Skip to main content
sharethis

“มนุษย์” หนึ่งคำสั้นๆ แต่กลับถูกตีความตามทรรศนะคติและความคิดของแต่ละบุคคลได้อย่างหลากหลาย และในหลายครั้งที่ “มนุษย์” หลายคนกลับถูกเลือกปฏิบัติอย่างไร้ความเป็นธรรมด้วยกำแพงแห่งอคติ “แรงงานข้ามชาติ” หนึ่งในกลุ่มบุคคลที่มีความเป็น “มนุษย์” อย่างครบพร้อมแต่กลับเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกเลือกปฏิบัติจาก “มนุษย์” ด้วยกัน!

จากข้อมูลตัวเลขแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามจากพม่า ลาว และกัมพูชา ของสำนักงานบริหารการทะเบียนกรมการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2552 พบตัวเลขแรงงานทั้งหมด 1,656,144 คน ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ได้เข้ามาทำงานในประเภทงานที่คนไทยไม่ทำและมีความเสี่ยงต่อชีวิต ความไม่ปลอดภัยในสุขภาพเช่น กิจการประมง การก่อสร้าง รับใช้ในบ้าน และหลายครั้งที่ความเป็นมนุษย์ของกลุ่มคนเหล่านี้ถูกลดทอนลงด้วยการปฏิบัติหน้าที่ที่เสียงภัยแทนคนไทย

อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ.2552 รัฐบาลไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติเพิ่มอีก 700,000 คน และประกอบกับรัฐบาลไทยได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลพม่าในการทำให้แรงงานเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย และให้แรงงานต้องเข้าสู่ระบบการพิสูจน์สัญชาติ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 ก.พ. 2553 และหลังจากนั้นจะดำเนินการจับกุมส่งกลับแรงงานที่ไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติกลับประเทศต้นทางทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันการพิสูจน์สัญชาติที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้โดยเฉพาะแรงงานพม่าได้มีปัจจัยเงื่อนไขหลายด้านเช่น มิติความไม่ปลอดภัยต่อตนเองและครอบครัว ความไม่มั่นใจต่อกระบวนการดำเนินงานพิสูจน์สัญชาติ และปัญหาการเมืองในประเทศพม่า

ซึ่งในประเด็นนี้ทำให้แรงงานข้ามชาติหลายสัญชาติต้องได้รับผลกระทบนายบัณฑิต แป้นวิเศษ ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM ) กล่าวว่า การจัดงานวันแรงงานข้ามชาติสากลเป็นประเด็นที่คณะจัดงานต้องการเน้นในเรื่องของหลักสิทธิมนุษยชนตามจุดมุ่งหมายที่ว่าแรงงานทั้งผองเป็นพี่น้องกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นแรงงานในชาติไหนๆ เขาก็มีความมนุษย์และความเป็นคนที่น่าจะได้รับการเคารพในเรื่องของสิทธิในความเท่าเทียมและสิทธิของการไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ดังนั้นการให้แรงงานเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายน่าจะมีการทบทวนเรื่องการพิสูจน์สัญชาติและการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ซึ่งจะนำมาสู่ในเรื่องของการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเป็นธรรมและเป็นตามหลักสากล ซึ่งข้อเสนอนี้จะทำให้รัฐบาลไทยที่มีแนวทางในการปฏิบัติในเรื่องของแรงงานข้ามชาติมากขึ้น

“แรงงานข้ามชาติทุกคนต้องการพิสูจน์สัญชาติ และต้องการเข้าสู่ระบบการทำงานอย่างถูกต้องแต่กระบวนการในการจัดการในขณะนี้มีความเหลื่อมล้ำมาก อย่างกรณีของการตั้งศูนย์และการเข้าไปพิสูจน์สัญชาติในประเทศพม่า ซึ่งเราก็ทราบดีว่าสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศพม่าเป็นอย่างไร ดังนั้นทางกลุ่มจึงอยากขอเสนอให้มีการตั้งศูนย์การพิสูจน์สัญชาติในเมืองไทยเพื่อให้แรงงานมีความมั่นใจต่อการพิสูจน์สัญชาติ และนี่จึงกลายเป็นที่มาที่ไปของการ่วมผลักดันและขอยืดอายุการจดทะเบียนพิสูจน์สัญชาติของแรงงานออกไป”ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM ) กล่าว

สำหรับการจัดงานครั้งนี้จะจัดแบ่งออกเป็น 2 วันคือวันเสาร์ที่ 19 ธ.ค.2553 ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลดิ์ บริเวณเซ็นทรัลเวิลดิ์ชั้น 1 ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่เวลา 13.00 น.-16.00 น. ภายใต้ชื่องาน “กิจกรรมการเฉลิมฉลองการย้ายถิ่นฐานสากล” โดยบรรยากาศภายในงานจะมีการบรรเลงบทเพลงอคูสติก จากเครือข่ายเยาวชนแรงงานข้ามชาติ การแสดงนิทรรศการสะท้อนชีวิตและตัวตนของแรงงานข้ามชาติผ่านภาพถ่ายชุด ความรัก ความหวัง ศรัทธา และเข้าร่วมรับฟังการเสวนาจากนักสื่อสารมวลชนชื่อดัง และตัวแทนแรงงานจากประเทศพม่าในหัวข้อ “ก้าวข้ามความต่าง อยู่อย่างเข้าใจ ระหว่างแรงงานข้ามชาติ และ “พลเมืองไทย” ผ่านมุมมอง “สื่อไทย” พร้อมทั้งเปิดตัว คุณกุลนัดดา ปุจฉิมสวัสดิ์ พิธีกรจากรายการผู้หญิงถึงผู้หญิงที่จะมาช่วยรณรงค์ให้เราก้าวข้ามความต่างกำแพงแห่งอคติให้เข้าใจถึงชีวิตของแรงงานข้ามชาติได้อย่างแท้จริง

และในวันอาทิตย์ที่ 20 ธ.ค.2552 พบกับกิจกรรมเต็มรูปแบบของวันแรงงานข้ามชาติสากล ตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 17.00 น. ซึ่งภายในงานจะมีการเดินรณรงค์ของขบวนแรงงานข้ามชาติ ประสานวัฒนธรรมด้วยชุดประจำชาติหลากหลายกว่า 500 ชีวิต จากมิวเซี่ยมสยามถึงคณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการอ่านจดหมายเปิดผนึกจากใจแรงงานข้ามชาติไทยถึงรัฐบาลไทย โดยกลุ่มเครือข่ายแรงงาน พร้อมยื่นข้อเรียกร้องในการขอขยายเวลาในการรับลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานสมาชิกรัฐสภาอาเซียน และประธานคณะกรรมาธิการแรงงานสภาผู้แทนราษฏร และร่วมรับฟังการเสวนาในหัวข้อ “สถานการณ์แรงงานข้ามชาติ กับการพิสูจน์สัญชาติ และการจดทะเบียนแรงงาน โอกาส ทางเลือก ทางรอด” โดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายพงษ์ศักดิ์ เปล่งแสง โฆษกกระทรวงแรงาน นายปณิธิ ศิริเขต ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาแรงงานผู้แทน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ผู้แทนสหพันธ์แรงงานข้ามชาติ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net