Skip to main content
sharethis

ในงานสัมมนา "การตอบโต้กัมพูชา: มิติทางกฎหมายและการต่างประเทศ" นักวิชาการรัฐศาสตร์จุฬาฯ มองว่าทั้งความสมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ควรเหมือน “ชกมวย” ควรมีวุฒิภาวะมากกว่านี้ แจงอภิสิทธิ์ จะทำเพื่อคะแนนเสียงอย่างเดียวหรือจะทำเพื่อผลประโยชน์ที่ไทยมีต่อกัมพูชา

วันนี้ (16 พ.ย.) ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดสัมมนา “การตอบโต้กัมพูชา: มิติทางกฏหมายและการต่างประเทศ” หนึ่งในวิทยากรคือ ผศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการแถลงข่าวของฮุนเซนนั้น ส่อให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชามีการเชื่อมโยงมาตั้งแต่เรื่องปราสาทเขาพระวิหาร พวงทองยังได้บอกอีกว่าที่กัมพูชาลุกขึ้นมาท้าทายไทย เมื่อเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว เพราะว่ากัมพูชาติดต่อค้าขายกับจีนมากกว่าติดต่อค้าขายกับไทย

กรณีความสัมพันธ์ระหว่างทักษิณกับฮุนเซน พวงทอง ให้ความเห็นว่าทั้งคู่ต่างก็ใช้กันและกัน และถ้าฝ่ายไทยเรากล่าวโทษกัมพูชาด้วยเรื่องของทักษิณแต่เพียงอย่างเดียว ทางฝ่ายกัมพูชาก็จะโต้ตอบไทยกลับมาแต่เรื่องของการปกป้องทักษิณเพียงอย่างเดียว แล้วจะไม่นำไปสู่การแก้ไขที่ต้นตอ
 
“ฮุนเซนติดตามการเมืองไทยเป็นอย่างละเอียดมาก รู้ถึงความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อคุณทักษิณ” พวงทองกล่าว
 
พวงทอง กล่าวโดยอ้างถึงพาดหัวของสื่อเวลารายงานเรื่อง ไทย-กัมพูชา ว่าราวกับสองประเทศกำลัง “ชกมวย” กัน ที่ใครหมัดหนักกว่าก็ได้คะแนนดีกว่า อย่างไรก็ตาม พวงทอง ให้ความเห็นว่าเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศควรปฏิบัติอย่างมีวุฒิภาวะมากกว่านี้ เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างเสียงเครดิตด้านการต่างประเทศมาก่อนแล้ว โดยฮุนเซนเสียเครดิตด้านการต่างประเทศไปแล้ว ส่วนไทยเองก็เสียเครดิตจากกรณีปราสาทเขาพระวิหาร
 
“ถ้ายังคงแลกหมัดกัน ก็จะพังกันทั้งคู่” พวงทองกล่าว
 
พวงทองกล่าวอีกว่า และความขัดแย้งในครั้งนี้ก็ได้รับแรงหนุนจากประชาชนในประเทศด้วย ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะทำเพื่อคะแนนเสียงอย่างเดียว หรือจะทำเพื่อผลประโยชน์ที่เรามีกับกัมพูชา
 
จากนั้นจึงได้กล่าวถึงเป้าหมายการโต้ตอบทางการเมืองระหว่างประเทศโดยผ่านสามกระบวนการคือ
หนึ่ง แสดงความไม่พอใจให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้, สอง จี้จุดอ่อนของอีกฝ่ายหนึ่ง, สาม คือการสนองตอบกระแสสังคมภายใน ซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์สามารถบรรลุเป้าหมายเพียงข้อแรกเท่านั้น ขณะที่ข้อที่สามแม้โพลล์สำรวจจะออกมาว่าการเรียกทูตไทยกลับจากเขมรจะทำให้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น แต่นั่นก็เป็นเรื่องชั่วคราว เพราะต่อมาคนไทยจะเริ่มสงสัยในสถานการณ์มากขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม พวงทองวิจารณ์รัฐบาลไทยว่า รัฐบาลไทยควรยื่นหนังสือประท้วงกับทูตของกัมพูชา ก่อนใช้มาตรการเรียกตัวทูตไทยกลับจะเป็นไปตามหลักการขั้นตอนการต่างประเทศมากกว่า การเรียกทูตกลับเร็วเกินไปทำให้ไทยสามารถใช้มาตรการต่อจากนี้ได้หากยังมีการขัดข้อเรียกร้อง
 
โดยอาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯ บอกอีกว่า อยากให้เกิดการยุติความขัดแย้ง โดยฝ่ายที่หยุดก่อนก็ไม่ได้ถือว่าเป็นฝ่ายเสียหน้า แต่ถ้าไม่หยุดอาเซียนอาจต้องมีการใช้อาเซียนทรอยก้า (มติเพื่อสนับสนุนการทำงานประสานความร่วมมือเมื่อเกิดปัญหาทางการเมืองหรือความสัมพันธ์ในภูมิภาคอาเซียน - ประชาไท) มีดำเนินการเจรจาแบบทวิภาคี ซึ่งจะเป็นการรักษาหน้าตาของอาเซียนไว้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net