ตัดถนน ตัดหนทางชีวิต ทางหลวงหมายเลขหนึ่งของกัมพูชา (ตอนจบ)

ความเดิมตอนที่แล้ว: ทางหลวงหมายเลขหนึ่ง” หรือ Highway One เป็นส่วนหนึ่งของกรอบการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่สนับสนุนโดยธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) เพื่อที่จะยกระดับการพัฒนาประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขงและเชื่อมร้อยระบบเศรษฐกิจของประเทศในอนุภูมิภาคฯเข้าไว้ด้วยกัน แต่การตัด “ทางหลวงหมายเลขหนึ่ง” ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส

 

ตั้งแต่เริ่มโครงการขยายถนน ชาวบ้านไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเอดีบี (ADB Asian Development Bank) ไม่รู้เลยว่าเอดีบีจะทำอะไรกับรัฐบาลเขมร แม้ว่าเอดีบีมีแผนจะจ่ายชดเชยให้แก่ชาวบ้านที่อพยพ แต่บรรดาข้าราชการในหน่วยงานราชการของรัฐบาลเขมรก็มีการคอรัปชั่น ซึ่งเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้นเกิดขึ้นอย่างมากในบรรดาข้าราชการทั้งหลาย

 

กรณีโครงการขยายทางหลวงหมายเลข ก็เป็นเช่นเดียวกับโครงการอื่น ๆ ที่การดำเนินงานมีการงุบงิบปกปิด ข้าราชการประสพช่องก็ฉ้อฉลงบประมาณค่าชดเชยที่ชาวบ้านควรจะได้รับเข้าพกเข้าห่อให้ตนเองและพวกพ้อง แม้ว่าจะไม่มีใบเสร็จเป็นหลักฐานแต่ชาวบ้านก็ทราบกันเป็นอย่างดี ฉะนั้นแทนที่โครงการจะช่วยขจัดปัญหาความยากจนตามการกล่าวอ้าง กลับสร้างปัญหาหนี้สินและความทุกข์ยากเดือดร้อนมากขึ้น

 

ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม

 

ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต้องลุกขึ้นมาปกป้องชีวิตของตนเอง ดังเช่นผู้นำหญิงสองคนได้ทำการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่คนชุมชนของเขา

 

มิ่ง ชิน อายุ 58 ปี ผู้นำชุมชนหญิงจากหมู่บ้านกรัง กา อก ในจังหวัดเปรียเว็ง เธอประกอบกิจการค้าขายจำพวกกาแฟและของใช้ที่บ้านของตนเอง ก่อนถูกอพยพเธอมีรายได้วันละ 40,000-60,000 เรียล แต่หลังจากที่ถูกโยกย้ายที่อยู่ รายได้เธอลดลงเหลือเพียงวันละ 2,000 เรียลเท่านั้นเอง

 

เมื่อโครงการก่อสร้างเริ่มขึ้น พวกเราต้องย้ายไปอยู่ที่แห่งใหม่ ฉันไม่มีข้าว ไม่มีผัก ไม่มีเนื้อสัตว์เพียงพอ เราต้องอดมื้อกินมื้อ มีเพียงปลาร้าที่เป็นอาหารอย่างดีสำหรับครอบครัวที่หาได้ตอนนั้น ฉันปวดร้าวและชอกช้ำมานาน 7 ปีเต็มๆ สุขภาพของฉันก็แย่ลงมาก” มิ่ง ชิน กล่าว

 


มิ่งชินบรรยายสภาพหมู่บ้านอพยพ” ภาพโดย: โรงเรียนแม่น้ำโขง

 

รัฐบาลเริ่มจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบเมื่อสองปีหลังจากโครงการเริ่มการก่อสร้าง แต่มันก็สายไปแล้ว และเงินค่าชดเชยนั้นก็น้อยมาก ไม่พอที่จะนำไปจ่ายค่าดอกเบี้ยเงินกู้

 

ฉันมีเงินใช้จ่ายเพียงวันละสิบเรียลเท่านั้น มันไม่พอแม้กระทั่งจะไปจ่ายค่าดอกเบี้ย ตอนที่เจ้าหนี้มาทวงหนี้ฉันที่บ้าน ฉันไม่มีเงินให้เขาต้องแอบหนีไปหลบในห้องน้ำไม่ให้เขาเจอ ฉันไม่รู้ว่าจะใช้หนี้ก้อนนี้หมดได้อย่างไร? ถ้าฉันใช้หนี้ไม่หมด ฉันตายไป หนี้ก็จะตกทอดไม่ยังลูกหลานรุ่นถัดๆ ไปของฉัน”

 

นี่ไม่ใช่กรรม ประชาชนไม่มีงานทำและยากจนก็เพราะว่าโครงการของรัฐบาลและเอดีบี” มิ่ง ชิน กล่าว

 

ชาวบ้านโดยการสนับสนุนของเอ็นจีโอร้องเรียนถึงรัฐบาลและเอดีบี เพื่อแก้ไขเรื่องผลกระทบที่เกิดจากโครงการและการจ่ายค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม จนกระทั่งเอดีบีต้องอนุมัติงบประมาณก้อนใหม่เพื่อจ่ายค่าชดเชยครั้งใหม่ขึ้นในปี พ.. 2549 ในเบื้องต้นมีการจัดสรรที่ดินชดเชยให้ครัวเรือนละ 56 ตารางเมตร แต่ปัญหาเรื่องหนี้สินก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่มีการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ช่วงปลายปีเดียวกันนั้นเองชาวบ้านจำนวน 300 ครอบครัวยังคงร้องเรียนให้รัฐจ่ายค่าชดเชย โดยเรียกร้องให้เอดีบีจ่ายค่าชดเชยมากพอที่จะเป็นค่าดอกเบี้ยและหนี้สินของพวกเขา

 

มิ่ง วันนา อายุ 53 ปี ผู้นำชุมชนจากหมู่บ้านสตึง สลอท ในจังหวัดเปรียเว็งเป็นหนึ่งในผู้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยมาตั้งแต่เริ่มมีโครงการ เธอต้องโยกย้ายบ้านเรือนและประสบกับภาวะหนี้สินพอกพูนโดยได้รับค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรมและล่าช้าเกินไป

 

ชาวบ้านเราได้รับข้อมูลจากทางรัฐบาลว่าจะต้องอพยพออกจากผืนดินของเราเองเพียง 2 สัปดาห์ก่อนที่จะเริ่มการก่อสร้างโครงการ รัฐบาลบีบบังคับให้ชาวบ้านต้องอพยพออกไป” มิ่ง วันนา กล่าว

 

มิ่งวันนา บรรยายสภาพหมู่บ้านอพยพ” ภาพโดย: โรงเรียนแม่น้ำโขง

 

ครอบครัวของ มิง วันนา ย้ายบ้านมาแล้ว 4 ครั้งในช่วงเวลา 6 ปี ระหว่างปี พ.. 2543-2549 ชาวบ้านจำเป็นต้องขออนุญาตจากสำนักงานคมนาคมจังหวัดเพื่อสร้างบ้านบนที่ดินของรัฐเป็นการชั่วคราวอยู่ไปพลาง ๆ ก่อน ในระหว่างที่รอให้สำนักงานแผนปฎิบัติการอพยพของกัมพูชาจัดหาที่ดินอยู่อาศัยถาวรให้ เธอและชาวบ้านครอบครัวอื่น ๆ ต้องอพยพโยกย้ายซ้ำอีกเมื่อทางการต้องการใช้ที่ดิน เธอและชาวบ้านก็ต้องคืนที่ดินกลับให้แก่ทางการ แล้วก็ต้องหาที่ดินแห่งใหม่แทน

 

ชีวิตยิ่งยากลำบากขึ้นทุกขณะเมื่อต้องรอและหวังว่าจะได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรม ชาวบ้านจำนวนมากไม่มีทางเลือกเพื่อความอยู่รอดของทุกคนในครอบครัวมากนัก ทั้งการดำรงชีวิตประจำวัน สุขภาพ และการศึกษาของลูกหลาน ต่างคนก็ต้องจำใจไปกู้เงินก้อนใหม่จากนายทุนเพื่อใช้ในการโยกย้ายและซื้อวัสดุสร้างบ้านหลังใหม่ รวมทั้งซื้ออาหารบริโภค พ่อค้าเงินกู้คิดดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 10 ต่อเดือน ทำให้ต่างก็มีหนี้สินพอกพูนจากดอกเบี้ยที่ทบต้น สร้างความวิตกกังวลอย่างมาก

 

 

ความสำเร็จจากการต่อสู้

 

ฉันไม่กลัวอะไรแล้ว เพราะว่าที่ผ่านมาสูญเสียทุกอย่าง ฉันไม่มีอะไรที่จะสูญเสียอีกแล้ว สำหรับฉันนั้นต้องกู้เงินจำนวนมากจากพ่อค้าเงินกู้ ฉันไม่รู้ว่าจะใช้หนี้สินกองโตหมดได้อย่างไร? ฉันทำได้ก็แต่เฉพาะหน้าเท่านั้นคือหมุนหนี้ เอาหนี้ก้อนนี้มาโปะกองนั้น เอาหนี้ก้อนนั้น ไปใช้กองโน้น ด้วยเหตุผลทั้งหมดนั้นฉันรู้อยู่อย่างเดียวว่าฉันต้องสู้ พวกเราจึงตัดสินใจที่จะร่วมกันต่อสู้กับเอดีบี” มิ่ง วันนา กล่าว

 

การกดดันของภาคประสังคม ทำให้ในปี พ.. 2550 เอดีบีอนุมัติเงินทุนอุดหนุนก้อนใหม่ให้ดำเนินโครงการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน จำนวน 30,000 ดอลล่าร์ เพื่อมอบให้แก่ครอบครัวที่ได้รับค่าชดเชยล่าช้าจำนวน 63 ครอบครัว นำไปเป็นทุนจัดตั้งองค์กรชุมชนขนาดเล็กดูแลด้านการเงินและเศรษฐกิจของสมาชิก

 

เพื่อขจัดปัญหาที่ชุมชนเผชิญหน้าอยู่ให้ได้ผล พลังจากภายในชุมชนกันเองมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการต่อสู้

 

ฉันไม่เชื่อทั้งรัฐบาลและเอดีบี แต่ฉันเชื่อในตัวฉันเองและชุมชนของเรา รัฐบาลและเอดีบีได้แต่รับปากเวลามีการประชุม ฉันจะยอมเชื่อพวกเขาก็ต่อเมื่อปัญหาได้รับการแก้ไข” มิ่ง วันนา กล่าว

 

ไม่ผิดเลยหากจะกล่าวว่าเอดีบีละเมิดนโยบายการปกป้องความปลอดภัยโดยเฉพาะ อันเป็นกรอบนโยบายและกลไกความรับผิดชอบของเอดีบีเอง การดำเนินงานโครงการที่ขาดความรับผิดชอบเป็นปัญหาร้ายแรงที่เกิดในเขมร ใครล่ะควรจะรับผิดชอบความทุกข์ยากของชาวบ้านเหล่านี้ นี่เป็นคำถามที่ท้าทายให้ต้องหาคำตอบต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท