Skip to main content
sharethis

ขณะที่ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศยังไม่คลี่คลาย แต่แรงงานผลิตชุดกีฬาในฮอนดูรัสก็มีข่าวดี จากการที่ทางบริษัทยอมรับคนงาน 1,200 คนที่ถูกลอยแพกลับเข้าทำงาน โดยมีกลุ่มนักศึกษาสิทธิแรงงานจากหลายมหาวิทยาลัยกดดันด้วยการยกเลิกสัญญาสั่งซื้อ นักวิเคราะห์ชี้สถาบันการศึกษาเป็นผู้ซื้อรายสำคัญ

บริษัทรัสเซลการกีฬา ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชุดกีฬา ยอมรับข้อตกลงนำคนงานชาวฮอนดูรัสกว่า 1,200 รายกลับเข้าทำงานหลังจากที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากการตั้งสหภาพฯ

การตัดสินใจดังกล่าวของบริษัทเครื่องกีฬา เกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ โดยนิวยอร์กไทม์ ระบุว่ามีสถาบันการศึกษา 89 สถาบันในสหรัฐฯ เช่น จอร์จทาวน์, มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-ลอสแองเจลิส (UCLA), วิทยาลัยบอสตัน, โคลัมเบีย, ฮาร์วาร์ด, มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก, สแตนฟอร์ด, มิชิแกน และ นอร์ท แคโรไลนา ร่วมสนับสนุนในโครงการสหพันธ์นักศึกษาต้านการกดขี่แรงงาน (United Students Against Sweatshops)
 
เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา บริษัทรัสเซลการกีฬา ซึ่งเป็นบริษัทของสหรัฐฯ ปิดโรงงานผลิตในฮอนดูรัส หลังจากที่คนงานตั้งสหภาพแรงงาน ทำให้คนงานกว่า 1,200 คน ในฮอนดูรัสถูกลอยแพ
 
ทางสถานศึกษาและมหาวิทยาลัยในโครงการร่วมกดดันบริษัทด้วยการยกเลิกหรือระงับสัญญาการสั่งทำชุดกีฬาจากบริษัทรัสเซลของแต่ละสถานศึกษา ซึ่งสัญญาบางชิ้นมีมูลค่าถึง 1 ล้านดอลลาร์ มีนักวิเคราะห์ระบุว่าสถานศึกษาถือเป็นตลาดสำคัญของรัสเซล
 
นอกจากนี้ยังมีการประท้วงในการแข่งขันบาสเกตบอล NBA การแจกใบปลิวในร้านเครื่องกีฬาสปอร์ตออโธริตี้ และมีการส่งข้อความผ่านโปรแกรมทวิตเตอร์ (Twitter) ให้กับกับลูกค้าร้านดิกส์เครื่องกีฬาเพื่อเรียกร้องให้พวกเขาเลิกใช้สินค้าของรัสเซลด้วย
 
ในข้อตกลงล่าสุด บริษัทรัสเซลไม่เพียงยอมรับคนงานกลับเข้าทำงานเท่านั้น ยังมีการยินยอมให้ตั้งโรงงานใหม่ในฮอนดูรัสในฐานะเป็นโรงงานของสหภาพฯ และสัญญาว่าจะไม่ต่อต้านการตั้งสหภาพฯ ในอีก 7 โรงงานที่เหลือ
 
เมล เทนเนน ผู้จัดการสัญญาซื้อจากมหาวิทยาลัยไมอามี่ บอกว่า น้อยครั้งที่บริษ้ทร่วมทำสัญญารายใหญ่จะให้ความยุติธรรมกับคนงาน และเขาจะกลับไปทำสัญญากับบริษัทอีกครั้งหลังจากที่บริษัทยอมรับข้อตกลง
 
ไมค์ พาวเวอร์ เจ้าหน้าที่สภาองค์กรสิทธิแรงงาน (Worker Rights Consortium - WRC) จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล บอกว่าเขายกเลิกสัญญากับรัสเซล เนื่องจากการปิดโรงงานในฮอนดูรัสของรัสเซลเป็นการละเมิดระเบียบการของมหาวิทยาลัยว่าด้วยการให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการรวมกลุ่มของแรงงาน
 
จอห์น ชีเวล โฆษกของบริษัทรัสเซล กล่าวว่า พวกเขาพอใจกับข้อตกลงระหว่างรัสเซลการกีฬากับสมาคมพิทักษ์สิทธิแรงงาน แต่ก็ปฏิเสธจะกล่าวถึงเหตุผลที่พวกเขามีท่าทีอ่อนข้อต่อการจัดตั้งสหภาพ หลังจากที่พวกเขาเคยต่อต้านสหภาพฯ อย่างหนักมาหลายปี
 
ในแถลงการณ์ที่บริษัทรัสเซลร่วมออกกับสหภาพแรงงานในฮอนดูรัส บริษัทบอกว่าข้อตกลงฉบับดังกล่าว เป็นการสนับสนุนสิทธิแรงงานในฮอนดูรัส และถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์แรงงานสิ่งทอในฮอนดูรัสและในอเมริกกลาง
 
ก่อนหน้านี้ คนงานชาวฮอนดูรัสกล่าวประณามรัสเซลในเรื่องที่พวกเขาเลิกจ้างคนงาน 145 คน ในปี 2007 เนื่องจากคนงานร่วมสนับสนุนสหภาพแรงงาน รองประธานสหภาพฯ นอร์มา เมเจีย บอกว่า ได้รับการข่มขู่คุกคามหลังจากการที่เขาร่วมเป็นผู้นำสหภาพฯ
 
มอยเซส อัลวาราโด ประธานสหภาพฯ ของโรงงานที่ถูกปิดไปบอกว่า การที่พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และพวกเขาประทับใจที่นักศึกษาในสหรัฐฯ มีสำนึกทางสังคม
 
ชัยชนะในครั้งนี้ไม่ใช่ได้มาในชั่วข้ามคืน การเคลื่อนไหวร่วมกับนักศึกษาในครั้งนี้อาศัยการจัดตั้งมานานถึง 10 ปี มีการเจรจาร้องขอให้มหาวิทยาลัยจำนวนมากนำระเบียบการมาใช้กับโรงงานร่วมสัญญาอย่างรัสเซล นอกจากนี้แล้ว บางครั้งนักศึกษายังพากันมานั่งจับกลุ่มประท้วงเป็นเวลานานเพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยของพวกเขาตั้งหน่วยงานอิสระคือ สมาคมพิทักษ์สิทธิแรงงาน ที่คอยตรวงสอบว่าโรงงานปฏิบัติตามระเบียบการของมหาวิทยาลัยหรือไม่
 
สก้อต โนวา ผู้อำนวยการสภาองค์กรสิทธิแรงงาน (WRC) ซึ่งมีสมาชิกร่วมมากกว่า 170 มหาวิทยาลัย บอกว่า กรณีรับคนงานฮอนดูรัสกลับเข้าทำงานนั้นทำให้ทางมหาวิทยาลัยมองเห็นว่าพวกเขามีอิทธิพลต่อบริษัทแบรนเนมชั้นนำและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้
 
โนวา กล่าวอีกว่า ข้อตกลงในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในพื้นที่แถบนี้ซึ่งน้อยครั้งการต่อสู้เพื่อเคารพสิทธิแรงงานจะได้รับชัยชนะ โดยโนวา กล่าวชื่นชมผู้บริหารของรัสเซลว่า ผู้บริหารคงทราบแล้วว่ามันถึงเวลาที่จะต้องดำเนินตามแนวทางใหม่ และต้องตัดสินใจในสิ่งที่สำคัญต่อความสำเร็จของบริษัท
 
ก่อนหน้านี้ กลุ่มสหพันธ์นักศึกษาต้านการกดขี่แรงงานได้ติดต่อนักศึกษาจากกว่า 100 สถาบัน และมีการส่งจดหมายที่มีการลงนามของสมาชิกสภาคองเกรส 65 ราย โดยในเนื้อความจดหมายมีการแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานของบริษัทรัสเซล
 
 
 
 
 
แปลและเรียบเรียงจาก
Labor Fight Ends in Win for Students, Steven Greenhouse, The New York Times, 17-11-2009

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net