Skip to main content
sharethis
 
มานูเอล เซลายา อดีตผู้นำที่ถูกทำรัฐประหารไปเมื่อสี่เดือนที่ผ่านมา กล่าวในวันที่ 6 พ.ย. ว่าตัวแทนเจรจาจากสหรัฐฯ ล้มเหลวในการเจรจายุติความขัดแย้งในฮอนดูรัส หลังจากพ้นกำหนดเส้นตายในการจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติไปแล้ว
 
"ข้อตกลงตายไปแล้ว" เซลายากล่าวผ่านสถานีวิทยุเรดิโอโกลโบ จากภายในสถานทูตบราซิล "พวกเขาไม่ได้ตระหนักเลยว่ากำลังหลอกชาวฮอนดูรัสอยู่"
 
หนึ่งในมติข้อตกลงร่วมกันระหว่างคู่ขัดแย้งในฮอนดูรัสคือ จะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติโดยประกอบด้วยส.ส. จากทั้งฝั่งของเซลายาและฝั่งของโรเบอร์โต มิเชลเลตตี
 
จอร์จ เรย์นา ผู้แทนเจรจาของเซลายาบอกว่า ข้อตกลงจากการเจรจาล้มเหลวเนื่องจากสภาฮอนดูรัสไม่สามารถลงมติคืนตำแหน่งให้เซลายาภายในกำหนดเส้นตายของการจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์
ซึ่งในข้อตกลงจากการเจรจาไม่ได้ระบุโดยตรงว่าให้คืนตำแหน่งแก่เซลายา แต่เป็นการให้สภาฮอนดูรัสลงมติ ทำให้เซลายาตีความข้อตกลงว่า ทางสภาควรต้องโหวตลงมติกันภายในวันพฤหัสบดี (5 พ.ย.)
 
ทางฝ่ายของมิเชลเลตตี รักษาการผู้นำหลังการรัฐประหารโต้แย้งว่า ข้อตกลงระบุให้มีการตั้งคณะรัฐมนตรีแบบผสมขึ้นภายในวันที่ 5 พ.ย. ก็จริง แต่ไม่ได้มีการกำหนดเส้นตายสำหรับการประชุมลงมติของสภา
 
"รัฐบาลรักษาการไม่สามารถทำตามสัญญาในการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติภายในวันที่กำหนดได้ และตามกฏหมายแล้ว ผู้ที่อยู่ในความรับผิดชอบในกรณีนี้คือประธานาธิบดีของฮอนดูรัส มานูเอล เซลายา" เรย์นา กล่าว
 
ไม่นานนักก่อนถึงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 5 พ.ย. มิเชลเลตตีก็ประกาศว่ามีการจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์ขึ้นแล้ว โดยที่เซลายายังไม่ได้เข้าร่วมเพื่อเสนอรายชื่อของฝ่ายตน มิเชลเลตตีกล่าวว่ารัฐบาลชุดใหม่ประกอบด้วยผู้แทนจากพรรคการเมืองและกลุ่มพลเมือง โดยที่เขาไม่ได้เปิดเผยรายชื่อสมาชิก
 
"ทุกคนยกเว้นเซลายาเสนอแนะว่าฮอนดูรัสควรมีส่วนร่วมเป็นผู้นำในสถาบันการเมืองของประเทศเรา โดยการเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลชุดใหม่" มิเชลเลตตีกล่าว
 
เขายังระบุอีกว่ารัฐบาลผสมชุดนี้ "เป็นตัวแทนของกลุ่มที่มีความหลากหลายในทางอุดมการณ์และทางการเมือง และเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด"
 
มีผู้สนับสนุนเซลายาหลายร้อยคนชุมนุมหน้าสภาฮอนดูรัสในวันที่ 5 พ.ย. เพื่อเรียกร้องให้คืนเซลายาสู่ตำแหน่ง ผู้ชุมนุมบอกว่าจะคว่ำบาตรการเลือกตั้งหากเซลายาไม่ได้กลับขึ้นเป็นประธานาธิบดี ผู้ประท้วงได้สวมหมวกคาวบอยและตะโกนว่า "ไม่มีการคืนตำแหน่ง ก็ไม่มีการเลือกตั้ง!" โดย มาร์ลิน เซาเซโด เจ้าของธุรกิจสื่งทอขนาดเล็กบอกว่า "พวกเราจะไม่เดินเหมือนแกะถูกต้อนเข้าคูหาเลือกตั้งโดยกลุ่มคณาธิปไตยผู้ก่อรัฐประหาร"
 
ด้านผู้ที่ต่อต้านการคืนตำแหน่งแก่เซลายา อดอลโฟ ฟาคัสเซ เจ้าของธุรกิจสิ่งทอรายใหญ่หัวหน้าองค์กรความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของฮอนดูรัส ให้ความเห็นว่าการคืนตำแหน่งแก่อดีตผู้นำจะทำให้เกิดความซับซ้อนทางการเมืองภายในมากเกินไป
 
เรย์นาพูดถึงการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. นี้โดยกล่าวหามิเชลเลตตีว่าเขาวางแผนจัดการเลือกตั้งลวงโลก
 
"พวกเราไม่อาจยอมรับกระบวนการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้เต็มที่" เรย์นากล่าว "การเลือกตั้งภายใต้ระบอบเผด็จการเป็นการหลอกลวงประชาชน"
 
 
 
 
 
ที่มา แปลและเรียบเรียงจาก
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net