Skip to main content
sharethis

ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ภายใต้โครงสร้างอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานหนาแน่น แต่เน้นการจ้างงานแบบยืดหยุ่นและการจ้างแบบเหมาช่วงการผลิตอย่างประเทศไทย หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบ ‘3 L’ (Lowest payment, Low productivity และ Long working hours) แรงงานข้ามชาติราคาถูก จึงกลายเป็นปัจจัยการผลิตที่แสนจะสำคัญ [2] แต่ในแง่ของการมีสุขภาวะที่ดี คุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติบนเส้นทางการพัฒนาดังกล่าว ได้เกิดบางคำถามต่อมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติของประเทศไทย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คงไม่เกินเลยไปที่จะกล่าวว่าแรงงานไทใหญ่ที่ชื่อ นางหนุ่ม ไหมแสง ได้กลายเป็นตัวแทนของแรงงานข้ามชาติ โดยร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระบวนการยุติธรรม ในการสร้างความชัดเจนให้กับคำถามดังกล่าวไปแล้ว

จากการเข้าร่วมสนับสนุนงานตรวจสอบประเด็นและกฎหมายด้านสถานะบุคคลและสิทธิและประเด็นทางกฎหมายปกครอง สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ พบว่า เหตุผลที่นางหนุ่มไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน น่าจะเกิดจาก 2-3 ประเด็นที่คลาดเคลื่อน-ผิดพลาด เพราะหลายเรื่องไม่ถูกทำความเข้าใจ

‘สถานะบุคคล’ ของนางหนุ่ม ไหมแสง และ ‘ท.ร.38/1’: เรื่องที่ไม่ถูกทำความเข้าใจ
นางหนุ่ม ไหมแสง ชาวไทใหญ่ที่เดินเท้าเข้าประเทศไทยมาทำงานเป็นลูกจ้างที่จังหวัดเชียงใหม่ แม้เธอจะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ในฐานะแรงงานข้ามชาติ-เธอเป็นแรงงานที่มีสิทธิทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้เธอยังมีสถานะเป็นคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย เพราะเธอได้รับการสำรวจและบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลไว้ในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกรมการปกครองได้ออกเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลคือ ท.ร.38/1 ให้แก่นางหนุ่มเป็นหลักฐานยืนยันตัวบุคคล

ในสายตานักกฎหมายระหว่างประเทศ และกรมการปกครอง กล่าวอีกแบบได้ว่า ภายใต้กฎหมายและนโยบายของประเทศไทย นางหนุ่มได้รับการกำหนดสถานะบุคคล (Legal Personality) ให้เป็น “คนเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ได้รับการผ่อนผันให้มีสิทธิอาศัยชั่วคราว และมีสิทธิทำงานชั่วคราวในประเทศไทย” (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2547 และมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522) หรือเป็นราษฎรประเภทต่างด้าวหรือคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรของประเทศไทย เป็นบุคคลที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 4 และมาตรา 30 รวมถึงมาตรา 38 และมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 และระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนประวัติคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ.2547 ได้รับรองถึงสถานะบุคคลตามกฎหมายของนางหนุ่ม โดยการดำเนินการดังกล่าวของประเทศไทย โดยกรมการปกครองนี้ ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศไทยผูกพันในฐานะรัฐภาคีต่อข้อ 16 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง (แพ่ง) และสิทธิการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) [3]

นางหนุ่ม ไม่ใช่ ‘ผู้ทรงสิทธิ’ ในกองทุนเงินทดแทน: การเลือกปฎิบัติบนความไม่รู้?
ภายใต้เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 กองทุนเงินทดแทนคือกองทุนในสำนักงานประกันสังคมเพื่อจ่ายเป็นเงินทดแทน [4] ให้แก่ลูกจ้าง [5]แทนนายจ้าง [6] ซึ่งมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบ [7] (มาตรา 44) โดยอัตราเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่ายจะถูกกำหนดขึ้นโดยคำนึงถึงสถิติการประสบอันตรายหรืออัตราความเสี่ยงขอแต่ละประเภทกิจการ โดยกองทุนจะทำหน้าที่เป็นหลักประกันในการจ่ายเงินทดแทน เพื่อคุ้มครอง-เยียวยาให้กับลูกจ้างเร็วที่สุด หลังจากที่ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุในระหว่างการทำงาน ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองลูกจ้าง อย่างน้อยที่สุด ลูกจ้างไม่ต้องพาร่างกายและจิตใจที่บอบช้ำจากการประสบอุบัติเหตุไปเผชิญหรือเสี่ยงกับการยืดเยื้อ-ถ่วงเวลาการจ่ายเงินของนายจ้าง

มีกิจการจำนวนไม่น้อย ที่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ แต่สำหรับกิจการก่อสร้าง มาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ และตามข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงแรงงาน ฉบับวันที่ 12 กันยายน 2537 ถูกกำหนดให้เป็นประเภทกิจการที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบ (มาตรา 45 และ 46) ดังนั้น นายจ้างของนางหนุ่มซึ่งประกอบกิจการก่อสร้างจึงเป็นผู้มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนอย่างไม่มีข้อต้องสงสัย และลูกจ้างทุกคน โดยไม่คำนึงถึงว่าเป็นลูกจ้างที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ มีสถานะทางกฎหมายอย่างไร เป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมายหรือไม่ หรือมีเอกสารประเภทใด เพราะหากทำงานให้นายจ้าง ย่อมถือเป็นลูกจ้างตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ จึงย่อมเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงินทดแทนหากตนได้รับอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน

มันไม่ใช่แค่คำถามของแรงงานข้ามชาติ
เงื่อนไขของการเป็นผู้มีสิทธิในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนที่ปรากฎในหนังสือ รส. 0711/ว. 751 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2544 เรื่อง แนวปฏิบัติในการให้ความคุ้มครองแก่แรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย หรือหนังสือ ว.751 อาจเป็นข้อความที่ “ย่อมเขียนได้” ในสายตาของคนจำนวนหนึ่งในสังคมไทย รวมถึงหน่วยงานรัฐอย่างสำนักงานประกันสังคม (สปส.) แต่หากมองในแง่การจัดการประชากร สำหรับนักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล รวมถึงเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแล้ว การกำหนดเงื่อนไขและการแปลความเงื่อนไขการเป็นผู้มีสิทธิในการเข้าถึงกองทุนฯ ให้เป็นว่าต้องมีหนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเท่านั้น ย่อมไม่ถูกต้อง

หนังสือ ว.751 เป็นแค่แนวปฏิบัติภายในหรือคำชี้แจงภายในองค์กร สปส. คือถ้อยคำที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เรียกหนังสือ ว.751 อาจกล่าวได้ว่า มีนักกฎหมายสายมหาชนเองจำนวนหนึ่งก็เห็นแบบนี้ ขณะเดียวกันก็มีอีกแนวความคิดหนึ่งที่เห็นว่า หนังสือว.751 ที่เป็นแนวปฏิบัติภายใน สปส.นี้ ยังมีสถานะทางกฎหมายเป็น “กฎ” อีกด้วย ทั้งยังเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อหลักความเสมอภาคหรือสิทธิของเอกชนที่จะได้รับการปฏิบัติจากรัฐอย่างเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 30) ขัดต่อหลักกฎหมาย (หลักความสัมฤทธิ์ผล) ขัดและละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี (ข้อ 26 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง (แพ่ง) และสิทธิทางการเมือง, ข้อ 5 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ พ.ศ.2508, อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 19 ว่าด้วยการปฏิบัติโดยเท่าเทียมกันในเรื่องค่าทดแทนระหว่างคนงานชาติในบังคับและคนต่างชาติ พ.ศ.2468 รวมถึง ข้อ 5, ข้อ 7-9 แห่งปฏิญญาสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เรื่อง การปกป้องและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ)

สำหรับนักกฎหมาย ประเด็นหนังสือ ว.751 อาจเป็นไปในทางหนึ่งทางใดของ 2 แนวความเห็นในทางกฎหมายมหาชนที่ว่า ซึ่งคนที่จะชี้ขาดสุดท้ายก็คือศาลปกครอง แต่สำหรับนางหนุ่ม ไหมแสง มันเป็นข้อท้าทายที่ใหญ่โตสำหรับแรงงานข้ามชาติตัวเล็กๆ อย่างเธอ เพราะในทางปกครองแล้ว การกระทำใดๆ ของเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นการออกคำสั่ง หรือออกกฎ หากกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ได้รับคำสั่งหรือประชาชน การกระทำทางปกครองนั้นๆ สามารถถูกทบทวนตรวจสอบโดยกระบวนการยุติธรรม (Judicial review) ข้อท้าทายของนางหนุ่มก็คือ สำหรับคดีแรงงาน คำฟ้องของเธอเป็นเรื่องเฉพาะของตัวเธอเอง แต่ในแง่ของคดีปกครองแล้ว คำฟ้องของนางหนุ่มจะส่งผลให้ ว.751 ถูกยกเลิกเพิกถอน ซึ่งจะส่งผลต่อแรงงานข้ามชาติคนอื่นๆ ที่กำลังได้รับผลกระทบ หรืออาจจะได้รับผลกระทบจากว.751ด้วย

4 คดีใน 2 ศาลของนางหนุ่ม ไหมแสง
การตั้งคำถามถึงความเป็นธรรม ผ่านจำนวนเงินทดแทนที่แรงงานคนหนึ่งๆ ได้รับ เป็นคำถามร่วมของแรงงานทุกสัญชาติ อย่างไรก็ดี ต่อกรณีของนางหนุ่มได้จุดประเด็นขึ้นอีกหนึ่งคำถาม ที่เป็นไปได้ว่า ต่อไปอาจเป็นคำถามร่วมของแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับนางหนุ่ม นั่นคือ ทำไมนางหนุ่มจึงไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน

4 ธันวาคม 2549 นางหนุ่ม ไหมแสง แรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ อายุ 37 ปี ซึ่งได้รับใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางาน ตั้งแต่ปี 2547 ขณะทำงานเป็นคนก่อสร้างที่โครงการก่อสร้างโรงแรมแชงกรีลา ถนนช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฎว่าแบบหล่อเสาเหล็กสูงประมาณ 3 เมตร น้ำหนักประมาณ 80 กิโลกรัม ตกลงมาจากเครนยกบนชั้นที่ 12 แบบเสาแตกออกกระเด็นทับนางหนุ่มอย่างรุนแรง ทำให้ต้องทุพพลภาพ เธอได้ร้องเรียนขอรับเงินทดแทน ต่อสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จังหวัดเชียงใหม่ แต่ถูกปฏิเสธ

เงินจำนวน 425,568 บาท (รับจริง 326,729.72 บาท [8]) คือ จำนวนเงินที่ สปส.สั่งให้นายจ้างจ่ายให้กับเธอ สำหรับการดำเนินชีวิต ด้วยร่างกายที่เป็นอัมพาตครึ่งล่าง ขาทั้งสองข้างรวมถึงลำตัวส่วนล่างสูญเสียความรู้สึก สูญเสียสมรรถภาพร้อยเปอร์เซนต์ คิดเป็นการสูญเสียสมรรถภาพร้อยละ 70 ของทั้งร่างกาย ...เธอไม่สามารถทำงานใดๆ ได้อีกต่อไปแล้ว และแน่นอน นายจ้างได้เลิกจ้างนางหนุ่มทันที

ด้วยการสนับสนุนความช่วยเหลือทางกฎหมายจากโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษชนและการพัฒนา วันที่ 24 สิงหาคม 2550 นางหนุ่มโดยทนายความผู้รับมอบอำนาจ (นายสุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชน จังหวัดเชียงใหม่) ได้ยื่นอุทรณ์คำสั่งของ สปส.จังหวัดเชียงใหม่ ไปยังคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เพื่อขอให้กองทุนจ่ายเงินทดแทน จำนวน 435,240 บาท สำหรับการดำรงชีวิตที่เหลือหลังจากอัมพาต ต่อมาคณะกรรมการได้มีมติให้จำหน่ายคำอุทธรณ์นี้ออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยอ้างหลักเกณฑ์การคุ้มครองแรงงานต่าวด้าวประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานที่ปรากฎตามหนังสือ รส 0711/ว.751 ลว 25 ตุลาคม 2544 โดยมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนให้กับนางหนุ่มแทน และในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2550 ได้จำหน่ายอุทธรณ์ของนางหนุ่มออกจากการพิจารณา โดยอ้างว่านางหนุ่มได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างแล้ว

คดีแรก (ศาลแรงงาน)

วันที่ 3 ธันวาคม 2550 นางหนุ่มโดยทนายความผู้รับมอบอำนาจ ได้ยื่นฟ้องนายจ้างและผู้รับเหมาช่วงคือนายวิรัช มั่นคงเป็นจำเลยที่ 1 บริษัทลิงค์ อินโนว่า พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 และบริษัท วอ ฮับ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นจำเลยที่ 3 ต่อศาลแรงงานภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ในความผิดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและในความผิดฐานละเมิดเกี่ยวกับการงานที่จ้าง โดยเรียกค่าเสียหายจากทั้งสิ้นเป็นเงิน 753,209 ภายใต้กระบวนการไกล่เกลี่ย จำเลยตกลงจ่ายค่าเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 200,000 บาท และนางหนุ่มได้ตกลงรับไว้ ศาลจึงพิพากษาตามยอมและคดีสิ้นสุดในวันที่ 13 พฤษภาคม 2551

คดีที่ 2 (ศาลแรงงาน)

ทนายความของมูลนิธิฯ จึงยื่นฟ้องคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนต่อศาลแรงงานภาค 5 (คดีที่ 2) ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการและให้คณะกรรมการมีคำสั่งให้กองทุนเป็นผู้จ่ายเงินทดแทนให้นางหนุ่ม หรือให้นางหนุ่มมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามมาตรา 18(1) เพิ่มอีก 5 เดือน เป็น 12,045.25 บาท เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งของคณะกรรมการ นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหนังสือ ว.751 ที่คณะกรรมการฯ อ้างถึงเพื่อเป็นฐานของการออกคำสั่งก็เป็นหนังสือและการกำหนดแนวปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อ พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ ทั้งยังเป็นการเลือกปฏิบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

15 กรกฎาคม 2551 ศาลแรงงานภาค 5 ได้พิพากษายืนตามคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน โดยมีคำวินิฉัยใน 3 ประเด็นหลัก (คดีหมายเลขดำที่ 33/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 124/2551) คือ หนึ่ง ว.751 เป็นแนวปฏิบัติตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการฯ (ตามสำเนารายงานการประชุมของคณะกรรมการฯ) จึงชอบด้วยกฎหมาย, สอง คณะกรรมการฯ ได้กำหนดแนวปฏิบัติสำหรับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยถูกต้อง กับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยไม่ถูกต้อง และไม่สามารถนำหลักฐานมาแสดงได้ หรือนายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบกองทุน จึงเห็นได้ว่าคณะกรรมการได้กำหนดแนวปฏิบัติไว้สำหรับแรงงานต่างด้าวทุกกรณีแล้ว และสาม การจ่ายเงินทดแทนจากกองทุนฯ จำกัดเฉพาะในรายที่นายจ้างจ่ายเงินสมทบ ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นสิทธิตามกฎหมายจึงจำเป็นต้องพิจารณาด้วยว่ากฎหมายได้กำหนดหน้าที่ด้วยหรือไม่ ดังนั้น ปัญหาว่ากองทุนฯ ต้องจ่ายเงินทดแทนให้โจทก์เพิ่มขึ้นหรือไม่ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย พิพากษายกฟ้อง

ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โดยนางหนุ่มได้ยื่นอุทธรณ์ไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2551

คดีที่ 3 (ศาลปกครอง)
วันที่ 11 เมษายน 2551 นางหนุ่ม ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย, นายซอ ลุงกอ และนายเต็ง (ไม่มีนามสกุล) ผู้อาจได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากผลแห่งหนังสือ ว.751 (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคมและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ (ผู้ถูกฟ้อง) ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนแนวทางปฏิบัติ หรือการออกคำสั่งหรือกฎหรือแนวทางปฏิบัติที่ขัดต่อหลักการของกฎหมาย อันเป็นการกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

25เมษายน 2551 ศาลปกครองเชียงใหม่ ชี้ว่า “..แม้ว่าข้อพิพาทดังกล่าวจะเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายก็ตาม แต่ข้อพิพาทดังกล่าวเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน จึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน พ.ศ.2522 (มาตรา 8) คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคสอง (3) ศาลปกครองชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ (คดีหมายเลขดำที่ 102/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 97/2551)

คำสั่งของศาลปกครองเชียงใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่เกินความคาดหมาย เพราะคำถามถึงการยกเลิกเพิกถอนกฎที่เป็นการกระทำทางปกครองนี้ มันอยู่ในเขตอำนาจศาลแรงงานหรือเปล่า เป็นคำถามของทีมทนายความอยู่แล้ว ดังนั้นขั้นตอนที่ต้องเดินต่อคือ การยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

18 กันยายน 2551
ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ (คำร้องที่ 412/2551 คำสั่งที่ 586/2551)

คดีที่ 4 (ศาลแรงงาน)
วันที่ 7 มกราคม 2552
นางหนุ่ม ไหมแสง พร้อมด้วย นายซอ ลุงกอ และนายเต็ง จึงยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเพื่อให้ศาลเพิกถอนหนังสือ ว.751ศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณา และนัดพิจารณาคดีนัดแรกในวันที่ 30 มีนาคม 2552

วันที่ 21 กันยายน 2552 ศาลแรงงานภาค 5 มีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่นางหนุ่ม ไหมแสง และแรงงานข้ามชาติอีกสองราย ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือเวียนที่เลือกปฏิบัติดังกล่าว โดยศาล เห็นว่า “ประเด็นความชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายของหนังสือเวียนดังกล่าวนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ที่ 2 และที่ 3 นั้น ไม่มีอำนาจฟ้อง” (คดีหมายเลขดำที่ 164/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 232/2552)

 
ข้อสังเกตเบื้องต้น
-ในคดีแรงงานที่นางหนุ่มยื่นฟ้องคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนต่อศาลแรงงานนั้น คำขอต่อศาลก็คือ ขอให้ศาลสั่งให้คณะกรรมการมีคำสั่งจ่ายเงินทดแทนให้แก่นางหนุ่ม โดยให้เหตุผลว่าหนังสือ ว.751 ที่คณะกรรมการอ้างเพื่อปฏิเสธไม่จ่ายเงินทดแทนนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีลักษณะเลือกปฏิบัติระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติและแรงงานข้ามชาติด้วยกันเอง
 
ความยุติธรรมอาจเกิดช่องว่าง?
-ในประเด็นที่ศาลแรงงานภาค 5 เห็นว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ต้องนับว่ามันเป็นประเด็นท้าทาย เพราะก่อนหน้านี้ศาลปกครองไม่รับฟ้อง โดยบอกว่าไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล มาถึงศาลแรงงาน กลับได้รับคำตอบว่า “ไม่มีอำนาจฟ้อง”
 

นางหนุ่มยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาไปเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 ปัจจุบันคดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

หมายเหตุ:
งานเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานสถานการณ์ด้านสถานะบุคคลและสิทธิประจำปี 2552 โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch for Research and Development Institute of Thailand-SWIT)

[1] นักศึกษาปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นักกฎหมาย สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ
[2] ส่วนหนึ่งในการนำเสนอของ ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ ในหัวข้อ “ประโยชน์ ปัญหาและอุปสรรคของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย”, ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การบริหารจัดการและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติโดยกระบวนการปรึกษาหารือในระดับจังหวัด จังหวัดเชียงใหม่” วันที่ 26-28 ตุลาคม 2552 ณ สวนบัว รีสอร์ท จ.เชียงใหม่ โดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
[3] ข้อ 16 บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายในทุกแห่งหน
[4] เงินที่จ่ายเป็นค่าทดแทน ค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน และค่าทำศพ (มาตรา 5)
[5] ลูกจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน อันมิได้การประกอบธุรกิจอยู่ด้วย (มาตรา 5)
[6] นายจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้ามาทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย (มาตรา 5)
[7] เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเพื่อใช้เป็นเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้าง (มาตรา 5)
[8] เดิม สปส. (คำสั่งที่ 1/2550 ลงวันที่ 27 เมษายน 2550 เรื่องเงินทดแทน) สั่งให้จ่าย ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความเป็นจริง แต่ไม่เกิน 35,000 บาท, ค่าทดแทนรายเดือนตามมาตรา 18 (1) เดือนละ 2,418 บาท เป็นเวลา 2 เดือน 17 วัน รวมเป็นจำนวนเงิน 6,206.20 บาท

ต่อมาเมื่อแพทย์ได้ประเมินการสูญเสียสมรรถภาพ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2550 พบว่า นางหนุ่มสูญเสียสมรรถภาพร้อยละ 70 ของร่างกาย จึงมีคำสั่งใหม่ (คำสั่งที่ 2/2550 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2550) ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็น ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 35,000 บาท ค่าทดแทนรายเดือนตามมาตรา 18 (1) เดือนละ 2,418 บาท เป็นเวลา 2 เดือน 17 วัน จำนวน 6,206.20 บาท และค่าทดแทนรายเดือนตามมาตรา 18 (3) เดือนละ 2,418 บาท เป็นเวลา 15 ปี ตั้งแต่ 11 กรกฎาคมเป็นต้นไป รวมเป็นเงิน 425,568 บาท นายจ้างได้หักส่วนลดตามกฎหมายร้อยละ 2 ต่อปีของค่าทดแทน (รวมอัตราเท่ากับ 25.96) เป็นเงินส่วนลดจำนน 62,771.28 บาท คงเหลือเงินสุทธ์ที่ได้รับจริง 326,729.72 บาท (หมายเหตุ: การรวบรวมตัวเลขต่างๆ อาจมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net