ชุมนุมค้านเขื่อนฮัตจี เผาหรีด-เผารูปนายกฯ-ผู้ว่ากฟผ.หน้าทำเนียบ

 

วันนี้ (23 พฤศจิกายน) เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนชาวบ้านปกากะเญอจากริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน กลุ่มนักศึกษา ภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ทั้งองค์กรสิ่งแวดล้อม องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และเครือข่ายสลัม 4 ภาค รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือลงนามโดย 189 องค์กรทั่วประเทศไทย และประชาชน 1,580 รายชื่อต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขอให้ระงับการสร้างเขื่อนฮัตจีซึ่งคาดว่าจะเป็นเขื่อนแรกที่ถูกผลักดันให้สร้างบนลำน้ำสาละวิน

กลุ่มชาวบ้านได้ผลัดกันกล่าวปราสัยถึงกรณีปัญหาการก่อสร้างเขื่อนบนลำน้ำสาละวินที่จะส่งผลต่อวิถีชีวิต และมีการชูป้ายและป้ายผ้าแสดงจุดยืนต่อกรณีการก่อสร้างโครงการดังกล่าว อาทิ “คนไทยไม่เอาเขื่อนสาละวิน”  “อภิสิทธิอย่าเชื่อ กฟผ.ฆ่าพี่น้องไทยพม่า” “กฟผ.พึ่งพลังงานพม่า พึ่งเผด็จการ” “กฟผ.ฆ่าประชาชน” และข้อความภาษาพม่า “อย่าสร้างเขื่อนบนน้ำตาประชาชน” จากนั้นได้มีการแสดงบทบาทสมมุติที่แสดงถึงการล้มตายของผู้คนกลุ่มต่างๆ จากการก่อสร้างเขื่อนบน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการให้การสนับสนุนโครงการก่อสร้างเขื่อนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำลายวิถีชีวิตสองฝั่งลำน้ำสาละวิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างที่มีการชุมนุม ไม่มีการติดต่อประสานงานจากในทำเนียบที่จะส่งตัวแทนนายกรัฐมนตรีมารับจดหมายและรับทราบข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม

นายมนตรี จันทวงศ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ และนักวิจัยของโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการติดต่อประสานงานไปยังนายกรัฐเพื่อมอบจดหมายขอให้ระงับโครงการเขื่อนไฟฟ้าฮัตจี แต่มีการผ่านเรื่องต่อไปยังรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และจากรัฐมนตรีได้ผ่านเรื่องไปให้ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สุดท้ายจึงได้ส่งรองผู้ว่าฯ คนหนึ่งมารอรับจดหมายอยู่ภายในทำเนียบรัฐบาล และเรียกให้ชาวบ้านไปยื่นจดหมายให้ ซึ่งเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ เนื่องจาก กฟผ.ถือเป็นคู่กรณีโดยตรงกับประชาชน และเป็นคนที่จะดำเนินการสร้างเขื่อนฮัตจีเอง

ในส่วนของข้อห่วงใยต่อการสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้ไทย นายมนตรีกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีไฟฟ้าล้นเกินจากที่ใช้อยู่จริงถึงร้อยละ 35-40 ซึ่งถือว่ามากเกินพอแล้ว และในกรณีการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศก็ประสบปัญหามาแล้วในกรณีที่ประเทศพม่าหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างกระทันหันหลายครั้งในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยไม่ทราบเหตุผล การสร้างเขื่อนฮัตจีเพื่อเป้าหมายในการนำไฟฟ้าเข้าสู่ระบบอีกกว่า 1,200 เมกะวัตต์ ยิ่งทำให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาพลังงานจากพม่ามากขึ้น

การที่ กฟผ.ผลักให้ไทยพึ่งพาไฟฟ้าจากเขื่อนในพม่า ถูกจับตามองในฐานะโครงการที่สุ่มเสี่ยงกับความไม่แน่นอน และเสี่ยงกับภาพพจน์ของไทยในการร่วมกับรัฐบาลทหารพม่า ขับไล่ กดขี่ประชาชนออกไปจากพื้นที่สร้างเขื่อน โดยเฉพาะในขณะนี้ มีประชาชนมากกว่า 3,500 คน ต้องถูกขับไล่จากพื้นที่สร้างเขื่อนฮัตจี ไหลทะลักเข้ามาเป็นแรงงานในเขตประเทศไทยแล้ว และการละเมิดสิทธมนุษยชนจะยิ่งมากขึ้น หากเขื่อนฮัตจียังคงถูกผลักดันอย่างเต็มที่ และรัฐบาลยังมีแนวโน้มจะเห็นด้วยกันกับ กฟผ.ดังที่เป็นอยู่

นายมนตรีกล่าวด้วยว่า การมายื่นจดหมายในวันนี้ต้องการให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองได้รับทราบปัญหาและร่วมตัดสินใจ แต่ก็ต้องแสดงความเสียใจที่นายกฯ ไม่มีสปิริตมากพอที่จะมารับจดหมายจากประชาชนที่ร่วมลงชื่อกว่า 1,500 รายชื่อ ส่วนการดำเนินการต่อไปทางเครือข่ายจะทำการยื่นจดหมายและรายชื่อผู้ร่วมสนับสนุนต่อ ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานที่ให้ความสนใจ

จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมกันเผาพวงหรีดจำลองที่มีชื่อ กฟผ. บริษัทชิโนไฮโดร ประเทศจีน และกรมไฟฟ้าพลังน้ำ กระทรวงพลังงานไฟฟ้า สหภาพพม่า ซึ่งเป็น 3 กลุ่มที่จะร่วมกันสร้างเขื่อนฮัตจี และรูปภาพใบหน้าของนายกรัฐมนตรี และนายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมทั้งนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ ที่จะมาดำรงตำแหน่งแทนนายสมบัติ ที่จะครบวาระในวันที่ 17 ธ.ค.นี้

“ประชาชนใช้ชีวิตริมน้ำสาละวิน ทรัพยากรธรรมชาติของสาละวินมีความหมายกับชีวิตพวกเราที่สุด ถ้าแม่น้ำสาละวินเปลี่ยนแปลงไป เราคงอยู่ไม่ได้” นายไพโรจน์ พนาไพรสกุล ชาวบ้านบ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบหากมีการก่อสร้างเขื่อนฮัตจีกล่าว

ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ในฐานะประธานมูลนิธิการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ประเทศไทย กล่าวว่า การสร้างเขื่อนบนลำน้ำใหญ่มีความสำคัญในภูมิภาค การจัดการน้ำที่จะมีการดำเนินการในวันนี้ต้องมองอย่างเป็นระบบ เพราะแม้จะสร้างในประเทศหนึ่งผลกระทบก็จะส่งผลถึงอีกประเทศหนึ่งได้ ในส่วนของเขื่อนฮัตจีบนลำน้ำสาละวิน เรื่องการศึกษาผลกระทบของชุมชน เท่าที่ทราบ มีการศึกษาผลกระทบเพียง 4 หมู่บ้านในเขตพม่า โดยจำนวนไม่แน่นอน แต่ผลกระทบในไทยยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจน ส่วนในเรื่องสิทธิมนุษยชน การสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าในพม่าจะมีปัญหาในเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง นอกจากนี้ในเรื่องการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่ม ประเทศไทยยังไม่มีความต้องการในปัจจุบัน การผลิตเพิ่มจะยิ่งเป็นการผลักภาระให้ผู้ใช้ไฟในประเทศไทยผ่านค่าเอฟที

“ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็อยากให้ยกเลิกโครงการ แต่ในมุมวิชาการเราคิดว่าสิ่งเหล่านี้ยังไม่มีความชัดเจน น่าจะให้มีการชะลอหรือยุติการดำเนินการใดๆ ไว้ก่อน ณ วันนี้” นายหาญณรงค์แสดงความเห็น
 
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมได้สลายตัวจากบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อเวลาประมาณ 11.30 น.โดยกลุ่มชาวบ้านปกากะเญอได้เดินทางต่อไปยังโรงแรมรอยัลริเวอร์เพื่อมอบหนังสือให้กับ ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี สมาชิกคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในเวลา 15.00 น.
 

กลุ่มชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ รวมตัวแถลงเจตนารมณ์ คัดค้านเขื่อนสาละวิน
ในวันเดียวกัน เวลา 11.00 น. ทีสำนักงานชุมชนคนรักป่า อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กลุ่มชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ รวมตัวกันแสดงเจตนารมณ์คัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนฮัตจีบนแม่น้ำสาละวิน ร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของชาวบ้านและภาคประชาสังคม

นายวิมล  ดินุ ตัวแทนกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้อ่านคำประกาศเจตนารมณ์ หยุดการสร้างเขื่อนฮัตจี ปลดปล่อยแม่น้ำสายสุดท้ายแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นอิสระ เป็นภาคภาษาไทย หลังจากนั้น นางสาวรสรินทร์  สุจริตพินิจ ตัวแทนกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้อ่านคำประกาศเจตนารมณ์เป็นภาคภาษาอังกฤษ เพื่อสร้างความเข้าใจในเจตนารมณ์ที่แท้จริง อย่างทั่วถึงทั้งชาวต่างชาติและชาวไทย

 

 
คำประกาศเจตนารมณ์
 
 “หยุดการสร้างเขื่อนฮัตจี ปลดปล่อยแม่น้ำสายสุดท้ายแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นอิสระ” 
“Stop Hatgyi Dam! Let the last river of South East Asia run free!”
 
สาละวิน นับเป็นแม่น้ำสายเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยไม่ถูกสกัดกั้นด้วย “เขื่อน” สิ่งปลูกสร้างอันมหึมาของมนุษย์ ผู้ท้าทายสายน้ำและธรรมชาติ ที่เลี้ยงดูมนุษย์มาอย่างยาวนาน
 
การสร้างเขื่อนไฟฟ้าฮัตจี เกิดจากความร่วมมือของ 3 ประเทศ ผ่านบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดของไทย บริษัทชิโน โฮโดร คอร์ปอเรชั่น จำกัดของจีน และกรมไฟฟ้าพลังน้ำของพม่า ด้วยเป้าหมายและเหตุผลว่า “เขื่อนไฟฟ้าฮัตจีคือการ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนพม่าในพื้นที่โครงการ และการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ”
 
แต่สำหรับในแง่มุมของความเป็นจริงที่กำลังดำเนินไปนั้น
 
เรา ต้องแลกด้วยการละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ของพี่น้องชาติพันธุ์ในรัฐกระเหรี่ยงซึ่งเป็นพื้นที่โครงการ จากการพยายามเข้าควบคุมพื้นที่ของรัฐบาลทหารพม่า ด้วยการใช้กองกำลังสู้รบและขับไล่ชนกลุ่มน้อยให้ออกนอกพื้นที่
 
เรากำลังจะแลกด้วยการทำลายวิถีชีวิตพื้นถิ่นและชุมชนของพี่น้องสองฝั่งแม่น้ำสาละวินให้สลายไป
 
เรากำลังจะแลกด้วยการทำลายชีวิตของสายน้ำ ระบบนิเวศน์อันหลากหลายที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน
 
เรากำลังจะแลกด้วยชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากมายที่ต้องอพยพหนีตายทิ้ง บ้านเกิดเมืองนอนเพื่อมาเป็นผู้อพยพและแรงงานราคาถูกในประเทศไทย 
 
และเรากำลังจะสูญเสียสิ่งที่กล่าวมา เพียงเพื่อผลประโยชน์หลักของใครกัน ?
 
หรือเรากำลังถูกทำให้เชื่อว่า “การสร้างเขื่อนคือทางเลือกที่ดีที่สุด”
 
คำประกาศของเราในวันนี้
 
เราไม่ได้แค่ต้องการบอกให้เหล่าผู้มีอำนาจ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการสร้างเขื่อนแห่งนี้ทั้งหลาย ให้ยุติความคิดในการสร้างเขื่อนไฟฟ้าฮัตจีเท่านั้น แต่เราอยากจะบอกต่อสาธารณชนทั้งหลายว่า เรายังมีทางเลือกด้านพลังงานมากมายที่ทำได้โดยไม่ต้องทำร้ายผู้คน และธรรมชาติ เราสามารถสร้างพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม คลื่น น้ำขึ้นน้ำลง เป็นต้น
 
การพัฒนาพลังงานทางเลือกเหล่านี้อย่างจริงจัง สามารถนำไปสู่การแบ่งปันพลังงานระหว่างประเทศ การมีความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว การไม่ทำลายวิถีชีวิตและธรรมชาติ และสามารถรองรับกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืน ได้อย่างแน่นอน
 
ในท้ายที่สุดนี้ เรายังเชื่อมั่นในสิทธิของการเป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ ดังนั้นอนาคตของพวกเราทุกคน จึงต้องกำหนดร่วมกัน และแบ่งปันให้กันอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
 
สังคมที่ดีต้องมีพื้นที่สำหรับทุกคน
ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
23 พฤศจิกายน 2552
เชียงใหม่ ประเทศไทย
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท