ้อนด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว ต่อมา เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2552 รัฐบาลไทยได้ลดค่าวีซ่า 2 ปีสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติจาก 2,000 บาท เหลือ 500 บาท และหนังสือเดินทาง 100 บาท ดังนั้น ค่าใช้จ่ายจริงของกระบวนการจึงอยู่ที่ 600 บาท แต่บริการของนายหน้าก็ยังคงสูงอยู่ ตั้งแต่ 3,000-5,000 บาท

จนถึงปัจจุบันนี้ มีแรงงานข้ามชาติเพียง 3,000 คนที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ทั้งๆ แม้ว่ารัฐบาลไทยจะยืนยันว่าแรงงานข้ามชาติที่เหลือทั้งหมดต้องผ่านกระบวนการให้เสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 มิฉะนั้นจะต้องถูกส่งกลับ ในวันพรุ่งนี้ กบร. จะมีการประชุมที่คาดว่าอาจจะมีการพูดถึงการขยายระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติออกไป เพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่ได้แสดงความจำนงในการเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติไม่ต้องถูกส่งกลับและอยู่ในประเทศไทยได้จนกว่าจะผ่านกระบวนการ แต่นโยบายต่อแรงงานข้ามชาติที่ไม่เข้ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติจะเป็นอย่างไรยังไม่มีคำตอบแน่ชัด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net