Skip to main content
sharethis
 
13 ธ.ค.52 สมัชชาคนจนแถลงข่าววิจารณ์นโยบายของรัฐบาล รวมทั้งเสนอข้อเสนอในการแก้ปัญหาคนจน ที่ห้องประชุมศิษย์เก่า รัฐศาสตร์ จุฬาฯ
ตัวแทนสมัชชาคนจน ระบุว่า 1 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่มีนโยบายที่จะทำให้คนจนมีอำนาจกำหนดอนาคตของตนเองอย่างแท้จริง ทั้งยังไม่มีนโยบายที่เป็นประโยชน์แก่คนจนโดยตรง แต่กลับเป็นแนวนโยบายที่สร้างกำลังซื้อเพื่อมุ่งกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและโปรยทานเพื่อหาเสียงทางการเมือง
จากการติดตามนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือคนจน สมัชชาคนจนเห็นว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาได้แท้จริง กรณีเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท รัฐบาลเพียงแต่ลอกเลียนนโยบายประชานิยมของรัฐบาลก่อนหน้า ซ้ำร้ายกว่านั้น ประชานิยมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้มีเป้าหมายอยู่ที่คนรากหญ้า แต่เป็นชนชั้นกลางระดับกลางและสูง ซึ่งเป็นผู้มีงานทำและมีเงินเดือนอยู่แล้วเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิเป็นหลัก ขณะที่นโยบายที่รัฐบาลประกาศไปแล้ว เช่น นโยบายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าและภาษีมรดก ที่สุดก็เงียบหายไป ไม่มีการปฎิบัติ
กรณีโฉนดชุมชน สมัชชาคนจนเห็นว่า โฉนดชุมชนที่องค์กรประชาชนและนักวิชาการร่วมกันผลักดันมานาน เพื่อให้เป็นแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกรและการกระจุกตัวของที่ดินเอกชน รวมถึงให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่ววมในการจัดการที่ดินในเขตป่าอย่างยั่งยืน แต่ปรากฎว่า ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. ... หรือ โฉนดชุมชน ฉบับรัฐบาล กลับจัดทำขึ้นโดยขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ขาดหลักการและแนวปฎิบัติที่จะนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดิน คือไม่ได้กระจายที่ดินที่กระจุกอยู่ในมือของเอกชนมาสู่คนยากจน ประชาชนที่เรียกร้องโฉนดชุมชนซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อย ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียกร้องให้รัฐจัดหาที่ดินผืนใหม่ให้ แต่ต้องการให้รับรองสิทธิในที่ดินที่พวกเขาใช้ตั้งถิ่นฐานหรือทำกินอยู่แล้ว การอนุญาตให้พวกเขาใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ไม่เกิน 30 ปี ตามนโยบายโฉนดชุมชน ฉบับรัฐบาล ไม่ได้ทำให้พวกเขามีสิทธิที่มั่นคง ในการสร้างความมั่นใจในการทำการผลิตแต่อย่างใด นอกจากนี้ โฉนดชุมชนฉบับรัฐบาลยังเป็นเพียงระเบียบสำนักนายกฯ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงยกเลิกได้ง่ายอีกด้วย นี่จึงเป็นเพียงนโยบายเรียกคะแนนที่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของคนจนอย่างแท้จริง
สมัชชาคนจนระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้เคยยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหากรณีต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. ซึ่งหลังจากนั้น (5 มิ.ย.) นายกฯ ได้เปิดโอกาสให้สมัชชาคนจนเข้าพบเพื่อหารือกับตัวแทนรัฐบาล เพื่อยุติปัญหาแต่ละกรณี โดยมีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตยเป็นประธานเจรจา ซึ่งที่ผ่านมา มีการประชุม 4 ครั้ง คือ 11 มิ.ย., 24 มิ.ย., 22 ก.ค., และ 28 ต.ค. รวมแล้วกว่า 7 เดือน มีการเจรจาเพียง 4 ครั้ง ใช้เวลาทั้งสิ้น 18 ชั่วโมงเท่านั้น และจนถึงปัจจุบันสมัชชาคนจนก็ยังไม่ได้รับการติดต่อเพื่อเจรจาแก้ปัญหาต่อไป
"การเปิดการเจรจากับสมัชชาคนจนที่ผ่านมา เป็นเพียงการซื้อเวลาเพื่อลดแรงกดดันทางการเมือง" ตัวแทนสมัชชาคนจนกล่าวในการแถลงข่าวและระบุด้วยว่า จากการเจรจาแต่ละครั้ง แม้หลายเรื่องจะได้ข้อยุติ แต่การดำเนินการต่างๆ กลับล่าช้า ขณะที่การติดตามงานในระดับพื้นที่ ตัวแทนที่รัฐบาลส่งลงไปก็ไม่มีอำนาจตัดสินใจและไม่เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้สร้างปัญหาให้สมัชชาคนจนเสียเอง ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันมีปัญหาที่รัฐบาลสามารถแก้ไขได้เสร็จสิ้นเพียงกรณีเดียวคือ กรณีเขื่อนห้วยละห้า ซึ่งรัฐบาลฉกฉวยไปสร้างภาพลักษณ์ให้ดูเหมือนว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาคนจน
ถ้าให้ประเมินว่ารัฐบาลแก้ปัญหาของสมัชชาคนจนไปได้กี่เป็นเปอร์เซ็นต์ "เรื่องของเราเป็นร้อยเรื่อง น่าจะได้ 1% เพราะแก้ปัญหาของแม่ไฮได้เรื่องเดียว เรื่องอื่นยังไม่ได้ข้อยุติสักเรื่อง" นายสวาท อุปฮาด จากเครือข่ายที่ดิน สมัชชาคนจนกล่าว
สมัชชาคนจนเห็นว่า แม้รัฐบาลจะประสบปัญหาทางการเมืองหลายประการ แต่การดำเนินการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านให้สำเร็จจะเป็นบทพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมที่มีน้ำหนัก ยิ่งกว่าการโฆษณาชวนเชื่อรายสัปดาห์ สร้างภาพลักษณ์โดยไม่มีผลงานสำเร็จจริง พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดปั้นชื่อนโยบายให้สวยหรู ติดหูประชาชน แต่ต้องแก้ปัญหาคนจนและปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมมานาน รวมถึงมีนโยบายและการปฎิบัติที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การปฎิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่ทำให้คนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ได้รับการคุ้มครองสิทธิและได้รับการดูแลสวัสดิการจากรัฐ
นอกจากนี้ สมัชชาคนจนเรียกร้องให้รัฐบาลปฎิบัติตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้แล้ว คือ นโยบายกระจายการถือครองที่ดิน โดยการเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า และเก็บภาษีมรดก รวมถึงเปิดเจรจากับสมัชชาคนจนอย่างต่อเนื่อง และปฎิบัติตามผลการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาให้เสร็จสิ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
นายสวาท กล่าวถึงกรณีเขื่อนราษีไศลว่า ที่ผ่านมา พี่น้องใช้เวลาชุมนุมที่สันเขื่อน 190 วันจึงจะมีการเจรจา ซึ่งก็ได้เพียงข้อตกลงเบื้องต้นเท่านั้น ขณะที่รัฐบาลบอกว่าไม่ต้องชุมนุมก็แก้ปัญหาได้ แต่วันนี้ก็เห็นแล้วว่าไม่ต่อเนื่อง ทั้งยังไม่สามารถผลักดันการเจรจาที่ยุติแล้วไปสู่การปฎิบัติได้
นายสวาท กล่าวต่อว่า หลังการแถลงข่าว สมัชชาคนจนจะประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดท่าทีต่อรัฐบาล โดยหากรัฐบาลยังไม่สนใจแก้ปัญหา สมัชชาคนจนก็พร้อมจะเคลื่อนไหวร่วมกันต่อไป 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net