เครือข่าย NAT ประกาศเจตนารมณ์สู่ สหภาพคนทำงานต่างประเทศ แห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 52 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลโคกงาม อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศ (NAT) ได้จัดการประชุมประจำปี 2552 ซึ่งถือว่าเป็นครั้งที่สองแล้ว หลังจากที่ปีที่แล้วได้จัดการประชุมครั้งแรก ที่บ้านคำหญ้าแดง อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น เช่นกัน

ทั้งนี้เครือข่ายได้ออกคำประกาศ “สหภาพคนทำงานต่างประเทศ หยุดการทำนาบนหลังคน - หยุดธุรกิจค้าแรงงานข้ามชาติ” โดยในรายละเอียดคำประกาศ มีเป้าหมาย กระตุ้นให้คนที่ถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศลุกขึ้นสู้ ปลุกจิตสำนึกขจัดมายาภาพที่ว่าคนจนต้องก้มหน้าชดใช้กรรมที่ก่อให้เกิดขึ้นโดยกระบวนการค้าแรงงานข้ามชาติ
 
หวังสร้างขบวนการประชาชน-คนจนกดดันรัฐบาลชดเชยความสูญเสีย และเอาดอกผลที่รัฐบาลอ้างมาตลอดว่า แรงงานไทยที่ต่างประเทศส่งเงินเข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท คืนมาให้กับคนทำงานต่างประเทศ เพื่อใช้ในการส่งเสริมโครงการที่มุ่งเพื่อการพัฒนาชีวิตอย่างยั่งยืน ที่ไม่ทำลายล้างโลก กอบกู้ศักดิ์ศรี ฟื้นฟูชีวิตและครอบครัว และใช้ชีวิตในชุมชนอย่างคนที่มีเกียรติ มีศักดิ์และมีศรีเท่าเทียมกันทุกคนในสังคม
 

 
คำประกาศ
สหภาพคนทำงานต่างประเทศ แห่งประเทศไทย
หยุดการทำนาบนหลังคน - หยุดธุรกิจค้าแรงงานข้ามชาติ
 
กว่าห้าสิบปีที่คนจนในประเทศไทย ถูกดึงดูดเข้าสู่กลไกตลาดและติดกับดักของวิถีบริโภคนิยม ละทิ้งวิถีการผลิตที่สอดคล้องและสมดุลกับธรรมชาติ วิถีการเกษตรกรที่ถูกบอกว่าล้าสมัย ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถสร้างรายได้มากพอที่จะทำให้วิถีชีวิตดีขึ้น จำต้องทำการเกษตรเพื่อการค้า เพื่อการส่งออก แล้วนำรายได้มาจัดซื้อทุกอย่างที่จำเป็นในชีวิต
 
วิถีชีวิตแบบนี้ถูกส่งเสริมจากทุกรัฐบาลนับตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการไร้ซึ่งวิสัยทัศน์แห่งคำว่า “เศรษฐกิจพึ่งตนเอง” “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “ชุมชนเข้มแข็ง” พร้อมกับห้าสิบปีที่การพัฒนาของรัฐได้ทำร้ายและทำลาย “ศักยภาพในการพึ่งตนเองด้านอาหารของเกษตรกรและชุมชน” รัฐบาลจึงเป็นเฉพาะตัวแทนนายทุน และชนชั้นสูงในสังคม ที่มุ่งส่งเสริมการค้าและการแข่งขันในโลกการค้าเสรีนิยมใหม่ ที่ทุนคือผู้บงการและกำกับ ที่ทุนและรัฐพยายามปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกรูปแบบ
 
ผลลัพธ์มาตกอยู่ที่เกษตรกร คนยากคนจน โดยเฉพาะชุมชนเกษตรกรรมในชนบท ที่ไม่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลในด้านปัจจัยทางการผลิต ด้านแหล่งน้ำ และการประกันราคา รัฐส่งเสริมเกษตรเคมี ที่มีต้นทุนสูง ทั้งทุนทางการเงิน ทุนด้านสุขภาพ และทุนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (โลกร้อน) ทั้งยังก่อหนี้สินให้กับเกษตรกรและความจริงที่เจ็บปวดว่า “ทำห้าปีดีสามปี”
 
ความล้มเหลวในการดูแลเกษตรกรของรัฐบาล ทำให้พวกเราตกเป็นเป้าหมายในการแสวงหาประโยชน์จากธุรกิจการค้าแรงงานข้ามชาติ ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการชักจูงพวกเราให้เข้าสู้กับดักของ “การค้าฝัน” และเดินทางล่าฝัน “ไปตายเอาดาบหน้า” และ ”การเดิมพันด้วยชีวิตและที่ดินของครอบครัว”
 
การมอมเมาเข้ามาสู่ชุมชนต่างๆ จากทุกสารทิศ ทั้งจากการส่งเสริมของภาครัฐ การโหมโฆษณาชวนเชื่อที่เกินจริงของนักค้าแรงงาน ความฝันว่าการจะมีชีวิตที่ดีขึ้น จึงถูกบอกจากทั้งสาย นายหน้าเงินกู้นอกระบบ บริษัทจัดหางานในประเทศไทย และในประเทศปลายทางว่าคือการต้อง “ไปเมืองหลวง” หรือ “ไปเมืองนอก” เท่านั้น
 
ด้วยประการนี้ ความฝันของคนจนจึงถูกทำให้เป็นการค้า เป็นความฝันที่แม้แต่รัฐบาล ข้าราชการ ชนชั้นสูง คนเมือง หรือแม้แต่คนที่ประเทศปลายทาง ต่างก็พากันหัวเราะเยาะ ถ่มน้ำลายใส่ และสมหน้าหน้าเมื่อความฝันของพวกเราถูกนักค้าความฝันเหล่านี้ทำลายจนป่นปี้ การ “ค้าความฝัน” กับเกษตรกรรายย่อย และคนจนที่ไม่มีรายได้แน่นอน และ/หรือมีรายได้วันละไม่เกิน 250 บาท ด้วยคำพูดพล่อยๆ ที่ไม่เคยมีใครรับผิดชอบและเอาผิดว่า “ไปสามปี ได้เงินเจ็ดแสน” (กรณีไต้หวัน, 2544) “ไปสามคมได้มาร่วมล้านบาท” (กรณีไปเก็บเบอร์รี่ ที่สวีเดน, 2552) หรือ “ค่าแรงเดือนละ 70,000 บาท ห้าปี กว่า 4 ล้าน” (สเปน, 2552) จึงนำมาซึ่งความล้มละลาย และทำให้เกษตรกรรายย่อยของไทย ในช่วงกว่าสี่สิบปีที่ผ่านมานับรวมกันหลายล้านครอบครัว โดยกว่า 70% เป็นคนอีสาน ต้องกลับมาแบกรับหนี้สินที่พอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ จากค่าหัวคิว เปรียบเช่นการซื้อล็อตเตอรี่ใบละหลายหมื่น หลายแสน ที่นำมาซึ่งหนี้ชีวิต ที่ทั้งชีวิตก็ใช้กันไม่หมด
 
ขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติ ขบวนการค้าฝันเหล่านี้ เติบโตและมั่งคั่งอยู่ได้ด้วยการฉ้อโกงประชาชน ละเมิดกฎหมายและใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย ทั้งนี้แทบไม่มีบริษัทใดเลยที่เรียกเก็บ “ค่าหัวคิว”ตามกฎหมาย ปัจจุบันการไปเมืองนอก คนไทยต้องจ่าย อาทิ อิสราเอล 350,000-380,000 บาท โปรตุเกส 330,000-350,000 บาท สเปน 580,000 บาท ลิเบีย 120,000 บาท ฝรั่งเศส 300,000 บาท เกาหลี 280,000 บาท ในขณะที่การกำหนดค่าหัวคิวตามกฎหมายของไทยนั้นกำกวม และทิ้งช่องโหว่ทางการตีความ และระบุเพียงไม่เกิน 56,000 บาท ที่เลวร้าย กระทรวงแรงงานได้ทำการหมกเม็ดออกกฎระเบียบการเก็บค่าหัวคิวหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพียงเดือนเดียว โดยกำหนดวงเงินให้บริษัทเรียกเก็บค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 4 เดือนของเงินเดือนที่จะได้รับ ซึ่งสูงมาก สูงกว่าประเทศฟิลิปปินส์ที่ระบุว่าเก็บได้ไม่เกินหนึ่งเดือนเท่านั้น
 
หลายทศวรรษที่เกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยต้องดิ้นรน จนไม่มีเวลายั้งคิด เพื่อให้อยู่รอดในวิถีบริโภคนิยม ความต้องการในชีวิตของตนเองและครอบครัวในสังคม ที่มีมากเกินกว่ารายได้ขั้นต่ำที่พวกเราจะหาได้ในพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะในสังคมชนบท ที่ประชากรกว่า 60 - 70 % ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รับจ้างทั่วไป และเรียนหนังสือเพียงแค่ระดับพื้นฐาน 4 ปี 6 ปี หรือ 9 ปี เท่านั้น แต่มันยังได้ระบาดไปถึงสังคมคนจนทั่วประเทศไทย
 
วัฏจักรของคนจน คนงาน กรรมกรก่อสร้าง จึงเป็นวงเวียนของการหาเช้ากินค่ำและการกู้ยืม ไม่มีที่สิ้นสุด พร้อมกับตัวเลขหนี้สินที่พุ่งทะยานขึ้นเรื่อยๆ ที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นทั้งจากการกู้ยืมเพื่อมาใช้ในการจัดซื้อปัจจัยเพื่อผลิต แต่จำนวนไม่น้อย และจะเริ่มแซงหน้าตัวเลขหนี้สินทางการเกษตร สำหรับคนกลุ่มหนึ่งคือหนี้ที่เกิดขึ้นจากการถูกค้าไปทำงานที่เมืองนอก
 
ปัญหาการค้ามนุษย์แรงานสั่งสม และซุกไว้ใต้พรมมาอย่างยาวนาน เพราะทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐที่มองพวกเราว่า “เมื่อมีปัญญาหาเงินแสนมาให้เขาหลอก ก็ต้องมีปัญญาชดใช้กรรม” ดังนั้นเมื่อคนงานล้มเหลวกลับมาร้องเรียนที่กระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐ ทำหน้าที่เพียงเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย เอาข้อมูลที่เป็นหลักฐานเอาผิดบริษัทของคนงานไปให้บริษัทจัดหางาน จนทำให้คนงานถูกบีบ ข่มขู่ และยอมรับเงินน้อยนิดที่บริษัทเสนอ การต่อสู้คดีเอาผิดบริษัทจึงมักไม่เกิดขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มุ่งที่การเอาผิดบริษัท แต่มุ่งที่การทำให้เรื่องมันเงียบหายไปโดยเร็วที่สุด
 
ระบบนี้จึงอยู่รอดมาได้อย่างยาวนาน สร้างความมั่งคั่งในกับคนที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ เงินที่โหมประชาสัมพันธ์ว่าแรงงานไทยที่ต่างแดนส่งกลับมาเมืองไทยปีละ 40,000-60,000 ล้านบาท จำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่ตกถึงมือคนงานและครอบครัว กว่าครึ่งหรือเกือบทั้งหมด ไปอยู่ในกระเป๋าของกลุ่มนักค้าแรงงานข้ามชาติ นักการเมืองที่ฉ้อฉล และข้าราชการที่คอรับชัน
 
มันจึงเป็นขบวนการนี้หยั่งรากลึก และไม่มีรัฐบาลใดกล้าที่จะถอนรากถอนโคน เพราะการคอรับชัน มันอยู่ต่อหน้าต่อตา หรือที่สำนักงานของรัฐเสียเอง สายสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างบริษัท ข้าราชการ และนักการเมือง ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติจึงมั่นคงดังหินผา
 
พวกเราเสนอมาโดยตลอดหลายปีให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งแรงงานเอง เพื่อป้องกันการหลอกลวง ภาวะหนี้สิน และความล่มสลายของครอบครัวและชุมชนเกษตรกรไทย แต่รัฐบาลทุกยุค ทุกสมัย อ้างว่า กระทรวงแรงานไม่มีศักยภาพในการจัดส่งแรงงาน ต้องให้บริษัทจัดหางานจัดส่ง
 
พวกเราสหภาพคนทำงานต่างประเทศ ขอประกาศร่วมกันว่า พวกเราจะไม่ทนนิ่งเฉย หรือใช้ชีวิตอย่างอดสู ด้วยความละอาย และต้องก้มหน้าชดใช้กรรมที่ก่อให้เกิดขึ้นโดยกระบวนการค้าแรงงานข้ามชาติอีกต่อไป เราไม่ร้องขอรัฐบาลให้ช่วย แต่เราจะบอกว่ารัฐบาลจะต้องทำอะไรเพื่อชดเชยความสูญเสีย และเอาดอกผลที่รัฐบาลอ้างมาตลอดว่า แรงงานไทยที่ต่างประเทศส่งเงินเข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท คืนมาให้กับพวกเรา เพื่อใช้ในการส่งเสริมโครงการที่มุ่งเพื่อการพัฒนาชีวิตอย่างยั่งยืน ที่ไม่ทำลายล้างโลก เราต้องการกู้ศักดิ์ศรี ฟื้นฟูชีวิตและครอบครัว และใช้ชีวิตในชุมชนอย่างคนที่มีเกียรติ มีศักดิ์และมีศรีเท่าเทียมกันทุกคนในสังคม
 
ประกาศ ณ บ้านโคกงาม จังหวัดขอนแก่น
 
มีตัวแทนจาก 14 จังหวัด เข้าร่วมประชุม
ลำปาง ตาก เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี
หนองบัวลำภู อุบลราชธานี กาฬสิน หนองคาย บุรีรัมย์ สุรินทร์
 
โดยที่ประชุมได้มีมติให้ใช้ชื่อ สหภาพคนทำงานต่างประเทศ แห่งประเทศไทย

 

 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท