นักวิชาการชี้รัฐบาลฟิลิปปินส์หล่อเลี้ยงด้วยสายสัมพันธ์ทางอำนาจกับอิทธิพลท้องถิ่น


27 พ.ย.ชาวมุสลิมในจังหวัดมากินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์
ชุมนุมถือป้ายเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ที่ถูกสังหารหมู่ 57 ราย
ในป้ายมีขอความตั้งแต่ "การสังหารหมู่ในมากินดาเนาไม่เป็นอิสลาม", "นำตัวผู้ประทำผิดมาลงโทษ", "พวกเราขอประณามใครก็ตามที่อยู่เบื้องหลัง..."
(REUTERS/Romeo Ranoco)


29 พ.ย.กลุ่มผู้สนับสนุนอัมพาทวนชุมนุมกันที่เมือง ชารีฟ อากัค ของจังหวัดมากินดาเนา
ถือป้ายที่บอกว่า "อัมพาทวน" ไม่มีความผิด
(AP Photo)


กลุ่มผู้สนับสนุน เอสมาเอล มานกูดาดาตู ส่งเสียงเชียร์ ขณะที่เขาเดินทางไปลงสมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีสมัยถัดไป
(AP Photo/Aaron Favila)


เอสมาเอล มานกูดาดาตู โบกมือให้กับผู้สนับสนุนหลังจากที่เขาลงสมัครเลือกตั้งเสร็จแล้ว
(AP Photo/Aaron Favila)


อัลดาล อัมพาทวน จูเนียร์ ผู้ต้องสงสัยคดีสังหารหมู่ 57 ศพ หลังไปมอบตัว
(AFP/File)

 

ผู้ต้องสงสัยการสังหารหมู่โบ้ย เป็นฝีมือกบฏมุสลิม

จากเหตุการณ์สังหารหมู่นักข่าวและพลเมืองในวันที่ 23 พ.ย. ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจของฟิลิปปินส์เปิดเผยว่าจะหยุดการค้นหาศพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สังหารหมู่ในฟิลิปปินส์แล้ว และยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการที่ 57 ราย

ขณะที่อัลดาล อัมพาทวน จูเนียร์ ผู้ต้องสงสัยรายใหญ่ที่เป็นลูกชายของนักการเมืองผู้มีอิทธิพลในเขตท้องถิ่น ซึ่งมอบตัวกับตำรวจเมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ถูกตั้งข้อหาในฐานะที่เป็นคนสั่งการให้กองกำลังส่วนบุคคลประกอบด้วยผู้มีอาวุธปืนมากกว่า 100 คน ยิงเข้าใส่กลุ่มญาติของเอสมาเอล มานกูดาดาตู ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมือง รวมถึงผู้สื่อข่าวและคนขับรถซึ่งโดยสารไปด้วยโดยไม่ได้ตอบโต้ใดๆ กับผู้มีอาวุธเหล่านั้น

ด้านเอสมาเอล มานกูดาดาตู ผู้ที่ภรรยาและน้องสาวของเขาถูกสังหารในเหตุการณ์สะเทือนขวัญ กล่าวว่าก่อนหน้านี้ เขาได้รับการข่มขู่จากพวกของอัลดาล อัมพาทวน ผู้พ่อว่า เขาจะถูกลักพาตัวหากเขาลงสมัครเลือกตั้ง

แต่หลังจากที่ อัมพาทวน จูเนียร์ มอบตัวกับตำรวจแล้วเขาก็ปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยบอกว่าการสังหารหมู่ในครั้งนี้เป็นฝีมือของผู้การอุมบรา คาโต จากกลุ่มกบฏมุสลิมโมโร (MILF) โดยจังหวัดมากินดาเนาเป็นส่วนหนึ่งของเขตปกครองตนเองมินดาเนา มีประชากรชาวมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมาก ก็มีส่วนหนึ่งตั้งกลุ่มกบฏมุสลิมเพื่อต้องการเรียกร้องเอกราชจากฟิลิปปินส์ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์

อย่างไรก็ตามทางการฟิลิปปินส์ระบุว่า ในตอนนี้ยังไม่พบหลักฐานใดๆ ที่ชี้ว่ากลุ่มกบฏมุสลิมมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ขณะที่มีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรวมถึงพยานผู้เห็นเหตุการณ์บอกว่าเป็นฝีมือของอัมพาทวน และหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้อัมพาทวนตกเป็นผู้ต้องสงสัยคือการพบรถของรัฐบาลท้องถิ่นในพื้นที่ที่มีการขุดฝังศพอย่างเร่งรีบ

เจ้าหน้าที่ด้านกระบวนการยุติธรรมของฟิลิปปินส์กล่าวอีกว่า พวกเขากำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมในการดำเนินคดีกับอัมพาทวน จูเนียร์ อีกทั้งยังต้องหาตัวผู้กระทำผิดราว 100 คน ซึ่งมีทั้งตำรวจในท้องที่และประชาชนที่ร่วมก่ออาชญากรรม

 

นักวิชาการชี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์หล่อเลี้ยงด้วยการสัมพันธ์ทางอำนาจกับอิทธิพลท้องถิ่น

หลังจากที่อัมพาทวน จูเนียร์ ถูกสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ ประธานาธิบดี กลอเรีย อาโรโย ของฟิลิปปินส์ก็ตัดสายสัมพันธ์กับตระกูลอัมพาทวนอย่างรวดเร็ว โดยอาโรโย มีสายสัมพันธ์เป็นพวกเดียวกับ อัลดาล อัมพาทวน ผู้พ่อมาเป็นเวลานับสิบปีแล้ว

นักวิเคราะห์การเมืองมองว่าประเทศฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีการคอรัปชั่นสูงมาก โดยทางรัฐบาลกลางของฟิลิปปินส์จำต้องร่วมมือกับกลุ่มนักการเมืองทุจริตเพื่อเอาชนะการเลือกตั้งและสามารถควบคุมพื้นที่ได้

ครอบครัวอัมพาทวน 9 คน ถูกนำตัวไปสอบสวนถึงความเกี่ยวโยงกับคดี โดยรวมถึงตัวอัมพาทวนผู้พ่อด้วย

พรรคประชาธิปไตยคริสเตียน-มุสลิม ลาคาส แคมปิ (Lakas Campi-CMD) ขับตระกูลอัมพาทวนออกจากการเป็นแนวร่วมพรรคทันที หลังจากกรณีสังหารหมู่ดังกล่าว

แต่ทางคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของฟิลิปปินส์ ลิเลีย เดอ ลิมา มองว่า ขณะที่ตระกูลอัมพาทวนเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้วในฐานะของตระกูลผู้มีอิทธิพล แต่ตระกูลนี้ก็ไม่สามารถจัดหาอาวุธสงครามจำนวนมากมาได้ภายในเวลาคืนเดียวแน่

ลิเลีย มองว่า พวกเขาสามารถกระทำการเช่นนี้ได้ เนื่องจากมีการอนุญาตให้สะสมอาวุธโดยไม่ถูกดำเนินการทางกฏหมายจากรัฐบาลในระดับประเทศ ทำให้เกิดการสะสมอาวุธภายในกลุ่มผู้นำในเขตภูมิภาคของประเทศ

อเล็ก แม็กโน อาจารย์วิชารัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ กล่าวว่า การที่ตระกูลอัมพาทวนไม่ถูกดำเนินคดีมาโดยตลอดนั้น เนื่องจากพวกเขาช่วยทหารในการควบคุมกลุ่มกบฏมุสลิมแบ่งแยกดินแดนไม่ให้ก่อความวุ่นวาย

แม็กโนกล่าวให้สัมภาษณ์กับ AFP ว่าการก่ออาชญากรรมโดยพวกผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ถือเป็นราคาที่ต้องจ่ายให้กับแผนการที่จะทำให้มากินดาเนาและเขตพื้นที่ภาคใต้ของฟิลิปปินส์ปราศจากการแบ่งแยกดินแดน

รัฐมนตรีมหาดไทยของฟิลิปปินส์โรนัลโด ปูโน ยอมรับว่าอาโรโยจำต้องดำเนินการบางอย่างเพื่อรับมือกับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนโมโร หลังจากที่สั่งปลดกองกำลังส่วนตัวของตระกูลอัมพาทวนไปแล้ว

อย่างไรก็ตามเหล่าผู้นำตระกูลที่มีอิทธิพลได้ถือครองอำนาจอยู่ทั่วพื้นที่ของประเทศฟิลิปปินส์ หลายคนในนั้นช่วยให้อาโรโยอยู่ในอำนาจมานาน และสามารถฝ่าวิกฤติการถูกถอดถอนถึงสองครั้ง และการรัฐประหารจากกองทัพอีกสองครั้ง

ผู้ช่วยหนึ่งในนั้นมี ลูอิส ซิงสัน ผู้อยู่ข้างอาโรโย จนปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ

เขาเริ่มต้นชุบตัวเองขึ้นมาจากการเป็นเจ้าพ่อของจังหวัดอิโลคอส ซูร์ ทางภาคเหนือหลังจากที่ลุงของเขาและคู่แข่งในท้องถิ่นคือ ส.ส.ฟลอโร คริสโซโลโก ถูกลอบสังหารโดยมือปืนในปี 1970

ก่อนหน้านี้ซิงสันเคยเป็นสหายคนสนิทของโจเซฟ เอสตราด้า ประธานาธิบดีคนก่อนหน้าอาโรโยมาก่อน แต่ต่อมาก็ย้ายข้าง

อาโรโยโอบรับซิงสันเอาไว้ และช่วยให้เขาไม่ต้องถูกดำเนินคดี เมื่อเขาต้องขึ้นศาลจากคดีความเกี่ยวกับภาษียาสูบ และการรับเงินสินจากผู้ประกอบการบ่อนพนันผิดกฏหมายในสมัยของเอสตราด้า

แต่การถูกสงสัยในเรื่องฉ้อโกงกลับทำให้เอสตราด้าถูกโค่นล้มโดยรัฐประหารจากกองทัพในปี 2001 เปิดทางแก่อาโรโย รองประธานาธิบดีในสมัยนั้นขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทน และเธอก็กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยในปี 2004 จากการเลือกตั้ง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการช่วยเหลือจากตระกูลอัมพาทวนในการโกงคะแนนเลือกตั้งของจังหวัดมากินดาเนา

ฟรานซิสโก ลาร่า จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจในประเทศที่มีวิกฤติของสำนักลอนดอนบอกว่า รัฐบาลกลางที่อ่อนแอปกครองเขตแดนที่อยู่ห่างไกลด้วยการ 'แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นนำ' ทำให้กลุ่มอำนาจในแถบท้องถิ่นได้อำนาจการปกครองแลกเปลี่ยนกับการกำจัดศัตรูของรัฐ

จากรายงานของลาร่าทำให้ทราบอีกว่า นอกจากนักการเมืองท้องถิ่นจะได้รับกำไรจากการเศรษฐกิจถูกกฏหมายทั่วไปแล้ว ยังสามารถดำเนินกิจการผิดกฏหมาย เช่น ยาเสพติด, การพนัน, ลักพาตัวเรียกค่าไถ่, ค้าอาวุธ, ลอบขนของหนีภาษี และอื่นๆ

ที่มาและเรียบเรียงจาก

Massacre highlights unholy alliances in Philippine politics, Cecil Morella, AFP, Asiaone, 29-11-2009

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท