ครส.แจงกรณีคุกคามทางเพศในองค์กร

ความคืบหน้ากรณีมีการคุกคามทางเพศในองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งก่อนหน้านี้ กลุ่มนักศึกษา เอ็นจีโอ และประชาชนจำนวนหนึ่ง ได้ลงชื่อในแถลงการณ์เรียกร้องให้องค์กรสิทธิมนุษยชนต้องมีความชัดเจนในการจัดการปัญหาการละเมิดสิทธิสตรีในวงการสิทธิมนุษยชน ล่าสุด (3 ธ.ค.) เว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอ เผยแพร่คำชี้แจง เรื่อง ปัญหาการคุกคามทางเพศในองค์กร โดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) เนื้อหาชี้แจงว่า ได้มีตั้งคณะกรรมการไต่สวนเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยผู้ถูกกล่าวหายอมรับว่าได้กระทำการคุกคามทางเพศต่อผู้ปฏิบัติงานหญิงในขณะปฏิบัติงานจริง

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ผู้ถูกกล่าวหาได้แสดงการสำนึกผิดโดยการขอโทษผู้เสียหายต่อหน้าคณะกรรมการไต่สวน และหลังจากนั้นจะทำหนังสือแสดงการขอโทษผู้เสียหายเป็นลายลักษณ์อักษรอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ ครส. ได้ลงโทษบุคคลดังกล่าวด้วยการพักงานผู้กระทำผิดเป็นเวลา 1 ปี และจะมอบหมายให้มีกรรมการติดตามดูแล สอดส่อง การปฏิบัติตนของผู้กระทำความผิด รวมทั้งกำหนดมาตรการเฝ้าระวัง แก้ไข และพัฒนาตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำต่อไป โดยจะกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงานขององค์กร เช่น การกำหนดมาตรฐานหรือระเบียบปฏิบัติด้านจริยธรรม การฝึกอบรม กลไกในการตรวจสอบ รับเรื่องราวร้องทุกข์ และแก้ไขเยียวยาปัญหาจริยธรรมที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ครส. ระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นใบลาออกจากเลขาธิการของ ครส. แล้ว เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2552
 

คำชี้แจงจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
เรื่อง ปัญหาการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ในองค์กร ครส.

ตามที่ปรากฎเป็นข่าวในวงการองค์การพัฒนาเอกชนว่าผู้ปฏิบัติงานของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ได้คุกคามทางเพศต่อผู้ใต้บังคับบัญชาผู้หญิงในระหว่างการปฏิบัติงาน และมีกระแสเรียกร้องให้คณะกรรมการจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น ครส. ขอเรียนชี้แจงดังต่อไปนี้

ครส.เป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน มีคณะกรรมการชุดหนึ่งประกอบด้วยบุคคลที่มีบทบาทในการดำเนินงานส่งเสริมคุ้ม ครองด้านสิทธิมนุษยชนทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารจัดการในองค์กร และให้คำปรึกษากับบุคลากรในการดำเนินกิจกรรมขององค์กร

คณะกรรมการได้ รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายด้วยวาจาครั้งแรกประมาณต้นเดือนกันยายน 2552 ว่าถูกหัวหน้างานคุกคามทางเพศในขณะปฏิบัติงาน ประธานคณะกรรมการได้ดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงเบื้องต้นมีความเห็นว่ากรณี ดังกล่าวมีมูล จึงมอบหมายให้กรรมการหญิงสองท่านตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้เสียหายและผู้ ถูกกล่าวหา รวมทั้งบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหา ผลการตรวจสอบพบว่าผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นหัวหน้างานของผู้เสียหายได้กระทำการ คุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาในระหว่างการปฏิบัติงานจริง

ประธานคณะกรรมการจึงมีคำสั่งพักงานผู้ถูกกล่าวหาตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2552 และจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการครส.เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อเรื่องร้อง เรียนที่เกิดขึ้นร่วมกับผู้เสียหาย ที่ประชุมมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็น บุคคลภายนอกที่ผู้เสียหายให้การยอมรับ ร่วมกับกรรมการครส.เพื่อพิจารณาโทษที่ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความเสียหายให้ เกิดขึ้น

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 คณะกรรมการไต่สวนได้สรุปผลการพิจารณา เพื่อเสนอแนะต่อ ครส. ว่า

ผู้ถูกกล่าวหายอมรับว่าได้กระทำการคุกคามทางเพศต่อผู้ปฏิบัติงานหญิงในขณะปฏิบัติงานจริง

โดยยอมรับว่า ได้จับมือ กอดเอว กอดคอ พยายามหอมแก้ม และใช้คำพูดที่มีลักษณะเป็นการล่วงเกินทางเพศ โดยกระทำการดังกล่าวต่อเนื่องหลายครั้ง ในขณะปฏิบัติงานในหน้าที่ภายในสำนักงานและระหว่างเดินทางไปปฏิบัติงานนอก สถานที่ โดยที่ผู้เสียหายไม่ได้ยินยอม และได้ปฏิเสธมาโดยตลอด และผู้ถูกกล่าวหายอมรับว่าการกระทำของตนเป็นการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ต่อผู้เสียหาย

เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อความเสีย หายที่เกิดขึ้น ผู้ถูกกล่าวหาได้แสดงการสำนึกผิดโดยการขอโทษผู้เสียหายต่อหน้าคณะกรรมการไต่สวน และหลังจากนั้นจะทำหนังสือแสดงการขอโทษผู้เสียหายเป็นลายลักษณ์อักษรอีกชั้น หนึ่ง

คณะกรรมการ ครส.ในฐานะผู้บริหาร ควรมีคำสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาด้วยการพักงานผู้กระทำผิดเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่มีเงินเดือนและสวัสดิการใดๆ

คณะกรรมการ ครส. ได้ลงโทษด้วยการพักงานผู้กระทำผิดเป็นเวลา 1 ปี และจะมอบหมายให้มีกรรมการติดตามดูแล สอดส่อง การปฏิบัติตนของผู้กระทำความผิด รวมทั้งกำหนดมาตรการเฝ้าระวัง แก้ไข และพัฒนาตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำต่อไป และจะกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงานของ องค์กร เช่น การกำหนดมาตรฐานหรือระเบียบปฏิบัติด้านจริยธรรม การฝึกอบรม กลไกในการตรวจสอบ รับเรื่องราวร้องทุกข์ และแก้ไขเยียวยาปัญหาจริยธรรมที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ครส. ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจในประเด็นการคุกคามทางเพศในที่ทำงานซึ่งเป็น ความรุนแรงต่อผู้หญิง และเสนอแนะให้มีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้ผู้เสียหายได้รับผลกระทบมากไปกว่านี้ ครส. ขอบคุณผู้เสียหายที่ได้ยืนหยัดเพื่อความถูกต้องและเป็นธรรม และขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ผู้ทำงานด้านสิทธิสตรีที่ได้ให้ความกรุณาเป็นกรรมการไต่สวนและให้ข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นต่อองค์กร

ครส. เป็นองค์กรดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนขนาดเล็ก ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารซึ่งทำงานในลักษณะอาสาสมัคร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรวมทั้งการร้องเรียนและกระบวนการตรวจสอบซี่งได้รับความ ร่วมมือในการให้ข้อเสนอแนะให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์เป็นบทเรียน ให้ผู้ปฏิบัติงานในครส.และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ได้ตระหนักว่าการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ในที่ทำงานเป็นความรุนแรงต่อผู้หญิง และเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมที่ไม่อาจยอมรับได้และขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมของนัก สิทธิมนุษยชน

อนึ่ง ผู้ถูกกล่าวหา ได้ยื่นใบลาออกจากเลขาธิการของ ครส. แล้ว เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2552

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
3 ธันวาคม 2552

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท