Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในที่สุดการจัดงาน “พลังงานกู้วิกฤตไทย” ของกระทรวงพลังงาน เพื่อร่วมระดมความคิดกู้วิกฤตพลังงาน ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 1-4 ตุลาคม 2552 ก็ผ่านพ้นไป ด้วยการที่ปลัดกระทรวงฯ ออกมาผลักดันให้สังคมยอมรับพลังงานนิวเคลียร์ และเตรียมบรรจุเรื่องนิวเคลียร์ไว้ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษา ครบตามสูตรสำเร็จของการจัดงานเช่นเคย เหมือนเดิม เหมือนกับการจัดงานในปีก่อนอย่างไรก็อย่างนั้น

ราวกับว่าการรณรงค์เพื่อประหยัดพลังงานก็ดี การพูดถึงพลังงานทดแทนก็ดี ที่โหมประสัมพันธ์อย่างครึกโครม เป็นเพียงตัวประกอบของอัศวินตัวจริงที่กำลังจะขี่ม้าขาวมากู้วิกฤตให้

ยิ่งมาจัดที่สยามพารากอน ก็ยิ่งน่าสนใจทีเดียว เพราะกลุ่มพลังไท (http://www.palangthai.org/docs/climatechangeBitec11208.ppt) ได้รายงานไว้ว่า ในปี 2549 สยามพารากอนใช้ไฟฟ้าถึง 123 ล้านหน่วย ขณะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนทั้งจังหวัดใช้ไฟ 65 ล้านหน่วย สยามพารากอนใช้ไฟมากกว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนเกือบสองเท่า ฉะนั้นเมื่อเรามองไปที่สถานที่จัดงาน ก็จะเห็นจังหวัดแม่ฮ่องสอนอยู่ในนั้นสองจังหวัด

หากรวมกับอีกสองห้าง คือมาบุญครองและเซ็นทรัลเวิลด์เข้าด้วยแล้วห้างสรรพสินค้าทั้งสามจะใช้ไฟมากกว่าจังหวัดแต่ละจังหวัด ดังนี้ มากกว่า อำนาจเจริญ มากกว่าหนองบัวลำภู น่าน ยโสธร อุทัยธานี พะเยา มุกดาหาร สตูล สมุทรสงคราม เลย แพร่ พัทลุง และใช้เท่ากันกับจังหวัดนราธิวาสและเท่ากับจังหวัดระนอง นี่แค่สามห้างเท่านั้น

เห็นได้ชัดถึงความไม่เป็นธรรมในการบริโภคพลังงาน ทำให้ต้องตั้งคำถามว่า กระทรวงพลังงานหาพลังงานให้ใครใช้กันแน่ ความกลัวว่าพลังงานในอนาคตจะมีไม่พอนั้น ใครกันที่ไม่พอ

กระทรวงพลังงานยังคงรักษาความไม่เป็นธรรมของการใช้พลังงานนี้ไว้ด้วยการผลักภาระความเสี่ยงไปให้กับจังหวัดเป้าหมายที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้อย่างต่อเนื่อง

ดังที่กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต รายงานว่า มีการขุดเจาะหลุมสำรวจสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท โดยเข้าไปขุดเจาะและหล่อแท่นคอนกรีตในที่ดินของชาวบ้านโดยไม่ขออนุญาตหรือให้ข้อมูลใดๆ แก่เจ้าของที่ดินเลย (จุลสารจับตานิวเคลียร์ข้อมูลอีกด้านที่ควรรู้ ฉบับที่ 7 มีนาคม-มิถุนายน 2552)

ความไม่เป็นธรรมในเรื่องข่าวสารข้อมูลก็เป็นปัญหาทางโครงสร้างเช่นเดียวกับการบริโภคพลังงาน ประชาชนจะได้รับข่าวสารข้อมูลที่ครบถ้วนทุกด้านได้อย่างไร ในเมื่อรัฐบาลสมัยเผด็จการ คมช.เอานิวเคลียร์ไปแล้ว

ครม.ขณะนั้นได้อนุมัติงบ 1,800 ล้านให้ตั้งสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (สพน.) และเปิดตัวองค์กรอย่างเป็นทางการไปเมื่อมกราคม 2551

โดยมีงบเป็นการเฉพาะ ด้านการสื่อสารสาธารณะ ระบุแผนการดำเนินงานไว้ว่า ให้ใช้การสื่อสารทุกรูปแบบ “เพื่อให้โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นที่ยอมรับของสาธารณชนและให้ประชาชนรับรู้ เข้าใจ และยอมรับถึงความจำเป็นของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ภายใน 4 ปี ช่วงดำเนินการ”

งบประมาณที่เอาไปจากภาษีของประชาชนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ในปี2551 ได้ 185 ล้านบาท ปี 2552 ได้ 200 ล้านบาท ปี 2553 ได้ 240 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นสื่อเป็นจำนวนมากโหมโฆษณาแต่ข้อมูลด้านเดียวหนาหูขึ้น มีการจัดงานที่แนบเนียนขึ้น

ขณะเดียวกันเมื่อมีรายงาน ผลการวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งในเม็ดเลือดขาวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็ไม่เป็นที่ปรากฏว่าสังคมจะได้รับรู้ข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน

ไม่จำเป็นต้องถามถึงมโนธรรมสำนึกของกระทรวงพลังงาน เพราะทำหน้าที่เป็นหัวหอกให้นิวเคลียร์จนสุดตัวไปแล้ว

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา วารสารเกี่ยวกับโรคมะเร็งในยุโรปชื่อ The European Journal of Cancer Care ได้เผยแพร่ผลการศึกษาเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวของเด็กๆ ในสหรัฐอเมริกา พบว่า การเป็นมะเร็งจากกัมมันตภาพรังสีเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในเด็กและทารกในครรภ์

อัตราการตายจากโรคลูคีเมียหรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กอเมริกันที่อาศัยอยู่ใกล้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา โดยอัตราการตายที่เพิ่มสูงสุดจะพบในบริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใช้งานมานานที่สุด ส่วนบริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ปิดลงแล้วอย่างถาวรในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 นั้น มีอัตราการตายน้อยกว่า งานวิจัยนี้ควบคุมโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา
(www.salem-news.com/articles/may182009/kids_leukemia_5-18-09.php จากจุลสารจับตานิวเคลียร์ ฉบับเดียวกัน)

นี่ไงครับ พลังงานงานนิวเคลียร์ที่สะอาดและปลอดภัยของกระทรวงพลังงาน

มีเหตุผลหนึ่งที่อ้างกันมากว่าจำเป็นต้องใช้พลังงานนิวเคลียร์เพราะพลังงานนิวเคลียร์ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน

ในเรื่องนี้สมัชชานักวิทยาศาสตร์ที่มีจิตสำนึกแห่งสหรัฐอเมริกา(Union of concerned scientists, www.ucsusa.org) ประกาศว่า พลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่อัศวินม้าขาวที่จะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนแต่อย่างใด

การพิจารณาปัญหาโลกร้อนต้องรอบคอบคำนึงถึงทุกมิติที่จะมีผลในการลดปัญหาให้มากที่สุด เร็วที่สุด มีความเสี่ยงน้อยที่สุด และใช้งบน้อยที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้ “พลังงานนิวเคลียร์ไม่มีคุณสมบัติใดเลย ที่จะบรรลุถึงขีดความสามารถดังกล่าว”

ยิ่งการเตรียมการต้องใช้เวลานานเท่าไรยิ่งแสดงถึงความด้อยศักยภาพมากเท่านั้น

การลงทุนให้กับพลังงานสะอาดจึงคุ้มค่ากว่าพลังงานนิวเคลียร์มาก เมื่อเทียบกับเงินสนับสนุนที่เท่ากันบาทต่อบาท

สังคมไทยต้องเลือกว่าในอนาคตบ้านเราจะเต็มไปด้วยปัญหาลูกโซ่ของสังคมกัมมันตรังสี แล้วค่อยมาตามแก้ปัญหาภายหลัง ให้ลูกหลานในอนาคตของเราเป็นมะเร็งกันเสียก่อนแล้วค่อยไปหาทางออกเอาข้างหน้า หรือว่าเลือกที่จะไปให้พ้นเส้นทางนิวเคลียร์เสียตั้งแต่ทีแรก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net