Skip to main content
sharethis
 
 
ชั้นวางที่เคยใช้เก็บหีบเลือกตั้งว่างเปล่า หลังหีบเลือกตั้งถูกเตรียมการเอาไว้ใช้ในการเลือกตั้ง 29 พ.ย.
(REUTERS/Tomas Bravo)
 
 
ภาวะโกลาหลทางการเมืองของประเทศฮอนดูรัสดำเนินมาถึงช่วงที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากการเลือกตั้งในวันที่ 29 พ.ย. นี้ดูเป็นการเลือกตั้งที่มีสีซีดจาง และชวนให้ตั้งคำถามในแง่ของความเป็นประชาธิปไตยและความน่าเชื่อถือ
 
เหตุเนื่องมาจากการรัฐประหารตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย. ที่ทำให้ประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งและจะดำรงตำแหน่งจนครบวาระในเดือน ม.ค. ปี 2010 ต้องถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งและถูกขับออกนอกประเทศ
 
การต่อสู้ภายในประเทศ นำโดยกลุ่มต้านรัฐประหารอย่างแนวร่วมต่อต้านรัฐแห่งชาติฮอนดูรัส ชูเรื่องการคืนตำแหน่งเซลายาเสมอมา ขณะที่อีกหลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มฝ่ายซ้ายในละตินอเมริกาต่างพากันประณามรัฐประหารและเรียกร้องอย่างเดียวกัน
 
หลังจากที่เซลายาพยายามเดินสายต่อสู้เพื่อให้ตนคืนตำแหน่งจากนอกประเทศมาตลอด โดยความช่วยเหลือของ “สหาย” อย่าง ฮูโก ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซุเอลลา รวมถึงประเทศ “ฝ่ายซ้าย” ในละตินอเมริกา แต่สิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุดดูเหมือนจะเป็นการแอบเข้ามาปรากฏตัวในประเทศอีกครั้ง โดยอาศัยอยู่ในสถานฑูตบราซิลประจำกรุงเตกูซิกัลปา เมืองหลวงของฮอนดูรัส ในสภาพที่ต้องถูกกักบริเวณพร้อมกับกลุ่มผู้สนับสนุนรวมทั้งสื่ออีกส่วนหนึ่ง
 
ขณะที่สหรัฐฯ และคอสตาริกา แม้จะมีแสดงท่าทีต่อต้านรัฐประหาร แต่การดำเนินการของทั้งสองประเทศ ทั้งเรื่องการจัดการเจรจาโดยให้ ประธานาธิบดี ออสการ์ อาเรียส ของคอสตาริกาเป็นตัวกลาง ก็แทบมีความคืบหน้าช้ามาก และแม้การกดดันจากตัวแทนเจรจาของสหรัฐฯ จะทำให้เกิดการยอมรับมติกันในที่สุด แต่เรื่องราวก้บานปลายเมื่อรัฐบาลรักษาการจากการรัฐประหาร นำโดย โรเบอร์โต มิเชลเลตตี อาศัยช่องโหว่ของข้อตกลงยืดเวลาการประชุมสภาเพื่อพิจารณาคืนตำแหน่งเซลายาไปเรื่อย ๆ และล่าสุดกำหนดไว้ที่วันที่ 2 ธ.ค. ซึ่งพ้นจากกำหนดวันเลือกตั้งไปแล้ว
 
โดยทั้งสหรัฐฯ และคอสตาริกา มีท่าทีต่อการเลือกตั้ง 29 พ.ย. ทั้งที่เซลายายังไม่ได้คืนสู่ตำแหน่งไปในทาเดียวกันคือ คิดว่าเป็นการเลือกตั้งที่สามารถยอมรับได้ หากดำเนินไปอย่างบริสุทธ์ยุติธรรม
 
 
การเลือกตั้งภายใต้รัฐประหาร : ผลไม้จากพืชมีพิษ?
แม้ว่าการเลือกตัวแทนจากพรรคต่าง ๆ จะเตรียมพร้อมมานานแล้ว และการเลือกตั้งก็ถูกกำหนดไว้ชัดเจน แต่นักวิจารณ์จำนวนมากก็ยังบอกว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นเหมือนผลไม้จากพืชมีพิษ เนื่องจากมันถูกจัดขึ้นโดยรัฐบาลรักษาการที่ได้อำนาจมาโดยมิชอบ
 
ประชาชนในฮอนดูรัสก็แสดงท่าทีต่อการเลือกตั้งในครั้งนี้ต่างกัน โดยทางด้านสตีเฟน กิบส์ ของบีบีซี รายงานจากเมืองหลวงของฮอนดูรัสว่า แม้กลุ่มสนับสนุนเซลายาจะมองการเลือกตั้งในแง่ร้าย แต่ชาวฮอนดูรัสหลายคนก็มองมันในแง่ดีว่า จะทำให้วิกฤติทางการเมืองในครั้งนี้จบลง
 
แม้ใกล้เลือกตั้งเข้าไปทุกที แต่บรรยากาศความขัดแย้งก็ไม่ซาลง ยังคงมีกราฟิตี้ต่อต้านรัฐประหารฉีดพ่นอยู่ตามกำแพงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีการรณรงค์บอยคอตต์การเลือกตั้ง ทั้งยังมีเหตุระเบิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มหาวิทยาลัยของรัฐ และสำนักสื่อที่สนับสนุนรัฐบาลรัฐประหาร แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ
 
ในวันเสาร์ (28 พ.ย.) นิคารากัว และ เอล ซัลวาดอร์ ปิดพรมแดนระหว่างประเทศกับฮอนดูรัสและจะเปิดอีกครั้งในวันจันทร์ (30 พ.ย.) เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาหรือการถูกเชื่อมโยงกับปัญหาใด ๆ ในการเลือกตั้งของฮอนดูรัส
 
 
ผู้ลงสมัครหลายร้อยถอนตัวประท้วง แต่ผู้ลงสมัครปธน. ยังอยู่ครบ 5 พรรค...
ไม่เพียงผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้นที่เสียงแตก แม้แต่ผู้ลงสมัครเลือกตั้งเองก็เห็นไม่ตรงกัน โดยมีสื่อ El Tiempo ของฮอนดูรัสรายงานว่า มีผู้ลงสมัครเลือกตั้งจำนวนมากในฮอนดูรัส เดินทางไปชุมนุมที่หน้าศาลฎีกาการเลือกตั้ง เพื่อแสดงจุดยืนว่ากระบวนการเลือกตั้งในครั้งนี้ขาดความน่าเชื่อถือเนื่องจากถูกควบคุมโดยรัฐบาลรักษาการ
 
ผู้ที่ถอนตัวไปในการเลือกตั้งครั้งนี้มีอยู่กว่าร้อยราย ทั้งผู้ลงสมัครในตำแหน่ง ส.ส. และผู้สมัครเขตเทศบาล รวมถึง ตำแหน่งนายกเทศมนตรีของเมือง ซาน เปโดร ซูลา เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของฮอนดูรัส
 
หนึ่งในผู้ที่ขอถอนตัวจากการเป็นผู้ลงสมัครคือ กุสตาโว มาตูเต จากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยพัฒนา (PINU-SD) ในเขตแอตแลนติดา โดยมาตูเตให้เหตุผลที่ถอนตัวว่า เขาไม่ต้องการทำอะไรที่ขัดต่อหลักการของตนเอง ซึ่งในที่นี้คือการเข้าร่วมในการเลือกตั้งที่ถือเป็นการให้ความชอบธรรมกับรัฐประหาร
 
อย่างไรก็ตามผู้ลงสมัครประธานาธิบดีในนามพรรค PINU-SD คือ เบอร์นาร์ด มาติเนส ยังไม่ถอนตัว เขากล่าวถึงกรณีการรัฐประหารเซลายาในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ La Prensa ของฮอนดูรัสว่า ตัวเซลายาเองพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการนอกกติกาเกินไป ทำให้เขาถูกถอนออกจากตำแหน่ง โดยมาติเนส ให้ความเห็นว่า การปฏิรูปแก้ไขรัฐธรรมนูญจำต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกาเดิมด้วย
 
สิ่งที่เป็นสีสันอีกอย่างหนึ่งในสื่อของฮอนดูรัสคือการที่เรียกมาติเนสว่าเป็น "บารัค โอบาม่า ของชาวฮอนดูรัส" อาจจะเนื่องมาจากการที่มาติเนส เป็นชาวผิวดำคนแรกที่ลงสมัครชิงตำแห่งประธานาธิบดีของฮอนดูรัส
 
ด้านพรรคสามัคคีประชาธิปไตย (UD) ก็มีผู้แทนที่ชื่อ ออสการ์ ราฟาเอล ฟลอเรส ครูซ รวมถึงมีผู้ลงสมัครนายกเทศมนตรีอีกหลายคนขอถอนตัว ในการประชุมวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา แต่คนส่วนใหญ่ในพรรคยังคงจะลงเลือกตั้ง โดยระบุว่าทางเลือกที่ดีที่สุดในตอนนี้คือ การเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้งทั่วไป
 
โดยมติส่วนของสมาชิกพรรค UD มีออกมาว่าควรร่วมลงสมัครเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้พื้นที่กลายเป็นของพวกรัฐประหารไปเสียหมด โดย ซีซาร์ แฮม ผู้ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีก็กล่าวว่า "พรรค UD จะลงสนามเลือกตั้งเพื่อล้มล้างรัฐประหาร"
 
 
...เว้นแต่ผู้ลงสมัครอิสระ ผู้เคยร่วมประท้วงต้านรัฐประหาร
จากการที่พรรคกระแสรองอย่าง UD และ PINU-SD เริ่มทยอยเข้าสู่สนามเลือกตั้งด้วยแล้ว ทำให้ในตอนนี้เหลือเพียงผู้สมัครคนเดียวที่ถอนตัวไปคือ คาร์ลอส เอช. เรเยส ซึ่งลงสนามเลือกตั้งในฐานะผู้ลงสมัครอิสระ
 
เรเยส เป็นประธานสหภาพแรงงานเครื่องดืมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง (STIBYS) เป็นหนึ่งในผู้ประสานงาน แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติฮอนดูรัส ซึ่งทางกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนเคยมีรายงานว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในการชุมนุมของกลุ่มต้านรัฐประหาร โดย เรเยส ประกาศในที่ประชุมของกลุ่มแนวร่วมต่อต้านรัฐประหารแห่งชาติว่า เขาถอนตัวจากการเป็นผู้สมัครอิสระในการเลือกตั้ง 29 พ.ย. เนื่องจากเขาไม่ยอมรับการเลือกตั้งที่ถูกจัดขึ้นคณะรัฐประหาร และบอกว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม
 
น่าสนใจว่า ก่อนหน้านี้ ซีซาร์ แฮม จากพรรค UD เองก็เป็นผู้ที่มีท่าทีสนับสนุนการให้ลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญของเซลายา
 
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่ออสการ์ อาเรียส มีบทบาทสำคัญในการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งในฮอนดูรัส ก็มีการให้ผู้ลงสมัครเลือกตั้งทั้ง 5 ราย ลงมติว่าจะยอมรับข้อตกลงซาน โฮเซ่ ที่ระบุถึงการคืนตำแหน่งแก่เซลายาหรือไม่ มีเพียง ซีซาร์ แฮม เท่านั้น
 
เขากล่าวถึงเรื่องดังกล่าวไว้เช่นนี้ “เราคิดว่าเราควรคืนตำแหน่งแก่ประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย ... พวกเขา (ตัวแทนคนอื่น ๆ) บอกว่าข้อตกลงซาน โฮเซ่ นั้นไม่สมบูรณ์พอ ... แต่ก็ไม่มีทางออกอื่นอีกแล้วนอกจากข้อตกลงนี้ มิเช่นนั้นการเลือกตั้งจะไม่ได้รับการยอมรับ”
 
รถแท๊กซี่ แล่นผ่านธงของสองพรรคใหญ่คือ พรรคเสรีนิยม (ธงสีแดง) และ พรรคชาตินิยม (ธงสีฟ้า)
(AFP/Elmer Martinez)
 
 
การเผชิญหน้าของสองยักษ์ใหญ่ - ไร้ปีกซ้าย
ดูจากท่าทีเดิมของเขาแล้ว ทำให้การประกาศว่าจะลงเลือกตั้งเพื่อล้มรัฐประหารของเขานั้นฟังดูมีน้ำหนัก เพียงแต่ทั้งพรรค PINU-SD และ UD นั้นต่างก็เป็นพรรคที่ได้รับความนิยมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับพรรคสองยักษ์ใหญ่ในฮอนดูรัสที่ขับเคี่ยวกันมาตลอดอย่าง พรรคชาตินิยมและพรรคเสรีนิยม
 
ผู้ลงสมัครของพรรคชาตินิยมคือ พอฟิริโอ โลโบ อดีตเจ้าของฟาร์มอายุ 61 ปี ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภามาก่อน เขาเป็นนักการเมืองในสังกัดพรรคชาตินิยมมายาวนาน เคยลงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 2005 และพ่ายแพ้ไป แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้เขากลายเป็นตัวเต็ง
 
"หากเราไม่ไปเลือกตั้งแล้ว จะมีทางเลือกใดเหลืออยู่ล่ะ?" พอฟิริโอ โลโบ ผู้ลงสมัครจากพรรคชาตินิยมกล่าว
 
"นี่เป็นกระบวนการที่ยากแสนยาก" โลโบกล่าว "แล้วตอนนี้พวกเขาก็อยากจะปฏิเสธเรางั้นหรือ ไม่ได้หรอก ไม่มีใครสามารถยับยั้งสิทธิในการลงคะแนนของประชาชนได้"
 
ขณะที่เมื่อมองจากโพลล์ของสำนักต่าง ๆ แล้วพบว่าผู้ลงสมัครของพรรคเสรีนิยม เอลวิน ซานโตส ได้รับความนิยมน้อยกว่า จากจุดนี้ นักวิเคราะห์มองว่าท่าทีของบุคคลต่อการรัฐประหารเมื่อเดือน มิ.ย. มีผลต่อความนิยม
 
ปีเตอร์ ฮาคิม นักวิจัยจากองค์กร อินเตอร์-อเมริกัน ไดอะล็อก ของสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่าโลโบเคยเป็นคนหัวอนุรักษ์และล้าหลังมาก่อน แต่พอหลังจากเกิดรัฐประหารขึ้น ซานโตส คู่แข่งของเขาไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีประนีประนอมกับเซลายา ทำให้โลโบกลายเป็นที่ชื่นชมแทน
 
นักวิเคราะห์อีกคนมองว่า การต่อต้านเซลายาของซานโตส เป็นเหตุผลที่ทำให้เขาไม่น่าจะได้รับชัยชนะ
 
โดยก่อนหน้านี้ ในเดือน พ.ค. ของปี 2008 พรรคเสรีนิยมมีการเลือกผู้แทนที่จะลงสมัครเลือกตั้งในครั้งถัดไป ซึ่ง โรเบอร์โต มิเชลเลตตี พ่ายแก่ เอลวิน ซานโตส ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี พอหลังเกิดรัฐประหารในเดือน มิ.ย. ซานโตส ก็ลาออกจากการเป็นรองประธานาธิบดี และมิเชลเลตตี ก็ขึ้นเป็นรักษาการประธานาธิบดี
 
แต่ผู้สมัครซานโตส บอกว่าเขาไม่สนใจว่านานาชาติจะยอมรับการเลือกตั้งนี้หรือไม่
 
"ฮอนดูรัสไม่ควรกลัวว่าประชาคมโลกจะกดดัน ไม่ยอมรับการเลือกตั้งของพวกเรา" ซานโตส กล่าวผ่านการให้สัมภาษณ์ทางวิดิโอกับหนังสือพิมพ์เพรนซา ลิบรี ของกัวเตมาลา "พวกเราอยากให้เขาเคารพเรา พวกเรากำลังปกป้องประชาธิปไตยของประเทศเรา"
 
ซานโตส ยังได้กล่าวถึงการตัดสินใจสำคัญอย่างหนึ่ง โดยบอกเมื่อวันที่ 28 พ.ย. ว่าถ้าเขาชนะการเลือกตั้งจนได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว เขาจะถอนฮอนดูรัสออกจากสมาชิกภาพของ สมาพันธ์โบลิวาเรียนแห่งทวีปอเมริกา (Bolivarian Alliance of the America หรือ ALBA)
 
ซึ่ง ซานโตสให้เหตุผลในการแถลงข่าวว่า เขามองไม่เห็นประโยชน์ใด ๆ จาก ALBA นอกจากนี้ยังนำมาแต่ปัญหา โดยบอกว่าปัญหาใหญ่ที่ ALBA คือการแบ่งแยกประชาชนของเรา
 
ฮอนดูรัสเข้าร่วม ALBA ในเดือน สิงหาคม 2008 สมัยของรัฐบาลเซลายา ซึ่งมาจากพรรคเสรีนิยมเช่นกัน
จากข้อมูลของที่ประชุมอภิปรายเรื่องหนี้นอกประเทศ สังคมและการพัฒนา ระบุว่า การช่วยเหลือที่ส่งมาถึงฮอนดูรัสเมื่อปี 2008 นั้น 74 เปอร์เซนต์ มาจากเวเนซุเอลลา ประเทศที่ริเริ่มก่อตั้ง ALBA โดยประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวซ
 
โดย ALBA เป็นสมาพันธ์ที่ริเริ่มก่อตั้งขึ้นเพื่อคานกับ องค์กรความร่วมมือด้านการค้าเสรีของทวีปอเมริกา (FTAA) ที่ก่อตั้งโดยสหรัฐฯ มีเป้าหมายในการแลกเปลี่ยนทรัพยากรด้านต่าง ๆ ทั้งการแพทย์ การศึกษา ไปจนถึงเรื่องทรัพยากรน้ำมัน
และเน้นเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ สวัสดิการสังคม ในประเทศสังคมนิยม หรือสังคมนิยมประชาธิปไตยในแถบละตินอเมริกาและแคริบเบียน ปัจจุบันมีประเทศเป็นสมาชิก 9 ประเทศ รวมคิวบา, เอกวาดอร์, โบลิเวีย และ ฮอนดูรัส ด้วย
 
โดยหลังจากที่ ฮอนดูรัสเกิดรัฐประหาร ประเทศสมาชิกของ ALBA ก็ถอนฑูตออกจากฮอนดูรัส และออกแถลงการณ์ประณามรัฐประหารในฮอนดูรัส แต่ยังคงให้ความช่วยเหลือแก่ฮอนดูรัสแบบในช่วงสมัยเซลายา ขณะที่ประธานาธิบดีเซลายา เศรษฐีเจ้าของไร่ผู้ที่เริ่มนำฮอนดูรัสไปสู่ความเป็น "ฝ่ายซ้าย" มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่นับว่าสายสัมพันธ์กับฮูโก ชาเวซ ตัวชูโรงของ "ฝ่ายซ้าย" ในละตินอเมริกา ยิ่งทำให้พวกปีกขวา หรือแม้แต่ผู้ที่แสดงตัวกลาง ๆ รู้สึกไม่ปลอดภัย
 
หลักฐานความเป็นฝ่ายซ้ายของเซลายาชัดขึ้นมาอีกระดับหนึ่งเมื่อกลุ่มผู้ประท้วงที่ต่อต้านรัฐประหารและสนับสนุนเซลายา มีองค์กรเกษตรกร, สหภาพแรงงาน, กลุ่มด้านสิทธิมนุษยชน กลุ่มด้านสิทธิสตรี กลุ่มคนแอฟริกัน ขบวนการเกย์และเลสเบี้ยน รวมถึงนักศึกษาบางส่วน โดยพวกเขาเหล่านี้ต่อต้านการเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลเผด็จการด้วย
 
ทางวอชิงตันโพสท์รายงานว่า หากการเลือกตั้งในวันที่ 29 พ.ย. เสร็จสิ้นลง รัฐบาลประชานิยมปีกซ้ายแบบที่เซลายาก่อร่างขึ้นมาก็จะต้องปิดฉากลง เนื่องจากผู้สมัครที่เป็นตัวเต็งทั้งสองคน คือ โลโบ และ ซานโตส ล้วนเป็นนักธุรกิจที่มีแนวคิดทางการเมืองอยู่ในสายกลาง
 
ขณะที่ ดานา แฟรงค์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เขียนบทความกล่าวถึงเหตุผลที่ควรต่อต้านการเลือกตั้ง โดยในเหตุผลหนึ่งนั้นระบุว่าทั้งโลโบจากพรรคชาตินิยม และซานโตสจากพรรคเสรีนิยม ล้วนเป็นพรรคที่มีความเป็นคณาธิปไตย และต่างก็สนับสนุนรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม ดานา แฟรงค์ ยังให้ความเห็นอีกว่า คาร์ลอส เรเยส มีสิทธิ์ชนะการเลือกตั้งในคร้งนี้หากเขาไม่ถอนตัวไปก่อน
 
ทหารคุ้มกันบัตรเลือกตั้งที่ถูกลำเลียงไปยังสนามเลือกตั้งในกรุงเตกูซิกัลปา
(AP Photo/Rodrigo Abd)
 
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและการเมืองท้วง การเลือกตั้งภายใต้รัฐประหาร ไร้ความชอบธรรม
การต่อต้านการเลือกต้งในครั้งนี้นอกจากจะมาจากภายในประเทศ และผู้นำจากภายนอกประเทศแล้ว นักวิจัยอย่าง มาร์ค เวสซ์บรอท จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐฯ (CEPR) ผู้เคยวิจัยเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มาจากรัฐประหารในฮอนดูรัส กล่าวโจมตีการเลือกตั้งที่จัดขึ้นในสมัยของรัฐบาลจากการรัฐประหารนี้มาโดยตลอด
 
"พวกเขาจะสามารถทำให้โลกยอมรับได้จริงหรือ? กับการที่มีคนกลุ่มเล็ก ๆ ถอดถอนประธานาธิบดี จับกุมคนหลายพันคน ทำร้ายพวกเขา ปิดสื่อเป็นระยะ ๆ แล้วก็มาจัดการเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นก็ลองมาตัดสินกันก็ได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้บริสุทธิ์โปร่งใสกันแค่ไหน?" มาร์ค เวสซ์บรอท จาก CEPR กล่าว "ประเทศในละตินอเมริกาทั้งหมดเห็นแล้วว่านี่เป็นการให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหาร"
 
นอกจากนี้องค์กร CEPR ยังได้เขียนรายงานตั้งข้อสังเกตเรื่องการที่สถาบันที่สนับสนุนรัฐประหารในภาคพื้นละตินอเมริกาอย่าง สถาบันสาธารณรัฐสากล หรือ IRI วางแผนส่งตัวแทนไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งในฮอนดูรัส
 
เนื้อหามีอยู่ว่า ในวันที่ 23 พ.ย. วุฒิสมาชิกพรรคริพับริกันของสหรัฐฯ แถลงถึงการที่องค์กรสององค์กรที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ คือ สถาบันประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Institute , NDI) และสถาบันสาธารณรัฐสากล (International Republican Institute , IRI) วางแผนส่งตัวแทนไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งในฮอนดูรัสในวันที่ 29 พ.ย.
 
โดยสถาบัน IRI เคยเป็นองค์กรที่สนับสนุนการทำรัฐประหารขับไล่ประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งใน เฮติ และ เวเนซุเอลล่า มาก่อน เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งสององค์กรวางแผนไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งในฮอนดูรัสแม้ว่ากระบวนการเลือกตั้งในครั้งนี้จะถูกควบคุมโดยทหารตำรวจหลายพันคน เป็นพวกกองทัพที่เคยละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยการสังหาร ข่มขืน ทุบตี ประชาชนที่ถูกจับกุมจำนวนมากตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. เป็นต้นมา
 
"ผมแปลกใจที่เห็นกลุ่ม NDI ร่วมมือกับพวกสถาบันริพับลิกัน ในการให้ความชอบธรรมกับรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง" มาร์ค เวสบรอท ให้ความเห็น "โดยปกติแล้ว NDI มักไม่แสดงท่าทีสนับสนุนรัฐประหาร และรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากเท่ากับที่พวกริพับริกันสนับสนุน"
 
เวสซ์บรอท บอกอีกว่า IRI เคยมีประวัติในการจัดประชุมที่บราซิลในปี 2005 เพื่อต้องการปฏิรูปการปกครองในบราซิล โดยจะเป็นการล้มล้างพรรคแรงงานของบราซิล ซึ่งเป็นพรรคของประธานาธิบดีลุลา ดา ซิลวา
 
นอกจากนี้ IRI ยังได้ชื่นชมการพยายามทำรัฐประหารล้มล้างฮูโก ชาเวซของเวเนซุเอลลาเมื่อปี 2002 ผ่านทางเอกสารข่าว ขณะที่ NDI ไม่ได้แสดงท่าทีใด ๆ ทางด้านกองทุนเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ (NED) ที่เป็นแหล่งทุนหลักของทั้ง IRI และ NDI ก็แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการที่ IRI สนับสนุนการกระทำที่ "ไม่เป็นไปตามหลักการรัฐธรรมนูญ"
 
ด้านองค์กร NDI นั้นมีความเกี่ยวข้องอย่างหลวม ๆ กับพรรคเดโมแครทของสหรัฐฯ เนื่องจากหลายคนในพรรครวมถึงวุฒิสมาชิก จอห์น เคอรี่ และส.ส. โฮเวิร์ด เบอแมน แสดงท่าทีต่อต้านรัฐประหารมาโดยตลอด ส.ส. คนอื่น ๆ ในพรรค ก็ผลักให้โอบาม่าไม่ยอมรับการเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้รัฐประหารนี้
 
ผู้อำนวยการของ CEPR ให้ความเห็นอีกว่าประเทศในละตินอเมริกาต่างรู้ถึงปฏิบัติการลับ ๆ ล่อ ๆ ของ IRI ดี ซึ่งจุดนี้เองทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และประเทศละตินอเมริกาเสื่อมลงมาก และเขาหวังว่า NDI จะคอยทำหน้าที่เฝ้าระวังสิ่งที่ IRI จะกระทำในฮอนดูรัส
 
 
หวั่นสหรัฐฯ เสียหายด้านความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา และความเห็นจากชาติอื่น ๆ
เรื่องท่าทีของสหรัฐฯ ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ โดยสื่อของสหรัฐฯ อย่าง วอชิงตันโพสท์ ระบุว่าท่าทีของสหรัฐฯ ที่มีต่อการเลือกตั้งในฮอนดูรัสเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สามารถทำให้รัฐบาลโอบาม่าต้องเผชิญปัญหาเรื่องการปรับความสัมพันธ์กับประเทศในแถบละตินอเมริกา จากที่เคยมีปัญหากันมาก่อนอยู่แล้ว
 
ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของกลุ่มสภาธุรกิจในทวีปอเมริกาให้ความเห็นว่าท่าทีของสหรัฐฯ ที่รีบร้อนประณามรัฐประหารในฮอนดูรัสมากเกินไป แล้วมากลับลำบอกยอมรับการเลือกตั้งที่ถูกจัดขึ้นโดยรัฐบาลรัฐประหารในภายหลัง คงทำให้ประชาชนรู้สึกแย่กับท่าทีของสหรัฐฯ และ "มันจะทำให้สหรัฐฯ ดูน่าเชื่อถือน้อยลงในทางการทูต"
 
ขณะที่เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ กลับเห็นว่า ถ้าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างยุติธรรม ปัญหาการเมืองจะได้ยุติลงเสียที ซึ่งเขาให้เหตุผลว่าพวกเขาไม่สามารถทำอะไรอย่างอื่นได้นอกจากนี้ "หรือจะให้นั่งคอยประณามรัฐประหารไปตลอดสี่ปี?"
 
เสียงจากชาติอื่น ๆ ก็มีทั้งยอมรับและไม่ยอมรับการเลือกตั้ง แต่ดูเหมือนกลุ่มที่ไม่ยอมรับการเลือกตั้งมีความหนักแน่นกว่าส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากสายสัมพันธ์ต่อรัฐบาลเซลายา ส่วน สหภาพยุโรป (EU) นั้น แม้จะเคยตัดการช่วยเหลือฮอนดูรัสเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหารมาก่อน แต่ก็ไม่ได้แสดงท่าทีใด ๆ
 
กลุ่ม Mercosur ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกคือ อาร์เจนตินา, บราซิล, ปารากวัย และ อุรุกวัย ประกาศตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. ว่าพวกเขาจะไม่ยอมรับการเลือกตั้งใด ๆ ที่ถูกจัดขึ้นภายใต้รัฐบาลของมิเชลเลตตี ต่อมาในวันที่ 10 ส.ค. สหภาพอเมริกาใต้ (UNASUR) ก็ประกาศว่าจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งของฮอนดูรัส หากรัฐบาลรักษาการของมิเชลเลตตียังคงอยู่ในอำนาจ

ในวันที่ 17 ส.ค. ประธานาธิบดี ฟิลิปเป คาลเดรอน ของเม็กซิโก และประธานาธิบดี ลุลา ดา ซิลวา ของบราซิล ก็ออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับการเลือกตั้งของฮอนดูรัสเช่นกัน
 
อย่างไรก็ตาม นอกจากสหรัฐฯ ที่กลับลำหันมายอมรับการเลือกตั้งแล้ว ยังมีประเทศอื่น ๆ เช่น อิสราเอล, โคลัมเบีย, ปานามา, เปรู, เยอรมนี, คอสตาริกา และญี่ปุ่น ที่ประกาศเมื่อไม่นานมานี้ว่าพวกเขายอมรับผลการเลือกตั้ง 29 พ.ย.
 
 
หมายเหตุ - ขณะที่เรียบเรียงรายงานชิ้นนี้ การเลือกตั้งของฮอนดูรัสยังไม่ทราบผล โดยตามเวลาประเทศไทยแล้ว เป็นไปได้ว่าเราจะทราบผลการเลือกตั้งในวันที่ 30 พ.ย.
 
 
 
ที่มา แปลและเรียบเรียงจาก
Honduran election puts U.S. in a spot, Washington Post, 29-11-2009
No Fair Election in Honduras under Military Occupation, Dana Frank, CommonDream, 27-11-2009
 
El Tiempo (Honduras)
La Prensa (Honduras)
Wikipedia: Honduran general election, 2009 (เข้าดูล่าสุดวันที่ 29 พ.ย.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net