นักวิชาการกระทุ้งรัฐปกป้องสิทธิ์ฯ พลเมืองไทย กรณี “ศิวรักษ์” ชี้ที่ผ่านมามีเครื่องมือแต่ไม่ยอมใช้

 
(9 ธ.ค.52) นายเจริญ คัมภีรภาพ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงกรณีศาลกัมพูชา พิพากษากรณีนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรไทยพนักงาน บริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิก เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ แคทส์ (CATS) ในเครือบริษัทสามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าส่วนตัวเชื่อว่าการพิพากษาของศาลกัมพูชาอาจเป็นการพิพากษาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของกัมพูชาเอง และขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ นี่เป็นจุดที่ประเทศไทยต้องโหมกระแส ทำให้เกิดการปลดปล่อยนายศิวรักษ์อย่างไม่มีเงื่อนไข

รัฐบาลหรือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเคยเรียกร้องไหมว่า จากการตรวจสอบแล้วพบว่าสิ่งที่พลเมืองของไทยถูกกระทำนั้น เป็นการกระทำโดยไม่ถูกต้องตามหลักการสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเพราะฉะนั้นขอให้รัฐบาลกัมพูชาปลดปล่อยนายศิวรักษ์ อย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะการพิพากษาของศาลกัมพูชาต้องใช้กฎหมายที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และสอดคล้องกับกติกาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศกัมพูชาเป็นสมาชิก เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.1969 ซึ่งผู้จัดทำรัฐธรรมนูญเห็นแล้วว่าประวัติศาสตร์ของประเทศนี้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จึงล็อคให้มีผลในทันที ดังนั้นศาลต้องใช้กฎหมายที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ตามอำเภอใจ

ส่วนการช่วยเหลือนายศิวรักษ์โดยรัฐบาลนั้น นายเจริญกล่าวว่า รัฐบาลบอกว่ารัฐบาลช่วยเหลือ แต่การที่รัฐบาลช่วยเหลือเพียงการติดต่อประสานงานนั้นไม่เพียงพอ ส่วนคำถามว่ารัฐบาลควรจะช่วยหรือไม่นั้น คำตอบคือแน่นอน เพราะนายศิวรักษ์เป็นพลเมืองไทย รัฐบาลมีหน้าที่โดยชัดแจ้งเปิดเผย ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม ถูกละเมิดสิทธิทำให้ปราศจากอิสรภาพ เป็นหน้าที่รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนการช่วยเหลือด้วยการจัดทนายความให้นั้นเป็นเรื่องขั้นพื้นฐานมาก

“ถ้ามีแต่เรื่องเงินและการประสานงานพื้นฐาน เช่น ประกันตัวและเข้าพบนายศิวรักษ์ที่เรือนจำนั้น ผมจะบอกเลยว่าเป็นความไร้ประสิทธิภาพ และเป็นความหน่อมแน้มของนายกฯ อภิสิทธิ์” นายเจริญกล่าว

นายเจริญ กล่าวด้วยว่า ข้อน่าสังเกตคือประเทศไทยมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และมีกรอบความร่วมมือของเอเปคว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยเป็นภาคี เช่นเดียวกับกัมพูชามี Civil and political right (สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง) อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นประธานอาเซียน เป็นเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นประเด็นมีเหตุที่ประเทศไทยจะต่อสู้เพื่อช่วยเหลือ

“คำถามคือว่า เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิ์ตรงนี้ รัฐบาลบอกว่าพร้อมช่วย แต่คุณช่วยอะไร? รัฐบาลเคยเสนอเรื่องนี้ หรือเตรียมเสนอต่อหน่วยงานที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นเครื่องมือของสากลหรือเปล่า? ไม่เลย คุณไม่ได้ทำเลย ไม่ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่อาเซียนด้วยซ้ำ ไม่มีเลย นี่ไม่ได้มาว่ารัฐบาลนะ แต่พูดตามเนื้อผ้าให้เห็น และที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นคือ สิ่งที่คุณศิวรักษ์ถูกกระทำ เป็นการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งการที่คุณศิวรักษ์เช็คข้อมูลการเดินทางก็ไม่มีเจตนาที่จะจารกรรม ไม่มีเจตนาที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่กัมพูชา และข้อกล่าวหานั้นเป็นข้อกล่าวหาของกัมพูชา แต่คุณศิวรักษ์ไม่มีเจตนาแม้แต่น้อย ส่วนรัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศบอกเพียงว่าการเช็คข้อมูลนี้เป็นเรื่องเปิดเผย ซึ่งข้อสังเกตของผมคือ ทำไมไม่สู้เรื่องสิทธิเสรีภาพ ทำไมคุณเพิกเฉย คุณมีนักกฎหมายไหม คุณมีทูต แต่รัฐบาลทำอะไรโหลยโท่ย”

“ขณะที่รัฐธรรมนูญของกัมพูชาเองก็ปกป้องสิทธิเสรีภาพมาก เสียจนสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาเองก็ทำอะไรละเมิดสิทธิ์ไม่ได้ ศาลกัมพูชาก็ทำอะไรไม่ได้ แต่รัฐบาลไทยเหยียบมันไว้แล้วมาพูดว่ามันเป็นเรื่องการเมือง เป็นเรื่องเสื้อแดง เรื่องโน้นเรื่องนี้ ซึ่งถึงแม้จะเป็นเสื้อแดงรัฐบาลก็ไม่มีสิทธิและหน้าที่ที่จะปฏิเสธ เมื่อพลเมืองไทยถูกละเมิดสิทธิ และหากเป็นเรื่องการเมืองจริง รัฐบาล ก็กลับยิ่งต้องโหมกระหน่ำช่วยเขาอย่างไม่มีเงื่อนไขเลย และใช้ทุกเวทีในโลกนี้เพื่อให้รัฐบาลของกัมพูชา ปฏิบัติตามพันธกรณีของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แต่ไม่เห็นมีข้อต่อสู้นี้ ทนายที่สู้ทำอะไร ทำไมไม่ไปบอกศาลโลกว่าเป็นเรื่องขัดต่อรัฐธรรมนูญกัมพูชา ขัดต่อพันธกรณีของกัมพูชา ดังนั้นต้องปล่อยคุณศิวรักษ์ โดยไม่มีเงื่อนไข แต่ปรากฎว่า คุณปล่อยให้ศาลที่ถูกบงการโดยรัฐบาลกัมพูชามาตัดสินและบอกว่านี่คือคำตัดสินของศาล ฉะนั้น มันเป็นเรื่องโหลยโท่ยมาก เพราะแม้แต่การต่อสู้ของรัฐบาลก็ไม่คิดจะต่อสู้เพื่ออิสรภาพของเขา ไม่มีการแสดงออกเรื่องสิทธิมนุษยชน มีเพียงการปล่อยให้รัฐมนตรีที่มีข้อบาดหมางกันไปดำเนินการ ทำให้รัฐบาลทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก และเดี๋ยวจะผิดซ้ำอีกคอยดู”
 
นายเจริญ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกรณีนายศิวรักษ์นั้นเป็นการกระทำของรัฐ รัฐหนึ่ง (กัมพูชา) กระทำกับพลเมืองของรัฐอีกรัฐหนึ่ง (ไทย) เพราะฉะนั้นรัฐบาลคือผู้เสียหายที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปปกป้อง เรียกร้องต่อสู้ องค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปมุดหัวอยู่ที่ไหน คุณต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะนี่เป็นการละเมิดสิทธิ องค์กรสิทธิมีหน้าที่ต้องปกป้องสิทธิ แต่ไม่มีใครทำ ผมเห็นแต่ข่าวสั้นจาก sms บอกว่ารัฐบาลพร้อมช่วยเหลือ รัฐบาลพร้อมช่วยเหลือ ผมอ่านแล้วอยากจะปาทิ้ง เพราะไม่เห็นว่ารัฐบาลพร้อมช่วยเหลืออะไร

เมื่อถามว่ารัฐบาลไทยอาจเกรงว่ากรณี นายศิวรักษ์ จะถูกโยงกับ นายคำรบ ปาลวัฒน์วิไชย เลขานุการเอก ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ที่ถูกขับออกมาจากกัมพูชา จึงไม่กล้าเข้าไปต่อสู้ นายเจริญ กล่าวว่า การติดต่อกันนั้นเป็นเรื่องปกติ สิ่งเหล่านี้เป็นการติดต่อทราบข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องปกติของพลเมืองของไทยที่จะติดต่อกันและข้อมูลนี้ก็เป็นข้อมูลที่กัมพูชาเอาคำว่าความมั่นคงปลอดภัยเข้าไปใส่

นายเจริญ กล่าวถึงกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษของกัมพูชาว่า เท่าที่ศึกษามาทราบว่าการพระราชทานอภัยโทษอยู่ในพระราชกฤษฎีกา และไม่ได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญกัมพูชาแต่เชื่อว่าครอบครัวของนายศิวรักษ์จะสามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นประเพณีปฏิบัติของรัฐทุกรัฐในการให้อภัย ซึ่งครอบครัวของนายศิวรักษ์ต้องทำเรื่องผ่าน สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งเสมือน เป็นบุรุษไปรษณีย์เพื่อนำเรื่องขึ้นสู่กษัตริย์กัมพูชา เพราะอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในฐานะเป็นประมุขแห่งรัฐ

นายเจริญ กล่าวด้วยว่า พอคู่ความไม่อุทธรณ์ ฎีกา ก็เข้าเกณฑ์อภัยโทษ อันนี้เป็นทางออกในแง่ส่วนตัวของคุณศิวรักษ์ แต่ทางออกตรงนี้ของรัฐบาลต้องแตกต่างกัน เพราะรัฐบาลต้องยืนยันว่าสิ่งที่พลเมืองตัวเองทำนั้นถูกต้อง ชอบธรรม เปิดเผยสุจริต เป็นการกระทำที่ไม่มีมูลตามที่กล่าวหา ในข้อหาจารกรรมข้อมูล เพราะข้อหาจารกรรมเป็นข้อหาที่ถูกสร้างขึ้นโดยไม่สอดคล้องต่อหลักสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลกัมพูชาต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญข้อที่ 31 และขัดต่อพันธกรณีที่กัมพูชามีต่อสหประชาชาติ ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนทั้งหมด แล้วรัฐบาลไทยในฐานะภาคี กติกาในเรื่องนี้ ต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่คณะกรรมการสิทธิมุษยชนของสหประชาชาติ เพราะเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิของรัฐอีกรัฐหนึ่ง

และรัฐบาลได้เคยร้องขอหรือเปล่าว่าให้ปล่อย ไม่เคยร้องขอเลย มีเครื่องมือทุกสิ่งทุกอย่างแต่รัฐบาลไม่ใช้ รัฐบาลบอกเพียงแต่ขอทราบข้อหาและจัดหาทนายความให้ รวมถึงการยื่นขอประกันตัว ก็ไม่เพียงพอเลยตามมาตรฐานสากล เพราะเมื่อคนถูกจับ ต้องได้รับการแจ้งให้รู้ว่าทำผิดอะไร และต้องได้รับการประกันตัวทันที ได้รับการติดต่อญาติพี่น้อง ต้องมีทนายความที่เลือกได้ แต่นี่ถูกขังไว้เป็นเดือน ซึ่งมันก็คือความหน่อมแน้มในการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน เรื่องนี้มีความชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศ เรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ต้องได้รับการรับรองคุ้มครองไว้อย่างไม่ต้องสงสัย รัฐบาลไม่เคยใช้ข้อต่อสู้นี้ในการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยให้อิสรภาพแก่ศิวรักษ์

นายเจริญ กล่าวว่า ส่วนกฎหมายเรื่องความมั่นคงนั้น ก็ใช้ได้ในข้อจำกัดไม่ใช่ใช้ได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่ตั้งข้อกล่าวหาโดยอำเภอใจ และความผิดนั้นต้องเป็นความผิดที่เขียนไว้ในกฎหมาย นอกจากนั้นยังต้องดูเจตนาที่กระทำการว่าทำให้เกิดความเสียหายต่อกัมพูชาหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ปรากฎเช่นนั้น ทำไมรัฐบาลไม่ต่อสู้เรียกร้อง

“ผมขอแยกกรณีการตัดสินใจของคุณสิมารักษ์ ณ นครพนม คุณแม่ของคุณศิวรักษ์ ออกจากการตัดสินใจของรัฐบาลนะ เพราะการตัดสินใจของครอบครัวคุณศิวรักษ์ เป็นการกระทำส่วนบุคคล เป็นทางออกของครอบครัวเขา ไม่ใช่การกระทำในนามของรัฐบาลไทย ซึ่งต่อให้คุณศิวรักษ์ได้กลับประเทศแล้ว หลังจากได้รับการพระราชทานอภัยโทษ รัฐบาลไทยก็ยังต้องต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ถ้ารัฐบาลไม่ต่อสู้ ไม่เรียกร้อง ไม่ทำให้สิทธิมนุษยชนปรากฎจริง ประชาชนไทยจะมีหลักประกันอะไรคุณอภิสิทธิ์? ต่อให้เขาเป็นคนเสื้อแดงหรือเป็นแม่สีของสีแดง คุณก็มีหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพพลเมือง อย่าเอาสิ่งเหล่านี้มาจำกัดหน้าที่ของตัวเองในการให้อิสรภาพของคน”

ส่วนท่าทีของรัฐบาลไทยหลังศาลกัมพูชาพิพากษาลงโทษนายศิวรักษ์ โดยกระทรวงการต่างประเทศแถลงว่า รัฐบาลพร้อมขอพระราชทานอภัยโทษตามความประสงค์ของครอบครัววิศวกร นายเจริญกล่าวว่า รัฐธรรมนูญไทย ระบุว่าการใช้อำนาจขององค์กรต่างๆ ของไทย ทั้งรัฐบาล ศาล และสภา จะต้องใช้อำนาจตามหลักนิติธรรมของรัฐธรรมนูญไทย ฉะนั้น ฝ่ายบริหารโดยรัฐบาล จะต้องปฏิบัติตามบรรดาพันธกรณีตามบรรดาสิทธิทั้งปวง ฉะนั้นคุณหนีไม่พ้น

“รัฐบาลต้องมีการกระทำของรัฐ แสดงให้คนในชาติเห็นว่ารัฐบาลกระทำการเพื่อปกป้องอิสรภาพของพลเมืองได้จริง ไม่ใช่พลเมืองไทยเท่านั้น เพราะสิทธิมนุษยชนไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ เป็นเรื่องไม่มีพรหมแดนอยู่แล้ว เป็นเรื่องสากล เป็นหน้าที่โดยธรรมจรรยา ไม่ใช่มาบอกว่า แล้วแต่แม่ (นางสิมารักษ์) แม่ว่าไงผมจะทำให้ แล้วจะมีรัฐบาลไว้ทำไม เพราะคุณมีหน้าที่ปกป้องอิสรภาพของพลเมืองทุกคน ไม่ว่ายากดีมีจน มีสิทธิเท่าเทียมกันหมด สิทธิของความเป็นมนุษย์ คุณพูดอยู่ประจำมิใช่หรือว่าเรามี ฮิวแมนไรท์บอดี้ (กลไกสิทธิมนุษยชน) แต่คุณทำอะไร? สภาทำอะไร? ไม่มีใครทำอะไร แสดงว่าขณะนี้ไม่มีหลักประกันให้คนไทยเลย”

นายเจริญ กล่าวด้วยว่า “ถ้าให้ผมฟันธง ผมคิดว่าเขาระแวงสงสัยว่าเป็นแผนการของเสื้อแดงหรือเปล่าใช่ไหม ถ้าเป็นเรื่องการเมือง ก็ยิ่งกลับจะต้องช่วยเพื่อปกป้องหลักการสิทธิมนุษยชน คุณต้องพิสูจน์ให้ประชาชนเห็น ไม่ว่าเสื้อสีไหน เมื่อคนไทยถูกกระทำ ถูกย่ำยี ก็ต้องได้รับการปกป้อง นอกจากนั้น อาจะเกิดจากความหน่อมแน้ม ซึ่งตนโน้มเอียงให้น้ำหนักเหตุเกิดจากความหน่อมแน้มอย่างมาก เพราะมีเครื่องมือแต่คุณไม่ทำ คุณรู้ไหมว่าเครื่องมืออยู่ตรงไหน อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำ คุณมีนักการทูตเป็นรัฐมนตรีแต่ก็ท้าตีท้าต่อย”

ถ้าผมทำในนามรัฐไทย จะไปร้องสอดในศาลว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนพลเมืองไทย แล้วผมก็จะดำเนินเรื่องนี้ถึงสหประชาชาติ ทุกบอดี้ที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แล้วก็จะเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้ามาสอบสวนการกระทำการตรงนี้ เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นความเสียหายกับรัฐประเทศไทยด้วย รัฐบาลต้องรีบดำเนินการแต่แรกว่าไม่เห็นด้วยยังไงบ้าง ส่วนการอภัยโทษเหมือนคุณลืมเรื่องสิทธิมนุษยชนเอาไว้ แต่ถ้าคุณไม่ยอมรับการกระทำแบบนี้ก็ต้องต่อสู้เพื่อบอกว่ามันมีอยู่ อย่างน้อยต้องออกมาเป็นแถลงการณ์ของรัฐไทยเรียกร้องให้ปล่อย ไม่ใช่การกระทำของรัฐโดยใช้การแถลงข่าวอยู่ในอากาศ แล้วเอกสารที่เรียกร้องให้ปล่อยศิวรักษ์ละอยู่ไหน มันไม่มี มีแต่การตอบโต้กันทางอากาศผ่านสื่อ รัฐบาลยังไม่แสดงการกระทำของรัฐตามกฎหมายออกมา สุดท้ายเป็นเพราะความเยาว์วัยและมิจฉาทิฐิ

“คุณศิวรักษ์ก็บอกว่าเขาบริสุทธิ์ คุณไม่ได้ยินคำพูดของพลเมืองของคุณเลยหรือ? หรือคุณไม่เคยคิด หรือเห็นว่าไม่ใช่ฐานเสียงของคุณหรือ?” นายเจริญ กล่าว

นายเจริญ กล่าวอีกว่า ถ้ารัฐบาลลืมเรื่องสิทธิมนุษยชน จะส่งผลให้ความเสียหายจะใหญ่มากและไม่มีหลักประกันอันใดเลยของประเทศและของพลเมืองไทย แต่การปล่อยให้เขาดำเนินไปอย่างนี้ก็คือปล่อยให้ประชาชนคนไทยถูกกระทำย่ำยีต่อหน้าต่อตาโดยที่คุณทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าเป็นผม ผมจะลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ เพราะสิ่งที่ผมควรจะกระทำ ผมไม่ได้กระทำ น่าอายมาก รัฐบาลไทยไม่ได้นำเรื่องคุณศิวรักษ์ เข้าประชุม ครม.หรือประชุมกับกระทรวงการต่างประเทศว่า มีกลไกไหนบ้างที่ต้องช่วยเรื่องสิทธิมนุษยชน

เขาเสนอด้วยว่า ถ้าคุยกับกัมพูชาไม่รู้เรื่อง ก็เอาเรื่องนี้ไปสู่เลขาธิการอาเซียน หรือออกจดหมาย รวบรวมข้อมูลว่าพลเมืองถูกกระทำโดยไม่ถูกต้อง รัฐบาลได้ทำแล้วหรือยัง? ส่วนตัวเชื่อว่ายังไม่ทำ อย่างมากก็โทรประสานแม่ให้ทำไง แต่เราต้องแยกคำว่า “การกระทำของรัฐ” เพราะต้องยิ่งใหญ่ แสดงให้เห็นว่าเอาใจปกป้องเสถียรภาพของคน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หน้าที่ของพรรคการเมืองยังสามารถทำรายงานถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งไม่เกี่ยวกับ “การกระทำของบุคคล”ในการขอพระราชทานอภัยโทษโดยครอบครัว

นายเจริญ กล่าวด้วยว่า ถ้ารัฐบาลเพิกเฉยไม่มี “การกระทำของรัฐ” ก็จะเข้ากับหลักกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องไม่มีความรับผิดชอบแห่งรัฐเรื่องสิทธิมนุษยชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท