Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ประวัติศาสตร์สอนให้คนรู้ว่า คนไม่ได้เรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย:
Hegel, George Wilhelm Friedrich

 
ตั้งแต่ ปี 2521 ถึงปัจจุบัน “ระบอบผลประโยชน์นิยม” ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้สนับสนุน และผู้ทำลายประชาธิปไตยในเวลาเดียวกัน, เป็นผู้ออกแบบสถาบันต่าง ๆ ทางการเมือง โดยอาศัย “นักวิชาการศักดินา” (Technocrats) เป็นผู้สร้างภาพ, ป้อนข้อมูล, ครอบงำความคิด และกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ ให้เดินไปตามทิศทางที่ “ระบอบประโยชน์นิยม” ต้องการ
 
“ระบอบผลประโยชน์นิยม” อาศัยความยืดหยุ่นปรับตัวให้เข้ากับชนชั้นกลุ่มผลประโยชน์ บางครั้งยอมรับ ที่จะอยู่ใต้กฎเกณฑ์ – บางครั้งก็ไม่ยอมรับกฎเกณฑ์. คราวใดที่การเมืองมาถึงจุดวิกฤติ “ระบอบผลประโยชน์นิยม” จะตัดสินใจว่า จะปกป้องหรือจะเป็นผู้ทำลาย “ประชาธิปไตย” แล้วแปลงร่างเป็น “ระบอบเผด็จการ”
 
ทั้งสิ้นทั้งปวง เพื่อปกปักษ์รักษา “ระบอบผลประโยชน์นิยม” ให้คงอยู่ต่อไป.!!!
 
“ระบอบผลประโยชน์นิยม” กลัวว่าความเป็น “ประชาธิปไตย” จะกระทบต่อฐานอำนาจ และผลประโยชน์ของพวกเขา, เช่นเดียวกับที่ “ระบอบทุนนิยม” ต่อต้านระบอบสังคมนิยม – คอมมิวนิสต์ ด้วยความหวาดกลัวแบบสุดจิตสุดใจ
 
นับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2523 “ระบอบผลประโยชน์นิยม” ใช้เงินซื้อเสียง เพื่อสกัดกั้น สส. “ฝ่ายซ้าย” ไม่ให้เข้าสู่สภา เพราะกลัวว่าถ้ามี ส.ส. ฝ่ายซ้ายในรัฐสภาจำนวนมาก รัฐบาลก็จะต้องเป็นประชาธิปไตย (มากขึ้น), อันอาจจะนำไปสู่การเป็น “รัฐคอมมิวนิสต์” หรือรัฐที่มีแนวอุดมการณ์แบบสังคมนิยมได้ง่ายขึ้น
 
ระบอบผลประโยชน์นิยมจึงสร้างสูตรสำเร็จเพื่อให้พรรคการเมืองภักดีต่อระบอบ มากกว่ารับใช้ประชาชน
สูตรสำเร็จคือ>>นายทุน/นักธุรกิจซื้อพรรคการเมือง >> พรรคฯ ซื้อผู้ตัวสมัคร ส.ส. >> ผู้สมัคร ส.ส.   ซื้อหัวคะแนน >> หัวคะแนนซื้อเสียงประชาชน
 
ปี 2524 ระบอบผลประโยชน์นิยม ออก พ.ร.บ.พรรคการเมือง, บทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ ; กำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีสมาชิกพรรคจากทุกภาคของประเทศ, กำหนดให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวนมาก เพื่อบีบให้พรรคการเมืองแนวสังคมนิยมต้องสลายไปในที่สุด
 
หัวหน้าพรรคการเมือง ที่มีเสียง ส.ส. มากที่สุด จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี, เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค, จัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีตามสัดส่วน ส.ส., ทั้งหมดกลายเป็นบทละครการเมืองน้ำเน่า - ซ้ำซาก
 
3 ทศวรรษที่ผ่านมา จึงเป็นยุคทองของ “ผู้หิวโหย” เป็นยุคของการลงทุนทางการเมืองของนักธุรกิจการเมือง, เป็นยุคทองของการแสวงหาผลประโยชน์จากการลงทุน (ทางการเมือง), เป็นยุคของการต่อสู้ แย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มธุรกิจการเมือง ที่อยู่เบื้องหลังพรรคการเมือง
 
สุดท้าย - กลายเป็นความเคยชิน กลายเป็นการประนีประนอม กลายเป็นการต่อรอง ระหว่าง ระบอบผลประโยชน์นิยม กับฝ่ายที่ต้องการความเป็นประชาธิปไตย (เพราะถูกประชาชนเรียกร้อง - กดดัน)
 
เมื่อต่อรองกันไม่ได้ – ก็ต้องล้มโต๊ะ
 
ปี 2548 “ระบอบผลประโยชน์นิยม” หนุนหลังขบวนการเสียงข้างน้อยทั้งใน และนอกสภา “ให้ไม่ยอมรับ” ผลการเลือกตั้ง – กล่าวหาว่าพรรคการเมือง “เสียงข้างมาก” ทุจริตคอรัปชั่น, ซื้อเสียง. กระทั่งใช้ ”คำพิพากษา” เพื่อยุบพรรคการเมืองฝ่ายปฏิกิริยา
 
“รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549” จึงเป็นเพียงทางเลือกสุดท้าย ที่จะโค่นล้มพรรคการเมืองของ “ผู้ชนะ”; เพียงแค่นโยบาย “ประชาธิปไตยแบบกินได้” ยังสร้างความนิยมได้มากขนาดนี้ - ถ้าวันไหนชูยุทธศาสตร์ “ประชาธิปไตยเพื่อเสรีภาพ – เสมอภาค – ภราดรภาพ” นึกไม่ออกว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับระบอบผลประโยชน์นิยม? (บทสัมภาษณ์ล่าสุด / ทักษิณ ชินวัตร‘Time online; , “...ผมเล่นการเมืองโดยไม่ทำความเข้าใจ ให้ดีถึงโครงสร้างอำนาจของสังคม ผมพยายามที่จะจัดการให้เหมือนนักธุรกิจ พยายามที่จะทำการตลาด ทำการรณรงค์ และทำด้านการค้า ผมพยายามที่จะช่วยคนยากจน และรณรงค์เพื่อให้ได้รับความนิยม รณรงค์ในเรื่องที่ผมได้ทำสำหรับพวกเขา และทำงานหนักเพื่อพวกเขาโดยลืมนึกถึงความสลับซับซ้อนของโครงสร้างอำนาจของการเมืองไทย ผมไม่เดียงสาในเรื่องนั้น ผมจึงได้สะดุด...”)
 
วันนี้ – พรรคการเมืองที่ต้องการจะอยู่ในเกมการเมือง, เกมแห่งอำนาจ และเกมแห่งผลประโยชน์ จะต้อง รู้จักประจบสอพลอ เอาอกเอาใจ แสดงความความจงรักภักดี - ยอมตัวเป็นทาสรับใช้ ยอมตัวเป็น “เสาค้ำยัน” เพื่อเสริมพลังอำนาจให้กับ “ระบอบผลประโยชน์นิยม”!!!
 
วัฏจักรซ้ำซาก; ต่อรอง – ผลประโยชน์
 
คำถามแรกคือ เมื่อไหร่การเมืองไทย จะหลุดพ้นจากการ “ต่อรอง” กับระบอบผลประโยชน์นิยม ?
 
วันนี้สังคมแบ่งเป็น 2 ฝ่าย “ฝ่ายหนึ่ง” ชนะเลือกตั้ง 3 ครั้งหลังสุด มีเสียงส่วนใหญ่ของประเทศสนับสนุนถูกประณามว่าเป็นพวก “ทรยศชาติ”, ขณะที่ “ผู้กล่าวหา” กลับได้รับการดูถูกเกลียดชังจากประชาชน ต้องคอยปิดบังความอัปยศอดสูตัวเอง เพียงเพื่ออำพรางความเป็น “ทรราช” ของตัวเองไว้.!!!
 
คำถามสุดท้าย คือ “ผู้ทรยศชาติ” กับ “ทรราช” – จะ “ต่อสู้” หรือจะ “ต่อรอง” (กันอีกครั้ง)?
ถ้าอดีตกับปัจจุบัน ตอบคำถามนี้ไม่ได้ – คงต้องรอให้ “อนาคต” เป็นผู้ตอบคำถามนี้!!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net