Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
  
“อยากให้รัฐไทยมองกัมพูชาในระดับที่เท่ากับเรามองสหรัฐหรือจีนได้หรือไม่ ไม่ควรมองว่าเป็นลูกน้องที่จะต้องยอมเราตลอด”
นิธิ เอียวศรีวงศ์
 
“ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับ ฮุน เซน ที่จะได้เล่นการเมืองไทยบ้าง นี่อาจจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ผู้นำกัมพูชาเข้มแข็งถึงขนาดที่จะเข้ามาเล่นการเมืองไทยได้”
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
 
 
คำกล่าวข้างต้นของนิธิ เอียวศรีวงศ์ และสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี มีนัยสำคัญอย่างยิ่งที่บรรดาผู้มีส่วนกำหนดนโยบายของไทยต่อกัมพูชาควรเก็บไปไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนที่จะช่วยกันผลักดันนโยบายตอบโต้ต่างๆ ออกมาเพื่อลงโทษกัมพูชาที่ “บังอาจเหิมเกริมอวดดี” กับไทย คำเตือนของนิธิและสุภลักษณ์ ชี้ว่าทัศนคติของไทยที่มองกัมพูชาว่าอ่อนด้อยกว่าไทย ควรเคารพยำเกรงไทย ไม่เช่นนั้นก็จะต้องถูกลงโทษดังเช่นที่พระยาละแวกเคยประสบมาแล้ว เป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้อีกต่อไป และหากยังดำเนินนโยบายโดยมีอคติดังกล่าวครอบงำต่อไป ฝ่ายที่จะเจ็บตัวมากกว่าก็คือคนไทยตาดำๆ นี่เอง (ที่จริงนักประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นมาตั้งนานแล้วว่าพิธีปฐมกรรมพระยาละแวกไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่คนไทยก็ยังตอกย้ำความเชื่อนี้กันต่อไป)
 
ดูเหมือนจนถึงวันนี้ผู้กำหนดนโยบายของไทยต่อกัมพูชาก็ยังไม่ตระหนักว่า กัมพูชาในปัจจุบันแตกต่างกับกัมพูชาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พวกเขามองไม่เห็นความเชื่อมั่นในตนเองของผู้นำกัมพูชาที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในการปฏิสัมพันธ์กับไทย ที่ทำให้กัมพูชากล้าที่จะตอบโต้ไทยอย่างรุนแรงพอๆ กัน
 
อาการเชื่อมั่นในตนเองเช่นว่านี้ปรากฏให้เห็นตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมานับแต่เกิดความขัดแย้งกรณีปราสาทพระวิหาร ผู้นำกัมพูชาเล่นเอาเถิดเข้าล่อจนฝ่ายไทยต้องวิ่งตามแก้เกมจนหัวปั่น เช่น พยายามผลักเรื่องปราสาทพระวิหารเข้าสู่ที่ประชุมอาเซียนและสหประชาชาติ ต่อมาเมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ บุกยึดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ฮุนเซ็นเป็นผู้นำอาเซียนคนแรกที่ออกมาเรียกร้องให้ไทยเลื่อนการประชุมอาเซียนซัมมิทออกไป ซึ่งถือเป็นการแสดงความไม่มั่นใจต่อไทยโดยตรง
           
ล่าสุด ฮุนเซ็นอดทนรอจังหวะจนถึงการประชุมอาเซียนที่ชะอำเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อประกาศว่าเขาพร้อมจะเปิดบ้านรอรับและจะแต่งตั้งให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ เป็นที่ชัดเจนว่านี่คือโอกาสที่จะดึงความสนใจของนานาชาติเข้าสู่ปัญหาไทย-กัมพูชา เขาเลือกที่จะพูดเรื่องนี้ในประเทศไทย แทนที่จะพูดในบ้านตัวเอง เพราะเขาต้องการทำให้ไทย ซึ่งเป็นเจ้าภาพอาเซียน เต้นเป็นจ้าวเข้านั่นเอง
 
ปัญหาคือ เมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ตีความการเชื่อมั่นในตนเองของกัมพูชาว่าคือ อาการเหิมเกริมอวดดีของคนที่ไม่มีดีจะอวด ของลูกน้องที่ต้องสยบยอมกับพี่ใหญ่ (ไม่ว่าพี่ใหญ่คนนี้จะพยายามกีดกันการจดทะเบียนปราสาทพระวิหารให้เป็นมรดกโลกสักกี่ครั้ง ลูกน้องก็ควรสงบเสงี่ยมเจียมตัวต่อไป) พวกเขาจึงไม่สนใจที่จะหาคำตอบว่า ที่มาของความเชื่อมั่นในตนเองของกัมพูชานั้นคืออะไร และมันจะกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติไทยในระยะยาวอย่างไร  
 
อะไรคือที่มาของความเชื่อมั่นในตนเองของกัมพูชา?
 
ไทยไม่ควรลืมว่าเมื่อเวียดนามบุกเข้าโค่นล้มระบอบเขมรแดงในปี 2522 กัมพูชาตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่าต้องกลับไปเริ่มต้นที่ศักราชศูนย์ (Year Zero) เพราะเขมรแดงทำลายระบบทั้งหลายในประเทศจนราบคาบ ไม่ว่าจะเป็นการเงินการธนาคาร การศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ คนเขมรที่เสียชีวิตไปกว่าล้านคนในช่วงเขมรแดงยังหมายถึงการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์สำหรับการพัฒนาประเทศไปอย่างมหาศาล แต่เท่านี้ยังไม่พอ รัฐบาลที่ขึ้นมาปกครองกัมพูชาต่อจากเขมรแดงยังต้องประสบกับการปิดล้อมทางเศรษฐกิจจากนานาชาติ โดยมีสหรัฐฯ ไทย และจีนเป็นผู้นำให้การสนับสนุนกับกองกำลังเขมรแดงบริเวณชายแดนไทย สงครามกลางเมืองในกัมพูชาเพิ่งยุติลงอย่างเด็ดขาดก็ในปี 2539 นี่เอง คือ เมื่อพอล พต เสียชีวิต และเขมรแดงประกาศวางอาวุธ แต่แม้จะผ่านอาการบาดเจ็บปางตายและอุปสรรคมามากมาย การพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชาในปัจจุบันกลับก้าวไปไกลกว่าพม่าและลาวเสียอีก แม้ว่ากัมพูชาจะยังจัดอยู่ในประเทศด้อยพัฒนา แต่เมื่อพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงจากปี 2522 จนถึงปัจจุบัน ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจกัมพูชาก้าวหน้าไปอย่างมีนัยสำคัญ
 
ฉะนั้น เศรษฐกิจของกัมพูชาในปัจจุบันบวกกับอำนาจรวมศูนย์ของฮุนเซ็น ย่อมทำให้ผู้นำกัมพูชามีความมั่นใจในตนเองอย่างยิ่ง ประการสำคัญ การพัฒนาของกัมพูชาในปัจจุบันยังเป็นผลพวงโดยตรงของการดำเนินนโยบายต่างประเทศของฮุนเซ็น
 
ในด้านการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศ บทความของสุภลักษณ์ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่าไทยไม่ใช่ทางเลือกเดียว และไม่ใช่ทางเลือกที่สำคัญที่สุดของกัมพูชา  ความสัมพันธ์แบบรอบด้านกับทั้งประเทศเล็กใหญ่ ทั้งในและนอกภูมิภาคชี้ให้เห็นว่า ผู้นำกัมพูชาในปัจจุบันพยายามสร้างทางเลือกหลากหลายให้กับตัวเอง พวกเขาดูจะสรุปบทเรียนจากประวัติศาสตร์ที่ถูกแซนด์วิชจากไทยและเวียดนาม
 
ในจุดนี้ จึงต้องขยายความต่อว่าความเชื่อของคนไทยจำนวนมากที่มองว่าฮุนเซ็นตกอยู่ใต้การครอบงำของเวียดนาม เป็นความเข้าใจที่มีปัญหา เวียดนามเป็นแค่สายสัมพันธ์หนึ่งเท่านั้น ที่ยังถูกถ่วงดุลด้วยความสัมพันธ์ที่กัมพูชามีกับจีน และประเทศมหาอำนาจอื่นๆ อีกทั้งฮุนเซ็นก็ตระหนักดีถึงกระแสเชื้อชาตินิยม (racism) ต่อต้านเวียดนามที่ค่อนข้างเข้มข้นในหมู่ชาวเขมร และเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านกัมพูชาเอามาใช้เล่นงานตนอยู่เสมอ ฮุนเซ็นจึงต้องระมัดระวังสายสัมพันธ์กับเวียดนามอย่างยิ่งเช่นกัน 
 
ย้อนกลับมาดูมาตรการตอบโต้ของไทยต่อกัมพูชา นอกเหนือจากการเรียกทูตกลับ รัฐบาลอภิสิทธิ์ยังประกาศระงับความช่วยเหลือแก่กัมพูชา ด้วยเหตุผลว่า “การทบทวนนี้ รัฐบาลไทยจะกระทำด้วยความจำใจ เนื่องจากรัฐบาลไทยประสงค์มาโดยตลอดที่จะให้ความร่วมมือกับฝ่ายกัมพูชาเพื่อพัฒนาการอยู่ดีกินดีของชาวกัมพูชา เพื่อลดช่องว่างของประชาชน และลดช่องว่างระหว่างกัมพูชากับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ” ถ้าอ่านให้ดี ข้อความดังกล่าวยังชี้ให้เห็นทัศนคติที่แสดงความเหนือกว่าของไทยต่อกัมพูชา ทัศนะที่เชื่อว่ากัมพูชาต้องพึ่งพิงไทยมากๆ การตัดความช่วยเหลือเป็นการตีเข้าที่จุดอ่อนของกัมพูชา
 
แต่สิ่งที่เราควรตระหนักก็คือ นอกจากไทยจะไม่ใช่ผู้ค้าและผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในกัมพูชาแล้ว ไทยก็ไม่ใช่ประเทศที่ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่แก่กัมพูชาด้วย แต่คือจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ต่างหาก เฉพาะเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าในปี 2549 ไทยให้กัมพูชา 36.6 ล้านบาท แต่ในปี 2550 จีนให้ถึง 600 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนโครงการช่วยเหลือเพื่อสร้างถนนในกัมพูชาที่รัฐบาลอภิสิทธิ์กำลังทบทวนอยู่นี้ ก็ไม่ใช่ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า แต่เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
 
อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินช่วยเหลืออาจไม่สำคัญเท่ากับทัศนคติผิดๆ ที่พ่วงไปกับความช่วยเหลือ
 
ในขณะที่นักการต่างประเทศทั่วโลกล้วนรู้ดีว่า การให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศก็คือการใช้อำนาจโน้มนำ (Soft power) เป็นกลวิธีเพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีในหมู่ประชาชนของประเทศผู้รับต่อประเทศผู้ให้ เพื่อผลประโยชน์ในระดับนโยบายในระยะยาว พูดง่ายๆ คือเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศผู้ให้นั่นเอง การให้ความช่วยเหลือจึงไม่ใช่การทำบุญ เพราะถ้าเราอยากทำบุญ เราก็ควรเอาเงินไปให้กับประเทศในทวีปแอฟริกาที่ยากจนกว่า
 
ในกรณีไทยให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาทั้งแบบให้เปล่าและแบบเงินกู้ เริ่มขึ้นหลังรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ไทยต้องการเข้าไปทำมาหากินกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่รัฐบาลไทยในยุคนั้นตระหนักว่าเพื่อนบ้านของเราไม่ชอบเรา ไม่ไว้วางใจเรา เพราะในอดีตเราอยู่ในฝ่ายสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลของเขามาตลอด ความไม่ไว้วางใจกันย่อมเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อความใฝ่ฝันที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการเมืองในภูมิภาคนี้ รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน จึงริเริ่มโครงการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม เพื่อหวังจะสร้างความรู้สึกที่ดีต่อไทยนั่นเอง
 
นอกจากนี้ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อสร้างถนนสายในกัมพูชา ก็ไม่ใช่การทำบุญอีกเช่นกัน เส้นทางที่ไทยให้เงินช่วยเหลือล้วนเชื่อมโยงเข้ากับไทย เพราะเป้าหมายคือเพื่อทำให้สินค้าของไทยกระจายเข้าสู่ตลาดภายในของกัมพูชาและเวียดนามใต้ให้ได้มากที่สุด รวดเร็วที่สุดเพื่อประหยัดเวลาและค่าขนส่ง จึงเท่ากับต้องการช่วยเหลือธุรกิจของไทยนั่นเอง มันก็ไม่ต่างอะไรกับที่ในอดีตญี่ปุ่นทุ่มเงินช่วยเหลือสร้างถนนไฮเวย์มากมายในไทย เพื่อหวังขายรถยนต์ให้ได้มากๆ นั่นเอง
 
ฉะนั้น เมื่อความช่วยเหลือมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ของชาติเราเอง เราจึงไม่ควรทวงบุญคุณ เพราะเมื่อทวงเมื่อไร สิ่งที่ทำไปก็จะเป็นความสูญเปล่า ความรู้สึกดีๆ ที่เพื่อนบ้านมีต่อเราก็จะอันตรธานไปทันที
 
ความโกรธต่อความอวดดีของผู้นำเขมรยังทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์มองไม่เห็น หรืออาจตั้งใจมองไม่เห็นว่า อะไรคือเจตนาที่แท้จริงที่ฮุนเซ็นแต่งตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษา การตีความว่าฮุนเซ็นเลือกทักษิณเหนือผลประโยชน์ของกัมพูชาคือการหลงทางอย่างสิ้นเชิง เมื่อมองไม่เห็นว่าปฏิกิริยาของฮุนเซ็นนับแต่การประชุมอาเซียนที่ชะอำ เป็นการตอบโต้ต่อท่าทีของรัฐบาลอภิสิทธิ์เหนือความขัดแย้งกรณีปราสาทพระวิหารที่ดำเนินมาเกือบสองปี ก็ทำให้ไม่มีวันที่ทั้งสองฝ่ายจะกลับไปแก้ปัญหาที่ต้นตอได้เลย รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ต้องวิ่งตามเกมส์ของทักษิณต่อไปอย่างไม่จบไม่สิ้น การตอบโต้กันและกันก็จะวนเวียนอยู่กับเรื่องของศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของชาติ โอกาสที่สถานการณ์จะเลวร้ายลงไปอีกจึงมีอยู่มาก
 
คำเตือนของนิธิ ที่ให้รัฐไทยปฏิบัติต่อกัมพูชาเท่ากับที่เราปฏิบัติต่อสหรัฐและจีนจึงเป็นข้อเรียกร้องที่วางอยู่บนสถานการณ์ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นจริงในภูมิภาคนี้ รัฐไทยพึงตระหนักว่าสถานะของเพื่อนบ้านของไทย ทั้งกัมพูชาและลาว ในปัจจุบันแตกต่างกับในยุคสงครามเย็น เขาเติบโตกล้าแข็งขึ้นมาก เขามีเพื่อนมากขึ้น เพื่อนหลายคนของเขาแข็งแกร่งกว่า และให้เขามากกว่าไทย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เปลี่ยนก็คือ พวกเขายังคงมองไทยด้วยสายตาที่ไม่ไว้วางใจ และรับรู้ถึงความรู้สึกดูแคลนที่ไทยมีต่อเขาเรื่อยมา
 

หากรัฐบาลไทยยังมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ยังปล่อยให้ทัศนคติแบบ “พี่เบิ้ม” ครอบงำตนเองต่อไป มาตรการลงโทษเพื่อนบ้านก็จะกลายเป็นมาตรการลงโทษคนไทยด้วยกันเองในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net