Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 คณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ลงไปสำรวจข้อมูลวิจัย “แนวทางในการสร้างสรรค์รายการวิทยุชุมชนเด็ก เยาวชน และครอบครัว” ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ คลื่นความถี่เอฟเอ็ม 88.75 แมกกะเฮิร์ต

ชาวอำเภอดอยหล่อกับประสบการณ์วิทยุชุมชน
สถานีวิทยุชุมชนอำเภอดอยหล่อ คลื่นความถี่ เอฟเอ็ม 88.75 แมกกะเฮิร์ต ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2550 โดยการสนับสนุนจากองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 21 องค์กรในอำเภอดอยหล่อจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งเพื่อให้เป็นสื่อสร้างสรรค์ มุ่งมั่นพัฒนา ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของท้องถิ่น สมดังคำขวัญประจำสถานีวิทยุที่ว่า “คลื่นสีขาวเพื่อชาวประชา”

ช่วงแรกของการก่อตั้งสถานีวิทยุชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล 4 แห่ง คือ อบต.ดอยหล่อ อบต. สองแคว อบต.สันติสุข และอบต.ยางครามได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการซื้อเครื่องส่งและเสาอากาศและตั้งสถานีวิทยุชุมชนอยู่ที่วัดพระธาตุดอยน้อย ตำบลดอยหล่อ

ปัจจุบัน สถานีวิทยุชุมชนอำเภอดอยหล่อมีงบประมาณในการบริหารจัดการที่เพียงพอ สามารถซื้ออุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยในการถ่ายทอดสดตามสถานที่ต่างๆในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากเงินระดมทุนทอดผ้าป่าวิทยุชุมชนปีละ 1 ครั้ง และแรงศรัทธาจากผู้คนในชุมชนที่มาร่วมแรงร่วมใจกันจัดรายการวิทยุชุมชนโดยไม่หวังผลค่าตอบแทน

เครือข่ายโรงเรียนในอำเภอดอยหล่อร่วมจัดรายการวิทยุเด็ก
“รายการรอบรั้วโรงเรียน” เป็นรายการวิทยุที่โรงเรียนในอำเภอดอยหล่อ ตั้งแต่โรงเรียนระดับประถมศึกษา โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา จนกระทั่งโรงเรียนขยายโอกาส จำนวน 17 แห่ง จะรู้ร่วมกันว่าทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลาพักเที่ยงของเด็กนักเรียนคือ เวลา 12.00-13.00 น. และหลังเลิกเรียน เวลา 16.30-18.00 น. จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาจัดรายการวิทยุชุมชน เพื่อให้สาระความรู้และความบันเทิงแก่เด็กๆ เยาวชน และผู้ปกครองในชุมชนอำเภอดอยหล่อ

เด็กหญิงนิตยา สุดสายตา เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และเด็กชายอัษฎาวุธ วรรณะ เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ผู้จัดรายการจากโรงเรียนบ้านสามหลัง เล่าว่า “ทุกวันอังคาร เวลา 12.00-13.00 น. ซึ่งเป็นเวลาพักเที่ยง ผู้อำนวยการโรงเรียนจะนำรถมารับไปจัดรายการวิทยุที่สถานีวิทยุชุมชนอำเภอดอยหล่อบนพระธาตุดอยน้อย ช่วงระหว่างเดินทางก็ทานอาหารกลางวันบนรถไปด้วย พอถึงสถานีวิทยุชุมชนก็จัดรายการวิทยุได้เลย

เนื้อหาที่จัดในรายการส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจกรรมของโรงเรียน บทบาทหน้าที่ของผู้ปกครองที่มีต่อเด็ก การจัดการศึกษาของภาครัฐ ความคิดความต้องการของเด็ก และวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น

เหตุผลที่อาสาสมัครมาจัดรายการวิทยุ เพราะชอบ มีความสนใจอยู่แล้ว แล้วพ่อแม่ก็ภาคภูมิใจด้วย ไปที่ไหนในชุมชนก็มีคนรู้จัก และจากเดิมที่ไม่กล้าพูด ก็ได้ฝึกพูด ฝึกแสดงออกในทางที่ถูกต้อง”

รายการของผู้ปกครอง : กีฬา ข้อคิด วัฒนธรรมท้องถิ่น เด็กๆต้องรู้จัก
นอกจากรายการที่เด็กๆและคุณครูร่วมกันทำรายการวิทยุแล้ว ผลจากการศึกษาวิจัยยังพบอีกว่า มีรายการกีฬาบันเทิง รายการแก่เห็ดลมแช่น้ำกินได้ (แก่แต่มีคุณค่า) รายการบ่าวเคิ้น และอีก 10 กว่ารายการต่างมุ่งเน้นให้เด็กๆในชุมชนมีคุณธรรม จริยธรรม และภูมิใจในความเป็นคนท้องถิ่น โดยบรรยากาศของการจัดรายการวิทยุจะเหมือนกับคุณปู่คุยกับหลานๆในชุมชน

สามเณรน้อยขอมีเสียงในชุมชน
พระประสบโชค วิสุทธิธารี จากวัดพระธาตุดอยน้อย กล่าวว่า “ในสังคม สามเณรแทบจะไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น หรือมีพื้นที่สื่อของสามเณรเลย ทั้งที่สามเณรก็อยากบอกเรื่องราว ปัญหาของสามเณรให้คนในชุมชนรับรู้ เข้าใจ และช่วยกันแก้ปัญหาเช่นกัน ดังนั้น ทางสถานีวิทยุชุมชนอำเภอดอยหล่อ ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุดอยน้อย ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงจัดให้มีรายการสำหรับสามเณรน้อย มีชื่อรายการว่า “รายการธรรมะหรรษา” จะออกอากาศช่วงหลังเวลาฉันเพลแล้ว โดยจะมีสามเณรน้อยประมาณ 23 รูปจากวัดพระธาตุดอยน้อยและวัดปากทางเจริญ หมุนเวียนกันมาเล่านิทานธรรมะ ซึ่งสอดแทรกคติธรรมให้แก่คนในสังคม”

นอกจากมีรายการวิทยุสำหรับสามเณรแล้ว ยังมีรายการทำวัตรสวดมนต์ ของพระอธิการบรรยง อภิวฑฺฒโน ออกอากาศทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 18.00-20.00 น. โดยให้เด็กในชุมชนโทรศัพท์เข้ามาในรายการวิทยุ เพื่อนำผู้ฟังทางบ้านสวดมนต์ก่อนเข้านอนทุกวัน

“โรงเรียน วัด ชุมชน” จับมือฝึกอบรมผู้จัดรายการวิทยุเด็กฯ
ผลจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ไม่เพียงได้ค้นพบรายการวิทยุเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และครอบครัวเท่านั้น ยังนำไปสู่การพัฒนาเป็นโครงการฝึกอบรมผู้จัดรายการวิทยุเด็ก เยาวชน และครอบครัวอีกด้วย โดยองค์การบริหารส่วนตำบล 4 แห่งในอำเภอดอยหล่อ ได้แก่ อบต.ดอยหล่อ อบต.สองแคว อบต.สันติสุข และอบต.ยางคราม รวมทั้งสภาวัฒนธรรมดอยหล่อ สำนักงานวัฒนธรรมดอยหล่อ สถานีวิทยุชุมชนอำเภอดอยหล่อ และคณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะร่วมกันจัดโครงการฝึกอบรมผู้จัดรายการวิทยุชุมชนเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการฝึกอบรม ระหว่างวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2552 นี้

“คลื่นสีขาวของเด็กและครอบครัว” ดอยหล่อ
ความร่วมแรงร่วมใจกันของโรงเรียน วัด และชุมชนในอำเภอดอยหล่อ เพื่อร่วมกันใช้พื้นที่สื่อวิทยุชุมชนแห่งนี้ นอกจากจะเพิ่มเสียงเด็กกลุ่มต่างๆในสังคมแล้ว ยังเป็นการใช้พื้นที่สื่ออย่างสร้างสรรค์ คุ้มค่าเพื่อปลูกฝังจริยธรรมคุณธรรม และวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไปด้วย

เหนือสิ่งอื่นใด...คือ ความร่วมแรงร่วมใจกันของชาวดอยหล่อ ที่จะทำให้คลื่นวิทยุที่เดี๋ยวนี้มีอยู่มากมาย (ที่หลายคนอาจรู้สึกว่าไร้สาระ) กลายเป็น..คลื่นสีขาวของเด็กและครอบครัว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net