Skip to main content
sharethis
        
15 พ.ย. 52 นายอิทธิพล แจ่มแจ้ง ประธานชมรมคณะกรรมการชุมชนเทศบาลเมืองมาบตาพุด เปิดเผยว่า หลังรัฐบาลมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อแก้ไขปัญหากรณีพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียงในจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามก่อนเดินทางไปประชุมเอเปก เมื่อรายชื่อคณะกรรมการถูกเปิดเผยออกมา 4 ฝ่าย ฝ่ายละ 4 คน ทำให้ฝ่ายผู้นำชุมชนเกิดข้อสงสัยว่าเพราะเหตุ คณะทำงานภาคประชาชนที่รัฐบาลแต่งตั้ง จึงไม่มีคนในพื้นที่ ได้รับการพิจารณาเป็นกรรมการ อีกทั้งส่วนใหญ่ ยังเป็นคนใน กทม.บ้าง คณะเอ็นจีโอบ้าง ซึ่งใส่ร้ายต่อภาพพจน์มาบตาพุดเสมอ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกลับถูกเมินในการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งที่ผู้นำชุมชนในพื้นที่ก็ได้เรียกร้องเรื่องนี้มาตลอดให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณา 76 โครงการ ประชาชนในพื้นที่มีความกังวลเรื่องสุขภาพอนามัย มลภาวะสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ รัฐกลับแต่งตั้งคนที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับชุมชนในพื้นที่มานั่งในฐานะผู้แทนภาคประชาชน อีกทั้งกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ฟ้องในคดีศาลปกครอง มีความเหมาะสมหรือไม่ที่จะมานั่งในกรรมการชุดนี้ล่าสุด
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดนี้ใช้ชื่อเต็มว่า "คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" มีองค์ประกอบ 4 ฝ่าย คือ 1.ภาคประชาชน มีตัวแทน 4 คน ได้แก่ นายชูชัย ศุภวงศ์ นางเรณู เวชรัชต์พิมล นายสุทธิ อัชฌาศัย และนายหาญนรงค์ เยาวเลิศ 2.ภาครัฐ มีตัวแทน 4 คน คือ ตนเอง ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม 3. ผู้ทรงคุณวุฒิ มีตัวแทน 5 คน คือ นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด นายธงชัย พรรณสวัสดิ์, นายสุทิน อยู่สุข, น.ส.สมฤดี นิโกรวัฒนยิ่งยง และนายสมรัตน์ ยินดีพิธ 4.ภาคเอกชน มีตัวแทน 4 คน คือ นายชายน้อย เผื่อนโกสุม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR), นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายมหาบีร์ โกเดอร์ นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจวัตถุอันตราย และนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ส่วนฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการชุดนี้มอบหมายให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบ และทำหน้าที่หน่วยธุรการของคณะกรรมการ
 
 
นายอิทธิพลระบุด้วยว่า ผู้นำชุมชนในพื้นที่มาบตาพุด จะจัดการประชุมหารือประเด็นดังกล่าวเพื่อให้มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ทำหนังสือยื่นต่อนายอภิสิทธิ์ และนายอานันท์ ปันยารชุน ในฐานะประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ให้ทบทวนกรรมการผู้แทนภาคประชนชนในวันอังคารที่ 17 พ.ย. ก่อนที่นายกฯจะเข้าร่วมประชุมครม. โดยมีเงื่อนไขให้เลือกภาคประชาชนในพื้นที่ เพราะที่ผ่านมามีคนไปแอบอ้างว่าเป็นประชาชนชาวบ้านมาบตาพุดอยู่เสมอ พร้อมวอนเอ็นจีโอ ที่นั่งแทนที่ภาคประชาชนถอนตัวเพื่อความสง่างามและเกิดการมีส่วนร่วมในคณะกรรมการชุดนี้
 
คณะทำงาน4ฝ่ายแก้มาบตาพุดเริ่มทำงานสัปดาห์หน้า
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ ถึงกรณีการแก้ไขปัญหามาบตาพุด และในเรื่องของการหาความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรม ว่าในแง่ของกฎหมายจะนำเสนอต่อสภาฯ ระเบียบต่าง ๆ ที่จะมารองรับมาตรา 67 วรรคสองนั้นได้มีการอนุมัติไปแล้ว แต่ว่าเพื่อที่จะให้เกิดความมั่นใจ ไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้น เมื่อทางภาคประชาชนมีความริ่เริ่มว่าน่าจะมีคณะกรรมการขึ้นมาสักชุดหนึ่งประกอบไปด้วย 4 ฝ่ายคือ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และภาควิชาการ ในที่สุดทางรัฐบาลได้สนองตอบโดยการตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว โดยได้เชิญท่านอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน มาทำหน้าที่เป็นประธาน และมีผู้แทนจาก 4 ฝ่ายที่ได้กล่าวมาแล้ว คณะกรรมการชุดนี้ก็จะดูว่าใน 30 วันจะจำแนกแยกแยะ 76 โครงการ เพื่อจะดูว่าการเดินต่อของโครงการเหล่านี้มีประเด็นเงื่อนไขอะไรที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ความมั่นคงระหว่างกันและกัน
 
ภายใน 60 วันก็จะเข้าไปดูว่าเรื่องของการจัดทำแผนเพื่อรองรับการเป็นเขตควบคุมมลพิษ และเรื่องของการที่จะแก้ไขปัญหา มีมาตรการเยียวยาในเรื่องต่าง ๆ ก็จะสามารถดำเนินการได้ และภายใน 120 วัน ประเด็นที่ยังเป็นข้อโต้แย้งกันอยู่เกี่ยวกับเรื่องกฎหมายใหม่ที่จะออกมา หรือระเบียบต่าง ๆ ที่จะนำออกมาใช้ ก็จะได้มีการรับฟังความคิดเห็นพร้อม ๆ กันไปด้วย ซึ่งตรงนี้จะต้องมีการดำเนินการกันต่อไป คำสั่งได้ออกไปแล้ว และคาดว่าตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไปคณะกรรมการชุดนี้ก็จะเริ่มทำงานได้ ส่วนคดีในศาลปกครองนั้นก็ว่าไปตามกระบวนการของศาล
 
"มาร์ค" ฟุ้งในเวทีเอเปก ชี้นักธุรกิจสหรัฐพอใจแนวทางการแก้ปัญหามาบตาพุดของไทย
ด้านสำนักข่าวไทยรายงานเมื่อวันที่ 14 พ.ย. ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก   ครั้งที่ 17 และการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน ที่ประเทศสิงคโปร์ ว่าช่วงนายกรัฐมนตรีได้พบปะกับคณะนักธุรกิจสหรัฐอเมริกาที่ศูนย์การประชุม Suntec โดยมีการพูดคุยถึงความคืบหน้าประเด็นต่างๆ ต่อเนื่องจากการหารือที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา รวมทั้งกรุงเทพมหานครในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งพบว่าประเด็นส่วนใหญ่มีความก้าวหน้าและเป็นไปด้วยดี รวมถึงอุตสาหกรรมยา และแนวทางที่รัฐบาลจะมีเวทีให้ภาคธุรกิจได้มีส่วนร่วมในการบอกถึงปัญหาอุปสรรคและข้อห่วงใยที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล เช่น ในเรื่องของสิทธิบัตร เป็นต้น
         
ขณะที่คณะนักธุรกิจสหรัฐก็มีความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาของไทย   ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลตอบสนองต่อภาคธุรกิจเอกชน   มีการอธิบายให้ภาคธุรกิจเข้าใจในแนวนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการแก้ปัญหาในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายขึ้นมาดูแล ซึ่งบริษัทที่เกี่ยวข้องได้แสดงความขอบคุณต่อความตั้งใจของรัฐบาลที่ทำงานเชิงรุกแก้ไขปัญหาต่างๆ ทำให้นักธุรกิจของสหรัฐสนใจที่จะขยายการลงทุนในไทย
 
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ปัญหาในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทางนักธุรกิจสหรัฐมีการสอบถามนอกรอบ และมีความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาโดยเชิญทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกัน
 
 
ของบ 2 พันล้านแก้ มาบตาพุด "กอร์ปศักดิ์" อ้างเยียวยาปัญหา
ขณะที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 พ.ย.ว่า ขณะนี้ได้เตรียมเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาจัดสรรเงินงบประมาณปี 53 ในส่วนของงบกลางกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้เยียวยาประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มาบตาพุด ทั้งการออกประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ การจัดสร้างระบบรักษา พยาบาล ระบบบำบัดขยะ ระบบน้ำประปา รวมถึงการติดตั้งเครื่องตรวจวัดมลพิษในอากาศ ซึ่งคาดว่ามาตรการ ทั้งหมดจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.พ.ปี 53 เป็นต้นไป "ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเร่งกลับไปจัดทำแผนการใช้จ่าย เงินอย่างละเอียดเพื่อนำเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป ซึ่งตามมาตรการเยียวยามาบตาพุดนั้น กระทรวงสาธารณสุข จะเร่งจัดสร้างโรงพยาบาลขนาด 200 เตียง พร้อมจัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อสามารถดูแลผู้ได้รับผลกระทบได้ทันทีหากเกิดปัญหาเร่งด่วน ขณะที่การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ต้องเร่งหารือร่วมกับพื้นที่และชุมชนเพื่อกำหนดเขตการวางท่อส่งน้ำประปาเพื่อจ่ายน้ำมายังพื้นที่ชุมชนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่"
      
สำหรับเรื่องการบำบัดขยะที่มีมากกว่า 300,000 ตัน ใช้เงิน 200 ล้านบาท ซึ่ง ครม.ได้เห็นชอบให้จัดสรรเงินจากโครงการไทยเข้มแข็งในส่วนที่เหลือจากการปิดงบประมาณจำนวน 150,000 ล้านบาทไปแล้ว ขั้นตอนจากนี้เหลือเพียงรอผลของการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออคชั่น) เพื่อจัดซื้อจัดจ้างต่อไป ขณะเดียวกัน กรมควบคุมมลพิษยังต้องเร่งหารือกับชุมชนในพื้นที่เพื่อกำหนดพื้นที่ติดตั้งเครื่องตรวจวัด มลพิษอีก 10 สถานี ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เร่งดำเนินการที่จะออกประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท
         
หวั่นระงับลงทุนมาบตาพุด ปตท.ผวากำไรหด-ทุบคนงานนับแสน
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บมจ.ปตท. กล่าวว่า ถ้าศาลตัดสินให้ระงับโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง จะเกิดผลกระทบกับโครงการลงทุนในภาพรวมของประเทศ 4 ด้าน คือ 1.ด้านเศรษฐกิจ 2.การขาดความเชื่อมั่นต่อการลงทุน 3.ด้านสังคม และ 4.สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจจะได้ผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากมีนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนใหม่ คิดเป็นมูลค่า 200,000 ล้านบาท ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทยนั้น จะทำให้สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้โครงการต่างๆ ตลอดจนผู้รับเหมาที่มาจากในและต่างประเทศจะขาดความเชื่อมั่น ส่วนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้น จะทำให้ไทยต้องสูญการจ้างงาน ทั้งพนักงานประจำ และคนงานก่อสร้าง ที่คาดว่าจะมีผู้เสียรายได้ราว 100,000 คน"ส่วนกลุ่ม ปตท.จะเกิดผลกระทบต่อโครงการลงทุนใหม่อย่างแน่นอน โดยเฉพาะธุรกิจโรงแยกก๊าซอีเทน ก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจปิโตรเคมี ถ้าสร้างไม่ได้ก็จะไม่สามารถนำก๊าซเข้ามาแยกเป็นก๊าซหุงต้มได้ ซึ่งจะทำให้ปริมาณการใช้ก๊าซในประเทศลดลง รวมถึงจะกระทบต่อการร่วมลงทุนผลิตก๊าซในอ่าวไทยระหว่าง ปตท.สผ. และมาเลเซีย ที่ต้องลดการผลิต โดย ปตท.ยังไม่ได้ประเมินตัวเลขรายได้ที่จะสูญเสีย แต่คาดว่าถ้าถูกระงับโครงการจะเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่จะทำให้รายได้ของกลุ่ม ปตท.ในปีหน้ากระทบแน่" นายเทวินทร์ กล่าวด้านนายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ถ้าผลการตัดสินออกมาให้ชะลอโครงการลงทุนออกไป 6 เดือน ผลที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม ปตท. คือ ผลกำไรจะลดลงราว 5% ซึ่งผลกระทบจะเกิดกับโครงการใหม่มากกว่า ขณะที่โครงการเก่ายังทำรายได้ปกติส่วนนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า กรณีปัญหาโครงการลงทุนในมาบตาพุด จำเป็นต้องหาทางออกด้วยการหันหน้ามาคุยกันทุกฝ่าย และเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายขึ้นมา ซึ่งคิดว่าคณะกรรมการ 4 ฝ่ายจะต้องปฏิบัติภารกิจอย่างเร่งด่วน เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างเดียว แต่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของประเทศในอนาคตด้วย"ภารกิจของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย คือ จะต้องเร่งให้ได้ข้อสรุปออกมาเร็วที่สุด และให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน ขณะที่รัฐบาลควรลำดับความสำคัญสิ่งที่ควรทำก่อนหลัง และต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญให้เสร็จโดยเร็ว" นายมนูญ กล่าว
 
 
 
 
เรียบเรียงจาก เว็บไซต์ไทยรัฐ-ฐานเศรษฐกิจ-แนวหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net