“ประพัฒน์” ลงพื้นที่เยี่ยมสมัชชาคนจน เร่งประชุมแก้ปัญหาเขื่อนหัวนา-ราษีไศล

 
 
 
 
 
เมื่อวันที่ 7 พ.ย.52 ที่จังหวัดศรีสะเกษนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะผู้บริหารกรมชลประทาน รุดเยี่ยมหารือสมัชชาคนจนหลังชุมนุมครบ 160 วัน พร้อมประชุมนอกรอบหารือเร่งรัดแก้ไขปัญหาเขื่อนหัวนาและเขื่อนราษีไศล ด้านชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายหนองเป็ด ในลำเซบาย จ.ยโสธร รุดยื่นหนังสือถึงรองอธิบดีกรมชลฯ หลังเดือดร้อนนานนับ 14 ปี ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากรัฐ
 
เวลา 9.30 น. นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ พร้อมด้วย นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน และนายชัยพันธ์ ประภาสวัต และตัวแทนหน่วยงานของกรมชลประทาน ได้เดินทางมาเยี่ยมชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา โดยมีชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราศีและเขื่อนหัวนาประมาณ 2,000 คนรอต้อนรับด้วยความดีใจ  
 
นายประพัฒน์ ได้กล่าวทักทายผู้ชุมนุมว่า “สวัสดีพ่อแม่พี่น้อง เราได้เจอกันมาแต่รัฐบาลก่อน เห็นใจพี่น้องที่มาลำบากลำบนอยู่ที่นี่นาน ผมได้รับการประสานงานจากรมว.เกษตร,และท่านรองนายกฯ สาธิต วงศ์หนองเตย ขอให้มาเยี่ยมพี่น้องแทนท่านทั้งสอง เพราะท่านทั้งสองติดภารกิจมาก จึงให้ผมมารับเรื่องราวแทน รัฐบาลเป็นห่วงและอยากให้แก้ไขปัญหาไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐและสามารถพิสูจน์ได้จริงว่าเกิดจากโครงการของรัฐ จะต้องได้รับการแก้ไขเยียวยาทั้งหมด  และในอนาคตต่อไป โครงการพัฒนาของรัฐทั้งหลายก็ต้องมีการพิจารณาให้ถี่ถ้วน นี่เป็นคำยืนยันของรัฐบาล”
 
นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว ในฐานะที่เป็นรองอธิบดีฯ รับผิดชอบฝายราษีไศล เรื่องงานโครงการนี้เป็นงานที่ค่อนข้างยากมาก เพราะเป็นงานที่กรมอื่นสร้างไว้ เท่าที่ผ่านมาก็พยายามอย่างต่อเนื่อง แก้ไขปัญหามาเรื่อยทุกปี มีการจ่ายเงินค่าชดเชยทุกปี เพียงแต่ระเบียบค่อนข้างเยอะ ครั้งหลังสุดก็ได้ขอเสนอกับรัฐบาลให้แล้ว โดยรองนายกฯ ได้เห็นชอบอนุมัติที่จะจ่ายเงินให้ผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 700 ล้านบาท คิดว่าอีกไม่นานจะเข้าคณะรัฐมนตรีภายใน 2 อาทิตย์ข้างหน้านี้คงไม่เกินเดือนหน้า สำหรับท่านที่ยังตกค้างยังไม่ได้ดำเนินการนั้น ภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งให้ทำออกมาเป็นรูปร่างให้แล้วเสร็จต่อไป
 
นายวีระ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีฝายหัวนา ครม.ได้กำหนดไว้ว่า ให้ทางกรมชลฯ ดำเนินการศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จเสียก่อน นำผลการศึกษานั้นมาดำเนินการต่อ เรียนว่า รายงานผลกระทบดังกล่าวใกล้จะเสร็จโดยสมบูรณ์แล้ว อีกไม่นานจะได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการจ่ายค่าชดเชยผู้ได้รับผลกระทบต่อไป สำหรับการสำรวจของกรมชลฯและกรมที่ดิน จะดำเนินการควบคู่ไป ถือเป็นการทำงานไปสองทางระหว่างรอผลการศึกษา เมื่อเสร็จทั้งสองส่วนแล้วก็จะนำผลการศึกษามาประกอบการจ่ายค่าชดเชยที่ดินของฝายหัวนา แต่คงไม่ได้ทำทีเดียวเสร็จเลย แต่คงเสร็จเป็นกลุ่มๆไป” 
 
ขณะที่ นายชัยพันธ์ ประภาสวัต ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ได้กล่าวกับผู้ชุมนุมว่า พี่น้องชุมนุมทุบสติไปแล้วกว่า 100 วัน ตนก็พยามทำหน้าที่ที่ปรึกษา เพราะได้รับมอบหมายจากพี่น้องที่ทำงานร่วมกันมาตั้งนานแล้ว ได้พยามยามประสานให้ตัวแทนรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมเร่งรัดแก้ไขปัญหาให้พี่น้อง แม้ว่าหลายท่านอาจจะกลัวเรื่องราษีไศล เพราะปัญหานี้ยาวนานเป็นมหากาพย์ และมีปัญหาเกี่ยวกับนักการเมืองหาเงินกับคนจน แต่ขอยืนยันให้ทราบว่า  ไม่มีนักการเมืองใดมาทำมาหากินกับคราบน้ำตาของชาวบ้านเด็ดขาด บทเรียนที่ผ่านมา สมัยท่านอดิศร เพียงเกษ เป็นรัฐมนตรีเคยถูกกล่าวหาว่ารับเงินกรณีราษีไศล แต่ยืนยันได้เลยว่า นายอดิศรไม่ได้รับเงินสักบาทเดียว เพราะเช็คทุกใบและเงินทุกบาทถึงตัวชาวบ้าน
 
หลังจากนั้นนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์และคณะ พร้อมทั้งแกนนำสมัชชาคนจน เขื่อนหัวนาและเขื่อนราษีไศล จำนวน 12 คน ได้เข้าประชุมปรึกษาหารือเร่งรัดแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งสองเขื่อน
 
สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนหัวนา ในปัจจุบันนั้นยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดระดับขอบเขตการกักเก็บน้ำและระดับในการชดเชยที่ดินที่จะได้รับผลกระทบจากการเขื่อนหัวนา รวมถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ได้ดำเนินการศึกษามาตั้งแต่ปี 2549 และการลงพื้นที่รังวัดสำรวจที่ดินของชาวบ้านในเขตอำเภออุทุมพรพิสัยที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ที่ประชุมมีข้อสรุปว่า ปัจจุบันรายงานการศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเสร็จแล้ว จึงเสนอให้มีการประชุมนอกรอบระหว่างตัวแทนกรมชลประทานฯ ทีมที่ปรึกษา 3 มหาวิทยาลัย และตัวแทนสมัชชาคนจนเกี่ยวกับระดับการกักเก็บน้ำให้ชัดเจน ก่อนการประชุมคณะกรรมการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมในวันที่ 25 พ.ย.นี้ ส่วนการรังวัดพื้นที่จะเริ่มดำเนินการได้หลังวันที่ 20 พ.ย.นี้
 
ส่วนคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีเขื่อนราษีไศล การประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่าน ได้มีการรับรองให้มีการจ่ายค่าชดเชยที่ดินจำนวน 3,561 แปลง เป็นเงิน 794,834,208 บาท ยังเหลืออีกจำนวน 2,893 แปลง ที่ยังค้างอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขปัญหาต่างๆ  ด้านการศึกษาผลกระทบทางสังคมซึ่งดำเนินการศึกษาโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ประชุมหารือได้เสนอให้มีกลไกคณะทำงานที่สามารถผลักดันให้มาตรการแก้ไขปัญหาและแผนการฟื้นฟูผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีปฏิบัติการจริงในระดับพื้นที่ได้ และสนับสนุนให้เกิดองค์กรชาวบ้านที่เข้มแข็งเพื่อบริหารแผนฟื้นฟูผลกระทบทางสังคมตามรายงานผลการศึกษาของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
หลังการประชุมปรึกษาหารือเสร็จ นายประพัฒน์ ได้ออกมาชี้แจงให้ผู้ชุมนุมได้รับทราบผลประชุมดังกล่าว ต่อมาได้มีกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากฝายลำเซบาย จ.ยโสธร ซึ่งเป็นฝายที่เกิดขึ้นในโครงการโขงชีมูลเช่นเดียวกับเขื่อนราษีไศลและกลุ่มลูกน้ำปิง จากจ.เชียงใหม่ ซึ่งจะมีการสร้างผนังกั้นน้ำในลำน้ำปิงในโครงการไทยเข้มแข็ง ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายประพัฒน์ และนายวีระ รับเรื่องดังกล่าว และตัวแทนชาวบ้านราษีไศลได้มอบกระติ๊บข้าวที่สานเองมอบเป็นของที่ระลึกให้แก่นายประพัฒน์และคณะ ต่อมาจึงได้เดินทางกลับ
 
ทางสมัชชาคนจนระบุว่า การเดินทางมาของที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ ทำชาวบ้านสมัชชาคนจนดีใจและมีกำลังใจในการต่อสู้เป็นอย่างมาก นับว่าการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนหัวนาและเขื่อนราษีไศลมีความคืบหน้าอ และเป็นผลสืบเนื่องมาจากการชุมนุมกว่า 5 เดือน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท