Skip to main content
sharethis
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 52 ที่ผ่านมา ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่า ศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) หรือ เอแบคโพลล์ ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการ วิจัยเรื่อง ประเมินสถานการณ์ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในภาครัฐ และประสบการณ์ในการถูกเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีศึกษาประชาชนทั่วไป กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ และสมาชิกรัฐสภา ดำเนินการศึกษาระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม ถึง 19 พฤศจิกายน 2552 รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,129 ตัวอย่าง
ดร.นพดล กล่าวว่า ผลวิจัยได้พบสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.2 และ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.1 มองว่าปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในสังคมไทยอยู่ในระดับที่รุนแรงมากถึงมากที่สุด โดยประชาชนทั่วไปที่มีประสบการณ์ปัญหาต้องจ่ายเงิน เลี้ยงดูปูเสื่อ สินบน ส่วย และ เงินใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่รัฐตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมามีอยู่ ร้อยละ 39.8 ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมามีอยู่ร้อยละ 23.6 และในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีอยู่ร้อยละ 18.4 ในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจจะประสบปัญหาหนักมากกว่า คือ ร้อยละ 50.6 เคยต้องจ่ายในช่วงประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา ร้อยละ 34.6 เคยจ่ายในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และร้อยละ 26.0 เคยจ่ายในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เมื่อดูกรอบเวลาของปัญหา จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นมีแนวโน้มลดลง จากช่วงเวลาประสบการณ์ชีวิตของคนตอบ จนถึงช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา หมายความว่า ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นน้อยกว่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
โดยทั้งประชาชนทั่วไปและกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ ประสบปัญหาต้องจ่ายให้กับ “ตำรวจ” มากกว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ แต่สถานการณ์ปัญหาเริ่มลดลงเช่นกัน คือ ในกลุ่มประชาชนตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาเคยต้องจ่ายให้ตำรวจร้อยละ 27.8 ลดลงเหลือร้อยละ 12.3 ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา รองลงมาคือ กลุ่มเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ลดลงจากร้อยละ 11.1 เหลือร้อยละ 3.0 และเจ้าหน้าที่อำเภอ หรือสำนักงานเขต ลดลงจากร้อยละ 10.9 เหลือร้อยละ 3.9 ข้าราชการส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล และ อบจ. ลดลงจากร้อยละ 9.8 เหลือร้อยละ 4.7 แต่ที่น่าสังเกตจะพบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกกระทรวง ทบวง กรม มีปัญหาทุจริตคอรัปชั่นทั้งสิ้น กล่าวคือทั้งประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจต่างก็ประสบปัญหาทุจริตคอรัปชั่นกับเจ้าหน้าที่รัฐในทุกหน่วยงาน
โดยผลสำรวจพบด้วยว่า กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐที่ประชาชนทั่วไปเคยจ่ายเงิน เลี้ยงดูปูเสื่อ เป็นกลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อย ให้อันดับแรก หรือ ร้อยละ 86.6 ของคนที่เคยจ่ายระบุเป็น ตำรวจ รองลงมาคือ ร้อยละ 77.0 จ่ายให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล อบจ. เป็นต้น ร้อยละ 76.9 จ่ายให้เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ร้อยละ 73.5 จ่ายให้เจ้าหน้าที่กรมขนส่ง และร้อยละ 71.6 จ่ายให้เจ้าหน้าที่อำเภอ หรือสำนักงานเขต
แต่ในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจที่ยังคงต้องเลี้ยงดูปูเสื่อ หรือจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐ ระบุส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อย โดยส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 90.4 เป็นตำรวจ ร้อยละ 90.1 เป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ร้อยละ 87.0 เป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต ร้อยละ 84.1 เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต ร้อยละ 82.5 เป็นเจ้าหน้าที่กรมขนส่ง ร้อยละ 78.6 เป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ร้อยละ 76.3 เป็นข้าราชการ กทม. เทศกิจ ร้อยละ 75.0 เป็นทหาร และร้อยละ 59.1 เป็นเจ้าหน้าที่กรมการค้า ตามลำดับ
เมื่อวิเคราะห์ค่าสถิติเฉลี่ยของเงินที่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจต้องจ่าย เลี้ยงดูปูเสื่อ เงินสินบน ส่วย ใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ทุกกลุ่ม พบว่า เฉลี่ยเดือนละ 4,803 บาท ค่าต่ำสุดเดือนละ 500 บาท และค่าสูงสุดที่ค้นพบครั้งนี้คือ 40,000 บาทต่อเดือนที่น่าเป็นห่วงคือ แม้แต่ในกลุ่มสมาชิกรัฐสภา คือ ส.ส. และ ส.ว. ยังมีทัศนคติอันตรายที่มองว่าการทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดาในการประกอบธุรกิจ มีเกินกว่า 1 ใน 4 ของผู้ถูกศึกษาหรือร้อยละ 28.4 ของกลุ่ม ส.ส. และร้อยละ 30.2 ในกลุ่ม ส.ว. นอกจากนี้ ทัศนคติที่มองว่า รัฐบาลทุกรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าคอรัปชั่นแล้ว ทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดี ก็ยอมรับได้ มีเกินกว่า 1 ใน 4 เช่นกันหรือร้อยละ 26.5 ในกลุ่ม ส.ส. แต่ในกลุ่ม ส.ว.จะมีอยู่น้อยกว่าคือ มีอยู่ร้อยละ 15.4 ของผู้ถูกศึกษาที่เป็น ส.ส. และ ส.ว.ทั้งหมด
สำหรับข้อเสนอแนะจากประชาชนในการแก้ปัญหาคอรัปชั่น เกือบร้อยละร้อย เสนอแนะดังต่อไปนี้ อันดับแรก ควรมีระบบฐานข้อมูลเฝ้าระวังปัญหาทุจริตคอรัปชั่น รัฐบาลไทยและหน่วยงานรัฐต้องพร้อมถูกตรวจสอบจากภาคประชาชนอย่างโปร่งใส และทุกหน่วยงานของรัฐมีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ที่เป็นองค์กรอิสระภายนอกประจำกระทรวง หรือ หน่วยงานหลักต่างๆ และรณรงค์ปลูกจิตสำนึกความตระหนักต่อผลร้ายของปัญหาคอรัปชั่นแก่เด็กและเยาวชน ตามลำดับ
ผ.อ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า จากผลสำรวจชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า สาธารณชนมองสถานการณ์ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นอยู่ในระดับรุนแรงกว่าปัญหายาเสพติดประมาณ 4 ถึง 5 เท่า ทั้งในแง่ทัศนคติและประสบการณ์ปัญหาที่ประสบด้วยตัวเอง ดังนั้น รัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีนายกรัฐมนตรีมีภาพลักษณ์ความดีควรใช้จุดแข็งด้านความซื่อสัตย์สุจริตเป็นตัวนำทางสู่การปฏิบัติการกวาดล้างปัญหาทุจริตคอรัปชั่นให้ลดน้อยลงไปจากสังคมไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีน่าจะนั่งเป็นประธานแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นด้วยตนเอง เพราะประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมไทยทราบดีว่า การทุจริตคอรัปชั่นเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net