องค์กรสิทธิจัดอันดับ 10 ก้าวหน้า 10 ถดถอย สิทธิมนุษยชน 2552

เนื่องในวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันสิทธิมนุษยชนสากล และวันรัฐธรรมนูญ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายนักฎหมายสิทธิมนุษยชน ประมวลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและนำเสนอรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ในรอบปี 2552 ทั้งที่เป็นประเด็นการพัฒนาที่ดีด้านสิทธิมนุษยชน เรียกว่า ก้าวหน้า จำนวน 10 เรื่อง และประเด็นที่ไม่พัฒนา หรือไม่ก้าวหน้าเรียกว่า ถดถอย 10 เรื่อง เพื่อรายงานต่อสาธารณชนให้เห็นถึงสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในการพัฒนาสิทธิมนุษยชน เพื่อร่วมกันติดตามและร่วมรณรงค์ให้เกิดการตระหนักในสิทธิมนุษชนต่อไป
 

 

10 ก้าวหน้าสิทธิมนุษยชน 2552


1. การคุ้มครองสิทธิชุมชนตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ 2550(คดีมาบตาพุด)

จากกรณีสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 43 คน ได้ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยว่าได้ร่วมกันให้ความเห็นชอบอนุมัติ อนุญาต โครงการหรือกิจกรรมจำนวน 76 โครงการที่ดำเนินการในพื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง โดยไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กรณีเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งให้องค์กรอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพให้ความเห็นชอบก่อนมีการดำเนินการ จึงขอให้เพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพิกถอนใบอนุญาต และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดดำเนินการออกระเบียบหรือหลักเกณฑ์ หรือการอื่นใดตามขั้นตอนของกฎหมายภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

ในคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีกับพวกได้ยื่นคำขอมาพร้อมกับคำฟ้องโดยขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยขอให้ศาลมีคำสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรม จำนวน 76 โครงการ ที่กำลังดำเนินการในพื้นที่ตำบลมาบตาพุด อำเภอบ้านฉาง และใกล้เคียงจังหวัดระยอง ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนศาลจะมีคำพิพากษา

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2552 ศาลปกครองสูงสุด จึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรมจำนวน 65 โครงการ และให้ดำเนินการได้ 11 โครงการ โดยให้เหตุผล ดังนี้

ประการแรก สิทธิของบุคคลที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 บัญญัติรับรองไว้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง การที่ยังไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการใช้สิทธิดังกล่าวนั้น ไม่ใช่เหตุที่องค์กรของรัฐจะยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างเพื่อปฏิเสธไม่ให้ความคุ้มครองสิทธิดังกล่าวได้ เพราะโดยหลักการใช้และการตีความกฎหมาย เจตนารมณ์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จะมีผลตามที่บัญญัติโดยทันทีไม่ว่าจะมีบทบัญญัติให้ต้องมีการตรากฎหมายกำหนดรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ 72552 ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2552 ซึ่งเกี่ยวกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 นี้เองว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีเจตนารมณ์ให้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองไว้มีสภาพบังคับได้ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศให้มีผลใช้บังคับโดยไม่ต้องรอให้มีการบัญญัติกฎหมายอนุวัติการมาใช้บังคับก่อน

ประการที่สอง การเกิดปัญหาอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐจากคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของศาลก็เป็นเรื่องที่สืบเนื่องโดยตรงมาจากการละเลยไม่ดำเนินการหรือความล่าช้าของผู้ถูกฟ้องคดีเองที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การที่เจ้าของโครงการหรือกิจกรรมนั้นจะต้องชะลอการดำเนินการก่อสร้าง ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามโครงการของตนออกไป อันส่งผลกระทบต่อธุรกิจและเศรษฐกิจของภาคเอกชน รวมทั้งมีผลกระทบต่อการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐ จึงมิใช่เนื่องมาจากคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของศาลโดยตรง

ประการที่สาม การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างต่อเนื่องเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมไม่เฉพาะประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวในปัจจุบันนี้เท่านั้นที่สมควรได้รับและได้รับการเอาใจใส่ดูแล แม้ผู้ที่จะมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ในอนาคตก็ควรจะต้องได้รับด้วยเช่นกัน นอกจากนี้การบริหารจัดการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมดังกล่าวในอารยประเทศ ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญของรัฐที่รัฐจะต้องดำเนินการ ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงการบริหารงานของรัฐด้านเศรษฐกิจกับด้านพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิตของประชาชน และสิทธิชุมชนแล้ว เห็นได้ว่า ความเสียหายที่เจ้าของโครงการหรือกิจกรรมจะได้รับอาจเป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย ในกรณีนี้ได้แก่ รัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติใบอนุญาตได้พิจารณาผลการประเมินในเรื่องต่าง ๆ ให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ หากจะเป็นการกระทบต่อสิทธิของเจ้าของโครงการแต่ก็มิได้เป็นการจำกัดสิทธิการดำเนินการโดยสิ้นเชิง เพียงแต่กรณีเป็นโครงการหรือกิจกรรมใดที่อยู่ในประเภทที่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงก็ต้องดำเนินการ ตามนัยมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ให้ครบถ้วนก่อน ประกอบกับโครงการหรือกิจกรรมเหล่านั้นต้องมีความรับผิดชอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญถึงสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่จะต้องสุ่มเสี่ยงกับการได้รับมลพิษจากผลิตผลของการดำเนินการผลิตด้วย


2. คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2552 ในการประชุมสุดยอดของรัฐบาลอาเซียน ครั้งที่ 15 ได้ให้การรับรองปฏิญญาชะอำหัวหินว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยรัฐบาลแต่ละประเทศได้แต่งตั้งตัวแทนเข้าเป็นกรรมาธิการจำนวน 10 คน ดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 3 ปี เพื่อทำหน้าที่การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างฐานความเข้าใจและค่านิยมร่วมกันเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แม้คณะกรรมาธิการจะมีข้ออ่อนที่ไม่มีความเป็นอิสระอย่างเพียงพอจากรัฐบาล และไม่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิในชาติสมาชิกก็ตาม แต่ถือเป็นการเริ่มต้นที่จะพัฒนาคณะกรรมาธิการนี้ให้เป็นกลไกในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุยชนสำหรับประชาชนในประเทศอาเซียนให้เข้มแข็ง และถือเป็นภารกิจของภาคประชาสังคมในประเทศอาเซียนที่จะติดตามตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมาธิการอย่างต่อเนื่องต่อไป สำหรับตัวแทนของประเทศไทยได้มีสรรหาบุคคล ซึ่งเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษชนเป็นที่ประจักษ์คือ ดร.ศรีประภา เพ็ชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

3. การแต่งตั้งคณะกรรมาการเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 กระทรวงยุติธรรมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมาการเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาให้ข้อเสนอแนะข้อคิดเห็นต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณาเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย และพิจารณาท่าทีของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย เนื่องจากอนุสัญญาฉบับนี้มุ่งหมายที่จะคุ้มครองบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง

ตามอนุสัญญาดังกล่าวได้ให้ความหมายของ “การบังคับให้บุคคลสูญหาย” หมายถึงการทำให้บุคคลสูญเสียเสรีภาพไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใดหรือด้วยเหตุผลใดซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มคนที่กระทำโดยการได้รับคำสั่ง ได้รับการสนับสนุน หรือการยินยอมจากรัฐ และรวมทั้งการไม่เปิดเผยข้อมูลหรือการปฏิเสธในการรับรู้ถึงการสูญเสียเสรีภาพหรือการสูญหายของบุคคล หรือการปิดบังข้อมูลความจริงหรือสถานที่ของบุคคลผู้สูญหาย ภายใต้คำจำกัดความนี้บุคคลทั้งหมดนี้ได้กระทำการหรือสั่งให้มีการปิดบังหรือไม่เปิดเผยถิ่นพำนักของบุคคลที่หายตัวไป ก็ถือว่าเป็นการกระทำภายใต้การทำให้บุคคลสูญหายตามอนุสัญญาฉบับนี้ด้วย

ถ้าหากประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับนี้ ย่อมมีผลให้รัฐบาลไทยต้องมีพันธกรณีต้องออกกฎหมายที่มีเนื้อหาเช่นเดียวกันมารองรับหลักการในอนุสัญญาดังกล่าว


4. การประกาศเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 ศาลปกครองระยองพิพากษาคดีที่นายเจริญ เดชคุ้ม พร้อมชาวบ้านเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง รวม 27 คน ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฐานละเลยไม่ประกาศให้พื้นที่ตำบลมาบตาพุด และเทศบาลเมืองมาบตาพุด ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียงที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงเป็นเขตควบคุมมลพิษ

โดยศาลเห็นว่าตามหลักฐานเอกสารการรายงานของกรมควบคุมมลพิษในการประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 11/2548 และเอกสารทางวิชาการอีกหลายรายการ ล้วนระบุว่า ปัญหามลพิษในท้องที่มาบตาพุดกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ศาลจึงรับฟังว่าเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด เป็นพื้นที่มีปัญหามลพิษ มีแนวโน้มร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน หรือก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงสมควรให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดทั้งหมด รวมทั้งตำบลเนินพระ ตำบลมาบข่า และตำบลทับมา อำเภอเมือง ตลอดจนตำบลบ้านฉาง ทั้งตำบล เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด ขจัดมลพิษ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 60 วัน นับตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษา

และในวันที่ 16 มีนาคม 2552 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2552 มีมติให้ประกาศพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นเขตควบคุมมลพิษตามที่ศาลปกครองระยองมีคำพิพากษา แต่ให้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองระยองที่ระบุว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติละเลยการปฏิบัติหน้าที่


5. การประกาศใช้แผนสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 2 (2552 – 2556)

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 ให้ความเห็นชอบและประกาศใช้การประกาศใช้แผนสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 2 (2552 – 2556) ซึ่งยุทธศาสตร์สำคัญ 4 ยุทธศาสตร์ประกอบด้วย
1.ยุทธศาสตร์ป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เกิดความเสมอภาคตามความเป็นจริงนอกเหนือจากความเสมอภาคทางกฏหมาย
2.ยุทธศาสตร์คุ้มครองสิทธิมนุษยชนในทุกกลุ่มเป้าหมายให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน
3.ยุทธศาสตร์พัฒนากฎหมายและกลไกทางกฎหมาย รวมทั1งการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
4.ยุทธศาสตร์พัฒนาองค์กรเครือข่ายให้มีศักยภาพในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้มีความเข้มแข็งในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและพัฒนาไปสู่มาตรฐานสากล
และให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องนำแผนสู่การปฏิบัติด้วยการแปลงแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปสู่แผนบริหารราชการแผ่นดิน แผนปฏิบัตราชการกระทรวง กรม แผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนแผนอื่นที่เกี่ยวข้องแล้วจัดทำเป็นโครงการหรือกิจกรรม เพื่อรองรับการดำเนินภารกิจตามแผนสิทธิมนุษนชนแห่งชาติ

6. การฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจคดีการอุ้มฆ่านายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง
จากกรณีการเสียชีวิตของเยาวชนและประชาชนในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ไม่น้อยกว่า 21 รายในช่วงสงครามปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรในระหว่างปี 2547- 2548 ซึ่งอาจเป็นการฆาตรกรรมต่อเนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่คดียังไม่มีความคืบหน้ามากนักโดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า การเสียชีวิตนั้นเนื่องมาจากการฆ่าตัดตอนกันเองของผู้ค้ายาเสพติด หรือหากเป็นการเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็เป็นเพราะผู้ค้ายาเสพติดต่อสู้ขัดขวางจึงต้องทำการวิสามัญฆาตกรรม

สำหรับคดีนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จับกุมและต่อมาถึงแก่ความตาย ได้มีร้องเรียนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับเป็นคดีพิเศษ เพราะผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าที่ตำรวจ ซึ่งคณะกรรมการคดีพิเศษได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 5 /2548 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2548 ให้คดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง เป็นคดีพิเศษที่จะต้องทำการสืบสวนสอบสวนตามมาตรา 21 วรรค 1 (2) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และเห็นชอบให้พนักงานอัยการเข้าร่วมทำการสอบสวนด้วย

จากการทำงานของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเป็นเวลา 4 ปี สามารถสรุปผลและออกหมายเรียก เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาฬสินธุ์จำนวน 6 นาย เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตร 3 นาย ได้แก่ พ.ต.ท. สำเภา อินดี พ.ต.ต. สุมิตร นันทสถิตย์ พ.ต.อ. มนตรี ศรีบุญลือ และชั้นประทวน 3 นาย ได้แก่ ด.ต.อังคาร คำมูลนา ด.ต.สุทธินันท์ โนนทิง และ ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ มารายงานตัวและรับทราบข้อกล่าวหา ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและซ่อนเร้นปิดบังอำพรางการตาย ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ส่งสำนวนให้อัยการรับไปพิจารณาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2552 และอัยการส่งฟ้องศาลเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2552 ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งความตาย และเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบเพื่อช่วยเหลือบุคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ

การดำเนินคดีดังกล่าวจะเป็นบทพิสูจน์กระบวนการยุติธรรมในการสร้างบรรทัดฐานคดีสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ ว่าผู้กระทำความผิดจะต้องไม่ลอยนวล และจะต้องไม่ส่งเสริมวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยปล่อยให้มีการช่วยเหลือกันในระบบอุปถัมป์ของผู้มีอำนาจ รวมทั้งจะต้องทำให้เป็นคดีตัวอย่างเพื่อสร้างบรรทัดฐานคดีสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะคดีการฆาตรกรรมต่อเนื่องที่จังหวัดกาฬสินธุ์


7. การรับรองวิทยุชุมชนชั่วคราว

แม้ว่าการจัดตั้งวิทยุชุมชนของประชาชนจะเป็นการใช้สิทธิความเป็นเจ้าของวิทยุตามรัฐธรรมนูญ 2540 แต่หน่วยงานรัฐไม่มีการออกหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ประกอบกิจการวิทยุชุมชน ทำให้เกิดการจัดตั้งวิทยุชุมชนของผู้มีอำนาจทางการเมืองหรืออำนาจทางเศรษฐกิจในรูปแบบวิทยุชุมชน อันเป็นการไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งหมายให้ประชาชนเป็นเจ้าของวิทยุโดยแท้จริง ประกอบกับเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีกับวิทยุชุมชนบางสถานีโดยอ้างกฎหมายที่บังคับใช้ก่อนรัฐธรรมนูญ

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)ได้ออกประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) และมีผลบังคับใช้เมื่อ 25 กรกฎาคม 2552 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชนและเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปสื่อตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และส่งเสริมสิทธิในการสื่อสารของประชาชนโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรมความมั่นคงของรัฐและประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะของภาคประชาชน

และได้กำหนดนิยาม “วิทยุกระจายเสียงชุมชน” หมายความว่า กิจการกระจายเสียงเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่แสวงหารายได้จากการโฆษณา เป็นประโยชน์ตามความต้องการที่หลากหลายของชุมชนหรือท้องถิ่นที่รับบริการส่งผลให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง โดยชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกันและดำเนินการโดยชุมชนเป็นอิสระ มีเสรีภาพในการเสนอข่าวและการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ขัดต่อจรรยาบรรณและศีลธรรมอันดีของประชาชน ปราศจากการครอบงำและแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์โดยมิชอบ กลุ่มการเมืองพรรคการเมืองทุกระดับหรือเอกชนที่มุ่งหากำไรในเชิงพาณิชย์

หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตดังกล่าว ได้กำหนดขั้นตอนการขอรับใบอนุญาต 3 ขั้นตอนตอนสำหรับผู้ที่ดำเนินการวิทยุชุมชนอยู่ก่อนประกาศหลักเกณฑ์ฯจะบังคับใช้ คือยื่นเอกสารแสดงความประสงค์ความประสงค์จะประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชนพร้อมหลักฐานภายใน 30 วัน นับจากประกาศฯ มีผลบังคับใช้ (ครบกำหนด 23สิงหาคม 2552) ขั้นดำเนินการขอรับใบอนุญาต เมื่อได้รับใบตอบรับการแสดงความประสงค์ในขั้นตอนแรกจะได้รับสิทธิ“เป็นผู้ทดลองออกอากาศในลักษณะชั่วคราว” จาก กทช. จะสามารถยื่น แบบแสดงความประสงค์รับใบอนุญาตเพื่อขอรับใบอนุญาตได้ ภายใน 300 วัน นับจากวันที่ยื่นแบบแจ้งความประสงค์ และขั้นได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ ภายหลังขั้นตอนการพิจารณาออกใบอนุญาตของ กทช. ผู้ขอรับใบอนุญาตได้รับสิทธิคุ้มครองตามกฎหมายทุกประการ โดยใบอนุญาตมีอายุ 1 ปี

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552 ได้ครบกำหนดการยื่นขอใบอนุญาตชั่วคราวของผู้ประกอบการวิทยุชุมชน มีผู้ประกอบการวิทยุชุมชนลงทะเบียนขอเป็นผู้ทดลองออกอากาศ จำนวน 5,500 สถานี คิดเป็น 98-99% ของวิทยุชุมชนทั่วประเทศ


8. โฉนดชุมชน

ความพยายามของชุมชนในการใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญในการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนได้ปรากฎเป็นที่ชัดแจ้งในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคกลาง เพื่อกระจายสิทธิที่ดินให้เกิดความเป็นธรรม และได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายปฏิรูปที่แห่งประเทศไทย เพื่อผลักดันให้รัฐบาลรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน จนกระทั่งนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 71/2552 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยโดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และต่อมาคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้มีคำสั่งที่ 1/2552 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2552 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายการกระจายถือครองที่ดิน โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) เป็นประธานอนุกรรมการ

คณะอนุกรรมการฯ ได้ศึกษาแนวทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาในเรื่องการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจนและชุมชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปแบบโฉนดชุมชน เพื่อให้ประชาชนซึ่งรวมตัวกันเป็นชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลใช้ประโยชน์ที่ดินรวมกัน แต่เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎเกณฑ์ทางกฎหมายออกมารองรับโดยเฉพาะ จำเป็นต้องตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับ แต่การตรากฎหมายย่อมต้องใช้เวลาพอสมควรไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น สมควรแก้ปัญหาในเบื้องต้นโดยการกำหนดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชนขึ้นเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยึดถือปฏิบัติไปพลางก่อน

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.... เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 โดยสาระสำคัญของร่างระเบียบประกอบด้วย

1. กำหนดนิยามคำว่า “โฉนดชุมชน” หมายความว่า สิทธิร่วมกันของชุมชนในการบริหารจัดการ การครอบครองที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดินเพื่อสร้างความมั่นคงในการถือครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของชุมชน และเป็นการรักษาพื้นที่เกษตรในการผลิตพืชอาหารเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยการเลือกรูปแบบการผลิตที่สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและระบบภูมินิเวศ รวมทั้งการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุล
2. กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการประสานงานและจัดโฉนดชุมชน” เรียกโดยย่อว่า “ปจช.” และกำหนดอำนาจหน้าที่ของปจช.เช่น เสนอนโยบาย แผนงานและงบประมาณในการดำเนินงานโฉนดชุมชนต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดเป็นมติคณะรัฐมนตรีในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ
3. กำหนดคุณสมบัติกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
4. กำหนดให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการ และให้มีอำนาจหน้าที่ประสานนโยบายการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการดำเนินงานโฉนดชุมชนให้สำเร็จเป็นไปตามกฎหมาย กฎ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และติดตามประเมินผล และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
5. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมดูแลใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ
6. กำหนดให้มีคณะกรรมการชุมชนเพื่อกระทำการแทนในนามของชุมชน และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุมชน
7. กำหนดให้ในกรณีที่มีการกระทำผิดเงื่อนไขที่ให้ไว้ของชุมชนที่ได้รับสิทธิให้หน่วยงานของรัฐโดยความเห็นชอบของ ปจช. มีอำนาจยกเลิกโฉนดชุมชนได้
8. กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการฯ ภายในหกสิบวันนับแต่ระเบียบนี้ใช้บังคับ และกำหนดให้มีพื้นที่นำร่องในการดำเนินงานโฉนดชุมชนจำนวนไม่น้อยกว่าสามสิบพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่ระเบียบนี้ใช้บังคับ


9. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน

ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญนิติบัญญัติ วันที่ 2 กันยายน 2552 ที่ประชุมได้พิจารณาและลงมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ..... และมีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เริ่มประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2552 จนบัดนี้เกือบจะเสร็จแล้ว

หลักการสำคัญของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ที่คณะกรรมาธิการฯ เห็นพ้องต้องกัน คือ
1. งานที่รับไปทำที่บ้านไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะงานในกิจการอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ควรจะครอบคลุมถึงงานภาคเกษตรกรรม และภาคบริการด้วย หน่วยงานภาครัฐ ส่วนราชการต่างๆ และรัฐวิสาหกิจ หากมีการจ้างงานดังกล่าวก็ไม่ได้รับการยกเว้น

2. หลักการสำคัญของร่างกฎหมายฯ มีทั้งที่เกี่ยวกับการคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนา ผู้รับงานไปทำที่บ้าน กล่าวคือ มีการกำหนดมาตรการการพัฒนาฝีมือแรงงาน มาตรการในการป้องกันการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตาย เนื่องจากการทำงาน และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้รับงานไปทำที่บ้าน เช่น ในงานที่มีลักษณะและคุณภาพอย่างเดียวกัน ปริมาณเท่ากัน ค่าตอบแทนของผู้รับงานไปทำที่บ้านจะต้องไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และโดยไม่เลือกปฏิบัติ การคุ้มครองหญิงมีครรภ์ หรือเด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า 15 ปี มิให้ทำงานที่อาจเป็นอันตราย ผู้จ้างงานเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล และค่าทำศพ ในการที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านประสบอันตราย เนื่องจากการใช้วัตถุดิบ อุปกรณ์ที่ผู้จ้างงานจัดให้ หรือเนื่องจากผู้รับจ้างงานไม่จัดอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน

3. มีคณะกรรมการการรับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งเป็นกลไกระดับปกติ มีองค์ประกอบลักษณะจตุภาคี หรือมากกว่าไตรภาคี ประกอบด้วย กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนผู้จ้างงาน ผู้แทนองค์กรผู้รับงานไปทำที่บ้าน และผู้ทรงคุณวุฒิ

4. ในส่วนการบริหารและการบังคับใช้กฎหมาย มีหลักการที่จะส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม สร้างกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ทำให้เป็นภาระแก่ประชาชนในการฟ้องร้องดำเนินคดี หรือที่จะกระทบต่อความสัมพันธ์ในการจ้างงาน
นอกจากนี้ ให้ข้อพิพาทเกี่ยวกับงานที่รับไปทำที่บ้าน อยู่ในกระบวนการการพิจารณาคดีของศาลแรงงาน และให้อำนาจศาลแรงงานมีอำนาจสั่งให้สัญญาจ้างหรือข้อกำหนดในเอกสารเกี่ยวกับการรับงานไปทำที่บ้านที่ทำให้ผู้จ้างงานได้เปรียบผู้รับงานเกินควร มีผลใช้บังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี


10. ศาลมีพันธกิจในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและปกปักรักษาประชาธิปไตย: คำวินิจฉัยผู้พิพากษาเสียงส่วนน้อย

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2552 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติเสียงข้างมากพิพากษาตัดสิทธิทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเวลา 5 ปี กรณีปกปิดข้อเท็จจริงในการยื่นบัญชีแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งยังพิพากษาให้มีโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยมีคำพิพากษาให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 4 พันบาท แต่โทษจำคุกให้รอไว้ก่อนเป็นเวลา 1 ปี

แต่ในคดีดังกล่าวมีคำวินิจฉัยส่วนตนของนายกีรติ กาญจนรินทร์ที่วินิจฉัยว่าศาลควรมีพันธกรณีในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบและพันธกรณีในการปกปักรักษาประชาธิปไตย รวมทั้งวินิจฉัยว่าการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นการวางหลักการสำคัญที่ศาลไม่ควรรับรองการได้อำนาจมาโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย อันขัดแนวคำพิพากษาเดิมที่ให้การรับรองอำนาจรัฐไม่ว่าจะได้อำนาจโดยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม ดังรายละเอียดกล่าวคือ

“.............ปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีอำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้อง) คดีนี้หรือไม่ เห็นว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ศาลเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นของประชาชน ศาลจึงต้องใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อประชาชนอย่างสร้างสรรในการวินิจฉัยคดีเพื่อให้เกิดผลในทางที่ขยายขอบเขตการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และหากศาลไม่รับใช้ประชาชน ย่อมทำให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกท้าทายและสั่นคลอน

นอกจากนี้ศาลควรมีบทบาทในการพิทักษ์ความชอบด้วยกฎหมายรวมถึงพันธกรณีในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบและพันธกรณีในการปกปักรักษาประชาธิปไตยด้วย

การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย

หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้นยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ ข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ปัจจุบันอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ นานาอารยะประเทศส่วนใหญ่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ยอมรับอำนาจที่ได้มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ฉะนั้นเมื่อกาละและเทศะในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วจากอดีต ศาลจึงไม่อาจที่จะรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฎฐาธิปัตย์

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปเช่นกันว่า ผู้ร้องประกอบด้วยคณะกรรมการที่เป็นผลพวงของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) แต่ คปค. เป็นคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 จึงเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยดังเหตุผลข้างต้น ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะได้รับการนิรโทษกรรมภายหลังก็ตาม หาก่อให้เกิดอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใดอย่างรัฏฐาธิปัตย์

ผู้ร้องประกอบด้วยคณะบุคคลที่เป็นผลพวงของ คปค. ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช 2542 ด้วยเช่นกัน ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้อง) คดีนี้ อำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้อง) เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาว่าผู้คัดค้านจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย พิพากให้ยกคำร้องของผู้ร้อง”

 

10 ถดถอยสิทธิมนุษยชน 2552

1.ประธานรัฐสภาไม่รับร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ....ที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอต่อรัฐสภา

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2552 ผู้แทนการเสนอกฎหมายได้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ. ....ที่ประชาชนเลือกตั้งจำนวน 10,378 คนร่วมกันเข้าชื่อต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เพื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบเป็นกฎหมาย ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2552 นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภามีคำสั่งไม่รับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยวินิจฉัยว่า หลักการของร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ. .... ไม่เข้าเงื่อนไขในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย หรือหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในการจัดทำกฎหมายเท่านั้น

คำสั่งของประธานรัฐสภาที่ไม่รับร่างพระราชบัญญัติที่ประชาชนเขาชื่อเสนอดังกล่าว ถือเป็นการลิดรอนและขัดขวางการใช้สิทธิโดยชอบธรรมของประชาชนที่จะเสนอกฎหมายที่มีหลักการและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของประชาชน เพราะร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการประกันสิทธิในการได้รับทราบข้อมูล คำชี้แจงอันเป็นสาระสำคัญและเหตุผลจากรัฐบาล รวมทั้งมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองต่อรัฐบาลและต่อรัฐสภาอย่างเพียงพอ ก่อนที่รัฐบาลไปตกลงผูกพันกับนานาประเทศเพื่อทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้าหรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นร่างพระราชบัญญัตินี้ จึงเป็นกฎหมายที่มีหลักการเกี่ยวกับเรื่องที่บัญญัติในหมวด 3 หรือหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ ตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2542 มาตรา 5 วรรคสองบัญญัติไว้

2. สิทธิแรงงานข้ามชาติกรณีนางหนุ่ม ไหมแสง 4 คดี 2 ศาล 3 ปี
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2549 นางหนุ่ม ไหมแสงแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ อายุ 37 ปี ซึ่งได้รับใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางาน ตั้งแต่ปี 2547 เป็นคนงานก่อสร้างลูกจ้างผู้รับเหมาสร้างโรงแรมแชงกรีลา เชียงใหม่ได้ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ส่งผลให้นางหนุ่มต้องเป็นอัมพาตตลอดลำตัวด้านซ้ายจากเอวลงมา กลายเป็นผู้พิการตลอดชีวิตนาย จ้างได้เลิกจ้างนางหนุ่มทันที นางหนุ่ม จึงได้ดำเนินการใช้สิทธิในฐานะลูกจ้างตามกฎหมาย ดังนี้

1.การใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลแรงงาน
โดยในเดือนกรกฎาคม 2550 นางหนุ่มได้ยื่นคำร้องเพื่อขอรับเงินจากกองทุนเงินทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 แต่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ปฏิเสธคำร้องของนางหนุ่มโดยอ้างแนวปฏิบัติตามหนังสือเวียนของสำนักงานประกันสังคมที่ รส 711/ว751 ที่กำหนดเงื่อนไขในการได้รับเงินเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนสำหรับแรงงานต่างด้าว จะต้อง 1) แสดงเอกสารการจดทะเบียนแรงงานและใบอนุญาติทำงาน พร้อมกับหนังสือเดินทางและหนังสือสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และ 2) นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน นางหนุ่มจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน และต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2551 คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้มีคำวินิจฉัยยกคำอุทธรณ์ของนางหนุ่ม

นางหนุ่มจึงได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนต่อศาลแรงงานภาค 5 ว่าแนวปฏิบัติตามหนังสือเวียนดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อหลักการรัฐธรรมนูญที่ห้ามการเลือกปฏิบัติ และขัดต่อสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม

แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมาศาลแรงงานภาค 5 ได้ยกคำฟ้องของนางหนุ่มโดยศาลได้วินิจฉัยว่า หนังสือเวียนของสำนักงาน ประกันสังคมเหมาะสมและให้การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นธรรมแล้ว จึงไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติแต่อย่างใด นางหนุ่ม จึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานภาคเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2551

แต่อย่างไรก็ตาม ต่อมาในวันที่ 7 มกราคม 2552 นางหนุ่ม ไหมแสง พร้อมด้วย นายซอ ลุงกอ และนายเต็ง จึงยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเพื่อให้ศาลเพิกถอนหนังสือเวียนของสำนักงานประกันสังคมที่ รส 711/ว751 ที่กำหนดเงื่อนไขในการได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนสำหรับแรงงานต่างด้าว ศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณา และนัดพิจารณาคดีนัดแรกในวันที่ 30 มีนาคม 2552 และในวันที่ 21 กันยายน 2552 ศาลแรงงานภาค 5 มีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่นางหนุ่ม ไหมแสง และแรงงานข้ามชาติอีกสองราย ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือเวียนที่เลือกปฏิบัติดังกล่าว โดยศาลเห็นว่า “ประเด็นความชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายของหนังสือเวียนดังกล่าวนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

2.การใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลปกครอง
โดยในวันที่ 11 เมษายน 2551 นางหนุ่ม ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย, นายซอ ลุงกอ และนายเต็ง (ไม่มีนามสกุล) ผู้อาจได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากผลแห่งหนังสือเวียนของสำนักงานประกันสังคมที่ รส 711/ว751 ที่กำหนดเงื่อนไขสำหรับแรงงานต่างด้าวในการได้เงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน ได้ยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคมและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนแนวทางปฏิบัติ หรือการออกคำสั่งหรือกฎหรือแนวทางปฏิบัติที่ขัดต่อหลักการของกฎหมาย อันเป็นการกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาวันที่ 25เมษายน 2551 ศาลปกครองเชียงใหม่ ชี้ว่า “.แม้ว่าข้อพิพาทดังกล่าวจะเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายก็ตาม แต่ข้อพิพาทดังกล่าวเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน จึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน พ.ศ.2522 (มาตรา 8) คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคสอง (3) ศาลปกครองชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ นางหนุ่มจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด และในที่สุดเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2551 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นไม่รับฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

กรณีการใช้สิทธิของนางหนุ่ม ไหมแสงแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานและได้รับอนุญาตให้ "ทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย" ในประเทศไทยเช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติจากพม่าอีกว่า 500,000 คน จึงมีสถานะเป็นลูกจ้างตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 และสมควรได้รับสิทธิจากกองทุนเงินทดแทนในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานให้นายจ้าง แต่สำนักงานประกันสังคมกลับออกหนังสือเวียนของสำนักงานประกันสังคมที่ รส 711/ว751 ที่กำหนดเงื่อนไขในการได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนสำหรับแรงงานต่างด้าวที่อาจเป็นการกีดกันแบ่งแยกไม่ให้นางหนุ่มได้รับสิทธิที่พึงได้รับในฐานที่เป็นลูกจ้างที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง และเป็นการท้าทายกระบวนการยุติธรรมว่าจะมภารกิจในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิของมนุษย็ได้มากน้อยเพียงใด


3. การตีความสิทธิชุมชนตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ

โดยที่มาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองสิทธิของบุคคลและชุมชน เพื่อเป็นการประกันสิทธิให้ประชาชนในชุมชนสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยได้กำหนดหลักการสำคัญคือห้ามดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ หากจะดำเนินโรงการหรือกิจกรรมดังกล่าว จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขสามประการ คือ ต้องศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน ต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน และต้องให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว

แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบข้อหารือของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะที่ 1 และคณะที่ 2)ได้พิจารณาให้ความเห็นว่าบทบัญญัตมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญยังไม่ผลใช้บังคับทันที เพราะมีบทเฉพาะกาลตามมาตรา 3030 (1) กำหนดเงื่อนไงว่าต้องมีกฎหมายกำหนดรายละเอียดเสียก่อน ดังนั้นหน่วยงานผู้รับผิดชอบที่จะอนุญาติ จึงสามารถออกใบอนุญาตให้แก่โครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ตามกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้

อาจกล่าวได้ว่า การให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวย่อมส่งผลให้สิทธิขุมชนที่จะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญเป็นอันสิ้นผลโดยทันที

จนกระทั่ง ศาลปกปกครองสูงสุดเห็นว่าความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าโครงการหรือกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างร้ายแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพต้องดำเนิการตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ 2550โดยทันทีตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับคือวันที่ 24 สิงหาคม 2550 (คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2552)

และศาลปกครองสูงสุดยังให้ความเห็นต่อว่ามีกรรมการสองคนในคณะกรรมการกฤษฎีกา((คณะที่ 1 และคณะที่ 2)คือ นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช และนายสุภชัย ภู่ประเสริฐ ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบการธรกิจในโครงการหรือกิจกรรมที่ให้ความเห็น

นอกจากนี้ คณะกรรมการกฤษฎีการับฟังปัญหา ข้อเท็จจรริง และความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานอนุญาต และผู้แทนผู้ประกอบการคือ ผู้แทนบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน)และผู้แทนบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น โดยไม่ได้รับฟังจากผู้แทนชุมชนหรือประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากากรดำเนินโครงการหรือกิจกรรมทั้งหลาย ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญที่ต้องรับฟังทั้งสองฝ่ายเพื่อประกอบการพิจาณาให้ความเห็น


4. การสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2552

การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน มีความรุนแรงเกิดขึ้นที่โรงแรมรอยัล คลิฟรีสอร์ท พัทยาในวันที่ 11 เมษายน 2552 จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศยกเลิกการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา พร้อมประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในพื้นที่ จ.ชลบุรี จนต้องยุติการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2552 และในระหว่างที่รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่กระทรวงมหากไทยก็มีความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 เมษายน จนกระทั่งรัฐบาลได้ใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมตามจุดต่างๆตั้งแต่ตอนเช้ามืดของวันที่ 13 เมษายน จนถึงเช้าของวันที่ 14 เมษายน แกนนำ นปช.จึงประกาศยุติการชุมนุม ทำให้มีผู้บาดเจ็บจากเหตุสลายการชุมนุม จำนวน 77 คน และมีผู้ถูกยิงเสียชีวิต 2 คนที่นางเลิ้ง

เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นบททดสอบสำคัญของสังคมไทยในการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งจะต้องได้รับการคุ้มครองและได้รับการประกันจากเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างถึงที่สุด กับการที่รัฐจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรณีที่การชุมนุมได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อจะใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม แต่อย่างไรก็ตามการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมก็ต้องไม่ใช่การเข้าทำลายชีวิตของผู้ชุมนุมเช่นกัน ซึ่งหากพิจารณาเหตุการณ์อย่างต่อเนื่องจะเห็นได้ว่ามีความรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินเกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยตรงในการคุ้มครองชีวิตของประชาน


5. ศาลจังหวัดเชียงรายจำคุกชาวนาปิดถนน 6 เดือนไม่รอลงอาญา

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2552 ศาลจังหวัดเชียงราย ได้มีคำพิพากษาในคดีที่ตำรวจแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ต้องหาจำนวน 3 คน ประกอบไปด้วยนายอำพล เวียงสิมา อายุ 32 ปี บ้านเลขที่ 37 หมู่ 14 ต.ป่าหุ่ง อ.พาน จ.เชียงราย ส.ต.อ.ภูชิชย์ โสลา อายุ 50 ปี บ้านเลขที่ 49 หมู่ 9 ต.สันกลาง อ.พาน และนายมานิตย์ คำปุก อายุ 33 ปี บ้านเลขที่ 179 หมู่ 4 ต.สันติสุข อ.พาน ซึ่งได้นำประชาชนไปปิดถนนพหลโยธินสายเชียงราย-พาน พื้นที่อ.พาน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีการช่วยเหลือเรื่องราคาข้าวนาปรังที่ตกต่ำ แต่เนื่องจากเป็นการปิดถนนที่ทำให้การจราจรติดขัดตำรวจจึงแจ้งข้อหาตามความผิด พ.ร.บ.ทางหลวง และ พ.ร.บ.จราจรทางบก รวมทั้ง พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง เหตุเกิดเมื่อเดือนมิถุนายน 2552

ศาลจังหวัดเชียงราย ได้มีคำพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 3 คนมีความผิดตามพ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทง ฐานปิดกั้นถนนและจอดรถกีดขวางทางจราจรบนทางหลวง ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฏหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 ซึ่งมีโทษหนักที่สุดลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันโฆษณาโดยการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 200 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิพากษามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 100 บาท การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่สาธารณ ประโยชน์โดยส่วนรวม และไม่ยำเกรงกฎหมายบ้านเมือง ดังนั้น เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างจึงเห็นสมควรไม่ให้รอการลงโทษ

ข้อสังเกตในคดีนี้แสดงให้เห็นว่าแม้ประชาชนจะเดือดร้อนจากราคาข้าวนาปรังที่ตกต่ำและเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา แต่หากมีการปิดถนนและใช้เครื่องขยายเสียงก็จะมีความผิดฐานปิดกั้นถนนและจอดรถกีดขวางทางจราจรบนทางหลวงและฐานร่วมกันโฆษณาโดยการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตต้องจำคุก 6 เดือน ปรับ 100 บาท แม้จะมีการรับสารภาพก็ตาม


6. การขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของคนงานสหภาพแรงงาน ไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)

จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2552 สหภาพแรงงาน ไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ ในเครือบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และคนงานบริษัท เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ พร้อมด้วยองค์กรแรงงานและองค์กรประชาชน ประมาณ 800 คน ได้เดินขบวนจากบริเวณหน้าบ้านพิษณุโลกมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหลังจากที่ได้มีการยื่นเรื่องต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกมนตรี ซึ่งยื่นไว้นานแล้วยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือความสนใจใดๆ และได้เดินขบวนไปยังหน้ารัฐภา เพื่อยื่นหนังสือให้แก่ประธานประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านที่รัฐสภา ในระหว่างผู้ชุมนุมได้ชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาโดยสงบและปราศจากอาวุธอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เปิดเครื่องแอลแรด (LRAD) หรือ Long Range Acoustic Device ที่มีความดังระดับ 150 เดซิเบล ซึ่งเป็นอาวุธในการปราบปรามคนจำนวนมาก กับผู้ชุมนุม ซึ่งไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า และเป็นเครื่องที่ทำให้เกิดเสียงความถี่สูงที่มีผลต่อโสตประสาท เมื่อได้ยินเสียงจะมีอาการเจ็บปวดแก้วหู บางรายอาจคลื่นไส้ และอาเจียน

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิตได้ออกหมายจับ นายสุนทร บุญยอด อายุ 50 ปี น.ส.บุญรอด สายวงศ์ 33 ปี และ น.ส.จิตรา คชเดช อายุ 34 ปี ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้า หรือ ผู้สั่งการเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ในขณะนี้นางสาวบุญรอด สายวงศ์ และนางสาวจิตรา คชเดชได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อต่อสู้คดีต่อไป

การเปิดเครื่องแอลแรด (LRAD) เพื่อสลายการชุมนุม และการออกหมายจับของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการกระทำที่เป็นการขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของประชาชนที่ได้รับการรองรับโดยรัฐธรรมนูญ อันเป็นหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ที่ประสงค์ให้ผู้ใช้แรงงานและประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของตนเองเช่นการไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย

7. คำสั่งศาลคดีไต่สวนการตายกรณีตากใบ
จากกรณีที่ประชาชนจำนวนนับพันได้ชุมนุมกันที่บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอ (สภ.อ) ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เพื่ เรียกร้องความเป็นธรรมกรณีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชบร.) จำนวน 6 คน ถูกเจ้าพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าได้มอบอาวุธปืนของทางราชการให้แก่ผู้ก่อความไม่สงบโดยตั้งข้อหายักยอกทรัพย์และแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยตัวชรบ.ทั้ง 6 คน โดยไม่มีเงื่อนไข ได้มีความพยายามเจรจาระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง ฝ่ายตำรวจ แต่ไม่ประผล แม่ทัพภาคที่ 4 จึงใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก (ประกาศใช้บังคับในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2547) ให้สลายการชุมนุมและควบคุมผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายจาก สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

ผลจากการสลายการชุมนุมมีประชาชนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุจำนวน 5 คน เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน และมีผู้เสียชีวิตระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จำนวน 78 คน นอกจากนี้ยังมีผู้ชุมนุมอีกหลายคนที่ได้รับบาดเจ็บ และบาดเจ็บสาหัส

เมื่อมีบุคคลเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมหรือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จำต้องมีการไต่สวนการตายตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ตาย จึงถือเป็นหน้าที่ร่วมกันของผู้พิพากษา อัยการ และญาติผู้เสียชีวิตและทนายความในการแสวงหาความจริง และรวบรวมข้อเท็จจริงถึงสาเหตุการเสียชีวิตของบุคคลในระหว่างการควบคุมหรือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ โดยการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อจะตอบคำถามให้ได้ว่า (1) ผู้ตายคือใคร (2) ตายที่ไหน (3) ตายเมื่อไหร่ (4) เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคืออะไร และ (5) ใครเป็นผู้กระทำ

คดีไต่สวนการตายกรณีตากใบที่มีผู้เสียชีวิตระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารจำนวน 78 คน กระบวนการยุติธรรมต้องใช้เวลาผ่านไปร่วม 4 ปีในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์ว่าผู้ตายทั้ง 78 คนคือใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อไหร่ เหตุและพฤติการณที่ตาย และใครเป็นผู้กระทำ

คำสั่งคดี ช. 16/2548 ของศาลจังหวัดสงขลา วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ได้ความสรุปจากคำสั่ง รวม 16 หน้า ได้ใจความสำคัญโดยย่อดังนี้
“ในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการเข้าสลายการชุมนุมและควบคุมผู้ที่ร่วมชุมนุมนำตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ตามความจำเป็นแห่งสภาพการณ์เท่าที่เอื้ออำนวยให้ได้ในขณะนั้น อันเป็นการปฎิบัติการตามหน้าที่ แม้ปรากฎตามภาพเหตุการณ์ที่ได้จากแผ่นบันทึกภาพ (VCD) ว่าบุคคลที่แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการสลายการชุมนุมบางคนทำร้ายผู้ร่วมชุมนุมขณะที่เข้าสลายการชุมนุมก็ตาม เชื่อว่าเป็นการกระทำของบุคคลดังกล่าวในทันทีทันใดโดยพลการ เมื่อไม่ปรากฎว่าหลังจากที่ผู้ตายทั้งเจ็บสิบแปดและผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวขึ้นรถยนต์บรรทุกนำส่งค่ายอิงคยุทธบริหารจนแล้วเสร็จได้มีการกระทำต่อผู้ตาย เจ็ดสิบแปดหรือผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกควบคุมตัว หรือเกิดเหตุร้ายอย่างอื่นกับผู้ตายทั้งเจ็ดสิบแปดหรือผู้ร่วมชุมนุมที่ถูก ควบคุมตัวอีก การที่ผู้ตายทั้งเจ็ดสิบแปดถึงแก่ความ ตายในระหว่างการควบคุมเคลื่อนย้ายเพื่อนำส่งค่ายอิงคยุทธฯ จึงถึงได้ว่าผู้ตายทั้งเจ็ดสิบแปดถึงแก่ความตายในระหว่างอยู่ในความควบคุม ของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ อาศัยเหตุผลดังวินิจฉัยมาจึงมีคำสั่งว่า ผู้ตาย (ระบุชื่อ 78 รายชื่อ) ทั้งเจ็บสิบแปดตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ผู้ตายทั้งเจ็ดสิบแปดขาดอากาศหายใจในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่”

จากคำสั่งของศาลสงขลาดังกล่าวได้แสวงหาข้อเท็จจจริงได้ว่า ผู้ตายทั้งเจ็บสิบแปดมีการระบุชื่อชัดเจน ตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ตายเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 แต่สำหรับเหตุและพฤติการณ์ที่ตายศาลกลับระบุเหตุผลว่า “ผู้ตายทั้งเจ็ดสิบแปดขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่” โดยไม่มีการแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ทำให้เป็นสาเหตุแห่งการขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิต โดยเฉพาะวิธีการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมเป็นสาเหตุแห่งการขาดอากาศหายใจหรือสาเหตุของการตายหรือไม่ จึงไม่อาจจะยึดโยงไปถึงคำตอบของคำถามสุดท้ายคือ ใครเป็นผู้กระทำ

คำสั่งศาลการไต่สวนการตายกรณีตากใบ จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นไปตามหลักกฎหมาย และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่มุ่งหมายแสวงหาความจริงให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ตายและครอบครัวให้เกิดความเป็นธรรม

8. การคิดค่าเสียหายจากชาวบ้านในข้อหาทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
สืบเนื่องจากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แจ้งความดำเนินคดีทางแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายจากชาวบ้าน จ.ตรัง จ.พัทลุง และจ.กระบี่ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด และอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ฐานบุกรุกทำลายป่า โดยคิดค่าเสียหายในการทำให้โลกร้อน อากาศร้อนขึ้น ฝนตกน้อยลง ดินและแร่ธาตุสูญหายเป็นต้น

การคิดคำนวณค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการบุกรุกทำลายพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีรายละเอียดดังนี้
1.ค่าเสียหายที่ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น คิดเป็นมูลค่า 45,453.45 บาทต่อไร่ต่อปี
2.ค่าเสียหายทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของรังสีดวงอาทิตย์ คิดเป็นมูลค่า 52,800 บาทต่อไร่ต่อปี
3.ค่าเสียหายทำให้ฝนตกน้อยลง คิดเป็นมูลค่า 5,400 บาทต่อปี
4.ค่าเสียหายทำให้ดินสูญหาย คิดเป็นมูลค่า 1,800 บาทต่อไร่ต่อปี
5.ค่าเสียหายการสูญหายของธาตุอาหาร คิดเป็นมูลค่า 4,064.15 บาทต่อไร่ต่อปี
6.ค่าเสียหายทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน คิดเป็นมูลค่า 600 บาทต่อไร่ต่อปี
7.ค่าเสียหายทางตรงจากการทำลายป่าแต่ละประเภท ประกอบด้วย การทำลายป่าดงดิบ คิดเป็นมูลค่า 61,263.36 บาทต่อไร่ต่อปี การทำลายป่าเบญจพรรณ คิดเป็นมูลค่า 42,577.75 บาทต่อไร่ต่อปี การทำลายป่าเต็งรัง คิดเป็นมูลค่า 18,634.19 บาทต่อไร่ต่อปี

ทั้งนี้ ล่าสุดศาลแพ่งได้พิพากษาให้ชาวบ้านใน จ.ตรังและพัทลุง 15 ราย จ่ายค่าเสียหายให้แก่รัฐแล้ว โดยที่ศาลตัดสินคดีแล้ว 7 ราย เรียกค่าเสียหายรวม 20.306 ล้านบาท ที่อยู่ในระหว่างกำลังดำเนินคดี 4 ราย เรียกค่าเสียหาย 1.332 ล้านบาท และที่ดำเนินคดีซ้ำรายเดียวกันในนพื้นที่เดียวกัน 2 ราย เรียกค่าเสียหาย 4.213 ล้านบาท

การนำแบบจำลองคิดค่าเสียหายจากการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนที่กำลังดำเนินการกับชาวบ้านของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นการสร้างปัญหากับประชาชนผู้ยากไร้ที่ไม่มีความมันคงในที่ดินทำกิน ด้วยเหตุผล ดังนี้

1. แบบจำลองเสียหายจากกิจกรรมต่างๆ ที่คิดกันว่าก่อให้เกิดโลกร้อนนั้นยังไม่มีงานวิจัยหรืองานวิชาการของประเทศใดในโลกรับรองกันว่าเป็นงานวิจัยที่สมบูรณ์หรือทฤษฎีใดๆ ที่ได้รับการยอมรับ และสามารถนำมาอ้างอิงอย่างเป็นทางการได้

2.การนำแบบจำลองการคิดค่าเสียหายจากการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนไปใช้ จะสร้างความไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะกลุ่มชาวนา ชาวไร่ ที่ไม่ได้สร้างมลภาวะมากมาย ขณะเดียวกันแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วที่ใช้พื้นที่ของชั้นบรรยากาศโลกไปมากตั้งแต่ในอดีต และมีพันธกรณีลดก๊าซเรือนกระจกก็ยังไม่นำค่าความเสียหายดังกล่าวไปใช้กับชาวบ้าน ในขณะที่ในระดับโลกประเทศไทยก็ไม่ได้มีพันธะใดๆ ที่จะต้องก๊าซเรือนกระจกและพยายามต่อสู่ที่จะไม่มีต่อไปด้วย ดังนั้นเรื่องนี้อาจจะส่งสัญญาณที่ผิดในเวทีโลก ทำให้ประเทศไทยถูกดึงเข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องรับผิดชอบทั้งที่ก่อปัญหาน้อยมาก หรือยังไม่ได้เป็นผู้ก่อปัญหาเลย

3. การเรียกร้องค่าเสียหายที่มีลักษณะกว้างขวาง เป็นการกระทำที่มุ่งต่อประชาชนที่กำลังประสบกับปัญหาการขาดที่ดินทำกิน ขณะที่สำหรับปัญหาอื่นที่มีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับด้านสิ่งแวดล้อมเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม กลับแทบไม่ปรากฏว่ามีหน่วยงานรัฐซึ่งรับผิดชอบได้เรียกร้องเอาค่าเสียหายในลักษณะเดียวกันกับที่กระทำกับชาวบ้านในคดีบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ


9. การนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้อีกครั้ง

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม2552 กรมราชฑัณย์ได้ประหารชีวิตนักโทษที่รอการประหารชีวิตสองคนคือนายบัณฑิต เจริญวานิช และนายจิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีความพยายามที่จะละเว้นโทษประหารชีวิตตั้งแต่ปี 2546 การนำโทษประหารชีวิตมาใช้อีกย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เคารพและไม่ตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนอย่างเพียงพอ เนื่องจากสิทธิในการมีชีวิตอยู่เป็นคุณค่าสูงสุดของความเป็นมนุษย์ และเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานขั้นต่ำสุด ซึ่งที่ผ่านมาประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกจำนวน134ประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว โดยยึดถือหลักการที่ว่า ไม่มีผู้ใดสามารถทำลายชีวิตของใครได้ หรือ ไม่มีผู้ใดมีอำนาจที่จะทำลายชีวิตของผู้ใดได้

นอกจากนั้น มติของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ มีความปรารถนาให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตของผู้คนทั่วโลกปรากฏเป็นที่ประจักษ์โดยการมีมติในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2550 และอีกครั้งในปี 2551ให้ทุกประเทศทั่วโลกงดเว้นโทษประหารชีวิตเพื่อเป็นหนทางนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด ถึงแม้มติดังกล่าวจะไม่มีผลผูกพันเป็นข้อบังคับเชิงกฎหมาย แต่เป็นผลผูกพันเชิงศีลธรรม (มติที่ 620149 ว่าด้วยการยกเลิกโทษประหารชีวิต)


10. การประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551

อาจกล่าวได้ว่า กฎหมายการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร เป็นการให้กองทัพในนามของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) มีอำนาจป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง แก้ไขบรรเทาเหตุการณ์ในพื้นที่ที่มีการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงในราชอาณาจักร

โดยให้มีอำนาจสั่งการหน่วยงานและเจ้าพนักงานของรัฐ มีอำนาจออกประกาศต่างๆ ที่จำกัดและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิมนุษยชน หรือให้อำนาจเจ้าพนักงาน ค้น จับกุม คุมขัง บุคคล ห้ามบุคคลใดๆ ออกนอกเคหสถาน ห้ามการเดินทางตามเส้นทางรวมทั้งสามารถใช้กำลังเข้าปราบปรามการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคง

ตลอดจนให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายจำนวน 14 ฉบับ โดยการใช้กฎหมายให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็น ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ อาทิ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2493 พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญา เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจสืบสวนสอบสวน และการใช้อำนาจของพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

เมื่อพระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ประกาศเขตพื้นที่ที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและมอบอำนาจให้ กอ.รมน. ควบคุมดูแลทั้งหมด 5 ครั้ง

ครั้งที่ 1.ประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและทะเลอาณาเขต 5 กิโลเมตรรอบจังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 10 – 24 กรกฎาคม 2550 ซึ่งเป็นช่วงเวลาการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจา

ครั้งที่ 2 ประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในพื้นที่เขตดุสิต ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน 2552 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงจะทำการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่

ครั้งที่ 3 ประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในพื้นที่เขตดุสิต ระหว่างวันที่ 18-22 ก.ย.นี้ เพื่อดูแลการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงที่ประกาศจะนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 กันยายนบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนไปบริเวณหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

ครั้งที่ 4 ประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน -14 ธันวาคม 2552 เพื่อควบคุมการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และเมื่อกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ยกเลิกการชุมนุม จึงมีการประกาศยกเลิกการใช้กฎหมายความมั่นคงฯ

ครั้งที่ 5 เป็นการประกาศใช้ในพื้นที่ภาคใต้ คือพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (เขตพื้นที่อำเภอจะนะ อำเภอ นาทวี อำเภอเทพา และอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2552 - 30 พฤศจิกายน 2553) โดยมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และจัดทำแผนการดำเนินการในการบูรณาการ กำกับ ติดตาม และเร่งรัดหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด และให้ออกประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายจำนวน 33 ฉบับ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท