Skip to main content
sharethis
 
 

 
“โครงการไทยเข้มแข็ง เป็นเรื่องที่ถูกคิดจากรัฐฝ่ายเดียว แต่ที่เหลือยกโครงการให้กับหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านก็ยังขาดรายละเอียด ถ้าเป็นอย่างนี้โครงการไทยเข้มแข็งน่าจะสร้างปัญหามากกว่าที่จะสร้างเรื่องของผลตอบแทนที่ชาวบ้านจะได้...”
 
 
 
แผนที่ตำแหน่งที่ตั้งโครงการสร้างประตูระบายน้ำแม่สอย
อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
(ที่มาภาพ : สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่)
 
 
 
“ทำไมชาวบ้านแม่สอยถึงต้องออกมารวมตัวกันคัดค้านโครงการสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำปิงในเขตพื้นที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่!?” หลายคนตั้งคำถาม
 
ตัวแทนชาวบ้านแม่สอยบอกเหตุผลว่า ที่จำต้องคัดค้าน ก็เพราะเชื่อว่าจะส่งผลกระทบกับวิถีชาวบ้านอย่างแน่นอน และเมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา สมาชิกกลุ่มลูกน้ำปิง ได้ไปดูงานในพื้นที่หมู่บ้านดอนว่าน อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ นอกจากนั้น ยังได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และแกนนำฝายทดน้ำลำเซบาย เดินทางไปดูงานโครงการฝายราษีไศล(เขื่อน)และเขื่อนหัวนา จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นเหมือนการเตือนย้ำและทำให้รับรู้ว่า ชาวบ้านที่นั่นต่างล้วนได้รับผลกระทบจากการโครงการของรัฐอย่างหนักหน่วง และทุกวันนี้ รัฐก็ยังไม่อาจดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆได้เลย
 
“ตกใจมากและตะลึง...เมื่อไปเห็นสภาพบ้านเรือนชุมชนของพวกเขา คือเห็นแต่น้ำที่ท่วมทับพื้นที่อยู่ที่กินของเขา และตนเชื่อว่า ถ้ามาสร้างที่แม่สอย ก็จะต้องท่วมแน่นอน และเราก็ไม่สามารถที่จะใช้ประโยชน์ในสายน้ำนั้นได้เลย เพราะว่ามันท่วมไปหมด มองไม่เห็นประโยชน์อะไรซักอย่าง” นางเวณิกา คำยอง ประธานกลุ่มลูกน้ำปิง คนปัจจุบัน บอกเล่าให้ฟังด้วยสีหน้าเคร่งเครียดและกังวล
 
ประธานกลุ่มลูกน้ำปิง เปิดเผยว่า หากโครงการประตูระบายน้ำเกิดขึ้น จะทำให้พื้นที่ตั้งแต่หมู่บ้านแม่สอย บ้านสบสอย บ้านวังน้ำหยาด บ้านหนองคัน และล่องไปทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำปิงจะต้องเกิดการท่วมทั้งหมดในทุกพื้นที่อย่างแน่นอน รวมไปถึงพื้นที่หมู่บ้านสารภี บ้านห้วยฝาง บ้านโรงวัว ที่มีอาณาเขตอยู่ติดลำน้ำปิง และอยู่ติดลำห้วยอีก 2-3 จุด ซึ่งคิดว่าจะต้องได้รับผลกระทบกันไปทั่ว
 
 
 

 นางเวณิกา คำยอง
ประธานกลุ่มลูกน้ำปิง
 
 
 
ท่ามกลางความสับสน ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชน โครงการนี้ยังส่งผลทำให้เกิดความขัดแย้งกันในเองในชุมชน ระหว่างชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับผู้นำท้องถิ่นที่มักยินยอมและเอนเอียงอยู่ข้างเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด
 
กระทั่งถึงขั้นพยายามกดดัน ข่มขู่และลิดรอนสิทธิต่างๆ ที่พึงมีพึงได้ในชุมชน ซึ่งว่ากันว่า นี่เป็นกระบวนการหนึ่งของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องที่ใช้วิธีการให้ผู้นำท้องถิ่นบีบ กดดันให้กลุ่มผู้คัดค้านจำยอมและจำนน
 
“เมื่อหลายเดือนก่อน ก็มีการล่าลายเซ็นของผู้เห็นชอบกับโครงการประตูระบายน้ำแม่สอย พร้อมกับมีการสร้างกระแสกดดันชาวบ้านผู้คัดค้านโดยมีการปล่อยข่าวว่าจะตัดสมาชิกน้ำพลังไฟฟ้า ตัดสมาชิกฌาปนกิจ จนทำให้ชาวบ้านหลายคนเริ่มหวั่นไหว บางคนหวาดกลัว จนต้องร่วมลงชื่อกับผู้เห็นด้วย บางคนเห็นว่าจะเปลี่ยนประเด็นการต่อสู้จากการคัดค้านโครงการเป็นเรียกร้องค่าชดเชย ตัวแทนกลุ่มลูกน้ำปิง บอกเล่าให้ฟัง                                                                                                                                     
ซึ่งกลุ่มผู้คัดค้านได้พยายามชีแจ้งอธิบายให้ ผู้นำท้องถิ่นและชาวบ้านที่ไม่เข้าใจ ว่าการที่ออกมาคัดค้านโครงการนั้น เพราะเห็นว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบกับหมู่บ้านจึงออกมาเรียกร้องเพื่อชุมชน 
ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ชลประทาน ได้ลงพื้นที่บ้านโรงวัวและบ้านแม่สอยเพื่อแจ้งให้ผู้ที่จะถูกเวนคืนที่ดิน ได้นำเอกสารสิทธิมาแสดงและแจ้งรายชื่อเจ้าของกรรมสิทธิที่ดินที่จะถูกเวนคืน ซึ่งชาวบ้านกลุ่มผู้คัดค้านกลุ่มลูกน้ำปิง ได้เข้าร่วมประชุมไม่กี่คน แต่ไม่นำเอกสารไปแสดง เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนว่าไม่เอาประตูระบายน้ำ
“ถึงอย่างไร ก็จะคัดค้านและต้องต่อสู้ให้ได้จนถึงที่สุด เพราะนี่ไม่ใช่ว่าแค่หมู่บ้านของเราที่จะเกิดการสูญเสียอย่างเดียว แต่รวมไปหลายพื้นที่ หลายหมู่บ้าน ซึ่งถือว่าอันตรายเหมือนกันทั้งหมด”ประธานกลุ่มลูกน้ำปิง กล่าวอย่างหนักแน่น
 
ด้าน นายทวีวัฒน์ สุยะลา ตัวแทนกลุ่มลูกน้ำปิง กล่าวด้วยความเป็นห่วงว่า ตอนนี้ชาวบ้านในพื้นที่ที่ไม่ได้ไปดูงาน ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะรู้อย่างชัดเจนว่าจะถูกผลกระทบจริงหรือไม่ แต่กลุ่มชาวบ้านที่ไปดูงานมาก็รู้อยู่แล้วว่าจะต้องผลกระทบแน่นอน จากภาพเหตุการณ์ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ลำเซบาย หรือราศีไศล ซึ่งเมื่อหันไปมองโครงการประตูระบายน้ำแม่สอย เราเชื่อว่าตรงนี้ปัญหาใหญ่สุดก็คือ นอกจากน้ำในแม่น้ำปิงจะเอ่อล้นออกไปท่วมแล้ว น้ำจากข้างนอกก็ไหลลงมาเข้าสู่แม่น้ำไม่ได้ ก็จะทำให้เกิดน้ำท่วม และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เห็นชัดเจน
 
“อยากจะให้มีเวทีกลางให้ทางหน่วยงานรัฐเป็นเจ้าภาพ และจัดให้ความรู้ทั้งสองด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านดีหรือเสีย และให้ชาวบ้านเขาวิเคราะห์เองว่ามันจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยการที่ให้ชาวบ้านเขาประเมินเอาเอง ตรงนี้ก็อยากที่จะให้เกิดความชัดเจนกับชาวบ้าน และจะได้ทราบว่าจะเกิดผลดีผลเสียอย่างไรบ้าง” นายทวีวัฒน์ กล่าว
 
 


นายทวีวัฒน์ สุยะลา
ตัวแทนกลุ่มลูกน้ำปิง

 
 
ในขณะที่ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย)ได้กล่าวถึงกรณีโครงการดังกล่าวว่า ไม่เห็นด้วย เพราะการไปสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำปิงแบบนี้ เป็นการทำลายระบบน้ำไปจากเดิม
 
“จะเห็นว่ารายละเอียดโครงการ มีไม่พร้อมที่จะให้ชาวบ้านเข้าใจว่าผลกระทบนั้นมีมากน้อยแค่ไหน ถ้าดูโดยภาพรวมในระดับที่จะยกสันคันกั้นขึ้นมา ก็จะทำให้น้ำขังอยู่ในแม่น้ำ แต่เวลาน้ำหลากจริงๆน้ำจากข้างนอกไม่สามารถที่จะไหลลงแม่น้ำได้ น้ำก็จะท่วมข้างนอกแทน”
 
อีกปัญหาหนึ่ง ที่นายหาญณรงค์ ได้ชี้ให้เห็น ก็คือ ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นจริง ชาวบ้านที่เคยหากินกับน้ำ ในเรื่องของการประกอบอาชีพ หรือเคยหาปลาในแม่น้ำก็จะหาไม่ได้อีกเลย เพราะถึงแม้ว่าชาวบ้านจะมีน้ำ แต่ก็ไม่มีเครื่องมือที่จะหาปลาได้ เพราะว่าแม่น้ำมันจะลึกเกินไป 
 
 

 
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ
สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย)
 
 
นายหาญณรงค์ ยังได้กล่าววิพากษ์โครงการนี้ไปถูกบรรจุไว้ในโครงการไทยเข้มแข็ง ได้อย่างไร ทั้งที่เป็นโครงการที่จะสร้างผลกระทบให้กับชุมชนในอนาคต
 
“โครงการไทยเข้มแข็ง เป็นเรื่องที่ถูกคิดจากรัฐฝ่ายเดียว แต่ที่เหลือยกโครงการให้กับหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านก็ยังขาดรายละเอียด ถ้าเป็นอย่างนี้โครงการไทยเข้มแข็งน่าจะสร้างปัญหามากกว่าที่จะสร้างเรื่องของผลตอบแทนที่ชาวบ้านจะได้ ถ้าถามว่าชาวบ้านขาดน้ำหรือไม่ ก็พูดคุยหลายคน ชาวบ้านก็บอกว่า ก็มีระบบสูบน้ำเดิมอยู่แล้ว และน้ำที่ใช้ทำนา ก็ไม่ได้ทำนาแบบภาคกลาง เพราะการทำนาแถบนี้นั้นมีน้อย แต่ต่างกันกับวิถีชีวิตการใช้น้ำที่ต่างกัน ส่วนใหญ่การใช้น้ำที่นี่จะใช้ในสวนปลูกผลไม้ ก็ใช้ระบบการส่งน้ำด้วยสถานีสูบน้ำโรงงานไฟฟ้า ก็มีกลุ่มการใช้น้ำจัดการดูแลกันอยู่แล้ว”
 
นอกจากนั้น นายหาญณรงค์ ยังได้แสดงความวิตกกังวล ถึงกรณีที่ชาวบ้านถูกข่มขู่ หลังคัดค้านโครงการดังกล่าว
 
“มีความตกใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ผู้นำท้องถิ่นได้ใช้ลักษณะของการข่มขู่ เช่น กรณีที่จะพยายามการตัดการใช้น้ำเดิม พยายามที่จะชาวบ้านออกจากสมาชิกฌาปนกิจ ซึ่งเคยเป็นสมาชิกมาตลอด ซึ่งลักษณะเช่นนี้ เป็นการละเมิดสิทธิของชาวบ้าน ผู้นำหมู่บ้านไม่น่าที่จะมาใช้สิทธิอย่างนี้ บทบาทของผู้นำต้องทำชาวบ้านเข้าใจ แต่คุณไม่สามารถที่จะเปิดเวทีและเชิญหน่วยงานเจ้าของโครงการมาชี้แจงให้กับชาวบ้านเข้าใจ ถึงจะเปิดเวที แต่ก็เป็นการรับฟังข้อมูล เป็นการให้ข้อมูลฝ่ายเดียว ขาดการซักถามและสร้างความเข้าใจ และมีการชี้แต่ข้อดีอย่างเดียว ไม่มีการชี้ข้อเสีย ซึ่งอันนี้ตนคิดว่าถ้ากรรมการสิทธิฯ ลงพื้นที่ก็น่าจะมีโอกาสที่จะให้แต่ละหน่วยงานนั้นได้เห็นและเข้าใจถึงเรื่องสิทธิด้วย ซึ่งตอนนี้ก็เป็นยุคปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องที่คุณจะไปข่มขู่ชาวบ้านได้”
 
เมื่อชาวบ้านได้รับข้อมูลฝ่ายเดียว จึงเป็นหนทางเดียวที่จะรับรู้ข้อมูลรอบด้าน ทางกลุ่มผู้คัดค้านจึงยื่นหนังสือถึงกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมไปถึงกรรมการวุฒิสภา ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับน้ำโดยเฉพาะ เพื่อที่จะขอให้ลงมาตรวจสอบให้ชัดเจน
 
“ในฐานะที่เป็นหนึ่งในอนุคณะกรรมการสิทธิฯ ที่ดูเรื่องของสิทธิชุมชน มี น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธาน ก็คิดว่ากรรมการสิทธิก็จะสอบถามข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมชลประทาน และเข้าไปเปิดเวทีให้หน่วยงานแต่ละหน่วยงาน ลงมาดูข้อมูลกับชาวบ้านและเชิญหน่วยงานให้มาเปิดเวทีในพื้นที่ น่าจะเป็นประมาณกลางเดือนธันวาคม และคิดว่าช่วงนี้ ถ้าไม่มีความชัดเจนก็น่าจะหยุดโครงการไว้ก่อนในส่วนของกรมชลประทาน ไม่สมควรที่จะไปจ่ายค่าเวนคืน หรือลักษณะของการเริ่มโครงการที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นไปมากกว่านี้” นายหาญณรงค์ กล่าว
 
เมื่อถูกตั้งคำถาม ‘ไทยเข้มแข้ง’ หรือไทยยัดเยียด ทำลายวิถีชาวบ้าน?
 
นายหาญณรงค์ กล่าววิพากษ์รัฐบาลชุดนี้ ที่มีการพยายามผลักดันโครงการดังกล่าว บรรจุไว้ในโครงการไทยเข้มแข็ง ว่ามีข้อหนึ่งที่จะทวงถามก็คือ โครงการไทยเข้มแข็ง มันต้องเป็นโครงการที่มีลักษณะความพร้อมที่จะให้เกิดขึ้นจริงๆ โดยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ไม่ใช่เป็นโครงการที่เข้าไปยัดเยียดให้กับชาวบ้าน
 
“ถ้าดูแล้วโครงการนี้ เป็นโครงการที่ยัดเยียดให้ชาวบ้าน และส่งผลกระทบที่แท้จริง ไม่รู้ว่าจะเป็นเรื่องชุมชนจะต้องถูกรื้อบ้าน จะต้องสูญเสียที่ดินริมตลิ่งไปจำนวนเท่าไหร่ พื้นที่เหล่านี้เป็นโฉนดหรือเป็นพื้นที่น.ส.3 และถ้าเป็นโฉนด น.ส. 3 ก็ต้องมีการเวนคืนให้กับเขาอย่างถูกต้อง และกลัวว่าเจ้าตัวยังไม่รู้เลยจนถึงปัจจุบัน ก็จะเหมือนกับที่รัฐเคยทำโครงการขุดลอกลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู พอขุดลอกที่เสร็จ น.ส.3 ของชาวบ้านเขาหายไปเลย แต่ที่แม่สอยนี่ไม่ใช่ขุดลอก แต่เป็นการสร้างพนังกั้นน้ำไปทับที่โดยไม่มีการสำรวจไว้ก่อน และเป็นสิ่งที่น่าจะเกิดปัญหาในระยะยาว ดีไม่ดีก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น
 
ทั้งนี้ นายหาญณรงค์ ยังได้เสนอให้รัฐบาลยกเลิกโครงการสร้างประตูน้ำแม่สอย
 
“โครงการนี้ คิดว่าไม่จำเป็นต้องสร้าง อยากให้มีการยกเลิกไปเลยด้วยซ้ำไป ไม่ใช่เพราะกลัว แต่โครงการนี้น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับโครงการอื่น ที่ขาดการมีส่วนร่วม และไม่มีความชัดเจนเรื่องข้อมูลและไม่มีความชัดเจนเรื่องของความเป็นมาของโครงการที่มันน่าจะถูกต้อง ถามว่าขาดน้ำหรือไม่ ป้องกันน้ำท่วมหรือเปล่าก็ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ดูภาพรวมของโครงการที่ดูจากข้อมูลของโครงการที่มีอยู่ และเป็นโครงการที่อยากจะใช้งบประมาณในลุ่มน้ำปิงเสียมากกว่า ก็คือว่า ทุกสำนักชลประทานต้องหางบประมาณเพื่อที่จะเข้าสู่ขบวนการของไทยเข้มแข็ง การที่บอกว่าไทยเข้มแข็งต้องการใช้งบแค่นี้ ทำให้ข้าราชการส่วนหนึ่งก็มีปัญหาว่าจะเอาโครงการไปลงที่ไหนดี ถ้าลงแม่น้ำปิงตอนบนไม่ได้ ก็ไปทับกับฝาย ชาวบ้านเขาก็พยายามหาลำน้ำปิง และปัญหาคือ ถ้าคุณสร้างเขื่อนในลำน้ำปิงที่อยู่ตอนบนของเขื่อนภูมิพลมากๆ ปริมาณน้ำที่ไหลอยู่เหนือเขื่อนภูมิพลก็จะมีปริมาณน้อยลงไปอีก ความเข้มข้นในการใช้น้ำตอนบนก็จะยิ่งมากขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องทบทวน และถ้าจะดูโครงการก็ต้องดูตลอดลำน้ำไม่ใช่ว่าจะดูจุดนี้จุดเดียว เพราะจะทำให้เกิดปัญหากับลุ่มน้ำตอนล่างด้วยเช่นกัน” นายหาญณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net