Skip to main content
sharethis

“ในรัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์มีหลายมาตรา ที่ระบุชัดเจนถึงสิทธิชนเผ่าในการจัดการทรัพยากร จารีตประเพณีและวัฒนธรรม ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับประเทศไทย ที่ยังคงมองชนเผ่าเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งมาอาศัยในประเทศไทย ไม่ยอมรับสิทธิของชนเผ่า...”

 
‘ประชาไท’ มีโอกาสสัมภาษณ์ ‘วิวัฒน์ ตามี่’ ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอิสระ จากโครงการปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชียAsain Public Intellectuals (API 2009-2010)สนับสนุนโดย Nippon Foundation Fellowships ขณะนี้กำลังอยู่ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของชุมชนชนพื้นเมืองในฟิลิปปินส์แน่นอนว่า ในฐานะที่เขาทำงานด้านชนเผ่า ชนพื้นเมืองในไทยมานาน ย่อมสะท้อนมุมมองเปรียบเทียบถึงความแตกต่างระหว่างชนเผ่าพื้นเมืองในไทยกับชนพื้นเมืองในฟิลิปปินส์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
 
 
 
 
 
 
การประชุมชนเผ่าพื้นเมือง ในฟิลิปปินส์
 
 
 
รัฐบาลฟิลิปปินส์เขามองชนพื้นเมืองอยู่ในระดับไหน
จากข้อมูลประวัติศาสตร์ชนเผ่าพื้นเมืองในฟิลิปปินส์ พบว่า ชนเผ่าพื้นเมืองที่นี่อาศัยอยู่มาก่อนที่บรรพบุรุษของกลุ่มคนฟิลิปปินส์ตากาล๊อก ซึ่งถือว่าย่อมมีสิทธิความชอบธรรมเหนือดินแดนของตนเองอยู่แล้ว โดยเฉพาะชนเผ่าในเขตบริหารงานอิสระคอร์เดลเลร่า ตอนเหนือของเกาะลูซอน ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่และเป็นเจ้าของ แต่รัฐเองก็พยายามเข้ามามีอำนาจเหนือดินแดน หลายพื้นที่ถูกเวนคืนที่ดินด้วยเหตุเพื่อต้องการเอาที่ดินยกให้นายทุนทำเหมืองและทำไม้แปรรูป จึงเกิดความขัดแย้งกันอยู่บ่อยๆ เมื่อชนเผ่าไม่ยอมจำนนยกพื้นที่ให้จะใช้กำลังบีบบังคับเอา ผู้นำบางคนจึงมักถูกอุ้มสูญหายไปเฉยๆ ดังผู้นำคนหนึ่งที่ต่อต้านการสร้างเหมืองถูกอุ้มหายไปในปี 2008 จนถึงบัดนี้ยังหาตัวไม่เจอเลย   
 
ในขณะที่ในบางพื้นที่ก็มีกองกำลังแบ่งแยกดินแดนเข้าไปเคลื่อนไหว เช่น มี ”กองทัพประชาชนใหม่” (New People’s Army) เป็นกองทหารของพรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์– 7 มกราคม พ.ศ. 2512 ที่จังหวัดตาร์ลัก บนเกาะลูซอน และทำการเคลื่อนไหวบนภูเขาสูง ตอนนี้ยังคงมีมีกองกำลังหลงเหลืออยู่ ทำการรบแบบกองโจรตามเขตชนบท บนป่าเขา ชอบลักพาตัวนายทหาร ยิ่งเป็นการเพิ่มสถานการณ์ทำให้รัฐบาลเกิดความไม่ไว้วางใจชนเผ่ามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บนภูเขาสูง   จัดตั้งขึ้นในช่วงระหว่าง 26 ธันวาคม พ.ศ. 2511
 
แล้วรัฐฟิลิปปินส์เขามีนโยบายเอื้อต่อชนพื้นเมืองมากน้อยเพียงใด ?
เมื่อพูดถึงนโยบายรัฐเอื้อต่อชนเผ่ามากน้อยแค่ไหนเพียงใดนั้น สามารถบอกได้ว่า นโยบายเกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองบางเรื่องของฟิลิปปินส์นั้นค่อนข้างดีและเอื้อต่อชนเผ่า อาทิ การเข้าถึงสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ดังเห็นได้จาก รัฐบาลออกกฎหมายรับรองสิทธิชนเผ่าเกี่ยวที่ดินในเขตดินแดนดั้งเดิมของบรรพบุรุษ มีชื่อกฎหมายว่า The Indigenous Peoples’ Act(IPRA) ซึ่งรัฐบาลประกาศใช้ในปี ค.ศ.1997 และในกฎหมายรัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์เมื่อปี ค.ศ. 1987 มีหลายมาตรา ที่ระบุชัดเจนถึงสิทธิชนเผ่าในการจัดการทรัพยากร จารีตประเพณีและวัฒนธรรม ซึ่งค่อนข้างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับประเทศไทย ที่ยังคงมองชนเผ่าเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งมาอาศัยในประเทศไทย ไม่ยอมรับสิทธิของชนเผ่าที่มีอยู่มากนัก
 
การที่รัฐบาลฟิลิปปินส์มีนโยบายและกฎหมายที่เอื้อต่อชนเผ่าพื้นเมืองนี้ จริงๆแล้วเป็นผลพวงจากการต่อสู้มาอย่างยาวนานของชนเผ่าพื้นเมืองนั่นเอง ดังจะเห็นได้จากชนเผ่าพื้นเมืองมีประวัติศาสตร์การต่อสู้กับกลุ่มล่าอาณานิคมพวกสเปนร่วมกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ และมีประสบการณ์การต่อสู้เรียกร้องสิทธิมาอย่างยาวนาน มีการก่อตั้งเครือข่ายชนเผ่าในระดับต่างๆตั้งแต่ระดับประเด็น เครือข่ายระดับประเทศและมีการทำงานเชื่อมโยงกับเครือข่ายชนเผ่าในระดับภูมิภาคและนานาชาติ
 
นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาและก่อตั้งเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองมานับตั้งแต่ปีค.ศ.1983 ผู้นำจากชนเผ่าพื้นเมืองหลายแห่งได้มารวมตัวกันในรูปแบบของ Consultative Assembly of Minority Peoples of the Philippines (CAMPP) เพื่อเป็นเวทีสำหรับชนเผ่าและเป็นกลไกในการขับเคลื่อนปัญหาและนโยบายของชนเผ่าพื้นเมือง
 
และในปี1987 ยังมีการจัดองค์กรของชนเผ่าพื้นเมืองจากหลายภูมิภาคซึ่งมีการกระทำอย่างมั่นคงใน CAMPP เพื่อให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนไหวทางนโยบาย มีการรวมกลุ่มสหพันธรัฐชนเผ่าพื้นเมืองในฟิลิปปินส์เข้าไปด้วย (Katipunan ng mga Katutubong Mamamayan ng Pilipinas (KAMP) ซึ่งการนี้ KAMP ยังคงเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศระดับชาติ ซึ่งได้มีการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองทั้ง 15 ภูมิภาคเข้าไว้ด้วยกัน
 
ต่อมา ในช่วงเดือนมกราคม ปีค.ศ.2006 ก็มีการก่อตั้งเครือข่ายสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมือง เป็นการดำเนินการผลักดันร่วมกันระหว่างองค์กร Cordillera Peoples Alliance (CPA),Kalipunanngmga Katutubong Mamamayan ng Pilipinas (KAMP, สหพันธรัฐของชนเผ่าพื้นเมืองของประเทศฟิลิปปินส์), Cordillera Peoples Legal Center (DINTEC) และKusog sa Katawhang Lumad sa Mindanao (KALUMARAN) จะเห็นว่าเครือข่ายชนเผ่าที่นี่เติบโตขึ้นทุกวัน
 
นอกจากนี้ยังมีองค์กรชนเผ่าอีกจำนวนมากที่ทำงานในแต่ละระดับNGOs ชนเผ่าพื้นเมืองส่วนใหญ่มักได้รับการศึกษาสูง มีความรู้ความสามารถภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสารค่อนข้างดี สามารถเข้าถึงกลไกในระดับนานาชาติได้ง่าย และเข้าถึงทรัพยากรต่างๆได้มากกว่า
 
อีกเรื่อง คือ ที่นี่เขาทำงานข้อมูลและรณรงค์ค่อนข้างเก่ง จึงได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ทำให้สามารถผลักดันนโยบายต่างๆเพื่อรับรองสิทธิชนเผ่าได้มากกว่า ดังตัวอย่างมีกฎหมายรองรับสิทธิชนเผ่าและมีรัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์รองรับสิทธิชนเผ่า เชื่อได้ว่านโยบายรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่มีต่อชนเผ่าน่าจะเอื้อมากกว่านโยบายของประเทศไทยพอสมควร  
 
แล้วในกลุ่มชนพื้นเมืองในแถบหมู่เกาะทางใต้ ใช้รูปแบบใดในการปกครองและจัดการฐานทรัพยากร ?
ในส่วนกลุ่มชนเผ่าที่อาศัยอยู่เกาะทางใต้ หมู่เกาะมินดาเนา นั้นมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากทางเหนือค่อนข้างมาก ที่นี่ถือว่าเป็นดินแดนของชาวมุสลิมมาก่อนและเคยเป็นอาณาจักรอิสระปกครองตนเอง โดยสุลต่าน ดินแดนถูกผนวกรวมสมัยอเมริกามาปกครองประเทศ เพราะภายหลังที่สเปนรบแพ้อเมริกาจึงทำสัญญาที่เรียกว่าสนธิสัญญาปารีส(Teady of Paris) หมู่เกาะฟิลิปปินส์ รวมทั้งมินดาเนา และซูลู ก็ตกอยู่ภายใต้การดูแลของสหรัฐอเมริกา แต่สเปนก็รวมแผ่นดินโมโรไว้ในข้อตกลงด้วย ทำให้กลุ่มมุสลิมเกิดความไม่พอใจ ต่อต้าน และเกิดกลุ่มกบฏต่างๆ เพื่อเคลื่อนไหวเพื่อต้องการดินแดนของตนกลับคืนมาปกครองอย่างอิสระจากฟิลิปปินส์
 
ในปี 1976 รัฐบาลฟิลิปปินส์ทำการเจรจาสันติภาพกับกลุ่ม แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร (Moro National Liberation Front; MNLF) และได้มีการก่อตั้งเขตปกครองตนเองอิสระมินดาเนา เรียกว่า (Autonomous Region in Moslem Mindanao—AR) โดยเฉพาะในบริเวณที่มีมุสลิมอาศัยอยู่   
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นเขตปกครองตนเองอิสระ ภายใต้การสนับสนุนรัฐบาลกลาง แต่รัฐก็ไม่ค่อยได้ให้ความสนใจ หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน มีการปล่อยปละละเลยจนเกิดความอดอยากยากจน ส่งผลทำให้เกิดกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเกิดขึ้นอีกหลายกลุ่มดังที่กล่าวไปแต่ต้น ส่วนในพื้นที่ที่ชนเผ่าพื้นเมืองส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าเขาเช่นพื้นที่ทางเหนือเกาะลูซอน มักจะถูกนายทุนและรัฐเข้าไปแย่งชิงพื้นที่ทำเหมือง จนเกิดปัญหาความขัดแย้งในการแย่งชิงพื้นที่ของชนเผ่า พยายามใช้กฎหมายชนเผ่าที่มีอยู่และอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเจรจา สามารถระงับการสร้างเหมืองได้ในหลายพื้นที่ ดังที่กล่าวไปแต่ต้น  
 
แน่นอนว่า ย่อมทำให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านอื่นๆ เช่น ด้านการศึกษา สิทธิด้านสุขภาพ กองทุนสวัสดิการต่างๆ ในพื้นที่ชนเผ่านั้นไม่ค่อยได้รับความสนใจและเอาใจใส่จากรัฐมากนัก
 
ทุกวันนี้ สังคมส่วนใหญ่ของฟิลิปปินส์ เขามองชนพื้นเมืองเป็นชนชายขอบ เหมือนสังคมไทยมองหรือเปล่า?
คนฟิลิปปินส์ที่เป็นชาวตากาลอก(Tagalogs) ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่นั้น ถือว่าตนเองเป็นกลุ่มที่มีวัฒนธรรมสูงกว่ามาก แข่งกับกลุ่มชาวจีน คือมีภาษาเขียนเป็นของตนเอง และมองชนเผ่าพื้นเมืองว่าเป็นกลุ่มชนที่มีจารีตประเพณีและวัฒนธรรมค่อนข้างล้าหลัง ยังเชื่อเรื่องผีสางเทพเจ้า และมีลักษณะวิถีชีวิตที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ของฟิลิปปินส์มาก ยิ่งชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในเขตเคลื่อนไหวของกองกำลังต่างๆด้วยแล้ว รัฐไม่เคยไว้วางใจและถูกปล่อยปละละเลยไม่สามารถเข้าถึงการพัฒนาต่างๆได้
 
แน่นอนว่า เนื่องจากพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าเขาสูงห่างไกล ชนเผ่าส่วนใหญ่มักไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ เช่น การศึกษา สิทธิด้านสุขภาพ หรือกองทุนสวัสดิการต่างๆก็แทบไม่มี ชนเผ่าส่วนใหญ่ต้องดูแลตนเองเป็นหลักตามมีตามเกิด ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าบ้านเราดีที่สุด 
 
กลุ่มชนเผ่าที่ถือว่าเป็นกลุ่มชายขอบจริงๆน่าจะเป็นชนเผ่าที่นับถือศาสนาอิสลามมากกว่า ดังที่ได้กล่าวไปแต่ต้นว่า ชนเผ่ามุสลิมมักจะถูกดูถูกดูแคลน ถูกเลือกปฏิบัติสารพัด ตั้งแต่การตั้งถิ่นฐาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ ศาสนา การศึกษาและสวัสดิการต่างๆ ชนเผ่ามุสลิมต้องดูแลกันเองตามมีตามเกิด  
 
แต่เมื่อมองเปรียบเทียบกับชนเผ่าในไทยแล้ว ชนเผ่าพื้นเมืองที่นี่ อาจจะถือว่าดีกว่าประเทศไทยหน่อย คือมีกฎหมายรับรองสิทธิ แม้กระทั่งในกฎหมายรัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์ก็ยังรับรองสิทธิชนเผ่าไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่สิทธิในที่ดิน วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นโอกาสที่ชนเผ่าพื้นเมืองที่นี่สามารถหยิบขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้เรียกร้องสิทธิได้ นอกจากนี้กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่นี่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องสิทธิพลเมืองหรือสัญชาติแต่อย่างใด จงไม่มีใครตกอยู่ในสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง เลยไม่ถูกจำกัดสิทธิในการเดินทางและถูกรีดไถ   
 
วกกลับมาดูเรื่องชนเผ่าของไทย ตอนนี้มีกระแสรัฐไทยเตรียมออกโฉนดชุมชน คุณคิดว่าจำเป็นต่อพี่น้องชนเผ่าอยู่หรือไม่ ?
ในความเห็นของผม คิดว่า โฉนดชุมชนมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชนเผ่าที่มีวิถีชีวิตอาศัยอยู่กับป่าและมีที่ดินอยู่ในเขตป่าเกือบจะทั้งหมด เพื่อเป็นหลักประกันในสิทธิที่ดินทำกิน สามารถทำกินได้โดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม ข่มขู่คุกคามในข้อหาบุกรุกป่าอีกต่อไป โฉนดชุมชนยังช่วยสร้างหลักประกันไม่ทำให้ชุมชนชนเผ่าสูญเสียที่ดินให้แก่นายทุน ซึ่งสามารถสืบทอดทำกินได้ชั่วลูกชั่วหลาน นอกจากนี้ยังสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนที่อาศัยทำกินในเขตป่าได้ด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติส่วนรวม
 
ทำไมถึงเชื่อว่าโฉนดชุมชนจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ?
เพราะการทำโฉนดชุมชนจะมีการจัดทำแผนที่ขอบเขตที่ชัดเจนระหว่างชุมชน ที่ดิน และเขตป่าอนุรักษ์ และมีกติกาการดูแลรักษาป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ แต่ทั้งนี้รัฐเองจะต้องเชื่อศักยภาพของชาวบ้านและไว้วางใจมอบหมายให้ชาวบ้านอนุรักษ์รักษาป่า เนื่องจากความหวาดระแวงต่อชาวบ้านของเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าได้ 
 
อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า โฉนดชุมชนน่าจะเป็นทางออกที่ดีแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน ณ ขณะนี้ ซึ่งนอกจากประเทศชาติส่วนรวมได้ประโยชน์แล้ว ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่ากว่า10 ล้านคน ก็จะมีหลักประกันในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง 
           
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net