อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ : "เราจะอยู่อย่างไรในโลกปัจจุบัน"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หากใครได้อ่านบทสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีประเทศเขมร ฮุนเซน ก็คงจะรู้ได้ทันทีว่าเขาและทีมงานทางด้านต่างประเทศของเขมรทำงานมาอย่างดี เพราะในบทสัมภาษณ์นั้น ฮุนเซนสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการ "ทิ่มตำ" รัฐบาลไทยให้เป็นตัวตลกมากขึ้นในสังคมนานาชาติ

ในขณะเดียวกัน หากดูจากการตอบโต้ของฝ่ายไทย เราจะพบว่ามีแต่การใช้อารมณ์ความรู้สึก แม้ว่าจะมีนักข่าวต่างประเทศบางคนหรือนักวิชาการบางคนกล่าวว่าเป็นการเบนประเด็นทางการเมืองของภายในประเทศเขมร จากปัญหาชายแดนด้านประเทศเวียดนามมาสู่ปมความขัดแย้งกับประเทศไทย รวมทั้งการหยิบข่าวหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในเขมร นายสม รังสี ได้ไปถอนหลักเขตแดนของประเทศเวียดนามที่ล่วงล้ำเข้ามาในดินแดนเขมร แต่ก็ไม่มีการวิเคราะห์ความขัดแย้งภายในหรือพลวัตทางการเมืองภายในเขมรที่สลับซับซ้อน อันส่งผลต่อการตัดสินใจแสดงท่าทีของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน รวมทั้งไม่ได้แสดงให้เห็นถึงน้ำหนักของการเคลื่อนไหวของนายสม รังสี เลย (พรรคของนายสม รังสี มีสมาชิกได้รับการเลือกตั้งเพียงสองคน) ซึ่งก็หมายความได้ว่าสังคมไทยขาดความรู้ความเป็นมาของประเทศเพื่อนบ้านอย่างแท้จริง
 
ประเด็นปัญหาที่สังคมไทยไม่รู้จักเพื่อนบ้านนั้นกล่าวกันมานานมากแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีความพยายามใดๆ ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อนบ้าน และหากจะพูดกันให้ถึงที่สุดแล้ว สังคมไทยไม่มีความรู้ที่ลึกซึ้งต่อประเทศไหนในโลกเลย และที่สำคัญ เราก็ไม่รู้จักแม้กระทั่งตัวเราเอง
 
เรากำลังเป็นสังคมหรือประเทศที่ไม่มี "ประวัติศาสตร์"
 
สังคมไทยได้ทอดทิ้งความรู้ทางประวัติศาสตร์ไปแล้ว เราจึงขาดพลังทางปัญญาในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพราะเราไม่รู้ถึงที่มาและพัฒนาการของปัญหาเรื่องต่างๆ ทั้งในประเทศและในโลก เมื่อไม่รู้ที่มาและพัฒนาการของปัญหาก็อย่าหวังว่าจะมองเห็นทางเลือกของการแก้ปัญหา
 
การทอดทิ้งประวัติศาสตร์ปรากฏให้เห็นได้ในหลายปรากฏการณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏได้ยุบภาควิชาประวัติศาสตร์ไปหลายปีแล้ว ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ผลิตงานประวัติศาสตร์ทั้งผลงานของอาจารย์และนักศึกษา ออกมาอย่างต่อเนื่อง ก็ถูกลดความสำคัญลงเป็นเพียงแค่สาขาวิชา และในอนาคตก็จะลดความสำคัญลงเหลือแค่การจัดการหลักสูตรระดับปริญญาตรี และหลักสูตรระดับปริญญาโทเท่านั้น มิพักต้องพูดถึงการสัมมนาประวัติศาสตร์ที่เคยเฟื่องฟูช่วงทศวรรษ 2520 ก็สูญหายไปหมด 
 
น่าสงสารประเทศไทยก็ตรงที่ว่า การทอดทิ้งประวัติศาสตร์ของสังคมไทยเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างมาก   
 
จะเห็นได้ว่าภายหลังการล่มสลายของกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ และการยุติสงครามเย็นในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ความขัดแย้งระหว่างประเทศเล็กประเทศน้อยปะทุง่ายมากขึ้น ความขัดแย้งหลายมิติที่เคยถูกกดทับไว้ด้วยภาวะความตึงเครียดของสงครามเย็นก็ได้ขยายออก และก่อให้เกิดปัญหาระหว่างกันมากขึ้น อาทิเช่น กรณีปราสาทพระวิหาร เป็นต้น
 
ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้ง ก็กำลังเปลี่ยนโลกและภูมิภาคต่างๆ และส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนไปจากเดิม อาทิเช่น การขยายตัวของญี่ปุ่นเขตอนุภาคลุ่มน้ำโขงในห้าปีข้างหน้าจะเปลี่ยนทุกประเทศในดินแดนแถบนี้อย่างมากมายทีเดียว
 
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกเช่นนี้ ประเทศต่างๆ จำเป็นที่จะต้องปรับตัว และแนวทางการปรับตัวที่ดีที่สุด ก็คือ ความรู้ความเข้าใจ "ประวัติศาสตร์" ของประเทศและกลุ่มประเทศต่างๆ ให้ลึกซึ้งที่สุด แต่ประเทศไทยกลับสูญเสียพลังพื้นฐานนี้ไปแล้ว
 
ทำไม สังคมไทยถึงทอดทิ้งประวัติศาสตร์
 
ประการแรก การพัฒนาประเทศที่ผ่านมามองเห็นเพียงแค่การพัฒนาทางเศรษฐกิจทางด้านอุตสาหกรรม จึงทำให้มองเห็นเพียงแค่การแสวงหาเทคโนโลยี หรือการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้มุ่งผลิตเพียงช่างเทคนิคทางด้านต่างๆ รองรับการลงทุน รวมทั้งช่างเทคนิคทางด้านภาษาด้วย โดยที่มองไม่เห็นว่าความรู้ประวัติศาสตร์นั้น จะเอื้อให้แก่การลงทุนต่างประเทศได้อย่างไร
 
ประการที่สอง สังคมไทยถูกทำให้ "พอเพียง" กับความรู้ประวัติศาสตร์ชาติของตนเอง จนไม่สามารถจะคิดและเข้าใจถึงธรรมชาติของวิชาประวัติศาสตร์ การสอนประวัติศาสตร์ทั้งหลายในสังคมไทย จึงมุ่งเน้นเพียงแค่การสอนเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ชุดเดียวเท่านั้น ไม่ได้สอนทั้งวิธีคิดทางประวัติศาสตร์ และแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์มิติอื่นๆ 
 
การขาดความสำนึกถึงความสำคัญของความรู้ประวัติศาสตร์กับการพัฒนาประเทศ และความรู้สึก "พอเพียง" กับความรู้ประวัติศาสตร์มาตรฐานชุดเดียว ทำให้สังคมไทยเข้าใจประวัติศาสตร์เพียงแค่เป็นวิชาที่เรียนเกี่ยวกับอดีตเท่านั้น และส่งผลให้นักเรียนส่วนใหญ่ที่จะเข้ามหาวิทยาลัยไม่เลือกเรียนประวัติศาสตร์อีกแล้ว
 
ในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาล และเราควรมีศักยภาพในการปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมีพลัง แต่เรากลับมองไม่เห็นว่าเราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพราะเราไม่รู้จักประวัติศาสตร์  
 
น่าสงสารสังคมไทยครับ เพราะสังคมใดไม่รู้ประวัติศาสตร์ สังคมนั้นกำลังดุ่มเดินไปสู่ความมืดบอดทางปัญญา และหายนะกำลังรออยู่ข้างหน้า
 
 

............................................

เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 12 พฤศจิกายน 2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท