Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“มาตรา 12 บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข  ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้
การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”
พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

จากบทบัญญัติในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่ได้ยกมาเบื้องต้นนั้น บัดนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยตามสิทธิใน พรบ.ดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุม ครม.ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปตรวจสอบถ้อยคำในกฎหมาย แล้วนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

หลายๆคนที่ได้อ่านรายงานข่าวดังกล่าวนี้ต่างก็แสดงความคิดเห็นไปต่างๆนานา แต่จากที่ได้รับฟังมาส่วนใหญ่แล้วมักจะเข้าใจเลยเถิดไปว่าร่างกฎกระทรวงดังกล่าวนี้ตีความครอบคลุมถึงการ   การุณยฆาตหรือ"Mercy Killing" ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Euthanasia นั่นเอง ซึ่งจริงๆแล้วมิใช่เช่นนั้น แม้ว่าในเรื่องของการปฏิเสธการรักษาพยาบาลนี้ เราจะสามารถตีความได้ว่าทำให้เกิดสิทธิขึ้น 2 ประการด้วยกันก็ตาม คือ

1) สิทธิที่จะฆ่า - ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขเช่น แพทย์หรือพยาบาล สามารถละเว้นการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโดยไม่ผิดกฎหมายหรือ การทำให้ผู้ป่วยตายโดยสงบ หรือ      การุณยฆาต ซึ่งรวมถึงการฆ่าตัวตายด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ (Assisted Suicide) การช่วยทำให้ผู้อื่นตายด้วยความเมตตาสงสารนี้ก็เพื่อให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน จากการเจ็บป่วยต่างๆ ที่หมดหวังจะหาย วิธีการก็เช่น ฉีดยาให้ผู้ป่วยตายให้พ้นจากความเจ็บปวด หรือ ปลดสายออกซิเจนให้ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตไม่รู้สึกตัวมานานเพื่อให้ตายพ้นความทรมาน เป็นต้น จึงกล่าวได้ว่าการการุณยฆาตนั้น มีทั้งแบบที่เป็นการช่วยทำให้ผู้ป่วยที่สิ้นหวังตาย (Active Euthanasia) และการปล่อยให้ผู้ป่วยเหล่านั้นตายลงอย่างสงบ (Passive Euthanasia) ซึ่งอาจจะเกิดมาจากความปรารถนาที่จะฆ่าตัวตายของผู้ป่วยเองแบบสมัครใจ หรืออาจจะมาจากการร้องขอของญาติให้แพทย์จบชีวิตผู้ป่วยแทน เพราะผู้ป่วยไม่มีทางใดที่จะขอให้จบชีวิตตนเองได้

อย่างไรก็ตาม การกระทำเช่นนี้ในแทบจะทุกประเทศ ยังถือว่าเป็นการกระทำความผิดกฎหมายอาญาในฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ขณะเดียวกันในทางศาสนาการกระทำเช่นนี้ก็ย่อมจะขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม และมีความผิดบาปรุนแรงด้วยเช่นกัน ปัจจุบันจึงมีเพียง 2 ประเทศ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ กับ เบลเยี่ยม เท่านั้น ที่มีการออกกฎหมายรองรับสิทธิการตายในประเภทนี้เอาไว้ โดยอนุญาตให้มีการทำการุณยฆาตได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ทั้งนี้ จะต้องเป็นไปภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้

2) สิทธิที่จะตาย - เป็นเจตจำนงของผู้ป่วยเองโดยตรงที่จะตาย หรือสิทธิในการปฏิเสธ  การรักษา (Right to refuse medical treatment) ในแง่นี้ บุคคลมีสิทธิแสดงความจำนงเกี่ยวกับ      การรักษาพยาบาลหรือปฏิเสธการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิตตนเองได้ โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาความต้องการในการยุติชีวิตผู้ป่วยได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วก็เนื่องมาจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันที่เข้ามามีบทบาทสูงยิ่งในการยืดชีวิตผู้ป่วยออกไปในสภาพฝืนธรรมชาติ ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยคนนั้นไม่สามารถที่จะได้รับการรักษาให้หายเป็นปกติได้เลย ในบางครั้งผู้ป่วยจึงต้องถูกพันธนาการไปด้วยเครื่องมือทางการแพทย์

ผู้คนจำนวนไม่น้อยคิดทำนองว่าการตายภายใต้เครื่องมือเหล่านี้ ถือเป็นการตายโดยปราศจากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงได้มีการเรียกร้องให้ผู้ป่วยสามารถที่จะแสดงเจตนาให้แพทย์ถอดเครื่องมือเหล่านี้ออกจากตัวผู้ป่วยได้ตามสมควร โดยที่การแสดงการแสดงเจตนารมณ์หรือความประสงค์ของตนเผื่อเอาไว้สำหรับเหตุการณ์อันไม่แน่นอนในอนาคตนั้นอาจทำได้ด้วยการเขียนหนังสือแสดงเจตจำนงเอาไว้ หรือที่เรียกว่า พินัยกรรมชีวิต (Living Will) เช่น อาจแสดงเจตจำนงไว้ว่าจะไม่ยอมให้มีการยื้อชีวิตตนเองในเวลาที่เจ็บหนักใกล้ตายเป็นอันขาด เป็นต้น ซึ่งกรณีนี้มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายหลายๆประเทศมานานแล้ว

ฉะนั้น การที่ ครม.มีมติในร่างกฎกระทรวงเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมาจึงหมายถึงเพียงกรณี ที่สองเท่านั้นเอง โดยเป็นสิทธิของผู้ป่วยในระยะสุดท้ายที่ต้องการจากโลกนี้ไปอย่างธรรมชาติ ซึ่งมีการประพฤติปฏิบัติกันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เป็นการบังคับให้บุคลากรทางการแพทย์ถอดสายออกซิเจนหรือหยุดเครื่องช่วยหายใจแต่อย่างใด

หนังสือที่ผู้ป่วยทำไว้เพื่อขอปฏิเสธการรักษานั้น ไม่ใช่นิติกรรมผูกพันทางมรดก แต่เป็นเพียงหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร หากมีปัญหาในการดำเนินการตามหนังสือดังกล่าว จะต้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหารือกับญาติหรือบุคคลใกล้ชิดของผู้ป่วย เพื่อกำหนดแนวทางการดูแลรักษาต่อไป และดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของหนังสือให้มากที่สุด เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ป่วย

สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ให้สิทธิผู้ป่วยสามารถทำหนังสือในขณะที่มีสติสัมปชัญญะ แสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับการบริการสาธารณสุข และปฏิเสธที่จะรับการรักษาก่อนจะเสียชีวิตหรือได้รับความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยจากโรคที่ไม่อาจรักษาได้ เช่น การเจาะคอ การใช้เครื่องช่วยหายใจ   การให้สารอาหารและน้ำทางสายยาง เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้ป่วยยังมีสิทธิขอความประสงค์ที่จะเสียชีวิตที่บ้าน หรือขอรับการเยียวยาทางจิตใจ การปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรม ฯลฯ โดยหนังสือนี้ต้องทำต่อหน้าพยานและญาติใกล้ชิด และการทำหนังสือของผู้ป่วยที่ปฏิเสธการรักษาจากแพทย์นี้ก็ไม่มีผลต่อนิติสัมพันธ์ที่จะใช้ในการแบ่งมรดกอีกเช่นกัน

ที่สำคัญก็คือญาติและแพทย์ต้องปฏิบัติตามความต้องการของผู้ป่วย ไม่สามารถยกเลิกได้เนื่องจากมีผลผูกพันทางกฎหมายที่รับรองสิทธิและการแสดงเจตจำนงของผู้ป่วยที่จะ  ไม่ต้องประสบกับภาวะทุกข์ทรมานก่อนเสียชีวิตเพราะความดื้อรั้นของญาติและผู้หวังดีทั้งหลาย นั่นเอง

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์วันพุธที่ 16 ธันวาคม 2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net