Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

“เป็นหน้าที่ของนักเขียนดังอย่าง Mark Twain ที่จะสร้างภาพลักษณ์อันไม่อาจลบเลือนได้ของคนผิวดำและคนผิวขาวในเรื่อง Huckleberry Finn ว่าเป็น ‘พี่น้อง’ อเมริกันด้วยกันในปี ค.ศ.1881 หลายปีหลัง “สงครามกลางเมือง” และหลังคำประกาศเลิกทาสของประธานาธิบดี Lincon ที่ Jim กับ Huck เพื่อนเกลอล่องเรือไปตามสายน้ำของแม่น้ำมิสซิสซิปปีอันกว้างใหญ่ แต่กรอบโครงเรื่องยังเป็นแบบทั้งความทรงจำ/ทั้งการหลงลืม ในยุคก่อนสงครามกลางเมืองอเมริกันที่คนผิวดำยังคงเป็นทาสอยู่

“จินตนาการถึงภราดรภาพต่างๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ในสังคมที่เกิดการแตกร้าวจากความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์กันทางเชื้อชาติและชนชั้นอย่างรุนแรง…”

(เบน แอนเดอร์สัน ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม ฉบับแปลไทย: 374-375) *

กล่าวได้ว่า ความเป็นพี่เป็นน้องแบบอเมริกันของ Huck กับ Jim สะท้อนเรื่องทางเชื้อชาติและชนชั้นตามกฎหมายในสมัยนั้น

Huck จะต้องทรยศ Jim เพื่อที่จะได้ส่งตัว Jim กลับคืนไปให้นายทาสผู้โหดร้าย แต่ทั้งสองคนตัดสินใจเดินทางไปด้วยกันโดยการล่องแพไปตามลำน้ำมิสซิสซิปปี เพื่อแสวงหาเสรีภาพ

ผู้เขียนเรื่องนี้ คือ Mark Twain ได้ให้ความหมายของคำว่า Brotherhood ผ่านเรื่องราวเรื่องนี้ว่า คือความสัมพันธ์บนพื้นฐานที่เสมอกัน เนื่องจาก Huck ค้นพบความรู้สึกของเขาที่มีต่อ Jim คนผิวดำ และไม่ใช่แค่ Jim จะเป็นคนที่น่าชื่นชม แต่เขาเริ่มรู้สึกถึงความเป็นพี่เป็นน้องกับคนผิวดำคนนี้ โดยผ่านกระบวนการต่อสู้ภายในจิตใจของเขา คือระหว่างอคติในตนเองกับความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

เราจะลองนำข้อความคิดในนิยายเรื่องนี้มาพิจารณากรณีความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา

จากคำกล่าวที่ได้ยินกันติดหูว่า ประเทศไทยเหมือนเป็นพี่ ส่วนประเทศเพื่อนบ้านที่มีเศรษฐกิจที่เล็กกว่าเหมือนเป็นน้อง (แต่บางท่านใช้คำว่าผู้ใหญ่กับเด็ก)

นัยของความเป็นพี่เป็นน้องในแง่มุมชนชั้นทางเศรษฐกิจดังกรณีไทยกับเพื่อนบ้านนี้ จึงแตกต่างจาก Brotherhood ในความหมายของ Mark Twain เพราะแทนที่จะเป็น ‘จินตภาพของทางออก’ แต่มันกลับเป็นกับดักความขัดแย้งระหว่างประเทศ และมันถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากสังคมของเราเอง

นับตั้งแต่คำว่าไทย-จีน เป็นพี่น้องกัน และไทย-ลาวเป็นพี่น้องกัน หากลองพิจารณานัยยะความหมายของคำว่า ‘พี่น้อง’ ระหว่างประเทศทั้งของจีนและลาว ซึ่งเป็นประเทศสังคมนิยมที่นับถือกันแบบสหายร่วมชาติ เราก็จะพบในกรณีของลาวว่า ประเทศลาวไม่ชอบเป็นน้อง เพราะมันสะท้อนถึงความด้อยกว่าไทย และความเป็นพี่ของไทยก็แสดงถึงความเหนือกว่าลาวจากปมประวัติศาสตร์ ทั้งเรื่องศูนย์กลางอำนาจของสยามกับลาว มาจนถึงความคลางแคลงใจต่อสถานการณ์ความขัดแย้งและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลังสงครามเย็นเมื่อภัยคอมมิวนิสต์จางลงมาจนกระทั่งเปิดประเทศ

ความเป็นพี่น้องนั้น เราสามารถแยกแยะลักษณะของคำ ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นชนชั้นของภาษาทางการเมือง โดย นพพร ประชากุล เคยกล่าวถึงอย่างน่าสนใจต่อประเด็นอำนาจในภาษาว่า ภาษามีอำนาจกำหนดโลกทัศน์และชีวทัศน์ของเราได้ ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมเช่น ในฐานะคนไทย เราได้เรียนรู้ที่จะแยกแยะกลุ่มบุคคลที่ร่วมบิดา-มารดากับเราผ่านคำว่า “พี่” “น้อง” ซึ่งเท่ากับภาษาสอนให้เราใช้เกณฑ์อาวุโสเป็นหลักในการแยกแยะกลุ่มบุคคลต่อไป [1]

ดังนั้น ความเป็นพี่น้องระหว่างประเทศต่างๆ ในอุษาคเนย์ จึงแสดงถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่ากัน แต่ก็มีพลวัต ความเป็นพี่เป็นน้องขึ้นอยู่กับว่าประเทศใดจะมีอำนาจด้อยกว่า/หรือเหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางการทหารในยุคสงครามเย็น และอำนาจทางเศรษฐกิจยุคเปิดตลาดการค้า การใช้คำว่า พี่ น้อง กับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านรั้วติดกัน จึงเป็นเรื่องที่อ่อนไหว

หลายปีก่อนหน้านี้ สังคมไทยเริ่มเรียนรู้ในเรื่องนี้กันพอสมควร หลังจากที่มีปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาว นับตั้งแต่ การเรียกกล่าวว่า น้อง ไปจนถึงการใช้ภาษาและเนื้อหาในสื่อต่างๆ หรือในภาพยนตร์ที่ผู้นำเสนอไม่ระแวดระวังระวังต่อความรู้สึกของประเทศเพื่อนบ้าน

แต่ในปัจจุบัน เหตุใดการเรียนรู้ที่จะต่อสู้กับอคติของตัวเอง และการยอมรับประเทศเพื่อนบ้านบนฐานของความเสมอกันจึงอันตรธานหายไป

พี่น้องกับความเป็นชาติ
ความขัดแย้งของคำว่า “กุ๊ย” จากปากของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กษิต ภิรมย์ ต่อสมเด็จฯฮุนเซน นับเป็นเรื่องอ่อนไหวมากที่สุดของการพูดในทางการเมืองระหว่างประเทศ เนื่องจาก การเมืองของภาษา เป็นประเด็นสำคัญในสถานการณ์ระหว่างประเทศที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

หากเรานึกถึงอำนาจกับการใช้ภาษาผ่านถ้อยคำ ตามโฆษณา ประชาสัมพันธ์สินค้า การหาเสียงเลือกตั้งนั้นเอง เช่น ราชการเรียกกลุ่ม พคท.คือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยว่า “ผู้ก่อการร้าย” แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายในกรณี 66/23 ทางราชการก็เปลี่ยนไปเรียกพวกเขาเสียใหม่ว่า “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย”

หรืออีกกรณีหนึ่งที่ นพพร ประชากุล ยกตัวอย่างถึงเรื่องขบถจิตแพทย์กลุ่มหนึ่งได้วินิจฉัยพฤติกรรมและสภาพจิตใจของฮิตเลอร์ตามหลักวิชาการแล้วได้แถลงต่อสาธารณชนด้วยถ้อยคำว่า “ฮิตเลอร์เป็นผู้มีอาการป่วยทางจิต” แน่นอนว่า ฮิตเลอร์ มีบัญชาให้สอบสวนเรื่องนี้ขึ้น เมื่อสิ้นสุดการสอบสวน คณะกรรมการก็แถลงผลต่อสาธารณชนว่า จิตแพทย์กลุ่มนี้ที่แท้แล้วเป็น “ผู้ทรยศต่อชาติ” [2] นี่เป็นตัวอย่างสะท้อนความคิดเรื่องของภาษาในการใช้คำว่า ชาติ มาเป็นเครื่องมือจัดการกับคนในชาติ โดยลดทอนหรือทำลายความหมายที่สื่อถึงภราดรภาพแห่งพี่น้อง [3]
 
ดังนั้น ภาษาทางการเมือง ทำให้เรารับรู้ได้ว่า ความเป็นชาติ และภาษากับการเมือง มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น เช่น ในกรณี 'ป๋าเปรม' ลั่นคำว่า ไม่เคยกล่าวว่า 'จิ๋ว' ทรยศต่อชาติ ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว ภาษากับการเมืองในเรื่องทรยศชาตินั้น เมื่อผู้มีอำนาจพูดก็เหมือนกับฮิตเลอร์เป็นผู้พูด ย่อมแสดงพลังออกมาชัดเจนกว่าปัญญาชนและหลักวิชาการ เนื่องจาก ผู้มีอำนาจเชื่อมโยงกับความเป็นชาติ ผู้มีอำนาจพูดด้วยอำนาจของภาษาในการบังคับบัญชาคน และสร้างความเชื่อให้กับคนทั่วไป

กล่าวโดยเปรียบเทียบก็คือ จิตแพทย์ของเยอรมันก็เหมือนกับปัญญาชน ซึ่งกลับกลายเป็นคนปัญญาอ่อนที่ถูกกล่าวหาว่าไม่รักชาติ ปัญญาชนเป็นผู้ทรยศชาติ ในด้านกลับกัน สำหรับประเทศไทย ปัญญาชนบางคนคลั่งชาติอย่างหน้ามืดตามัว ทั้งจากกลุ่มการเมืองที่หลากหลายและคนที่เป็นปัญญาชนเอง พวกเขาไปประท้วงหน้าสถานฑูตกัมพูชาในประเทศไทยในกรณีความขัดแย้งเรื่องพื้นที่พรมแดนด้วยการปลุกระดมพลอย่างคลั่งชาติ

แล้วเราจะเติมช่องว่างให้เต็มในเรื่องการสร้างสันติภาพ ความเป็นพี่น้องกันอย่างเสมอกัน เหมือนกับภราดรภาพในเรื่อง Huckleberry Finn โดยเน้นความเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมชาติได้อย่างไร

ความหมายของพี่น้อง-เพื่อนแบบใหม่ๆ จึงไม่ใช่เพียงความหมายแคบๆ แบบเดิมๆ เพื่อขยายอาณาเขตความเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมชาติอย่างเป็นสมัยใหม่ เพราะมันน่าจะเป็นทางออกในการสร้างสันติภาพของประเทศไทยในขณะนี้

เมื่อเราอยู่ภายใต้วิกฤติการณ์ทางการเมือง เราจึงต้องการรู้ถึงตัวอย่างการสร้างสันติภาพแบบเพื่อน เหมือนกับเพื่อนใกล้ตัวของเรา และแน่นอน มันย่อมเกี่ยวข้องกับการใช้ภาษา ใช้สื่อเป็นเครื่องมือเพื่อสันติอย่างมีมิตรภาพ

ทางกลุ่มเสื้อแดงซึ่งใช้คำศัพท์ว่า “อำมาตยาธิปไตย” กับการต่อสู้ของพวกเขา ในจำนวนนั้น บางคนยังเดินทางออกจากประเทศไทยไปกัมพูชาเพื่อพบกับทักษิณ ประเด็นสำคัญจึงไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาไปพบกับใคร แต่เป็นเรื่องการใช้ช่องทางการไปมาหาสู่กับประเทศเพื่อนบ้านตามปกติ แม้จะอยู่ในภาวะที่รัฐบาลและกลุ่มการเมืองสร้างความตึงเครียดระหว่างสองประเทศให้เกิดขึ้นก็ตาม เพราะในแง่หนึ่งแล้ว มันเป็นความไว้วางใจและความผูกพันข้ามพรมแดนของประเทศที่ไปมาหาสู่กันได้ตั้งแต่ในอดีต โดยเราอาจจะคิดต่อมาง่ายๆ ว่า ตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ถูกต้อง มันพัฒนามาจากความสัมพันธ์ส่วนตัวแล้วขยายไปเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น การเริ่มจากการค้าขายตามพรมแดนติดต่อกัน

กรณี พล.อ.ชวลิต กับบทบาทการใช้คำว่า เขาเป็นพี่น้อง brother, family กับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ [4] เราสามารถพิจารณาข้อมูลประวัติศาสตร์ เช่น ในกรณีของพม่า การเดินทางมาเยือนไทยของ พล.ท.ขิ่นยุ้นท์ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ มอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต เป็นเจ้าภาพในนามรัฐบาลเต็มตัว ในฐานะที่ พล.อ.ชวลิต สนิทกับ พล.ท.ขิ่น ยุ้นท์อยู่ก่อนแล้ว เขาได้จัดปาร์ตี้บนเรือ Oriental Queen ล่องน้ำชมแสงสีสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจน เป็นที่มาของการจับมือเป็นพี่น้องร่วมสาบานกัน

อย่างไรก็ดี หากเราประเมินบทบาทและความสามารถทางการต่างประเทศของ บิ๊กจิ๋ว และทักษิณ นับตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ในช่วงที่ทักษิณเป็น รมต.ต่างประเทศ เขาได้พยายามหาทางแก้ไขข้อขัดแย้งทางทะเลของไทย-เขมร-เวียดนามอีกด้วย [5]

จากข้อมูลของคอลัมนิสต์ ซึ่งเขียนเรื่องโฟกัสอินโดจีน ได้สะท้อนบทเรียนของประวัติศาสตร์ที่ทำให้เราเห็นว่า หน้าที่ของการสร้างความร่วมมือกัน สะท้อนถึงประสบการณ์ทางการต่างประเทศเพื่อใช้สร้างความร่วมมือ มิใช่ใช้เพื่อทะเลาะเบาะแว้งกัน ภายใต้ทิศทางของการนิยามคำว่า พี่น้อง ให้ข้ามพ้นโลกทัศน์ที่ตกอยู่ภายใต้เกณฑ์อาวุโสเพียงอย่างเดียว

เหตุการณ์ความเคลื่อนไหวแบบชาตินิยมที่เกิดขึ้น เช่น การที่กลุ่มเสื้อเหลืองชาตินิยมประท้วงหน้าสถานทูตกัมพูชา ประกอบกับการที่นายวีระ สมความคิด เคยให้สัมภาษณ์ว่า “มีคนว่าผมบ้า” [6] ก่อนที่เขาจะมาเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ-พรรคการเมืองใหม่ แต่มันคงไม่ทำให้ผู้คนบ้า หรือคลั่งชาตินิยมตามแนวทางกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ถึงขนาดนี้ หากผู้ที่มีบทบาทในรัฐบาลมิใช่ นายกษิต ภิรมย์ ผู้เป็นสัญลักษณ์ในการทะเลาะกับสมเด็จฮุนเซน ตั้งแต่กรณี ”กุ๊ย” ไปจนถึงการที่รัฐบาลไม่สามารถปลดนายกษิตออกจากตำแหน่งได้ อาจเป็นเพราะว่าไม่มีสัญญาณจากบ้านป๋าเปรม [7] ซึ่งในอดีตก็คือบ้านพักของจอมพลสฤษดิ์นั่นเอง [8]

แม้ว่าการพัฒนาประชาธิปไตยของเราจะก้าวข้ามพ้นสัญลักษณ์ของยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์แล้วก็ตาม แต่ประเด็นเรื่องอาณาเขตสาธารณะ การสร้างข้อถกเถียงอย่างมีเหตุมีผล เพื่อเสรีภาพ และการปลดปล่อย [9]

ในทางการเมืองของพลเมืองไทย จึงต้องพัฒนาการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านภาษา ผ่านการสร้างสรรค์หนังสือ แบบเรียน นิยาย ภาพยนตร์ ฯลฯ กันต่อไป

แต่การแก้ไขปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ นอกเหนือจากเรื่องความเป็นพี่น้องในภาษาทางการเมืองแล้ว สิ่งที่ต้องมีมากกว่านั้นก็คือ “สปิริต” ของรัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบัน ซึ่งก็ควรแสดงสปิริตทางการเมืองดังเช่นอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ นายนภดล ปัทมะ เคยมาทำมาแล้ว เพื่อลดแรงกดดันไม่ให้ปัญหาการเมืองปะทุบานปลายออกไป ทั้งนี้คำว่าพี่น้องหรือเพื่อนก็ไม่สามารถขาดส่วนผสมหลักคือ “สปิริต” ไปได้

ส่วนการสร้างข้อถกเถียงอย่างมีเหตุมีผลเพื่อเสรีภาพและการปลดปล่อย คงต้องเป็นไปมากกว่าการแก้ปัญหาตัวบุคคล ทั้งนายกษิต นายสุเทพ และนายอภิสิทธิ์ ซึ่งพวกเขาอาจจำเป็นต้องปลดปล่อยตนเองจากการตกอยู่ภายใต้อำนาจของคำศัพท์ว่า “อำมาตยาธิปไตย” ซึ่งผนวกกับความหมายกลุ่มพันธมิตรฯ ที่คลั่งชาติ ไปจนถึงป๋าเปรม อันปรากฏถึงการดำรงอยู่ของ “พี่น้อง” ในระบบอาวุโสของบ้านป๋าเปรม

สิ่งนี้สะท้อนถึงความคิดตามความหมายของโครงสร้างการเมืองแบบเก่าที่ก่อปัญหาความขัดแย้งกับประเทศกัมพูชา จนไม่สามารถแก้ไขปัญหาเชื้อชาติและชนชั้นในความเป็นชุมชนจินตกรรมของชาติไทยเองได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น บุคคลในรัฐบาลก็จะไม่ยอมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในยุคใหม่ ซึ่งนั่นก็คือปมปัญหาที่เราไม่สามารถสร้างภราดรภาพแห่งพี่น้องจากประเทศไทยถึงกัมพูชาได้ !?!
 
 

*หมายเหตุ: ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม โดยเบน แอนเดอร์สัน ซึ่งผู้เขียนผลงานLanguage and Power: Exploring Political Cultures in Indonesia. และส่วนของผลงานมาร์ค ทเวน ผู้เขียนเรื่องThe Stolen White Elephant เป็นต้น

เชิงอรรถ

[1] นพพร ประชากุล “ภาษากับอำนาจ” สารคดี ปีที่13 ฉ.147 พ.ค.2540:361-368
[2] นพพร ประชากุล, เพิ่งอ้าง
[3] คำว่าพี่น้อง สำหรับคนอเมริกันแล้ว คำว่า “brother” “sister” จะชักนำให้เขาแยกแยะไปอีกทัศนะหนึ่ง โดยมองไปที่ความแตกต่างทางเพศเป็นหลัก ซึ่งน่าสนใจจากภาษาของสตรีไทยยังแยกเพศหลายระดับของสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง ที่มีคำแทนตัวว่า ดิฉัน กับ หนู หรือบางครั้งก็ใช้ชื่อเล่นแทนตัวเอง ต่างๆ ซึ่งมันแตกต่างจากอเมริกาซึ่งมีการพูดถึงคุณ you มากกว่า เรียกว่าพี่ น้อง นับญาติเหมือนกับโฆษณาทีวี ว่า ถ้าประเทศเป็นบ้าน คือ คนนับญาติกันได้หมดทั้งประเทศไทย ถ้าเรานึกถึงคำเรียก พี่ น้อง ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ยังปรากฎถึงการใช้คำว่า brother ในกลุ่มพี่น้องกรรมกร ย่อมแน่นอนว่า นอกจากการใช้คำว่าพี่น้อง สื่อถึงพี่น้องร่วมอาชีพ ยังมีความหมายถึงความเสมอภาคอีกด้วย
[4] อรรคพล สาตุ้ม “บอง ชวลิต” ชาติไทยในมุมมองจากคอนโดฯhttp://www.prachatai.com/journal/2009/11/26617
[5] หลานฟง “ทางแก้ข้อขัดแย้งทางทะเลของไทย-เขมร-เวียดนาม”โฟกัสอินโดจีน ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 41 ฉ.38 วันที่ 19-25 ก.พ.38 :12
[6] วีระ สมความคิด “มีคนว่าผมบ้า” กรุงเทพธุรกิจ เสาร์สวัสดี ปีที่ 17 ฉ.5756 วันที่ 26 มิ.ย.47 : 2-5 และดูเพิ่มเติมกรณี “สุริยะใส” ลั่นคลั่งชาติดีกว่าขายชาติ http://www.prachatai.com/journal/2009/11/26577
[7] เราสามารถพิจารณาเรื่องความหลากหลายทางภาษาเหนือ ภาษาใต้ เหมือนกับเราพิจารณาภาษากับการเมืองได้ โดยดูจากผลงานเรื่องภาษากับการเมือง/ความเป็นการเมืองของไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร เนื่องจากความน่าสนใจถึงการเมืองของการพูด คือ อำนาจของภาษาในระดับชาติ ซึ่ง สุเทพ เทือกสุบรรณ กล่าวว่า"คนพูดแทนประเทศไทยได้คือนายกรัฐมนตรี แต่ในระดับเจ้าหน้าที่ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นเมื่อถูกสื่อมวลชนซักถาม ซึ่งต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศที่จะต้องดูแลให้พูดจาไปในทิศทางไหน อย่างไร" เหยียบเบรกหัวทิ่มหัวตำ โดย จังหวะ "คัตเอาต์" ตัดไฟ "เทพเทือก" นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง… เนื่องจากสไตล์นักการทูตยี่ห้อ "กษิต ภิรมย์"โดยปมหนึ่งที่น่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เลือกเล่นเกมอุ้ม "ทักษิณ" ตบหน้ารัฐบาลประชาธิปัตย์ และฝ่ายคุมเกมอำนาจในประเทศไทยมาจากลูก "หมั่นไส้"จำฝังใจกับคำว่า "ไอ้กุ๊ย" บนเวทีม็อบพันธมิตรฯ หรือ "Gangster" ในบทสัมภาษณ์ผ่านสื่อฝรั่งที่นายกษิตด่าข้ามประเทศไปถึงกัมพูชา และรัฐบาลประชาธิปัตย์ตีกินได้แค่กระแสชาตินิยมในเมืองไทย นโยบายต่างประเทศภายใต้ทีมงาน "กษิต ภิรมย์" ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แน่นอนถ้าถามใจนายกฯ อภิสิทธิ์ กับ "เทพเทือก" โดยวิสัยยี่ห้อประชาธิปัตย์ไม่ต้องเดาให้ยาก คงอยากกำจัด "จุดอ่อน" โละทิ้งยี่ห้อ "กษิต ภิรมย์" ทิ้งเต็มแก่ แต่ปัญหามันติดอยู่ที่โควตานี้ถูก "ล็อกไว้" ไม่อยู่ในวิสัยที่ "อภิสิทธิ์" หรือ "เทพเทือก" จะตัดสินใจได้โดยลำพังตราบใดที่ไม่มีสัญญาณไฟเขียวจากบ้านใหญ่ย่านเทเวศร์. ที่มา : วิเคราะห์การเมือง แล้วเฉลยก็อยู่ที่ กษิต ภิรมย์ “ไทยรัฐออนไลน์ 17 พฤศจิกายน 2552, 05:00”
http://www.thairath.co.th/column/pol/wikroh/47244
[8] บ้านสี่เสาเทเวศร์
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B9%8C
[9] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ “สิทธิดื้อแพ่ง, ความเป็นสาธารณะ และประชาธิปไตยของความเป็นศัตรู”รัฐศาสตร์สาร 22, 3 (2543): 273

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net