สมัคร สุนทรเวช: ไม่เคยเปลี่ยน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
เกริ่นนำ
            ก่อนอื่นผมต้องแสดงความเสียใจต่อครอบครัว และคนที่รักและศรัทธาต่อคุณสมัครเสียก่อน ตามธรรมเนียมที่เราท่านมักจะทำกัน ผมมีแรงบันดาลใจในการเขียนบทความนี้ก่อนคุณสมัครจะเสียสองวัน คือวันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน 2552 คุณสมัครเสียวันอังคาร ที่ 24 พฤศจิกายน 2552 เนื่องด้วยผมมีหน้าที่ไปบรรยายเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ให้แก่นักศึกษาหลายสถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มาเข้าค่ายเรียนรู้อยู่ที่ศูนย์สารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
และมีคำถาม และความคิดที่น่าสนใจ คือ มีนักศึกษาถามผมว่า “ท่านสมัครเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยใช่หรือไม่” และ “บทบาทของท่านสมัครจากขวาจัดต่อต้านนักศึกษาเปลี่ยนมาเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้อย่างไร” และ “ทำไมจึงเปลี่ยน” รวมถึง “เป็นนักต่อสู้เพื่อคนชั้นรากหญ้า(เสื้อแดง)”[1] ทำนองนี้ ทำให้ผมต้องใช้เวลาอยู่หลายวันเพื่อกลับไปอ่านหนังสือที่คุณสมัครเขียน รวมถึงงานเขียนที่กล่าวถึงคุณสมัครหลายเล่ม (แม้จะไม่ทั้งหมด) เพื่อทำความเข้าใจ “ความคิด” และ “บทบาท” ของคุณสมัคร ในมิติเวลาต่างๆ

“สมัคร” ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
ผมได้ข้อสรุปว่า “ตลอดเวลาที่ผ่านมา “คุณ/ท่าน/ฯพณฯ/ไอ้/น้า” ตามโอกาสและบริบท ที่คนใช้เรียก “สมัคร สุนทรเวช”  “สมัคร สุนทรเวช” ไม่เคยเปลี่ยนแปลง เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นนักการเมืองน้อยคนที่คงเส้นคงวา?[2] ปากจัดอย่างไรก็อย่างนั้น ขวาจัดอย่างไรก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง เป็นคู่ปรับกับสื่ออย่างไรก็เป็นอย่างงั้น แต่มีสิ่งที่เปลี่ยนคือสมัครรังเกียจการชุมนุมประท้วง หรือ การเมือง “ข้างถนน”[3] อย่างเข้ากระดูกดำ?

“กษัตริย์นิยม” “การธำรงความสูงต่ำ(ชั้น)ในสังคม” “อนุรักษ์นิยมขวาจัดตลอดกาล”[4]
สมัครมักกล่าวอย่างภูมิใจว่ามี คุณตา คุณพ่อ หรือคุณอา คุณลุงเป็นข้าราชบริพารที่มีความจงรักษ์ภักดีต่อราชวงศ์ ดังปรากฏในงานเขียนของสมัครว่า
“พี่ชายคนโตของคุณพ่อ...ชื่อสุ่น ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ครั้งสุดท้ายเป็นมหาเสวกตรี พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี มีตำแหน่งเป็นนายแพทย์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “สุนทรเวช”
น้องชายคุณพ่อ คือคุณอาผมชื่อแจ่ม ต่อมาในภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น จมื่นอมรอรุณารักษ์
คุณพ่อผมเองชื่อเสมียน ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ครั้งสุดท้ายเป็นเสวกเอกพระยาบำรุงราบริพาร
ทางฝ่ายคุณแม่ผมนั้น
คุณตาผมชื่อจัน...ได้เข้ารับราชการในราชสำนัก รับราชการสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัวในราชวงศ์จักรีติดต่อกันมา...ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ครั่งสุดท้ายเป็นมหาเสวกตีพระยาอนุศาสตร์จิตรกร และได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “จิตรกร”[5]
           
จะเห็นว่าจากความข้างต้น สมัครมีความภาคภูมิใจใน “ชาติตระกูล” ของตนเองอย่างสูงยิ่ง ในการเป็นข้ารับใช้ “พระมหากษัตริย์” ที่จงรักภักดี รวมถึงตัวของสมัครเองก็ได้ชื่อว่าเป็น “ขวาจัดกษัตริย์นิยม” และมีบทบาทอย่างสำคัญในการปลุกระดม “ลูกเสือชาวบ้าน” “กลุ่มกระทิงแดง” “กลุ่มนวพล” ในช่วง เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 [6] ผ่านทางวิทยุยานเกราะร่วมกับ “ทมยันตี” ต่อต้านนักศึกษาที่เป็นฝ่ายหัวก้าวหน้า และถูกมองว่าเป็นกลุ่มซ้ายจัด ต้องการล้ม “สถาบันกษัตริย์”? โดยสมัครมองว่านักศึกษาเป็น “ผู้ก่อความวุ่นวาย” ขึ้นในบ้านเมืองดังที่นายสมัครกล่าวแก่นักศึกษาไทยในฝรั่งเศส
ส่วนกรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นายวีระได้เขียนถึงเหตุการณ์ที่นายสมัครเคยพูดกับนักเรียนไทยที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2520 ขณะที่นายสมัครยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและเดินทางไปชี้แจงเหตุการณ์ดังกล่าวในประเทศในวันนั้น นายสมัครได้พูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ว่า เป็นการชุมนุมต่อต้านของนักศึกษาโดยมีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง การต่อต้านเลยไปถึงขั้นหมิ่นพระบรมโอรสาธิราชฯ ประชาชนที่ดูข่าวจึงเกิดความเคียดแค้น จึงไปรวมตัวกันที่ท้องสนามหลวงและจะบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตำรวจก็เข้าไปจึงเกิดปะทะกัน โดยฝ่ายนักศึกษายิงป้องกันไม่ให้ตำรวจเข้าไป ฝ่ายบุกเข้าไปก็มีปืน ฝ่ายข้างในก็มีปืนผลการยิงกันมีคนตาย 48 คน มีคนถูกเผาตาย 4 คน
นายสมัครยังพูดกับนักเรียนไทยที่ฝรั่งเศสอีกว่า การเผาคนที่สนามหลวงนั้น เป็นที่ข้องใจของเจ้าหน้าที่อย่างมาก เพราะไม่ใช่วิสัยคนไทย มีการเอาศพไปแขวนคอ เอาไม้ไปตี เอาเก้าอี้ไปตี แล้วเอามาวาง แล้วจุดไฟเผา ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องนี้ แต่มีการสืบสวนแล้วพบว่าเป็นการทำลายหลักฐาน เพื่อไม่ให้รู้ว่าเป็นใคร และที่ศพก็มีรูปโฮจิมินห์เล็ก ๆ อยู่ด้วย
 ส่วนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีหมาย่าง หมาตุ๋น หลายตัวยังมีมีดเสียบยู่ ตนไปดูหลักฐานที่โรงพักชนะสงคราม มีหลักฐานว่ามีคนชาติอื่น คือเวียดนาม เข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนที่ถูกเผา ก็เพื่อทำลายหลักฐานไม่ให้รู้ว่าเป็นใคร” [7]
            หรือเมื่อไม่ช้านานมานี้ในช่วงปี พ.ศ.2551 ขณะเป็นนายกรัฐมนตรีสมัครก็กล่าวว่าคนตายในช่วง 6 ตุลาคม 2519 มีคนตายแค่คนเดียว โดยนายสมัครให้สัมภาษณ์นักข่าวซีเอ็นเอ็น ว่า
เมื่อถูกถามถึงบทบาทรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในอดีต เมื่อครั้งเกิดเหตุนองเลือดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วันที่ 6 ตุลาคม) ในปี 2519 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 46 คน นายสมัครระบุว่า 'ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องนี้ สำหรับผม ไม่เห็นมีใครตาย เว้นแต่คนโชคร้ายคนหนึ่งที่ถูกเผาแล้วเผาอีกที่สนามหลวง ผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นเลย ผมไม่ได้ทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนั้นแม้แต่น้อย[8]
            เช่นเดียวกับ “ช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่สมัครได้ไปพูดให้นักศึกษาไทยในอังกฤษฟังก็บอกว่ามีคนตายไม่กี่คน คนตายเป็นญวน”[9] จนก่อให้เกิดวิวาทะกับนักกิจกรรมนักศึกษาสมัยนั้น หรือญาติวีรชน 14 ตุลา นักวิชาการและสื่อสารมวลชนทั่วไป แม้ตอนหลังจะออกมาแก้เกี้ยวว่า “เขาเห็นเพียงคนเดียว”[10] ก็ตามแต่แสดงให้เห็นวิธีคิดของสมัครอย่างสำคัญที่ไม่เห็นคุณค่า และไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้ของนิสิต นักศึกษา และประชาชนช่วง 14 ตุลาคม และ 6 ตุลาคม ว่ามีคุณูปการณ์ต่อพัฒนาการประชาธิปไตยไทย จึงน่าคิดว่านายสมัครมีทัศนคติต่อระบอบ “ประชาธิปไตย” แบบใด
            เหตุการณ์ที่สำคัญในช่วงเวลาใกล้นี้ที่สำคัญ คือ ช่วงที่สมัครได้เข้ารับช่วงเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ของทักษิณ ชิณวัตร ที่ได้รับการกล่าวหาว่าเป็น “ผู้ไม่จงรักภักดี” และสมัครได้ใช้ “ตัวเอง” การันตีว่าทักษิณ “จงรักภักดี” ทำให้มีคนออกมาเตือนอย่างกัลยาณมิตร เช่น บรรหาร ศิลปอาชา เป็นต้น โดยสมัครได้บอกให้บรรหาร “มองดูหน้าอกของตนเองว่ามีเครื่องราช หรือมีตราชั้นไหน” ซึ่งแสดงถึงความจงรักภักดี และรับใช้ใต้พระยุคลบาท จนได้รับตรา “จุลจอมเกล้าสูงกว่า” นายบรรหาร
นายสมัคร
“แถลงว่า ตนชื่อ "สมัคร" เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.พรรคพลังประชาชนได้รับการเลือกตั้ง ส.ส. 233 เสียง แต่พรรคชาติไทยได้ 33 เสียง และการที่นายบรรหาร ออกมายื่นเงื่อนไข 5 ข้อ โดยเฉพาะข้อแรกในเรื่องของสถาบันนั้น เหมือนกับเป็นการดูหมิ่นตนและพรรคพลังประชาชน ว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน ทั้งๆ ที่นายบรรหาร รู้จักกับตนมานาน แต่ไม่ศึกษาประวัติตระกูลของตน ซึ่งบรรพบุรุษของตนก็รับใช้สถาบันมานานตั้งแต่รัชกาลที่ 5 จึงอยากบอกให้นายบรรหารแหงนขึ้นดูที่หน้าอกตนว่า ได้รับตราจุลจอมเกล้าสูงกว่านายบรรหาร อย่างนั้นคนอย่างนายบรรหาร ไม่ต้องมาสอนตน[11]
รวมถึงอุปนิสัยของสมัครเองที่เป็นผู้ชมชอบเพลงไทยเดิม ขับเสภา รวมถึงทำอาหารโดยเฉพาะอาหารไทย รวมถึงธำรงความสูงต่ำโดยเฉพาะ “ความอาวุโส” โดยเฉพาะวาทะที่ลือลั่นระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี โดยสมัครบอกให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านให้ดูอายุระหว่างตน(นายสมัคร)กับนายอภิสิทธิ์ที่ “บังอาจมาสั่งสอน” ในระหว่างการอภิปรายรัฐบาลนายสมัครในวันที่ 25 มิถุนายน 2551 โดยนายสมัครตอบโต้ว่า
นายสมัคร สุนทรเวชนายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่าไม่เคยเนรคุณ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมไม่เคยดูหมิ่นพรรคประชาธิปัตย์ จึงสมควรแล้วที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะถอนคำพูดดังกล่าว โดยแสดงความเสียใจที่ถูกคนอายุ 40 กว่า พูดจากระทบกระแทก แต่จะขออดทนกับคำดูถูกเพราะพ่อแม่อบรมสั่งสอนมาเช่นนั้น[12] (การเน้นเป็นของผู้เขียน)
ฉะนั้นสมัคร สุนทรเวช ไม่ว่ากาลเวลาจะแปรเปลี่ยนไปนานเท่าใดสมัครจึงไม่เปลี่ยนแปลงในด้าน“กษัตริย์นิยม” “การธำรงความสูงต่ำ(ชั้น)ในสังคม” “อนุรักษ์นิยมขวาจัดตลอดกาล” ตราบจนวันสุดท้ายของชีวิตที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงมาเป็นประทานในการพระราชน้ำหลวงอาบศพ [13]

“นักประชาธิปไตยในสไตล์สมัคร”
            ผมขอสารภาพก่อนว่าผมหาไม่เจอเกี่ยวกับข้อเขียนเรื่อง “ประชาธิปไตย”ของสมัครเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ที่เจอก็เป็นแต่ทัศนคติที่สมัคร แสดงไว้ตามที่ต่างๆ พอสรุปได้ว่า “ประชาธิปไตยแบบสมัคร” “ต้องมีการเลือกตั้ง?” [14] ในกรณีที่สมัครเสียโอกาสในการเข้าถึงอำนาจ แต่กรณีที่สมัครได้เปรียบ มีอำนาจไม่ว่าในฐานะใด สมัครถือว่าเป็นประชาธิปไตย ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดเช่น การเข้าเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยในสมัยรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร[15] ซึ่งป็นรัฐบาลที่ถูกเรียกว่า “ขวาจัด” “ขวาตกขอบ” ซึ่งการันตี “ตัวตน” ของสมัครได้เป็นอย่างดี รวมถึงเป็นรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร และไม่ได้รัฐประหารรัฐบาลไหนเลยแต่รัฐบาลที่นายสมัคร สุนทรเวชเคยเป็นรัฐมนตรี และ ส.ส. อยู่นั้นเอง ดังทัศนะของทหารเก่าว่า
“กล่าวคือ นายสมัคร สุนทรเวช นั้น เป็นสมาชิกอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ เคยร่วมเป็นรัฐมนตรีในพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน และรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์นั้นได้ถูกปฏิรูปไปเพราะคณะปฏิรูปฯ...การปฏิรูปนั้นมิใช่แต่การปฏิรูปรัฐบาลประชาธิปัตย์เท่านั้น แต่หากเป็นการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ทั้งพรรค เพราะฉะนั้น นายสมัคร สุนทรเวช จึงถูกปฏิรูปไปด้วย
...พรรคประชาธิปัตย์นั้น ย่อมถือว่า คณะปฏิรูปเป็นคู่ต่อสู้ เพราะเป็นผู้มาทำลายพรรคประชาธิปัตย์ให้ย่อยยับอัปราชัยไป...นายธานินทร์ (นายกรัฐมนตรีในคณะปฏิรูป: ผู้เขียน) ดึงเอาสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่คณะปฏิรูปฯ ทำการปฏิรูปไปแล้วมาเป็นรัฐมนตรี (ว่าการกระทรวงมหาดไทย: ผู้เขียน) ร่วมคณะและให้ว่าการในตำแหน่งสำคัญ” [16]
แสดงให้เห็นว่าสมัครมีทัศนคติต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างไรไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะประชาธิปไตยภายใต้ระบอบปฏิรูป(เผด็จการ) และที่สำคัญประวัติศาสตร์การเมืองระยะสั้นที่เห็นบทบาทของสมัครในการเข้าร่วมรัฐบาล รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ในฐานะหัวหน้าพรรคประชากรไทย โดยมีพลเอกสุจินดา คราประยูรเป็นนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการรัฐประหารและไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงก่อการเข่นฆ่าประชาชนในระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 แต่นายสมัคร สุนทรเวช ก็มิได้แสดงออกถึงการออกมาปกป้องประชาชนแต่ประการใด[17] จนได้ชื่อว่าเป็นพรรคมารในการเลือกตั้งครั้งต่อมา
            แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดถึงความคิด “ประชาธิปไตยแบบสมัคร” คือ ประชาธิปไตยแบบ “จำกัดเสรีภาพ” ดังตัวอย่าง การสั่งปิดหนังสือพิมพ์ช่วงที่สมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยช่วงปี พ.ศ. 2519-2520 ดังข้อมูลของนักหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยให้ข้อมูลไว้ว่า
      “ ปิดหนังสือพิมพ์ชาวไทยรายวัน ปิดไม่มีกำหนด ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2519…ปิดหนังสือพิมพ์ “เสียงปวงชน” 3 วัน ตังแต่วันที่ 14 มกราคม 2520 ฐานลงข่าวจอมพลประภาส จารุเสถียร เดินทางกลับประเทศไทย...ปิดหนังสือพิมพ์ “เดลินิวส์” ไม่มีกำหนดเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2520 ในข้อหา หัวหน้ากองบรรณาธิการนายสุเทพ เหมือนประสิทธิเวช เขียนจดหมายถึง ฯพณฯหอย เปิดเผยลงหนังสือพิมพ์ ตักเตือนการบริหารราชการบ้านเมืองในฐานะเป็นนักศึกษาร่วมรุ่นเตรียมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รุน 5 (พ.ศ. 2485)...ปิดหนังสือพิมพ์ “บ้านเมือง” มีกำหนด 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 17กุมภาพันธ์ 2520... [18]
            จะเห็นการใช้อำนาจของนายสมัคร สุนทรเวช ในการ “จำกัดสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร” ของประชาชน ซึ่งถ้ากล่าวอ้างว่านายสมัครเป็น “นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” (ในสมัยหลัง พ.ศ.2549-2551) แต่พฤติกรรมของนายสมัครในอดีตคงบ่งบอกอะไรได้ไม่มากก็น้อย
            นอกจากสั่งปิดหนังสือพิมพ์อย่างมากมายอย่างไม่มียุคสมัยใดทำแล้วนายสมัครยังเป็น “ศัตรู” ตัวเอ้ของนักหนังสือพิมพ์ และสื่อสารมลชนทุกแขนง ดังหนังสือของนายสมัคร 2 เล่ม คือเล่มแรก คือ การเมืองเรื่องตัณหา และสันดานนักหนังสือพิมพ์ ที่ตีแผ่พฤติกรรม กระทบกระเทียบเปรียบเปรยนักหนังสือพิมพ์ในทางที่เสียหาย โดยมีแรงบันดาลใจจาก
“...คนหนังสือพิมพ์ และหนังสือพิมพ์บางพวกบางฉบับ พยายามใช้ปากกาและหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์เข่นฆ่านักการเมืองอย่างผมให้จมดับลงไปชนิดจะไม่ให้มีโอกาสได้ผุดได้ เกิด ด้วยการเขียนข่าวอันเป็นเท็จ แต่ใช้กลเม็ดและวิธีเขียนให้ผู้คนเกิดความสงสัย เข้าใจผิด
...และตั้งใจที่จะใช้โอกาสนี้ชี้ให้ท่านผู้เป็นเจ้าของบ้านเมืองทั้งหลายได้แลเห็นความสกปรกโสมมของผู้คนบางพวกบางฉบับเหล่านี้ ว่าเขามีวิธีการและสันดานในการรับจ้างสร้างความเท็จ ปกปิดข้อความจริงและยุ่งยิ่งกับการข่มขู่รีดไถกับใครต่อใครที่ประพฤติตัวเป็นวัวสันหลังหวะทั้งหลายกันอย่างไร”[19]
            หรือแต่ไม่ช้าไม่นานมานี้เอง “ตัวตน” ของนายสมัคร สุนทรเวช ต่อสื่อมวลชนขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2550) ในการกระทบกระทั่งต่อสื่อก็ปรากฏอย่างเนื่อง ดังปรากฏในคำให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในหลายวาระหลายโอกาส ดังปรากฏในบทสะท้อนของกิเลน ประลองเชิง (นามแฝง) ในคอลัมส์ชักธงรบ ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่กล่าวหลังการถึงแก่อสัญกรรมของสมัครว่า
สำหรับผมจำได้ว่า...ครั้งแรกที่ให้สัมภาษณ์ หลังนายกฯ สมัครเปรยๆ เป็นนัยว่า ถูกพรรคขอร้องไว้ ไม่ให้จองเวรกับสื่อบางคน...
ครั้งที่สอง ดึกเต็มที ระหว่างอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา คุณสมัครพูดถึงหน้า 3 หนังสือพิมพ์ใหญ่ โดยเฉพาะไอ้คอลัมน์ที่ชอบเขียนเรื่องจีน
ครั้งที่สาม ช่วงที่มีข่าวรัฐบาลยอมให้พ่อค้าขึ้นค่าน้ำตาล คุณสมัครให้เวลาอ่านคอลัมน์ที่เขียนว่า “ระวังจะเป็นโรคเบาหวาน”นานหลายนาที”[20]
 
แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของนายสมัคร สุนทรเวช ต่อสื่อสารมวลชน ที่ถือว่าเป็นฐานันดรที่ 4 ในสังคม ที่คอยสะท้อนความคิดความเห็นในเรื่องต่างๆ เป็นกระจกของสังคม แต่ความสัมพันธ์กับสื่อของนายสมัครเป็นเหมือนน้ำกับน้ำมัน และแสดงให้เห็นแนวคิด “ประชาธิปไตย” ของสมัครไม่มากก็น้อย ที่เห็นว่าสังคมควรมี “เสรีภาพอย่างจำกัด”
            นอกจากความหมางเมิน หรือมีความคิด “เสรีภาพอย่างจำกัด” แล้วสมัครยังมองการเมืองภาคพลเมืองในการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพว่าเป็น “การเมืองข้างถนน” “มองนักศึกษาว่าก่อความวุ่นวาย”[21] หรือมองว่ากรรมกรตั้งสหภาพ หรือหยุดงานว่าเป็นการสร้างวุ่นวายและมีพฤติการณ์จะยุบหรือยกเลิกสหภาพแรงงาน [22] ซึ่งพฤติกรรมข้างต้นแสดงให้เห็นความคิด “ประชาธิปไตยแบบสมัคร” ได้ไม่มากก็น้อยว่าเป็นประชาธิปไตยแบบใดและเป็นนักต่อสู้เพื่อ “ประชาธิปไตย”หรือไม ยกเว้นจะมีคนเถียงว่าเป็น “ประชาธิปไตยแบบไทย” ที่มีพลวัต เปลี่ยนแปลงตามบริบท ผมก็หมดปัญญาเถียงครับเจ้านาย

บทส่งท้าย
            ท้ายสุดผมมิได้ต้องการทำร้าย หรือป้ายสี ใส่ป้ายคุณสมัคร สุนทรเวช แต่ประการใด ผมต้องการชี้ให้เห็นว่าบทบาทหลายสิบปี คน “สมัคร สุนทรเวช” ไม่เคยเปลี่ยนแปลง มีจุดเยือนในตนเองอย่างมั่นคง “อนุรักษ์นิยม” “กษัตริย์นิยม” “ขวาตกขอบ” “เป็นคู่กัดกับสื่ออย่างไร” ก็อย่างนั้น แม้ตอนหลังจะกลายเป็นขวัญใจของคนเสื้อแดงแต่ก็ไม่ทำให้จุดยืนคุณสมัครเปลี่ยน แต่จะด้วยเหตุผลใดคุณสมัครจึงกลายเป็นขวัญใจของคนกลุ่มนี้ต้องอภิปรายต่อไปในที่อื่น ท้ายสุดขอยกคำของ กิเลน ประลองเชิง ที่แสดงการไว้อาลัยต่อคุณสมัครว่า “ด้วยวิถีทางที่เดินคนละด้านตลอดมา ผมไม่เคยถือว่าคุณสมัครเป็นศัตรู นับถือเสียด้วยซ้ำ กับความ “ตรงไปตรงมา” อาชวะธรรม ธรรมะของผู้นำข้อที่ 5 ที่ผู้นำทั่วไป...ไม่ค่อยมี (กลับมีในตัวคุณสมัคร: ผู้เขียน)[23] ซึ่งคุณสมัครก็มักจะภูมิใจใน “ตัวตน” ที่ “ตนเป็น” ไม่เสแสร้งแกล้งทำเหมือนนักการเมืองทั่วไป ท้ายสุดขอให้ คุณสมัครไปสู่สุคติยังสัมปรายภพ
 
เชิงอรรถ
 
 [1] การเน้นคำเป็นประสงค์ของผู้เขียนเอง เพื่อง่ายต่อการขยายประเด็นในการอภิปรายต่อไปข้างหน้า
 [2] ความคงเส้นคงวาไม่ได้ต้องการสื่อว่ามีความหมายดี หรือไม่ดี แต่สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของสมัครในช่วงเวลาต่างๆ
 [3] พิศิษฐ์ สร้อยธุหร่ำ. ผ่าตัณหาการเมือง สมัครสุนทรเวช. กรุงเทพฯ: สวนหนังสือ. 2522, หน้า 244-245, และ วีระ มุสิกพงศ์ และคณะ. สันดารรัฐมนตรี. กรุงเทพฯ: สันตวนา.2521, หน้า 266-271.
 [4] ดูเพิ่มใน, แม่ลูกจันทร์(นามแฝง). มุมน้ำเงิน. น.ส.พ.ไทยรัฐ ปีที่ 60 ฉบับที่ 18937 วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552, หน้า 2.
 [5] สมัคร สุนทรเวช. การเมืองเรื่องตัณหา. กรุงเทพฯ: บูรพาศิลป์. 2521, หน้า 2-3.
 [6] โปรดดูรายละเอียดใน, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก. 2544.
 [7] จาก, http://us.thaingo.org/webboard/view.php?id=12878
 [8] จาก, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?id=19598&
 [9] คำบอกเล่าของอาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษาที่ศึกษาในอังกฤษในขณะนั้น
 [10] จาก, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?id=19598&
 [11] จาก, http://hilight.kapook.com/view/18930
 [12] โดย INN News วัน อังคาร ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2551 00:00 น
 [13] วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เวลา 21:32:11 น. มติชนออนไลน์
 [14] ดูเพิ่ม, สมัคร สุนทรเวช. จากสนามไชย สู่สนามหลวง. กรุงเทพฯ: เกษมการพมพ์. 2522, หน้า 5-11.
 [15] ดูเพิ่ม, ทหารเก่า(นามแฝง). ฯพณฯหอย มาเพราะปฏิรูป ไปเพราะปฏิวัติ. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์. มปป.
 [16] เพิ่งอ้าง, หน้า 65-66.
 [17] ศูนย์นิสิตและนักศึกษาแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์และวรรณคดีสยาม. ชำระประวัติศาสตร์กรณีตุลา และพฤษภาทมิฬ. กรุงเทพฯ: ยูนิเต็ดอาร์ตการพิมพ์ จำกัด. 2544. หน้า 213-252.
 [18] ทหารเก่า(นามแฝง). ฯพณฯหอย มาเพราะปฏิรูป ไปเพราะปฏิวัติ. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์. มปป., หน้า 147-149.
 [19] สมัคร สุนทรเวช. สันดารนักหนังสือพิมพ์. กรุงเทพฯ: บูรพาศิลป์การพิมพ์. 2520, หน้า คำนำ.
 [20] กิเลน ประลองเชิง(นามแฝง). อโหสิ.น.ส.พ.ไทยรัฐ ปีที่ 60 ฉบับที่ 18937 วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552, หน้า 3.
 [21] พิศิษฐ์ สร้อยธุหร่ำ. ผ่าตัณหาการเมือง สมัครสุนทรเวช, หน้า 245.
 [22] เพิ่งอ้าง, หน้า 268-272.
 [23] กิเลน ประลองเชิง(นามแฝง). อโหสิ.น.ส.พ.ไทยรัฐ ปีที่ 60 ฉบับที่ 18937 วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552, หน้า 3.

 

หมายเหตุ:

*บทความนี้ผมได้แรงบันดาลใจจากนักศึกษาที่มาเข้าค่ายเป็นสำคัญ ขอบคุณ พี่บอย บิวน้อย บิวใหญ่ ฟิวส์ กล แดน ท็อป อาร์ม ที่กรุณายืมหนังสือเกี่ยวกับคุณสมัครให้ รวมถึงไปรับไปส่งตามที่ต่างๆ ขอบคุณอาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล ที่กรุณาเล่าเรื่องสมัครหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 (ก่อนผมจะเขียนบทความนี้) ขอบคุณอาจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล ที่เกื้อกูลศิษย์คนนี้เสมอมา อาจารย์มนตรา พงษ์นิล ที่กรุณาในหลายวาระหลายโอกาส อย่างไรก็ตามความผิดพลาดของงานเขียนนี้ย่อมเป็นของผมเพียงผู้เดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท