Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. มีการจัดเวทีเสวนา “ความรู้และความไม่รู้และการเมืองของคนเสื้อแดง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล มองและอ่านสัปดาห์หนังสือสื่อสิ่งพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ผศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พฤกษ์ เถาถวิล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และอุเชนทร์ เชียงเสน นักศึกษาปริญาญาโท สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ชัยธวัช ตุลาฑล กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

อุเชนทร์ เชียงเสน นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นการเสวนาด้วยการกล่าวถึงบทความสำคัญ 2 ชิ้น คือ เกษียร เตชะพีระ "สู่พรรคการเมืองมวลชน” ที่อธิบายว่า สภาพการณ์ตอนนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในการเมืองไทยสมัยใหม่ คือ การปรากฏขึ้นของขบวนการการเมืองมวลชนระดับชาติ 2 ขบวนที่เป็นปฏิปักษ์กัน คือ ขบวนการเสื้อเหลืองกับขบวนการเสื้อแดง ที่ก่อตัวขึ้นและดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระเอกเทศจากรัฐราชการ และ “คำ ผกา” “นับแต่นี้ต่อไป ไม่เหมือนเดิม” ที่พยายามอธิบายการเปลี่ยนแปลง “จิตสำนึก” บางอย่างของผู้คนธรรมดาสามัญ อันสืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่า ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การเมืองไทยในระยะยาวที่อาจจะยังไม่เห็นในระยะใกล้ ได้เกิดขึ้นแล้ว โดยมีความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลา 2 – 3 ปีนี้ เป็น“จุดเริ่มต้น” โดยมาจากฐานการวิเคราะห์ที่ว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่นี้ มิได้เป็นความขัดแย้งหรือจำกัดในหมู่ชนชั้นนำทางการเมืองไม่กี่คนเท่านั้น แต่กระจายและดำรงอยู่ในหมู่ประชาชนโดยทั่วไป และค่อนข้างลึกซึ้ง แหลมคม ความขัดแย้งนี้เชื่อมโยงกับประเด็นบางประเด็นที่เคยถูกมองว่าไม่เป็นปัญหามาก่อน และสร้างความเข้าใจ การรับรู้เกี่ยวกับการเมืองและสถาบันการเมืองแบบใหม่ ในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะ “คนเสื้อแดง” ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้

อุเชนทร์ กล่าวว่า เราไม่อาจจะรู้ได้จริงๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต แต่พอที่กล่าวได้ว่า สถานการณ์ปัจจุบันได้เปิดเงื่อนไขของความเป็นไปได้ทางการเมืองบางอย่างที่น่าสนใจ ที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนหน้านี้ ดังนั้นคำถามที่น่าสนใจ คือ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเขาเห็นว่า คนเสื้อแดง ซึ่งหมายถึงประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวมีความน่าสนใจในหลายมิติ แต่ในแง่การศึกษาแล้วยังไม่มีการศึกษาที่เป็นระบบอย่างจริงจัง จึงได้เริ่มการสำรวจเบื้องต้นขึ้น

อย่างไรก็ตาม เขาระบุถึงเหตุผลที่ไม่เคยมีการศึกษาเรื่องคนเสื้อแดงอย่างเป็นระบบในสังคมเนื่องจากเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แต่ที่สำคัญ หลายคนมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว โดยไม่ต้องศึกษาค้นคว้า หรือตั้งคำถามแต่อย่างใด อย่างเช่น ภาพของการเป็น “ผู้ร้ายทางการเมือง” ที่สุดขั้วสุดก็คือ ต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างสาธารณรัฐ ต้องการลิดรอนอำนาจของกษัตริย์ และหรือตกเป็น “เหยื่อ” ของระบบทักษิณ, สู้เพื่อคนๆ เดียวคือ ทักษิณ เป็นพวกรับจ้าง “หางแดง” ฯลฯ ภาพเหล่านี้นอกจากจะถูกสร้างขึ้นจากขึ้นจากฝ่ายตรงกันข้ามคือ เสื้อเหลืองแล้ว ก็ยังถูกมองจากนักวิชาการบางส่วนในลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน แม้ระดับของคำจะรุนแรงน้อยหรือไพเราะกว่า

อุเชนทร์เสริมว่า น่าสนใจเหมือนกันว่า ขณะที่เสื้อแดงโดนโจมตีด้วยข้อหาฉกาจฉกรรจ์ พวกเขายืนหยัดอยู่ได้อย่างไร ฝ่ายสนับสนุน รวมทั้งบางส่วนที่เคยเป็นฝ่ายซ้าย และไม่ได้โปรทักษิณมาก่อนหน้านี้ ก็มีแนวโน้มที่จะโปรจนบางครั้งก็น่าสงสัยเหมือนกันว่าจะเว่อร์มากไปหรือเปล่าว่าพวกเขาจะเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงหรือพลิกโฉมหน้าการเมืองไทยเลยทีเดียว ซึ่งคำถามพวกนี้ตอบไม่ได้อย่างง่ายๆ ต้องไปศึกษาดูรายละเอียดในด้านต่างๆ เกี่ยวกับพวกเขา และถกเถียงกันอย่างจริงจัง

สำหรับการศึกษา “คนเสื้อแดง” นั้น อุเชนทร์กล่าวว่า ไม่ได้สนใจองค์กรหรือแกนนำอะไรทั้งสิ้น แต่สนใจคนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหว โดยในการศึกษาเริ่มต้นจากความอยากรู้หรือคำถามโดยทั่วไปว่า “คนเสื้อแดง” เป็นใคร คิดอย่างไร ทำไมจึงเข้าร่วมการเคลื่อนไหว โดยใช้แบบสอบถามลงไปถามกลุ่มคนที่เข้าร่วมการชุมชนในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา สาเหตุที่เลือกกลุ่มนี้ เพราะการเข้าร่วมชุมนุมถือว่าเป็นการลงทุนที่สูงเมื่อเทียบกับการสนับสนุนอยู่ที่บ้านหรือลงคะแนนเลือกตั้ง ถือได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่กระตือรือร้นเอาจริงเอาจัง และที่เลือกช่วงเวลาดังกล่าวก็เพราะเป็นการเคลื่อนไหวที่สามารถระดมคนได้มาก และคิดว่าน่าจะกว้างขวางที่สุดตั้งแต่มีการเคลื่อนไหวมา

ทั้งนี้ แบบสอบถามมีคำถามอยู่ 3 ชุดคือ 1) ข้อมูลทั่วไป เกี่ยวกับอาชีพรายได้ ที่มา 2) ลักษณะการเข้าร่วม เช่นเหตุการณ์ใดที่ทำให้เขาทนไม่ได้ ต้องลุกออกมาจากบ้าน ออกมาเคลื่อนไหว รวมทั้งความสัมพันธ์กับพรรคไทยรักไทย 3) เหตุผลต่างๆ ในการออกมาเคลื่อนไหว รวมทั้ง การวิเคราะห์ว่า ใครและอะไร คือ ปัญหาของระบบการเมือง ประชาธิปไตยไทย ซึ่งก็ได้ข้อมูลมาจำนวนหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ยังไม่ได้ประมวลผลและวิเคราะห์ จึงเสนอข้อมูลบางส่วนที่น่าสนใจ เช่น

อุเชนทร์ระบุว่า พบว่าการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวมี 2 ระลอกใหญ่ คือ (1) หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร และ (2) การออกมาเคลื่อนไหวและประสบความสำเร็จของพันธมิตรฯ ในรอบที่สอง, คนที่เข้าร่วมส่วนใหญ่อาจจะราว 90 เปอร์เซ็นต์ ได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยม ที่ก่อนหน้านี้นักวิชาการวิจารณ์ว่าห่วย ไม่ครอบคลุมประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะคนยากจนอย่างทั่วถึง ของพรรคไทยรักไทยอย่างน้อย 1 โครงการ, ส่วนใหญ่ไม่เคยมีประสบการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาคม 2516 พฤษภาคม 2535 หรือแม้กระทั่งเคยรวมกลุ่มต่อสู้เรียกร้องสิทธิต่างๆ หรือแก้ไขปัญหาของตนเอง

เมื่อถามว่า “ใคร” เป็นปัญหาของระบบการเมือง-ประชาธิปไตยในปัจจุบันมากที่สุด คำตอบอันดับหนึ่ง คือ องคมนตรีและเครือข่าย และเมื่อถามว่าอะไร คือ “ปัญหาหลัก” ของระบบการเมือง-ประชาธิปไตยมากที่สุด คำตอบอันดับหนึ่ง คือ ปัญหาการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร อำมาตย์ หรือผู้ที่ไม่มีสิทธิอำนาจ

อุเชนทร์ย้ำว่า นี่เป็นข้อมูลคร่าวๆ จากการทำแบบสอบถาม ซึ่งจะไม่ขออ้างว่านี่เป็นตัวแทนของคนเสื้อแดงทั้งหมด แต่กล่าวได้ว่า จากการทำแบบสอบถามมา ได้ผลเป็นอย่างนี้ บางคนอาจจะเห็นว่า การทำแบบสอบถาม หรือการสัมภาษณ์ซึ่งจะทำต่อไปหลังจากนี้ เชื่อถือไม่ได้ เพราะผู้ถูกสัมภาษณ์จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับตัวพวกเขาเองและรู้ว่าควรจะคุยกับเราอย่างไร นักวิจัยที่ใช้วิธีการนี้ตระหนักอยู่ และถ้าบอกว่าใช้ไม่ได้เลย วิธีการสัมภาษณ์ในทุกกรณีก็มีปัญหาเดียวกันหมด อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ผู้ศึกษาก็ต้องทำงานหนักมากขึ้นในการอธิบายว่าทำไมสิ่งที่ได้มาพอเชื่อถือได้ แม้ว่าอาจไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ แต่ก็ดีกว่านั่งเทียนเขียนถึงพวกเขา ด่าประณามพวกเขาไปเรื่อยๆ

เขาระบุว่า ในแง่ของการออกแบบสอบถามและการลงไปเก็บข้อมูลต่างๆ นี้ มีกรอบหรือสมมุติฐานในการอธิบาย “คนเสื้อแดง” อยู่เบื้องหลังที่สำคัญ และจากการทำงานไปแล้วบางส่วนก็เป็นเช่นนั้น คือ มอง”คนเสื้อแดง” ในฐานะขบวนการโต้กลับ หรือ counter movements (ดูคำอธิบายเรื่องนี้ได้ในหนังสือ แนวการวิเคราะห์การเมืองแบบขบวนการทางสังคม ของ ประภาส ปิ่นตบแต่ง ในบทที่ 4) และเสนอว่า เราจะไม่สามารถที่จะเข้าใจคนเสื้อแดงหรืออย่างน้อยก็ไม่เห็นลักษณะที่สำคัญหากไม่เข้าใจในฐานะดังกล่าว หรือเชื่อมโยงกับการเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จของขบวนการเสื้อเหลือง ลักษณะที่สำคัญของขบวนการโต้กลับ คือ เป็นขบวนการที่มีความต้องการ ข้อเรียกร้องที่ตรงข้ามกับของขบวนการทางสังคมที่เกิดขึ้นก่อน (initiative movements)

เขากล่าวต่อว่า นี่เป็นลักษณะ “ธรรมชาติ” ของขบวนการเคลื่อนไหว ในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย การเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคมหนึ่ง ย่อมทำให้อีกกลุ่มหนึ่งสูญเสียประโยชน์ ได้รับผลกระทบ และอาจจะทำให้เกิดขบวนการโต้กลับหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับเดิมพัน และปัจจัยอื่นเช่น โครงสร้างโอกาสทางการเมือง ความพร้อมทางด้านองค์กร ทรัพยากร

อุเชนทร์ กล่าวว่า ในแง่นี้ คนเสื้อแดงจึงเป็นขบวนการโต้กลับของขบวนการเสื้อเหลืองและพวก และการประสบความสำเร็จของคนเสื้อเหลืองก็กระตุ้น ทำให้พวกเขาอดรนทนไม่ได้ ต้องลุกจากบ้านออกมาเคลื่อนไหว จึงไม่แปลกที่คนเสื้อแดงจะต่อต้านพันธมิตรของพันธมิตรฯ หรือปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้พันธมิตรฯประสบความสำเร็จไปด้วย เรื่องนี้น่าจะมีส่วนกำหนดลักษณะของ“คนเสื้อแดง” หลายอย่าง

อุเชนทร์กล่าวว่า พูดให้ถึงที่สุด เรื่องสำนึกบางอย่างที่หลายคนกล่าวถึงกัน ซึ่งอาจจะจริงหรือไม่ก็ได้ และถ้าเป็นจริงก็ไม่เห็นจะเป็นปัญหาอะไรในระบอบประชาธิปไตย อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้ตั้งใจ เขาไม่เคยรู้สึก เข้าใจหรือต้องการอย่างนั้นมาก่อน แต่ในฐานะที่เป็นขบวนการโต้กลับ ด้วยกระบวนการต่อสู้ ประสบการณ์การต่อสู้ ทำให้พวกเขาเห็นและเข้าใจ และอาจจะแทบไม่เกี่ยวอะไรกับแกนนำคนสำคัญเลย ไม่ว่าจะเป็นคุณทักษิณหรือแกนนำกลุ่มพีทีวี เพราะอย่างที่เห็นกันอยู่ว่าพวกเขาจำกัดจำเขี่ยกรอบในการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างชัดเจน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net