Skip to main content
sharethis

วานนี้ (9 ธ.ค.52) สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ ได้ส่งหนังสือความเห็นทางกฎหมายต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ของอำเภอเชียงดาวและขอให้อำเภอเชียงดาวปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย โดยหนังสือดังกล่าวระบุส่งถึง นายอำเภอเชียงดาว ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และอธิบดีกรมการปกครอง พร้อมสำเนาถึง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน (สภาผู้แทนราษฎร) และรองประธาน (คนที่ 2) คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค (วุฒิสภา)

โดยหนังสือระบุว่า สืบเนื่องจากสถาบันฯได้รับแจ้งจากองค์กรเครือข่ายคือโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิบุคคล ภายใต้กองทุนศาสตราจารย์คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่ามีผู้ร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย คือ กรณีของนายกุมาร แซ่กาว ซึ่งเป็นบุคคลตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ได้ไปยื่นคำขอต่ออำเภอเชียงดาว เพื่อขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551 โดยอำเภอได้รับคำขอฯ ได้บันทึกวันที่รับคำขอฯ และได้ดำเนินการสอบพยานบุคคล แต่จนถึงปัจจุบัน อำเภอเชียงดาวยังคงไม่ดำเนินการพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติคำขอฯ ดังกล่าว หรือไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากทางอำเภอเชียงดาว

รวมถึงกรณีของนายอารักษ์ แซ่หยวน ซึ่งเป็นบุคคลตามมาตรา 23 เช่นกัน ได้ไปยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยฯ ต่ออำเภอเชียงดาว เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2551 แต่ปรากฏว่าทางอำเภอเชียงดาว เมื่อรับคำขอฯ ดังกล่าว กลับไม่ลงวันที่รับคำขอฯ และได้มีการสอบพยานบุคคลแล้ว (สอบพยานบุคคคลในวันเดียวกับวันที่ยื่นคำขอ) แต่จนถึงปัจจุบัน อำเภอเชียงดาวยังคงไม่ดำเนินการพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติคำขอฯ ดังกล่าว หรือไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากทางอำเภอเชียงดาว  ทางสถาบันฯ เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นอาจนำไปสู่การดำเนินการเพื่อให้มีการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองของอำเภอเชียงดาวโดยกระบวนการยุติธรรม ดังต่อไปนี้

1.จากข้อเท็จจริงข้างต้นพบว่า เมื่ออำเภอเชียงดาวรับคำขอฯ แต่ไม่ดำเนินการบันทึกวันที่รับคำขอฯ (กรณีของนายอารักษ์ แซ่หยวน) ไม่ดำเนินกระบวนการในชั้นพิจารณา (กรณีของนายอารักษ์ แซ่หยวน และนายกุมาร แซ่กาว) ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อหลักความมีประสิทธิภาพและหลักการพิจารณาโดยเปิดเผย ซึ่งเป็นองค์ประกอบของหลักการดำเนินกระบวนการพิจารณาทางปกครอง 2.นับจากวันทื่ยื่นคำขอฯ จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาที่เกินกว่า 90 วัน อันเป็นเหตุที่อาจพิจารณาได้ว่าอำเภอเชียงดาวได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร

3.มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 เป็นบทบัญญัติที่มุ่งที่จะเยียวยาบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการถูกถอนและการไม่ได้สัญชาติไทย โดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลว 14 ธันวาคม  2515 และโดยมาตรา 7 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ฉบับแก้ไขครั้งที่ 2 และ 3 พ.ศ.2535 โดยการกลับคืนสัญชาติไทยให้แก่บุคคลดังกล่าว ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา บุคคลดังกล่าวต่างได้รับผลกระทบด้านต่างๆ ในระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวัน ดังเช่นกรณีของนายอารักษ์ ความล่าช้าในการออกคำสั่งอนุมัติหรือไม่อนุมัติคำขอลงรายการสัญชาติไทย อาจมีผลต่อการสมัครขอรับทุนเพื่อไปศึกษาต่อ ณ ประเทศไต้หวัน (ทุนการศึกษาจะเปิดรับสมัครในเดือนกุมภาพันธ์ 2553)

ทาง สถาบันฯ และองค์กรเครือข่าย จึงขอคำชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว ด้วยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า อำเภอเชียงดาวในฐานะหน่วยงานทางปกครองจะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดไว้ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายใหม่เป็นไปตามเจตนารมย์อย่างแท้จริง รวมถึงเพื่อเป็นการคุ้มครองและรับรองสิทธิทางการศึกษา สิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ สิทธิทางการเมืองของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา 23


รายละเอียด

 

 
ที่ ฝสร.๒๓/๒๕๕๒
๙ ธันวาคม ๒๕๕๒
 
เรื่อง     ความเห็นทางกฎหมายต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔)
           พ.ศ.๒๕๕๑ ของอำเภอเชียงดาวและขอให้อำเภอเชียงดาวปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
 
เรียน      ๑) นายอำเภอเชียงดาว
             ๒) ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
             ๓) อธิบดีกรมการปกครอง
 
สำเนาถึง:
๑)         นายกรัฐมนตรี
๒)         รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
๓)         ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๔)        ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
๕)        ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และ การมีส่วนร่วมของประชาชน (สภาผู้แทนราษฎร)
๖)         รองประธาน (คนที่ ๒) คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค (วุฒิสภา)
 
 
สืบเนื่องจากสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ ได้รับแจ้งจากองค์กรเครือข่ายคือโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิบุคคล ภายใต้กองทุนศาสตราจารย์คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่ามีผู้ร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายคือกรณีของนายกุมาร แซ่กาว ซึ่งเป็นบุคคลตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ได้ไปยื่นคำขอต่ออำเภอเชียงดาว เพื่อขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๑ โดยอำเภอได้รับคำขอฯ ได้บันทึกวันที่รับคำขอฯ และได้ดำเนินการสอบพยานบุคคล แต่จนถึงปัจจุบัน อำเภอเชียงดาวยังคงไม่ดำเนินการพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติคำขอฯ ดังกล่าว หรือไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากทางอำเภอเชียงดาว
 
รวมถึงกรณีของนายอารักษ์ แซ่หยวน ซึ่งเป็นบุคคลตามมาตรา ๒๓ เช่นกัน ได้ไปยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยฯ ต่ออำเภอเชียงดาว เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๑ แต่ปรากฏว่าทางอำเภอเชียงดาว เมื่อรับคำขอฯ ดังกล่าว กลับไม่ลงวันที่รับคำขอฯ และได้มีการสอบพยานบุคคลแล้ว (สอบพยานบุคคคลในวันเดียวกับวันที่ยื่นคำขอ) แต่จนถึงปัจจุบัน อำเภอเชียงดาวยังคงไม่ดำเนินการพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติคำขอฯ ดังกล่าว หรือไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากทางอำเภอเชียงดาวทางสถาบันฯ ขอเรียนมายังอำเภอเชียงดาวว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นอาจนำไปสู่การดำเนินการเพื่อให้มีการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองของอำเภอเชียงดาวโดยกระบวนการยุติธรรม ดังต่อไปนี้
 
๑. ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๑ และตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ นายทะเบียนอำเภอเชียงดาวและอำเภอเชียงดาว ในฐานะหน่วยทะเบียนอำเภอรวมถึงเป็นนายทะเบียนย่อมเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองซึ่งมีหน้าที่ในการรับคำขอและพิจารณาเพื่ออนุมัติหรือไม่อนุมัติคำขอฯ ตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑
 
นอกจากนี้ อำเภอเชียงดาวในฐานะหน่วยงานทางปกครองย่อมผูกพันต่อหลักกฎหมายทั่วไปคือ หลักการดำเนินกระบวนการพิจารณาทางปกครอง (le deroulement de la procedure administrative) ที่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ จะต้องดำเนินการในชั้นพิจารณาที่สมบูรณ์เพื่อนำไปสู่การออกคำสั่งทางปกครองที่ถูกต้องสมบูรณ์
 
แต่จากข้อเท็จจริงข้างต้นพบว่า เมื่ออำเภอเชียงดาวรับคำขอฯ แต่ไม่ดำเนินการบันทึกวันที่รับคำขอฯ (กรณีของนายอารักษ์ แซ่หยวน) ไม่ดำเนินกระบวนการในชั้นพิจารณา(กรณีของนายอารักษ์ แซ่หยวน และนายกุมาร แซ่กาว) ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อหลักความมีประสิทธิภาพและหลักการพิจารณาโดยเปิดเผย ซึ่งเป็นองค์ประกอบของหลักการดำเนินกระบวนการพิจารณาทางปกครอง
 
๒. นับจากวันทื่ยื่นคำขอฯ จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาที่เกินกว่า ๙๐ วัน อันเป็นเหตุที่อาจพิจารณาได้ว่าอำเภอเชียงดาวได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร (ตามมาตรา ๙ (๒) แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒)
ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะและเป็นคุณแก่บุคคลตามมาตรา ๒๓ การดำเนินการใดๆ ของอำเภอเชียงดาวควรจักดำเนินไปโดยมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ทางสถาบันฯ และองค์กรเครือข่ายพบว่า ทางอำเภอเชียงดาวได้เรียกพยานบุคคลมาสอบครบถ้วนแล้ว และพยานเอกสารของผู้ยื่นคำขอฯ ทั้ง ๒ รายก็ครบถ้วนสมบูรณ์ ทางสถาบันฯ และองค์กรเครือข่ายฯ จึงขอเสนอแนะให้ทางอำเภอเชียงดาวดำเนินการพิจารณาและออกคำสั่งทางปกครองต่อคำขอฯ ดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
 
๓. ทางสถาบันฯ และองค์กรเครือข่ายขออนุญาตเรียนย้ำต่อทางอำเภอเชียงดาวว่ามาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑เป็นบทบัญญัติที่มุ่งที่จะเยียวยาบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการถูกถอนและการไม่ได้สัญชาติไทย โดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลว ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๕ และโดยมาตรา ๗ ทวิ แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับแก้ไขครั้งที่ ๒ และ ๓ พ.ศ.๒๕๓๕ โดยการกลับคืนสัญชาติไทยให้แก่บุคคลดังกล่าว ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา บุคคลดังกล่าวต่างได้รับผลกระทบด้านต่างๆ ในระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวัน ดังเช่นกรณีของนายอารักษ์ ความล่าช้าในการออกคำสั่งอนุมัติหรือไม่อนุมัติคำขอลงรายการสัญชาติไทย อาจมีผลต่อการสมัครขอรับทุนเพื่อไปศึกษาต่อ ณ ประเทศไต้หวัน (ทุนการศึกษาจะเปิดรับสมัครในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๓) ยิ่งไปกว่านั้น บุคคลย่อมควรได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายที่ถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริง อันเป็นสิทธิของบุคคลและหน้าที่ของหน่วยงานรัฐตามกฎหมายทะเบียนราษฎร กฎหมายสัญชาติ ตามมาตรา ๔ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ รวมถึงข้อ ๑๖ และข้อ ๒๖ แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง (แพ่ง) และสิทธิทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖ ที่ผูกพันประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี
 
ทางสถาบันฯ และองค์กรเครือข่าย จึงเรียนมาเพื่อขอคำชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว ด้วยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า อำเภอเชียงดาวในฐานะหน่วยงานทางปกครองจะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดไว้เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายใหม่เป็นไปตามเจตนารมย์อย่างแท้จริง รวมถึงเพื่อเป็นการคุ้มครองและรับรองสิทธิทางการศึกษา สิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ สิทธิทางการเมืองของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ และขอขอบคุณมาล่วงหน้าถึงความเข้าใจในปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่คนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติต้องเผชิญในการดำรงชีวิต
จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการ
 
 
ขอแสดงความนับถือ
 
(ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล)
นักกฎหมาย
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ
 

 

............................................................................................................................................

Stateless Watch Review
           
เป็นงานสื่อสารสาธารณะ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ ศูนย์ข้อมูลเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch Information Center)  ภายใต้สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ หรือ Stateless Watch for Research and Development Institute of Thailand (SWIT) ด้วยความเชื่อมั่นว่าการผลักดันการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่มีประสิทธิภาพ-ยุติธรรรมนั้น ต้องอาศัยองค์ความรู้ รวมถึงการสร้างความเข้าใจร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม
statelesswatch@gmail.com  โทรศัพท์ /โทรสาร : 02-864-9009

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net